ที่อยู่อาศัยแออัดและเสื่อมโทรม ส่งผลต่อปัญหาสังคมและสุขภาพจิต อย่างน่าตกใจ

"จากการศึกษาวิจัยของพวกเขา ทำให้เกิดการค้นพบว่า 
ความเหลื่อมล้ำสามารถฆ่าคนให้ตายได้"

            ในปัจจุบันโลกมีความก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก ทุกวันนี้ปัญหาความยากจนได้ลดลงไปเรื่อย ๆ เด็กเข้าถึงวัคซีนกันมากขึ้น ประชาชนเข้าถึงการศึกษาในระดับประถมศึกษามากขึ้น เด็กผู้หญิงเข้าถึงการศึกษาเกือบเทียบเท่ากับผู้ชาย และมีไฟฟ้าใช้ มีน้ำดื่มสะอาดไว้ใช้อุปโภค บริโภคกันมากขึ้น มีเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตให้ชุมชนเจริญก้าวหน้าอย่างมาก ทำให้ระบบทุนนิยมมีการเติบโตซึ่งก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างมหาศาล ส่งผลให้ในบางชุมชนยังพบเจอกับความยากจนแร้นแค้น

            โดยเฉพาะประเทศในแถบแอฟริกา ประชาชนบางส่วนถือถังพลาสติกเดินเท้าเปล่าไปตักน้ำจากหลุมโคลนสกปรกที่อยู่ห่างออกไปด้วยระยะเดินประมาณหนึ่งชั่วโมงระหว่างทางกลับบ้านพวกเขาต้องเก็บฟืน ในขณะที่คนที่บ้านต้องเตรียมข้าวบดสีเทามากินเพื่อประทังชีวิต บางครอบครัวต้องเสียลูกไปเพราะการติดเชื้อโดยที่ไม่มีเงินพอจะรักษาลูกของตัวเอง แน่นอนว่าสภาพแวดล้อมดังกล่าวได้ลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ แล้ว แต่สภาพชุมชนก็ยังมีความเสื่อมโทรม และอยู่กันอย่างแออัด

            ในประเทศไทยยังมีหลายพื้นที่ในชนบทที่ประชาชนมีไฟฟ้าใช้ได้อย่างจำกัด บางบ้านไม่มีตู้เย็นเพื่อเก็บอาหารเอาไว้ ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ยังมีอย่างจำกัด ด้วยความยากจนดังกล่าวจึงทำให้เด็กหลายคนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา สิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดปัญหาสังคมและสุขภาพจิตอย่างคาดไม่ถึง บทความนี้ผมจึงอยากนำเสนอเกี่ยวกับอิทธิพลของสภาพแวดล้อมที่แออัดและเสื่อมโทรม เพื่อให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ รอบตัว แต่มีอิทธิพลอย่างคาดไม่ถึง

อิทธิพลของที่อยู่อาศัยแออัดและเสื่อมโทรม

            โรเบิร์ต เทย์เลอร์ โฮมส์ (Robert Taylor Homes) โครงการขนาดมหึมาของการเคหะเมืองชิคาโก ที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1963 โครงการนี้สร้างขึ้นบนพื้นที่ฝั่งทิศใต้ของเมืองซึ่งอดีตเคยเป็นย่านชุมชนคนผิวดำ โดยตัวโครงการประกอบไปด้วยอาคารสูง 16 ชั้น จำนวน 28 ตึก ทำให้โรเบิร์ต เทย์เลอร์ โฮมส์ เป็นอาคารอาศัยที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศสตร์โลก ณ ขณะนั้น โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของย่านที่อยู่อาศัยแถวนั้นที่นับวันยิ่งเสื่อมโทรมลงเรื่อย ๆ 

            กล่าวคือ เมืองชิคาโกคาดหวังว่าโรเบิร์ต เทย์เลอร์ โฮมส์ จะเป็นที่อยู่อาศัยที่สามารถทดแทนชุมชนแออัด เสื่อมโทรมแถวนั้น แต่ความคาดหวังนั้นก็กลับล้มเหลวอย่างน่าเจ็บปวด และสร้างผลกระทบเลวร้ายเกินกว่าที่คาดเอาไว้ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปจนถึงทศวรรษ 1980 โรเบิร์ต เทย์เลอร์ โฮมส์ได้บ่มเพาะปัญหาเดิมขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรุนแรงที่เกิดจากอันธพาล ปัญหายาเสพติด ผู้พักอาศัยต้องทนอยู่กับความหวาดกลัว ทำให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตย่ำแย่ และรู้สึกไม่มีสิทธิ์มีเสียงในสังคม

            ความพยายามอันสวยหรูที่จะฟื้นฟูเมืองได้พังทลายลงของชิคาโก โครงการนี้กลายเป็นเพียงอีกตัวอย่างหนึ่งของเมืองที่ล้มเหลวซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการใช้ชีวิตของคนในชุมชนโดยเฉพาะในหมู่ชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ทำให้ชุมชนนั้นน่าหดหู่ บางส่วนของอาคารยังมีทัศนียภาพที่ต่ำ กล่าวคือ มองเห็นแต่กำแพงคอนกรีตสีทึมเท่านั้น แม้บางส่วนจะมองเห็นธรรมชาติที่เต็มไปด้วยแมกไม้ก็ตาม 

            เพราะนอกจากความเสื่อมโทรมและความแออัดของโรเบิร์ต เทย์เลอร์ โฮมส์ จะทำให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตย่ำแย่ และเผชิญปัญหาทางสังคมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ความรุนแรง หรือยาเสพติด แต่ทัศนียภาพรอบตัวของผู้อยู่อาศัยยังมีส่วนสำคัญ เพราะจากการศึกษาหนึ่งที่ใช้ภาพถ่ายดาวเทียม ที่ศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวนมากถึง 900,000 คน พบว่า เด็กที่เติบโตขึ้นมาในย่านที่มีพื้นที่สีเขียวน้อยที่สุด มีความเสี่ยงที่จะมีอาการผิดปกติทางจิต เช่น โรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวลเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นถึง 15 - 55%

ที่อยู่อาศัยแอัดและเสื่อมโทรม สามารถบ่มเพาะปัญหาสังคมและสุขภาพกายและสุขภาพจิต

            ยิ่งเวลาผ่านไปโรเบิร์ต เทย์เลอร์ โฮมส์ยิ่งเสื่อมโทรมมากขึ้นเรื่อย ๆ และเกิดปัญหาทางสังคมตามมาไม่จบไม่สิ้น ทำให้สภาพความเป็นอยู่ของที่นี้เลื่อมล้ำกับสภาพความเป็นอยู่ของที่อยู่อาสัยอื่น ๆ ภายในเมืองชิคาโก ริชาร์ด วิลกินสัน (Richard Wilkinson) และ เคท พิคเก็ตต์ (Kate Pickett) ได้วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประชาชนในประเทศต่าง ๆ มากมาย ในหนังสือของพวกเขาชื่อ The Spirit Level: Why Greater Equality Makes Societies Stronger ซึ่งได้อธิบายข้อมูลที่สอดคล้องกับ WHO และสหประชาชาติ จากการศึกษาวิจัยของพวกเขา ทำให้เกิดการค้นพบว่า "ความเหลื่อมล้ำสามารถฆ่าคนให้ตายได้"

            เหตุผลเพราะว่าความเหลื่อมล้ำสามารถทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอและสุขภาพย่ำแย่ลง มันทำให้คนที่อยู่อาศัยอยู่ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ (ย่านคนจน) มีอายุสั้นกว่าและมีอัตราการใช้สารเสพติด การเสียชีวิตของเด็ก โรคอ้วน รวมไปถึงความเจ็บป่วยทางจิต ฯลฯ  อีกทั้ง ริชาร์ด วิลกินสัน และ เคท พิคเก็ตต์ ยังเน้นย้ำด้วยว่าแม้ปัญหาดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับทุกคนในสังคม แต่ส่วนใหญ่แล้วจะกระจุกตัวอยู่ในสังคมระดับล่างมากกว่า ซึ่งโรเบิร์ต เทย์เลอร์ โฮมส์ เป็นหนึ่งในแหล่งที่อยู่อาศัยแออัดและเสื่อมโทรมตามที่วิลกินสันและพิคเก็ตต์ได้เน้นย้ำเอาไว้

            ริชาร์ด วิลกินสัน และ เคท พิคเก็ตต์ ยังได้ศึกษาเจาะลึกลงมาที่ตัวผู้คน (ระดับปัจเจก) พบว่าคนที่มีความเครียดเมื่ออยู่ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำจะรู้สึกควบคุมอะไรไม่ได้ รู้สึกว่าตนเองด้อยกว่า อีกทั้งยังเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นเสมอว่าใครเหนือกว่าหรือด้อยกว่า ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่พอใจในตัวเองทำให้เสี่ยงต่อการใช้เหล้าและสารเสพติดที่สูงขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้สุขภาพจิตค่อย ๆ แย่ลงไปเรื่อย ๆ จนหลายคนเป็นโรคซึมเศร้า

            เมื่อเรากำลังดำเนินชีวิตในสังคมที่เต็มไปด้วยความเสื่อมโทรมและแออัด จะทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งรอบ ๆ ตัวไม่มีความเป็นระบบระเบียบ ยกตัวอย่างเช่น กลิ่นอับ ๆ ทัศนียภาพที่อึมครึม ความสกปรก และความรุนแรงที่เกิดขึ้นรายวัน ทำให้เราไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย กล่าวคือ เราไม่สามารถคาดการณ์เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวได้ เพราะมนุษย์ทุกคนมีความปรารถนาที่อยากจะกระทำบางอย่างที่ส่งผลต่อสิ่งรอบข้างในแบบที่เราต้องการ ซึ่งมีงานวิจัยที่ชี้ว่าคนที่อาศัยอยู่ในย่านที่เจริญน้อยกว่าโรเบิร์ต เทย์เลอร์ โฮมส์ หรือหลายพื้นที่ในประเทศอิรัก พบว่าประชาชนที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความเสื่อมโทรม มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่า 

ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขารู้สึกถึงความไม่เป็นระเบียบของสภาพแวดล้อมรอบตัว

            ความต้องการให้สิ่งรอบตัวเรามีระเบียบ เป็นความปรารถนาที่รุนแรงมาก เพราะมีการศึกษาหนึ่งที่คัดเลือกผู้เข้าร่วมที่ไม่สามารถควบคุมระดับเสียงรบกวนของบริเวณโดยรอบได้ ผู้วิจัยขอให้พวกเขาเลือกโปสต์การ์ดหนึ่งใบระหว่างโปสต์การ์​ดรูปดอกบัวที่มีกรอบสีดำกับโปสต์การ์ดรูปเดียวกันแบบไม่มีกรอบ โดยเฉลี่ยแล้วผู้เข้าร่วมการทดลองเลือกโปสต์การ์ดแบบที่มีกรอบมากกว่า ซึ่งเป็นตัวอย่างของรูปลักษณ์ที่สื่อถึงความมีระเบียบอย่างหนึ่ง กล่าวคือ อะไรที่เราขาดไป เราก็จะพยายามหาบางสิ่งบางอย่างมาทดแทน ในกรณีนี้ผู้เข้าร่วมการทดลองสูญเสียระเบียบในการควบคุมเสียงรอบตัว เขาจึงเลือกอะไรบางอย่างที่เป็นระบบระเบียบ และแสดงออกถึงการควบคุม

            การทดแทนความไร้ระเบียบของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ด้วยการสร้างระเบียบในอีกสิ่งหนึ่ง แม้ว่าสิ่งที่เราเลือกมาจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัญหาเลยก็ตาม ไม่ว่าปัญหานั้นจะเป็นความไร้ระเบียบในความคิด ความรู้สึก หรือสภาพแวดล้อมแออัดและเสื่อมโทรมก็ตาม และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมการจัดระเบียบสภาพแวดล้อมของเราจึงช่วยได้อย่างมาก และมันก็ทำได้ง่ายด้วย ยกตัวอย่าเช่น มีการทดลองหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเพียงเราอ่านการบรรยายถึงโลกว่าเป็นสถานที่ที่มีระบบระเบียบ แค่นั้นก็ทำให้ผู้เข้าร่วมการทดลองคลายความวิตกกังวลได้แล้ว

            ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่มากล่าวมา ทำให้ในปี ค.ศ. 2007 โรเบิร์ต เทย์เลอร์ โฮมส์ส่วนสุดท้ายได้ถูกลื้อถอนออกไป หลังจากที่แทบจะไม่มีผู้อยู่อาศัยอยู่แล้ว โครงการนี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นทั้งสัญลักษณ์ของเมืองที่เสื่อมโทรม การแบ่งแยกชนชั้นและเชื้อชาติ และความไร้ระเบียบทางสังคม กำลังจะถูกพัฒนาใหม่ให้เป็นคอมเพ็กซ์ที่มีบ้านเรือนของคน ซึ่งมีฐานะรายได้หลากหลาย มีห้างร้านและพื้นที่ชุมชน ซึ่งเป็นผลมาจากประสบการณ์ที่ในอดีตที่แห่งนี้เคยเป็นแหล่งบ่มเพาะความรุนแรงและอาชญากรรม

            จากประสบการณ์ความผิดพลาดของเมืองชิคาโกทำให้โลกและพวกเราทุกคนได้เรียนรู้ว่า การจะสร้างชุมชนที่จะส่งเสริมกันและกันให้เจริญก้าวหน้าขึ้นไป จำเป็นต้องอาศัยบ้านเรือนที่มีฐานะหลาย ๆ ระดับอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่าคนที่มีฐานะรายได้ต่ำ จะทำให้บ้านเรือนเสื่อมโทรม เพียงแต่พวกเขามีเวลาและทรัพยากรที่จะส่งเสริมให้บ้านเรือนสะอาด มีระเบียบ และน่ามองแตกต่างจากคนที่พอมีฐานะ มีเวลา และมีทรัพยากรที่จะดูแลรักษาบ้านเรือนตัวเองให้มีระบบระเบียบมากกว่า

            เมื่อประชาชนในหลายฐานะอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน โดยมีรัฐบาลช่วยส่งเสริมพัฒนาชุมชนให้ก้าวหน้ามากขึ้น ย่อมทำให้บุคคลที่มีรายได้ต่ำ ฐานะยากจนพัฒนาตนเองจนยกระดับฐานะของตัวเองขึ้นมา สิ่งที่ผมกล่าวไปไม่ได้เป็นจินตนาการหรือความคาดหวัง แต่เป็นสิ่งที่ประวัติศาสตร์ได้สอนเรามาแล้ว เพราะในอดีตไม่ได้มีบุคคลที่มีฐานเยอะมากมายเหมือนในปัจจุบัน เพราะแต่ก่อนประชาชนเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก และมีทรัพยากรที่น้อยกว่าในปัจจุบันอย่างมาก แต่ด้วยความขยัน วิสัยทัศน์ และความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจทำให้ประชาชนหลายคนยกระดับฐานะตนเองขึ้นมาได้

            ยิ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น ส่งผลให้เราสามารถทำหลายสิ่งหลายอย่างได้พร้อม ๆ กัน และสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ก้าวหน้ามากขึ้นได้ ดังนั้นหากรัฐบาลส่งเสริมทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับประชาชนมากขึ้น ก็จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และทำให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองมากขึ้นตามไปด้วย ไม่เพียงแค่นั้นบ้านเรือน ชุมชุนก็จะมีระบบระเบียบมากขึ้น มีความแออัดและเสื่อมโทรมลดน้อยลง 

ซึ่งจะทำให้ปัญหาสุขภาพกายและจิตใจ ความรุนแรง 
ยาเสพติด และความหวาดกลัวลดลงตามไปด้วย

อ้างอิง

Kross, E. (2021). Chatter: The Voice in Your Head, Why It Matters, and How to Harness It. NY: Crown.

Wilkinson, R. & Pickett, K. (2011). The Spirit Level: Why Greater Equality Makes Societies Stronger. London: Bloomsbury Publishing.

คาลอส บุญสุภา. (2564). ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทำร้ายสุขภาพจิตของเราอย่างคาดไม่ถึง. https://sircr.blogspot.com/2021/12/blog-post.html

คาลอส บุญสุภา. (2565). อิทธิพลทางสุขภาพจิตของสภาพแวดล้อมที่มี ธรรมชาติพื้นที่สีเขียว. https://sircr.blogspot.com/2022/04/blog-post_8.html

ความคิดเห็น