แนวทางการรับมือกับโซเชียลมีเดียอย่างมีประสิทธิภาพ (Social Medias)

อย่าหลีกเลี่ยงโซเชียลมีเดีย แต่ต้องใช้มันฉย่างฉลาด 

            เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าหนึ่งในเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนโลกอยู่ทุกวันนี้ก็คือโทรศัพท์หรีอสมาร์ทโฟนที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน ทุกวันนี้เราสามารถเรียนออนไลน์ ส่งเอกสาร เซ็นเอกสาร ทำงาน สั่งอาหาร รวมไปถึงสร้างความบันเทิง เรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่ครอบจักรวาลเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่เชื่อมโยงผู้คนทั่วทั้งโลกเข้าหากันโดยผ่านตัวกลางอย่างสมาร์ทโฟน หรือเป็นแพลตฟอร์มที่เต็มไปด้วยคอนเทนต์รูปแบบต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, Tiktok,  Youtube และอื่น ๆ อีกมากมาย

            คอนเทนต์จากแพลตฟอร์มจำนวนมากบนโลกอินเทอร์เน็ต ก่อให้เกิดข้อดี และข้อเสียมากมาย โดยเฉพาะผลกระทบทางจิตใจอย่างคาดไม่ถึง เรียกได้ว่าถ้าไม่รักก็เกลียดไปเลย เพราะการเสพคอนเทนต์จำนวนมากที่มุ่งแต่จะแข่งกันเป็นการพรากเวลาไปจากการทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่เราให้ความสำคัญและเป็นประโยชน์กับชีวิตของเราเอง และอาจส่งผลตต่อการทำงานของเราอีกด้วย ไม่เพียงนั้นหลายคนมีปัญหาด้านการพักผ่อนอันเป็นผลมาจากโซเชียลมีเดีย

            ดูเหมือนว่าโซเชียลมีเดียจะอยู่กับเราไปอีกนานแสนนาน และมันยังเป็นแพลตฟอร์มที่ดึงดูดเราเข้าไปสู่เรื่องราวต่าง ๆ อย่างไม่มีวันจบสิ้น ดังนั้นเราจะต้องหาทางเรียนรู้วิธีการจัดการกับทั้งโซเชียลมีเดียเองและผลกระทบต่อตัวเองอย่างดีที่สุดเท่าเราจะทำได้ ผมจึงได้เขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านตระหนักถึงข้อดีของโซเชียลมีเดียที่มีมากมายมหาศาล และข้อเสียที่กลายเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ของใครหลายคนในปัจจุบัน เพราะดูเหมือนจะต้องเป็นหน้าที่ของเราแล้วแหละ ที่จะจัดการกับความยุ่งเหยิงในชีวิตอันเกิดมาจากปัจจัยมากมาย

เหตุผลที่โซเชียลมีเดียตกเป็นจำเลยของทุกปัญหาในสังคม

            ก่อนที่จะเข้าถึงผลกระทบของโซเชียลมีเดีย ผมอยากจะอธิบายเกี่ยวกับเหตุผลที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นจำเลยของสังคมก่อน ซึ่งผมเชื่อว่าหลายท่านคงรู้ดีว่าสื่อต่าง ๆ  มีผลกระทบต่อพฤติกรรมของมนุษย์อย่างมาก ไม่ใช่เพียงแค่การเสพติดอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาความรุนแรง ความขัดแย้ง หรือความหลงผิดก็มีอิทธิพลมาจากสื่อหรือคอนเทนต์ต่าง ๆ เช่นเดียวกัน เพียงแต่มันเป็นแค่ปัจจัยหนึ่งเท่านั้น มันไม่ใช่ว่าการกำจัดสื่อต่าง ๆ ทิ้งไปจะทำให้สังคมของเราปราศจากความรุนแรง ความขัดแย้ง หรือความหลงผิดได้

            สิ่งเหล่านี้ไม่มีทางหายไปได้ เพราะมันเกิดมาจากตัวเราเองนี้แหละที่ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ในสังคมขึ้นมา เฟรดริก เวอร์แธม (Fredric Wertham) นักจิตวิทยาชาวเยอรมันอเมริกัน เจ้าของงานวิจัยที่ทำให้เกิดความตื่นตระหนกทางศีลธรรมในเรื่องการเลือกเสพสื่อของเด็กวัยรุ่นในช่วงทศวรรษที่ 1950 สิ่งนี้ถูกเรียกว่า "ปรากฏการณ์เฟรดริก เวอร์แธม" หนังสือของเขา Seduction of the Innocent ได้ถูกนำมาสรุปลงในนิตยสาร Readet's Digest ภายใต้ข้อความพาดหัวว่า "หนังสือการ์ตูน พิมพ์เขียวสำหรับการกระทำผิด"

            ผมเชื่อว่าบุคคลหลายคนในสังคมไทยของเราคิดว่าการอ่านมังงะ ดูอนิเมะจะเป็นภัยแก่สังคม แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่นะครับ เพราะสิ่งนี้ก็เป็นข้อสันนิฐานที่เคยเกิดขึ้นในตะวันตกเมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว จากผลการศึกษาของเวอร์แธมทำให้เกิดการทำประชาพิจารณ์โดยหน่วยงานรัฐและการออกคำสั่งแบนหนังสือการ์ตูนในท้องถิ่นอีกหลายสิบฉบับ แต่สุดท้ายสิ่งนี้ก็ถูกตีตกไปในเวลาต่อมา แต่นักวิจัยและนักข่าวจำนวนมากก็ยังคงทำผิดซ้ำเหมือนกับเวอร์แธมอยู่ พวกเขาด่วนสรุปเองว่าวัยรุ่นเสียคนเพราะต้นตอความเสียหายมาจากสื่อต่าง ๆ  เช่น โทรทัศน์ ดนตรีร็อก วีดีโอเกม 

และตอนนี้โซเชียลมีเดียก็ตกเป็นจำเลยของทุกปัญหาในสังคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

            โซเชียลมีเดียอย่างเช่น Facebook ถูกตราหน้าว่าเป็นสาเหตุของ โรคซึมเศร้า หรือ Instagram ก็ถูกกล่าวหาว่าทำให้เกิดโรคขี้อิจฉา สื่อกระหายที่จะรายงานเรื่องงานศึกษาที่เชื่อมโยงการใช้โซเชียลมีเดียเข้ากับความโดดเดี่ยว วิตกกังวล และซึมเศร้า แต่จริง ๆ แล้ว การวิจัยหรือทดลองหลายชิ้นสร้างความเชื่อมโยงอย่างไม่ถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่น มีการศึกษาที่พบว่า โซเชียลมีเดียส่งผลต่อภาวะซึมเศร้า แต่พอไปดูผลการศึกษาจึงพบว่า มันอยู่ในรูปแบบความสัมพันธ์เท่านั้น ดังนั้นจึงอธิบายได้เพียงว่า มีแนวโน้มที่จะเป็นส่วนหนึ่งของโรคซึมเศร้าได้เท่านั้น

โซเชียลมีเดียเป็นแพลตฟอร์มที่ดึงดูดเราเข้าไปสู่เรื่องราวต่าง ๆ อย่างไม่มีวันจบสิ้น

            และในขณะเดียวก็มีการศึกษาอย่างละเอียดที่ให้ผลลัพธ์ชวนให้สบายใจมากกว่า ที่พบว่า ที่จริงแล้วผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากกว่าผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างอื่น หลาย ๆ คนได้รับประโยชน์ทางจิตใจ และการสร้างเครือข่ายสังคมจำนวนมากไม่ได้นำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าหรือปัญหาทางจิตวิทยาและพฤติกรรมอื่น ๆ มากขึ้นแต่อย่างใด ผู้ใช้งานบางคนรู้สึกแย่จริง แต่พวกเขามักจะเป็นคนที่มีปัญหาเรื่องความไม่มั่นใจอยู่แล้ว

            คริสโตเฟอร์ เฟอร์กูสัน (Christopher Ferguson) นักจิตวิทยา อธิบายว่าอันตรายจากโลกออนไลน์ถูกขยายให้เป็นเรื่องใหญ่เกินจริง และคนอายุน้อยยังคงได้รับผลกระทบจากเพื่อนการปฏิสัมพันธ์ออฟไลน์เป็นหลัก การศึกษาของเขาเป็นการวิเคราะห์อภิมานเรื่องความพึงพอใจในร่างกายของตัวเองทำให้เขาพบว่า ภาพลักษณ์บนโซเชียลมีเดียไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความพึงพอใจต่อเรือนร่างของตนในกลุ่มผู้ชายอย่างมีนัยสำคัญอะไร และส่งผลกระทบกับผู้หญิงเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งพวกเราก็รู้กันดีว่าผู้หญิงมักจะเป็นกังวลเรื่องนี้กันอยู่แล้ว

ผลกระทบเชิงลบของโซเชียลมีเดีย

            อย่างไรก็ตามแม้ว่าโซเชียลมีเดียจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบโดยตรง แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าโซเชียลมีเดียก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเข่น โซเชียลมีเดียก่อให้เกิดการเปรียบเทียบกันในด้านต่าง ๆ เรามีแนวโน้มที่จะเปรียบเทียบระหว่างความสมบูรณ์แบบที่ผู้อื่นวางแผนจัดเตรียมไว้ กับชีวิตที่เรามองว่ามันไม่ค่อยสมบูรณ์แบบของตัวเอง แต่จริง ๆ แล้วก็เป็นชีวิตปกตินั้นแหละ 

            เหมือนกับผลการวิจัยเกี่ยวกับเรือนร่างที่ผมยกตัวอย่างไปข้างต้นนั้นแหละครับ เพราะแม้ว่าหลายคนจะกังวลกับร่ายกายของตัวเองอยู่แล้ว แต่โซเชียลมีเดียก็เป็นปัจจัยที่เข้ามากมีส่วนในการกระตุ้นนั่นเอง โดยเฉพาะการแสดงตัวตนบนโซเชียลมีเดียยังเปิดช่องให้เราได้รับคำตัดสินและวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่น ซึ่งอาจมีความหลากหลาย ตั้งแต่ความคิดเห็นที่ทำให้เจ็บปวดโดยไม่ได้ตั้งใจไปจนถึงการล้อเลียนและกลั่นแกล้ง ที่เราเรียกกันว่า Cyberbullying หรือ "การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์" 

            การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์กลายเป็นสิ่งที่คนพูดถึงเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน เราจะพบเห็นได้มากมายจากสื่อที่รายงานข่าวคนที่โดยให้ร้าย การด่าว่า กลั่นแกล้ง การข่มเหง หรือการรังแกผู้อื่นทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ แต่การกลั่นแกล้งมักจะไม่ค่อยเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวสักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะเกิดกับบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือบางครั้งก็เป็นกรณีที่เกิดขึ้นกับใครที่เราไม่รู้จัก แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์เป็นปัญหาใหญ่ในสังคมปัจจุบัน

            โซเชียลมีเดียยังมีผลกระทบเชิงลบอีกมาก ยกตัวอย่างเช่น การเปรียบเทียบวิถีชีวิตตัวเองกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นสถานะทางสังคม หรือสถานะทางเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น เราเห็นเพื่อนซื้อรถ ซื้อบ้าน หรือไปรับประทานร้านอาหารดี ๆ ก็ทำให้เรารู้สึกอิจฉา และรู้สึกเห็นคุณค่าในตัวเองน้อยลง หรือเกิดความรู้สึกเครียด หรือทุกข์ใจจากข่าวสารจำนวนมากที่ถูกปั่นหรือมีการสร้างขึ้นมาด้วยจุดประสงค์บางอย่างที่เราเรียกว่า Fake New คือข่าวปลอม ซึ่งอาจจะมีระดับจริงเพียงเล็กน้อยไปจนถึงไม่จริงเลย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสับสน ความตื่นตระหนักในสังคม 

            ยกตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ. 2016 ในระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา มีข่าวปลอมที่ระบุว่า ฮิลลารี คลินตัน ควบคุมเครือข่ายค้ามนุษย์โดยกักขังเด็ก ๆ ไว้เป็นทาสค้ากามที่ชั้นใต้ดินของร้านพิซซ่าที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ซึ่งข่าวปลอมนี้มีชาวอเมริกันมากพอที่เชื่อเรื่องนี้จนเป็นผลร้ายต่อแคมเปญเลือกตั้งของคลินตัน และมีประชาชนคนหนึ่งถึงกับพกปืนไปที่ร้านขายพิซซ่าดังกล่าวเพื่อเรียกร้องของดูชั้นใต้ดิน ทั้ง ๆ ที่ร้านนั้นไม่มีชั้นใต้ดินเลยด้วยซ้ำ

แนวทางการรับมือกับโซเชียลมีเดีย

            ผมได้อธิบายเหตุผลที่โซเชียลมีเดียตกเป็นจำเลยของทุกปัญหาในสังคม และช่วงท้ายผมได้ยกตัวอย่างผลกระทบเชิงลบให้เห็น แต่เมื่อมีผลกระทบเชิงลบก็ต้องมีผลกระทบเชิงบวก แน่นอนว่าโซเชียลมีเดียก็มีประโยชน์อย่างมาก เพราะมันช่วยให้เราโต้ตอบกับผู้อื่น แบ่งปันความคิดสร้างสรรค์ ค้นหาความสัมพันธ์ที่สร้างประสบการณ์ การเรียนรู้ให้กับเรา อีกทั้งยังมอบสิ่งแก้ฟุ้งซ่านที่น่าดึงดูดใจ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาไว้ให้อ่านและเสียงหัวเราะที่ได้จากคอนเทนต์จำนวนมาก รวมไปถึงกำลังใจและข้อคิดดี ๆ อีกมากมาย

            บทเรียนจากบทความนี้ก็คือ อย่าหลีกเลี่ยงโซเชียลมีเดีย แต่ต้องใช้มันฉย่างฉลาด เหล่านักวิจัยที่วิเคราะห์บรรทัดฐานทางสังคมออนไลน์และความรู้สึกของผู้ใช้งานค้นพบว่า คนส่วนใหญ่มองว่าการหลีกเลี่ยง ไม่ดูหมิ่นคนอื่นพร้อม ๆ กับนำเสนอตัวเองในแง่บวกแต่เป็นเรื่องจริงว่าเป็นหน้าที่ และนั่นแหละคือกลยุทธ์ของผู้ชนะ คนที่โพสต์ข้อความเชิงบวกมากกว่าจะถูกมองว่าเป็นคนน่ารักได้รับการสนับสนุนทางสังคมมากกว่า และดังนั้นจึงมีความสุขมากกว่า ในขณะที่พวกชอบโพสต์ข้อความชวนหดหู่ได้รับกำลังใจน้อยกว่าและอาจลงเอยด้วยการรู้สึกแย่ลงได้

            เมื่อเป็นเช่นนั้น การโพสต์ข้อความเชิงบวกจะทำให้เกิดประโยชน์อย่างมาก หากเรากำลังรู้สึกไม่มั่นใจก็ต้องอย่าไปดูภาพถ่ายที่ถูกจัดฉากอย่างประณีตและตกแต่ง หรือลบข้อบกพร่องออกไปของบรรดาผู้มีชื่อเสียงและนางแบบให้น้อยลง หรือดูภาพของบุคคลที่ไปเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ หรือรับประทานอาหารที่หรูหราให้น้อยลง และควรจะใช้เวลาดูภาพถ่ายตามธรรมชาติของเพื่อนและครอบครัวมากขึ้น รวมไปถึงการติดตามคนที่เผยแพร่ข้อความเชิงบวกและสุภาพแทนที่จะเป็นพวกเกรี้ยวกราดหรือชอบเสียดสีเหน็บแนม 

            การดูแลจิตใจไม่ใช่การปฏิเสธโซเชียลมีเดียแต่เป็นการรับประกันว่าจะใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีประโยชน์ และรู้ตัวเมื่อได้รับผลกระทบเชิงลบจากโซเชียลมีเดีย อย่างไรก็ตามก็มีหลายคนที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองระหว่างใช้โซเชียลมีเดียได้ ดังนั้นกลุ่มบุคคลนี้จึงจำเป็นต้องควบคุมการใช้สมาร์ทโฟน โดยผมมีวิธีการของ เอ็มมา เฮ็ปเบิร์น (Emma Hepburn) ผู้เขียนหนังสือ A Toolkit for Modern Life มานำเสนอโดยแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอนดังต่อไปนี้

            ขั้นที่ 1 ตรวจสอบการใช้สมาร์ทโฟนของตนเองว่าแย่แค่ไหน โดยสามารถตรวจสอบเพื่อให้เราเห็นส่วนที่เราต้องดำเนินการจัดการให้ชัดเจนมากขึ้นจากคำถามจำนวน 8 ข้อ หากผู้อ่านรู้สึกว่ามันใช่เป็นส่วนใหญ่ อาจถึงเวลาที่จะต้องประเมินใหม่อีกครั้งว่าผู้อ่านใช้สมาร์ทโฟนหรือโซเชียลมีเดียอย่างไร เพื่อให้แน่ใจว่านี่จะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตของเรามากกว่าที่จะเป็นอุปสรรค

            1) ท่านวิตกกังวล เศร้า หรือรู้สึกไม่ดีพอเวลาเลื่อนหน้าจอสมาร์ทโฟนและยังคงรู้สึกเช่นนี้ต่อไปหลังจากนั้นหรือไม่

            2) ท่านอยู่ห่างจากสมาร์ทโฟนไม่ได้ใช่หรือไม่

            3) ท่านรู้สึกว่าถูกบังคับให้เปิดดูโซเชียลมีเดียใช่หรือไม่

            4) ท่านรู้สึกว่าถูกบังคับให้โพสต์บนโซเชียลมีเดียเพราะต้องการยอดไลก์ใช่หรือไม่

            5) ท่านรู้สึกแย่เมื่อไม่ได้รับยอดไลก์มากเท่าที่หวังเอาไว้ สำหรับการโพสต์หนึ่งครั้งใช่หรือไม่

            6) การใช้สมาร์ทโฟนหยุดท่านจากการทำสิ่งที่ต้องการทำจริง ๆ หรือไม่

            7) การใช้สมาร์ทโฟนขัดขวางสิ่งที่สำคัญสำหรับท่านอย่างความสัมพันธ์และงานอดิเรกหรือไม่

            8) สมาร์ทโฟนส่งผลเสียต่อชีวิตของท่าน ไม่ว่าจะเป็นการนอนหลับ การรับประทานอาหาร การทำงาน หรือการเลี้ยงดูลูกหรือไม่ 

            ขั้นที่ 2 ควบคุมการใช้สมาร์ทโฟนของตนเอง เมื่อเราทำแบบทดสอบในขั้นที่ 1 และพบว่าส่วนใหญ่ (5/8) ผู้อ่านกำลังรู้สึกแย่และต้องหยุดทำสิ่งที่ต้องการ ก็ถึงเวลาที่จะแย่งชิงการควบคุมกลับคืนมา และลองใช้กลยุทธ์ดังต่อไปนี้

            1) กำหนดขีดจำกัดการใช้งานที่ทำได้จริงด้วยการใช้แอปพลิเคชั่นเพื่อจำกัดหรือแสดงคำเตือน ยกตัวอย่างเช่น ฟังก์ชั่น Focus ของ Apple หรือแอปพลิเคชั่น Forest Stay Focused เครืองมือเหล่านี้จะช่วยให้คุณสามารถกำหนดขีดจำกัดและขอบเขตเชิงรุกให้กับเวลาที่ควรจะใช้สมาร์ทโฟน

            2) อย่าใช้สมาร์ทโฟนบนเตียง

            3) คัดกรองฟีดบนโซเชียลมีเดียของคุณ เลิกติดตาม หรือซ่อนข้อความของคนที่ทำให้รู้สึกแย่

            4) ปิดการแจ้งเตือนเพื่อให้คุณเป็นคนควบคุมว่าเวลาใดจะตรวจสอบโซเชียลมีเดีย แทนที่จะให้มันควบคุมคุณ

            5) จำไว้ว่าคุณกำลังดูภาพที่ผู้อื่นคัดสรรมาอย่างดี (หลายคนใช้แอปพลิเคชั่นในการแต่งภาพ)

            6) ระวังข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการแบ่งปันข้อมูลส่วนบุคคลและตัดสินใจอย่างระมัดระวังเวลาจะโพสต์

            7) เก็บสมาร์ทโฟนไว้อีกห้อง หรือปิดเครื่องเป็นบางครั้งเมื่อไม่ต้องการใช้งาน

            ยังมีอีกหลายวิธีที่ผู้อ่านจะสามารถนำมาใช้ได้ แต่สิ่งสำคัญที่จะต้องไม่ลืมก็คือ เราไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงโซเชียลมีเดีย แต่ต้องใช้มันฉย่างฉลาดและสร้างสรรค์ เราไม่จำเป็นต้องเสพข่าวที่สร้างความขุ่นหมองต่อจิตใจของเรา เราสามารถดูเพื่อให้รู้ถึงความเป็นไปที่เกิดขึ้นในโลกหรือบ้านเมืองได้ แต่การไปติดตามหรือใช้เวลากับมันมากเกินไป ไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา กล่าวคือ เราสามารถแยกการตระหนักรู้กับการหมกหมุ่นออกจากกันได้

            ในอดีตผมเคยติดตามแต่ข้อความเชิงลบ ความเป็นจริงเกี่ยวกับโลกใบนี้ ความเศร้า ความทุกข์ต่างหมุนเวียนโอบรอบเราทุกคน แน่นอนมันคือความเป็นจริงที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่ผมในอดีตลืมคิดไปก็คือ มันก็มีด้านที่ดีเกิดขึ้นกับโลกใบนี้ด้วย ทุกวันนี้ผู้หญิงได้รับการศึกษาในระดับเริ่มต้นใกล้เพียงกับเพศชาย (ห่างกันเพียงทศนิยมเดียว) เด็กได้รับวัคซีนมากขึ้น ความยากจนแบบจนสุด ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ รวมไปถึงประชาชนเข้าถึงไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาได้ฟรี

            ดังนั้นหากเราเสพสื่อเชิงลบก็อย่าลืมว่ามีข้อมูลเชิงบวกมากมายที่เกิดขึ้นให้เราได้เสพด้วยเช่นเดียวกัน หรือในกรณีที่เราหักห้ามใจตัวเองไม่ได้ เราก็สามารถสำรวจตนเองในขั้นที่ 1 และเมื่อพบว่าตนเองจำเป็นจะต้องเข้ากระบวนการควบคุม ก็ดำเนินการไปตามขั้นที่ 2 ของบทความนี้ ที่เป็นกระบวนการที่จะดึงความสามารถในการควบคุมของเราให้กลับคืนมา และยิ่งเราสามารถปฏิบัติอย่างมีวินัยได้ เราก็จะรู้สึกมีคุณค่ามากขึ้น รู้สึกภูมิใจในตัวเองมากขึ้น

ซึ่งจะทำให้เราสามารถจัดการหรือควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ 
ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

อ้างอิง

Hepburn, E. (2022). A Toolkit for Modern Life: 53 Ways to Look After Your Mind. London: Greenfinch.

Tierney, J., & Baumeister, R. (2019). The Power of Bad: How the Negativity Effect Rules Us and How We Can Rule It. NY: Penguin Books

คาลอส บุญสุภา. (2565). เข้าใจ ข่าวลวง (Fake News) เพื่อดำเนินชีวิตอย่างรู้เท่าทัน. https://sircr.blogspot.com/2022/01/fake-news.html

ความคิดเห็น