เราทุกคนจะเป็นที่ปรึกษาที่ดี ก็ต่อเมื่อไม่ใช่เรื่องของตัวเอง

คนเรามักคิดอย่างมีเหตุผลมากกว่า 
เมื่อมันเป็นสถานการณ์ของคนอื่น

            ผมเชื่อว่าผู้อ่านทุกคนคงจะเคยมีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษากับเพื่อน ๆ หรือผู้อื่นที่ต้องการความช่วยเหลือ (ปรึกษาทั่ว ๆ ไป) และผมก็เชื่อว่าหลายคนทำได้ดี และเป็นที่พึ่งของใครหลายคนได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทั่ว ๆ ไปอย่างเช่น ความรัก การเรียน หรือการทำงาน ไปจนถึงปัญหาที่มีความซับซ้อนกว่านั้น เราก็สามารถช่วยเหลือให้ผู้ที่ต้องการคำปรึกษาแก้ไขปัญหาได้ ไม่ว่าจะเป็นเราที่เป็นคนช่วยแก้ไขปัญหาเอง หรือเราจะส่งเสริมให้เขาแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเองก็ตาม

            แต่พอมาเป็นเรื่องของตัวเอง หลายคนกลับติดกับดักที่ไม่สามารถก้าวไปไหนได้เลย บางคนแม้แต่ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ไม่สามารถแก้ได้ ไม่เพียงแค่นั้นบางคนยังไม่รู้เลยว่าตัวเองกำลังมีปัญหาอะไรอยู่ กล่าวคือ ไม่สามารถตระหนักว่าตัวเองกำลังเผชิญกับปัญหาอะไรกันแน่ โดยเฉพาะเรื่องที่มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องยิ่งทำให้เราตัดสินใจได้แย่เข้าไปใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องความรักที่เป็นปัญหาของใครหลายคน เนื่องจากแต่ละการตัดสินใจจะมีปัจจัยทางชีววิทยาและจิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้องเกินกว่าที่เราจะตัดสินใจได้อย่างแยบคาย

            จึงเป็นเรื่องที่น่าสงสัยอย่างมากว่าทำไมเราถึงแก้ปัญหาให้คนอื่นได้ แต่กลับล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าเมื่อเป็นปัญหาของตนเอง ทั้ง ๆ ที่มนุษย์มีศักยภาพในการเรียนรู้ที่สูงมาก และสามารถแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนได้ ในบทความนี้ผมจึงอยากนำเสนอเหตุผลว่าทำไมเราทุกคนถึงเป็นที่ปรึกษาที่ดี ก็ต่อเมื่อไม่ใช่เรื่องของตัวเองในเชิงจิตวิทยา และยังแนะนำวิธีการแก้ไขปัญหาของตัวเองด้วย เพื่อให้ผู้อ่านสามารถรับมือกับปัญหาของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เราเป็นที่ปรึกษาที่ดีเมื่อไม่ใช่เรื่องของตัวเอง

            อย่างที่ผมได้เกริ่นไปแล้วว่าทุกคนเคยมีประสบการณ์ให้คำแนะนำกับเพื่อนฝูงมากมาย และผมก็เชื่อว่าแต่ละคนคงทำได้อย่างดี ตรงกันข้ามกับกรณีที่เป็นเรื่องของตัวเอง แต่อย่าได้เศร้าใจไปเลยครับ เพราะแม้แต่หนึ่งในบุคคลที่ฉลาดที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติสหรัฐอเมริกาอย่าง อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ประธานาธิบดีคนที่ 16 ผู้ปลดปล่อยทาส เมื่อ 20 ปีก่อนที่เขาจะเป็นประธานาธิบดี (ปี ค.ศ. 1841) เขาเคยเผชิญกับปัญหาความสับสนกับความรู้สึกที่มีต่อแมรี่ คู่หมั้นของเขา เพราะเขาดันไปตกหลุมรักผู้หญิงอีกคนหนึ่ง 

            เขาดำดิ่งกับปัญหา และตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าซึ่งเป็นภาวะที่เขาเผชิญมาตลอดชีวิต ถึงขนาดที่นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งเรียกสิ่งนี้ว่า "ความโศกเศร้าของลินคอล์น" แต่สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจเลือกแต่งงานกับคู่หมั้นของเขา หลังจากนั้นหนึ่งปี ขณะที่ลินคอล์นสามารถรวบรวมสติกลับมาและมีความหวังในชีวิตกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับ โจชัว สปีด (Joshua Speed) เพื่อนรักของเขาก็เผชิญกับสถานการณ์คล้ายกันกับที่เขาเผชิญเมื่อ 1 ปีก่อน 

            อับราฮัม ลินคอล์น สามารถให้คำแนะนำที่ดีกับสปีดในแบบที่เขาไม่สามารถให้กับตัวเองได้เมื่อคราวที่ตนเองมีปัญหา ลินคอล์นบอกกับเพื่อนรักของเขาว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ผู้หญิงที่เพื่อนเขากำลังจะแต่งงานด้วย แต่อยู่ที่มุมมองความรักของตัวเพื่อนเอง เขาพบข้อสังเกตภายหลังว่า "ถ้าเขาเข้าใจปัญหาชีวิตคู่ที่สับสนวุ่นวายของตัวเองได้ดีเท่ากับที่เขาเข้าใจปัญหาของสปีด เขาอาจไปถึงฝั่งฝันได้ง่ายกว่านี้" 

            ผมคิดว่าเรื่องราวอันเรียบง่ายของลินคอล์นคงคล้ายกับใครหลายคน เราสามารถให้คำแนะนำเพื่อนด้านความรักได้อย่างดี แต่เมื่อเป็นเรื่องของตัวเองเรากลับไม่สามารถทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันได้เลย จึงเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างมากเพราะเหตุใดถึงเป็นแบบนั้น ซึ่งมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่สามารถอธิบายเรื่องนี้ได้พอสังเขป อีกอร์ กรอสแมนน์ (Igor Grossmann) และ อีธาน ครอส (Ethan Kross) ได้ออกแบบงานวิจัยที่ให้โจทย์เป็นสถานการณ์ที่ยากต่อการตัดสินใจแก่ผู้เข้าร่วมการทดลอง และให้พวกเขาได้ลองคาดการณ์ว่ามันจะคลี่คลายไปในทิศทางไหน

            โดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองกลุ่มหนึ่งจินตนาการว่าพวกเขาโดนนอกใจ จากนั้นให้โจทย์เดียวกันกับคนอีกกลุ่ม แต่บอกว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเพื่อน ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีเพื่อสร้างระยะห่างทางจิตวิทยา ในขณะที่บางคนอาจคิดว่า การระเบิดอารมณ์เป็นการตอบโต้ที่น่าจะเกิดขึ้นเมื่อคุณจับได้ว่าคนรักนอกใจ แต่สิ่งที่พวกเขาอยากรู้คือการสร้างระยะห่างจะช่วยให้เรามีสติปัญญาในการจัดการกับปัญหาและลดความขัดแย้งได้หรือไม่ ผลลัพธ์ตรงกับที่พวกเขาคาดเอาไว้ คนเรามักคิดอย่างมีเหตุผลมากกว่า เมื่อมันเป็นสถานการณ์ของคนอื่น นอกจากนั้น 

พวกเขาคิดว่าสิ่งที่ควรทำคือหาทางออกร่วมกัน และพวกเขายังยอมเปิดใจรับฟังความคิดของคนที่นอกใจมากขึ้นด้วย

            แดเนียล คาห์เนแมน (Daniel Kahneman) นักจิตวิทยาผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ เขาได้อธิบายเกี่ยวกับมุมมองภายนอกและภายในตนเองในหนังสือ Thinking, Fast and Slow ว่า หนึ่งในแนวคิดจากประสบการณ์การใช้ชีวิตที่มีค่าที่สุดสำหรับเขาคือการเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยง "มุมมองภายใน" และนำเอา "มุมมองภายนอก" มาใช้แทน เขาคิดว่ามุมมองภายในทำให้เราจำกัดความคิดของเราอยู่แค่ในปัจจัยแวดล้อมรอบตัวเท่านั้น กล่าวคือ มันจะมีแค่มุมมองความคิดของเราแค่คนเดียวเท่านั้น เพราะเราจะไม่มีทางรู้ในสิ่งที่ตนเองไม่รู้ 

            สิ่งนี้จะทำให้เราคาดการณ์อุปสรรคที่จะเกิดขึ้นผิดพลาดไป ในทางกลับกันการใช้มุมมองจากภายนอกทำให้เราเห็นความเป็นไปได้หลากหลายชิ้น ตัดสินใจได้แม่นยำขึ้น และสามารถประเมินอุปสรรคล่วงหน้าและเตรียมตั้งรับได้ดียิ่งขึ้น พูดง่าย ๆ มุมมองภายนอกเป็นเหมือนกับความเห็นที่ 2 ซึ่งทำให้เราเห็นความจริงได้แจ่มชัดมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงแค่นั้นคาห์เนแมนยังบอกอีกว่า มุมมองภายนอกทำให้เราคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้แม่นยำมากยิ่งขึ้นด้วย

            แต่ก็มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า การที่คนเราสามารถก้าวออกมานอกตัวเองได้มีประโยชน์สำหรับการตัดสินใจเรื่องทั่ว ๆ ไปด้วย มันช่วยในเวลาที่มีข้อมูลมากเกินไปจนตัดสินใจไม่ถูก ยกตัวอย่างเช่น การตัดสินใจซื้อรถโดยเปรียบเทียบคุณสมบัติและราคาเป็นหลักเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน มันจะทำให้เราหลุดออกจากกำดักของการ "หลีกเลี่ยงการสูญเสีย (Loss Aversion) ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีชื่อเสียงของคาห์เนแมน แนวคิดนี้พูดถึงข้อเท็จจริงที่ว่า คนเรามักจะรู้สึกอ่อนไหวกับการสูญเสียสิ่งที่มีอยู่ไปมากกว่าดีใจที่ได้รับในสิ่งเดียวกัน 

            สิ่งที่คาห์เนแมนแนะนำก็คือ หากเรามีข้อมูลมากขึ้นมันก็จะเติมเต็มปัจจัยรอบตัวที่มีอย่างจำกัด กล่าวคือ มีปัญญามากขึ้น ซึ่งในทางจิตวิทยาปัญญาคือการใช้ความคิดใคร่ครวญปัญหาอย่างมีเหตุผล ซึ่งปัญหาเหล่านั้นมักเกี่ยวข้องกับความไม่แน่นอน การใช้เหตุผลในรูปแบบนี้ทำให้เรา "มองเห็นภาพรวม" ในหลายมิติ เช่น การตระหนักว่าเรามีความรู้ที่จำกัด การเข้าใจว่าชีวิตมีบริบทหลากหลาย และกาลเวลาสามารถเปลี่ยนบริบทในชีวิตเหล่านั้นได้ 

            ปัญญาทำให้เรารู้จักรับฟังผู้อื่นและทำความเข้าใจมุมมองของคนที่คิดต่างจากเราได้ โดยปกติเรามักจะคิดว่าปัญญาจะมาพร้อมกับอายุที่มากขึ้น เพราะคนที่อายุมากกว่าเห็นโลกมานานกว่า น่าจะได้สัมผัสและเรียนรู้ความไม่แน่นอนมามากกว่าคนอายุน้อย แต่ผลวิจัยชี้ว่า เราสามารถสอนคนให้คิดด้วยปัญญาได้โดยไม่จำเป็นต้องมีปัจจัยอายุมาเกี่ยวข้อง ด้วยการรู้จักการสร้างระยะห่าง

การสร้างระยะห่างเพื่อแก้ปัญหาของตัวเอง

            อีธาน ครอส (Ethan Kross) นักจิตวิทยาชื่อดังผู้เขียนหนังสือ Chatter: The Voice in Our Head, Why It Matters, and How to Harness It เรียกการพูดคุยกับตัวเองโดยเรียกตัวเองเป็นบุรษที่หนึ่ง ว่า การคุยกับตัวเองอย่างมีระยะห่าง (Distanced Self-talk) หรือ การซูมออก (Zooming Out) คือการมองเห็นปัญหาจากมุมมองที่กว้างขึ้นเพื่อที่จะเข้าไปจัดการกับมัน เพราะเมื่อเราเผชิญหน้ากับปัญหาต่าง ๆ เราจะไม่สามารถมองปัญหาจากหลาย ๆ มุมได้ ทำให้เกิดอารมณ์เขิงลบขึ้นมา เช่น ความวิตกกังวล ความเครียด หรือความเศร้า

            การคุยกับตัวเองอย่างมีระยะห่างยังเป็นเทคนิคที่สอดคล้องกับ การสร้างระยะห่าง (Distancing) ซึ่งเป็นเทคนิคการบำบัดทางความคิด (Cognitive Therapy) เทคนิคดังกล่าวสามารถช่วยเราได้อย่างดีในช่วงเวลาที่เรากำลังเผชิญกับปัญหาและไม่สามารถมองปัญหาดังกล่าวได้อย่างรอบด้าน เมื่อเราเกิดความคิดเชิงลบขึ้นมาขณะที่กำลังเจอปัญหาบางอย่าง เราจะไม่สามารถแก้ไขปัญหานั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการถอยห่างออกมาจากปัญหา แล้วกลับมามองความคิดของตัวเองที่กำลังเกิดขึ้นจะช่วยให้เราสามารถจัดการกับปัญหานั้น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

            วิธีการนี้จะสอดคล้องกับเทคนิคหลีกเลี่ยงการสูญเสีย (Loss Aversion) ของ แดเนียล คาห์เนแมน กล่าวคือ คาห์เนแมนแนะนำว่าเราควรหาข้อมูลจากภายนอกเพื่อช่วยในการตัดสินใจ ยกตัวอย่าง การใช้ข้อมูลเพื่อตัดสินใจเลือกซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่จากการดูคลิปใน Youtube หรือรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น แน่นอนว่าข้อมูลเหล่านั้นอาจจะไม่ได้จูงใจให้เราตัดสินใจได้อย่างสมเหตุสมผลมากที่สุด เพราะเราก็ยังมีอคติอยู่เสมอในการตัดสินใจ แต่ข้อมูลดังกล่าวมันก็ช่วยเราได้มากกว่าที่เราจะตัดสินใจโดยที่ไม่มีข้อมูลสนับสนุน

            การทดลองของ กอร์ กรอสแมนน์ และ อีธาน ครอส แสดงให้เราเห็นว่าเมื่อเราคิดว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาของคนอื่น เราจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ดีมากกว่าที่เป็นปัญหาของเราเอง ดังนั้น การคุยกับตัวเองอย่างมีระยะห่าง จะทำให้เราถอยห่างออกมาจนสามารถเห็นปัญหาในมุมที่กว้างมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เราตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าหมกมุ่นอยู่กับปัญหานั้นเพียงอย่างเดียว

            เราสามารถทำได้โดยการเรียกชื่อตัวเองเป็นบุรุษที่ 1, 2 และ 3 ยกตัวอย่าง เมื่อเราผิดหวังจากความรักและโทษตัวเองว่าเป็นสาเหตุทั้งหมด เราสามารถตั้งคำถามกับตัวเองได้ว่า "นี่ฉันกำลังทำอะไรอยู่ตรงนี้" หรือ "ฉันกำลังรู้สึกอะไรอยู่กันแน่" (บุรุษที่ 1) "สิ่งที่คุณ/เธอกำลังคิดอยู่ตอนนี้มันถูกต้องแล้วหรือยัง" หรือ "มึงสมควรที่จะโทษตัวเองแบบนี้จริง ๆ หรอ" (บุรุษที่ 2) หรือ "ทเนศโทษตัวเองแบบนี้มันได้อะไรขึ้นมากันแน่" (บุรุษที่ 3) การที่เราตั้งคำถามกับตัวเองโดยเอาตัวเราถอยห่างออกมา จะทำให้เราได้รับคำตอบที่เจือปนด้วยอารมณ์น้อยลง 

และจะทำให้เรากลายเป็นที่ปรึกษาของตัวเองได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น
เหมือนกับตอนเราเป็นที่ปรึกษาที่ดีให้กับผู้อื่น


อ้างอิง

Goodwin, D. (2006). Team of Rivals: The Political Genius of Abraham Lincoln. NY: Simon & Schuster.

Kahneman, D. (2013). Thinking Fast and Slow. NY: Farrar, Straus and Giroux.

Kross, E. (2021). Chatter: The Voice in Your Head, Why It Matters, and How to Harness It. NY: Crown.

คาลอส บุญสุภา. (2565). เพื่อนที่ดีที่สุดของเรา ก็คือตัวเราเอง (Your best friend is your self). https://sircr.blogspot.com/2022/03/your-best-friend-is-your-self.html

ความคิดเห็น