อิทธิพลทางสุขภาพจิตของสภาพแวดล้อมที่มี ธรรมชาติพื้นที่สีเขียว

การสร้างพื้นที่สีเขียวเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการสร้างพื้นที่พักฟื้น 
ทางจิตใจของเราท่ามกลางสิ่งเลวร้ายที่เราพบเจอ

            ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่มีการลงสมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2565 แต่ละผู้สมัครมีนโยบายมากมายที่นำเสนอ หนึ่งในนโยบายที่หลายผู้สมัครมีเหมือนกัน เห็นตรงกันก็คือการเพิ่มจำนวนพื้นที่สีเขียวใน กทม. ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวและร่มเงาในเมืองเป็นจุดเล็ก ๆ จำนวนมาก ซึ่งผมเห็นว่านโยบายส่วนมากจะออกมาในทิศทางนี้ ยิ่งไปกว่านั้นพื้นที่ตามคอนโดที่แม้จะเป็นตึงสูง ๆ ก็มีหลายที่ที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวอย่างมาก

            กล่าวคือ พื้นที่เขียวและสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเทรนของโลกใบนี้ หลายท่านอาจจะสงสัยว่าการเพิ่มพื้นที่สีเขียวหรือธรรมชาติมันมีประโยชน์อะไรขนาดนั้น บางท่านอาจคิดว่าควรจะพัฒนาส่วนอื่น ๆ ให้มันก้าวหน้าไม่ดีกว่าหรือ จะเน้นให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม พื้นที่สีเขียวไปทำไม แต่จริง ๆ แล้วธรรมชาติพื้นที่สีเขียวมีประโยชน์และอิทธิพลมากกว่าที่เราคาดเอาไว้ มันไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่ให้ความร่มรื่นหรือดูสบายตาเพียงอย่างเดียว แต่มันยังมีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนอย่างคาดไม่ถึงอีกด้วย

            ในบทความนี้ผมจึงอยากจะนำเสนอข้อมูล ประโยชน์ และอิทธิพลของสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยธรรมชาติพื้นที่สีเขียว เหตุผลที่ผมตั้งชื่อว่า "ธรรมชาติพื้นที่สีเขียว" ก็เพราะว่าธรรมชาติเป็นคำที่กว้างอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นภูเขา น้ำทะเล แม่น้ำ หรือทะเลทรายก็เป็นธรรมชาติทั้งหมด ซึ่งทั้งหมดที่ผมกล่าวมาก็ล้วนมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกแทบทั้งสิ้น เพียงแต่บทความนี้ผมอยากจะเน้นไปที่พื้นที่สีเขียวโดยเฉพาะเพื่อให้เข้ากับเทรนโลกที่เปลี่ยนแปลง และนโยบายทางด้านการเมืองในปัจจุบันและอนาคตของประเทศไทย

อิทธิพลของสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยธรรมชาติพื้นที่สีเขียว

            กว่า 200 ปีที่ผ่านมาในอารยธรรมของมนุษย์ เราได้เปลี่ยนจากการอพยพครั้งใหญ่จากพื้นที่ชนบทมาสู่เมือง ด้วยทุนนิยม อุตสาหกรรม และความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีผลักดันให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ ในเมืองมากยิ่งขึ้น หลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยขาดการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจไปให้ชนบท ทำให้คนในชนบทจำเป็นต้องเข้ามาอยู่ในเมืองมากยิ่งขึ้น และมีการประมาณไว้ว่าภายในปี ค.ศ. 2050 ร้อยละ 68 ของประชากรโลกจะอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเมือง

            การอาศัยอยู่ในเมืองหรือที่เราเรียกกันว่าป่าคอนกรีต ได้เกิดขึ้นมากมายในปัจจุบัน ผู้คนอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างหนาแน่น ทำให้ความจำเป็นของพื้นที่สีเขียวลดน้อยลง อีธาน ครอส (Ethan Kross) นักจิตวิทยาชื่อดังผู้เขียนหนังสือ Chatter: The Voice in Our Head, Why It Matters, and How to Harness It ได้อธิบายเกี่ยวกับการลดลงของพื้นที่สีเขียว ทำให้ประชาชนในเมืองมีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพย่ำแย่ สมาธิต่ำลง และมีความคิดซ้ำซากมากยิ่งขึ้น 

            ตรงกันข้ามกับเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวจำนวนมาก โดยครอสได้นำเสนอการศึกษาหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าธรรมชาติสามารถเยียวยาผู้ป่วยทางจิตเวชได้ ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาของ มาร์ค เบอร์แมน (Marc Berman) ที่ได้ทำการศึกษากับกลุ่มทดลองที่เป็นโรคซึมเศร้า พบว่า เมื่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไปเดินเล่นท่ามกลางธรรมชาติจะทำให้ระบบความคิดของพวกเขาทำงานได้ดีขึ้น และทำให้พวกเขามีความสุขมากขึ้นด้วย 

            นอกจากนั้นแล้ว เบอร์แมนและคณะ ยังได้ศึกษาเกี่ยวกับสมาธิท่ามกลางธรรมชาติอีกด้วย โดยพวกเขาพบว่า ประสิทธิภาพในการจดจ่อของผู้เข้าร่วมการทดลองดีกว่าอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเดินเล่นท่ามกลางธรรมชาติ เปรียบเทียบกับการเดินในเมือง พวกเขาสามารถเรียงตัวเลขจากหลังไปหน้าและพูดทวนออกมาได้อย่างแม่นยำมากขึ้น และที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือการทดลองนี้ยังดำเนินตลอดปีทั้งอากาศหนาว อากาศแจ่มใส และอากาศอึมครึม แต่ผลทดลองก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง 

การเดินเล่นท่ามกลางธรรมชาติช่วยให้มีสมาธิมากกว่าเดินเล่นในเมือง

            ไม่เพียงแค่นั้นยังมีการศึกษาจากภาพถ่ายดาวเทียม ที่ศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวนมากถึง 900,000 คน พบว่า เด็กที่เติบโตขึ้นมาในย่านที่มีพื้นที่สีเขียวน้อยที่สุด มีความเสี่ยงที่จะมีอาการผิดปกติทางจิต เช่น โรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวลเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นถึง 15 - 55% ดังนั้นประโยชน์ของธรรมชาติจึงช่วยด้านอารมณ์ และความคิดด้วย นั้นหมายความว่าการที่เราดำรงชีวิตอยู่ในป่าคอนกรีตย่อมทำให้ เรามีสุขภาพย่ำแย่ สมาธิต่ำลง และมีความคิดซ้ำซากมากยิ่งขึ้นอย่างที่ อีธาน ครอส ได้นำเสนอเอาไว้

การเดินเล่นท่ามกลางธรรมชาติจะทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีความสุขมากขึ้น

            ไม่เพียงแค่พื้นที่สีเขียวในเมืองอย่างเดียว แต่นักจิตวิทยาวิวัฒนาการได้แนะนำการออกแบบสำนักงานโดยอิงจากสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ในสมัยโบราณที่เรายังอยู่ในทุ่งสะวันนา พวกเขาให้ความเห็นว่าพวกเราอยู่รอดโดยการยังชีพด้วยการล่าสัตว์และเก็บของป่า และจะกระวนกระวายใจเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบที่เคยเป็นอันตรายต่อบรรพบุรุษ แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับสัญชาตญาณของเรามาก เพราะถึงแม้เราจะเกิดในยุคปัจจุบันแต่ในยีนของเรายังมีความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมในอดีตอยู่ เนื่องจากเราวิวัฒนาการทางสังคมมาอย่างรวดเร็วจนเกินไป 

            เราจึงรู้คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติโดยที่เราไม่รู้ตัว เช่นเราจะสงบมากขึ้นที่ได้ยินเสียเตาผิง บางคนเปิดเสียงนี้ตอนอ่านหนังสือด้วยซ้ำ เพราะเสียงไฟทำให้สัตว์ป่าถอยออกไป และทำให้บรรพบุรุษของเราปลอดภัย นอกจากนั้นยังมีเสียงธรรมชาติอื่น ๆ เช่น คลื่น เสียงนกร้อง หรือเสียงฝนที่ทำให้เราผ่อนคลายได้ด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลงที่สำนักงานในบริษัทชั้นนำของโลก จะมีพื้นที่ที่เป็นธรรมชาติให้พนักงานสามารถเข้าไปทำงานได้ หรือสามารถมองเห็นธรรมชาติได้ตลอดเวลา

            ยกตัวอย่าง เช่น แอปเปิลพาร์กถูกออกแบบให้เป็นวงกลมโดยมีส่วนที่เป็นต้นไม้ใบหญ้าอยู่ตรงกลาง และบริษัทอื่น ๆ อย่าง กูเกิลเพล็กซ์ (Googleplex) เป็นสำงานใหญ่ของบริษัทกูเกิลในเมาน์เทนวิว ก็เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานและมีพื้นที่ธรรมชาติมากมาย หรือโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาที่ผมทำงานก็ให้ความสำคัญกับธรรมชาติอย่างมาก เพื่อให้นักเรียนสามารถละสายตาจากห้องเรียนไปมองต้นไม้ใบหญ้าให้ผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น

            สอดคล้องกับการศึกษาหนึ่งในปี ค.ศ. 2006 ที่พบว่าสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความพึงพอใจจะสว่างวาบขึ้นขณะที่เราดูภาพภูมิทัศน์ธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีพื้นที่อยู่อาศัยอันปลอดภัยเป็นจุดเด่นของภาพ อีกทั้งยังมการศึกษาที่ได้ออกแบบการทดลองโดยให้ผู้เข้าร่วมเดินเล่นเป็นเวลา 90 นาที บนถนนใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่น หรือในพื้นที่สีเขียวข้าง ๆ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เมื่อนักวิทยาศาสตร์เปรียบเทียบระดับการคิดซ้ำซากของพวกเขาในช่วงท้ายการทดลอง พบว่า

            ผู้เข้าร่วมในกลุ่มที่เดินเล่นในพื้นที่สีเขียวบอกว่าพวกเขามีเสียงพล่ามในหัวลดลง และทีมวิจัยยังพบว่าสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคิดซ้ำซากก็ทำงานลดลงด้วย ซึ่งสอดคล้องกับการทดลองทั้งเบอร์แมนและคณะ และการทดลองที่ศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวนมากถึง 900,000 คน ด้วยเช่นกัน เพราะว่า โรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวล มีผลมาจากการคิดซ้ำซาก การคิดในแง่ลบ และเสียงพล่ามในหัว การอยู่ในธรรมชาติจึงทำให้สิ่งเหล่านี้ลดลงอย่างมาก 

            ความสามารถในการเปลี่ยนบทสนทนาในหัวไม่ให้หมกมุ่นกับสิ่งที่รบกวนจิตใจ หรือการพยายามเปลี่ยนมุมมองความคิดของตัวเองเป็นเรื่องยากอย่างมาก จำเป็นที่จะต้องใช้งานทักษะ Executive functions (EF) ซึ่งเป็นความสามารถของสมองและจิตใจที่ใช้ในการควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ดังนั้นการที่เสียงพล่ามในหัว รวมไปถึงการคิดซ้ำซาก การคิดในแง่ลบลดลง เมื่ออยู่ท่ามกลางธรรมชาติจึงเป็นเรื่องที่น่าทึ่งอย่างมาก

การสร้างพื้นที่สีเขียวจำลอง

            ความน่าทึ่งของธรรมชาติที่ผมกล่าวมาทั้งหมดอาจทำให้ผู้อ่านหลายคนเริ่มเป็นกังวล เพราะทุกวันนี้พื้นที่สีเขียวในเมืองน้อยลงเรื่อย ๆ นั้นอาจจะทำให้ในอนาคตประชาชนจะมีสุขภาพกายและใจที่ย่ำแย่ และมีสมาธิลดลงก็ได้ โชคยังดีที่ไม่ใช่แบบนั้น เราไม่จำเป็นต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยธรรมขาติจริง ๆ ก็ได้ แต่การสัมผัสกับธรรมชาติทางอ้อม เช่น ผ่านรูปถ่าย หรือวีดีโอที่มีทิวทัศน์ธรรมชาติก็สามารถพื้นฟูทรัพยากรสมองที่ช่วยให้มีสมาธิจดจ่อได้ทั้งสิ้น

            นั้นหมายความว่า เราสามารถทำให้เมืองนี้มีธรรมชาติมากขึ้นได้ผ่านรูปภาพต้นไม้ใบหญ้า และสีสันที่สื่อถึงธรรมชาติ กล่าวคือ ธรรมชาติเสมือนจริงก็ถือว่าเป็นธรรมชาติสำหรับจิตใจของมนุษย์ สอดคล้องกับงานวิจัยในปี ค.ศ. 2016 ชิ้นหนึ่งที่พยายามกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมเกิดความเครียดโดยการมอบหมายภารกิจซึ่งใคร ๆ ต่างหวาดหวั่น นั่นคือให้พวกเขาพูดสุนทรพจน์ต่อหน้าคนจำนวนมาก และหลังจากนั้นก็ให้ผู้เข้าร่วมดูคลิปที่มีความยาวประมาณ 6 นาที โดยฉายให้เห็นถนนในเมืองที่มีปริมาณต้นไม้มากน้อยแตกต่างกันไป

            ในกลุ่มผู้เข้าร่วมที่ถูกจำกัดให้ชมพื้นที่สีเขียวน้อยที่สุด พวกเขาได้ดูคลิปที่ฉายให้เห็นบ้านเรือนบนนถนนเส้นที่ไม่มีต้นไม้รอบ ๆ เลย ตรงกันข้ามกับกลุ่มผู้เข้าร่วมอีกกลุ่ม พวกเขาได้เห็นพื้นที่สีเขียวมากที่สุด คลิปที่พวกเขาดูเป็นคลิปที่นำชมย่านที่พักอาศัยอันเขียวชอุ่มไปด้วยแมกไม้ จากผลการทดลองพบว่า กลุ่มที่ดูคลิปพื้นที่สีเขียวสามารถฟื้นตัวจากความเครียดในการทำภารกิจมากกว่าคนที่ดูคลิปที่มีวิวสีเขียวน้อยที่สุด (วิวเมือง) ถึง 60% 

            ไม่เพียงแค่ภาพพื้นที่สีเขียวเท่านั้นแต่มีการศึกษาอีกชิ้น ในปี ค.ศ. 2019 ที่พบว่าการให้คนฟังเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงฝนตก หรือเสียงจิ้งหรีดร้อง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานที่ต้องใช้สมาธิให้ดียิ่งขึ้น การค้นพบเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า ยิ่งเราได้สัมผัสกับธรรมชาติยาวนานมากเท่าไร สุขภาพของเราก็จะดีขึ้นเท่านั้น ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องอยู่ท่ามกลางธรรมชาติเพื่อเยียวยาจิตใจ ความคิด หรือสมาธิของตัวเอง เพียงแต่การได้เห็นพื้นที่สีเขียวมากขึ้นก็สามารถทดแทนธรรมชาติได้แล้ว 

            แน่นอนว่าธรรมชาติจริง ๆ ให้ผลที่ดีกว่าอย่างแน่นอน เพราะมันดึงการรับรู้ทั้งภาพ กลิ่น เสียง สัมผัสของเราทั้งหมด แต่ในปัจจุบันพวกเขามีข้อจำกัดสำหรับการเข้าถึงธรรมชาติ ดังนั้นหากเราสามารถสร้างธรรมชาติหรือพื้นที่สีเขียวขึ้นมาทดแทนได้ การฟังเสียงธรรมชาติ การดูคลิปธรรมชาติ การตั้งภาพหน้าจอเป็นธรรมชาติก็ช่วยได้เหมือนกัน ในโลกที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง เราไม่สามารถคาดหวังได้ว่าเมืองจะเต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียวมากขึ้น แม้จะมีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวอยู่บ้าง แต่เมื่อจะต้องตัดสินใจระหว่างการสร้างพื้นที่ทางเศรษฐกิจหรือธรรมชาติ นายทุนหรือรัฐบาลที่ไม่มีวิสัยทัศน์มากพออาจจะตัดตัวเลือกธรรมชาติทิ้งไป 

โดยไม่ได้ตระหนักว่าพื้นที่สีเขียวและพื้นที่เศรษฐกิจสามารถไปด้วยกันได้

            ทุกวันนี้เราเห็นสิ่งก่อสร้างที่ตระหนักถึงพื้นที่สีเขียวมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงนโยบายการหาเสียงในกรุงเทพมหานคร ที่ใส่ใจกับพื้นที่สีเขียวมากยิ่งขึ้น เราจะต้องให้รัฐบาลและเอกชนตระหนักว่าสภาพแวดล้อมมีอิทธิพลในการดำเนินชีวิตของมนุษย์อย่างมาก สภาพแวดล้อมสามารถหล่อหลอมนิสัยที่ดีและไม่ดีของเราให้เกิดขึ้นมาได้ ยกตัวอย่างเช่น หากเราต้องการลดความอ้วนท่ามกลางอาหารแสนอร่อยเต็มตู้เย็นก็เป็นเรื่องยากที่จะหักห้ามใจได้ มันไม่ได้แตกต่างจากการพยายามเลิกบุหรี่ท่ามกลางพื้นที่ที่สามารถสูบบุหรี่ได้จำนวนมากเลย

            การสร้างสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยธรรมชาติพื้นที่สีเขียว หรือการสร้างพื้นที่สีเขียวจึงเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการสร้างพื้นที่พักผ่อน พักฟื้นทางจิตใจของเราท่ามกลางสิ่งเลวร้ายที่เราพบเจอ ทุกวันนี้ประชาชนมีสุขภาพจิตที่แย่ลงไปเรื่อย ๆ ดังนั้นการสร้างสภาพแวดล้อมพื้นที่สีเขียว ที่จะส่งเสริมสุขภาพจิตจึงเป็นภารกิจสำคัญที่รัฐบาลจะต้องตระหนักถึง เพราะมันสามารถช่วยให้สภาพจิตของเราดีมากขึ้น มีความสุขมากขึ้น มีสมาธิที่ดีมากขึ้น และยังช่วยลดความคิดฟุ่งซ่านในหัวของเราอีกด้วย และหากเราต้องการเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเองไปในทิศทางที่ดีขึ้น 

สามารถเริ่มจากสภาพแวดล้อมรอบตัวของเรา 
โดยการเปลี่ยนแปลงให้เป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

อ้างอิง

Biederman, I., & Vessel, E. (2006). Perceptual Pleasure and the Brain. American Scientist. 94(3): 247-255. https://doi.org/10.1511/2006.59.247

Bratman Lab. (2019). Nature and mental health: An ecosystem service perspective. Science Advances. 5(7): eaax0903. https://doi.org/10.1126/sciadv.aax0903

Kross, E. (2021). Chatter: The Voice in Your Head, Why It Matters, and How to Harness It. NY: Crown.

Russell, R., Guerry, AD., Balvanera, P., Gould, RK., Basurto, X., Chan, KMA., Klain, S., Levine, J., & Tam, J. (2013). Humans and Nature: How Knowing and Experiencing Nature Affect Well-Being Annual Review of Environment and Resources. 38: 473-502. http://dx.doi.org/10.1146/annurev-environ-012312-110838

คาลอส บุญสุภา. (2564). การออกแบบสถานที่ทำงานให้พนักงานมีความสุข. https://sircr.blogspot.com/2021/08/blog-post_12.html

ความคิดเห็น