อย่าปล่อยให้ประสบการณ์ในอดีต ทำร้ายตัวเราในปัจจุบันได้

การยึดติดอดีตที่เจ็บปวดแล้วย้ำทวนความทรงจำนั้นบ่อย ๆ ไม่ได้ช่วยฟื้นฟูบาดแผลแต่อย่างใด

            ผมเคยพูดคุยและรับฟังปัญหา ความไม่สบายใจของคนหลายคน และพบว่าเรื่องราวเชิงลบต่าง ๆ ที่พวกเขาเล่าให้ผมฟังส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในอดีต หรือปัญหาในปัจจุบันของพวกเขาเมื่อเจาะลึกลงไปก็พบว่ามีที่มาที่ไปจากอดีต ยกตัวอย่างเช่น คนคนหนึ่งที่รู้สึกว่าตัวเองเรียนไม่เก่งเหมือนกับคนอื่น ซึ่งเขาให้เหตุผลว่า เพราะในอดีตตนเองไม่ตั้งใจเรียน โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษเป็นวิชาที่คนจำนวนมากโทษตัวเองว่าไม่ตั้งใจเรียนเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ก็เลยทำให้พวกเขาไม่สามารถพูดหรือเข้าใจภาษาอังกฤษได้ดีในปัจจุบัน

            แน่นอนว่าอดีตที่ไม่ตั้งใจเรียนส่งผลถึงปัจจุบันอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่เราก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เช่นกัน เราไม่สามารถย้อนกลับไปเมื่อครั้งยังเป็นเด็กแล้วเปลี่ยนแปลงอดีตได้ มันจึงไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะไปโทษตัวเองในอดีต และไม่เพียงแค่เรื่องเรียนเท่านั้นที่เราโทษตัวเอง แต่ยังมีการตัดสินใจผิดพลาดอีกมากมายที่เรามัวแต่ไปคิดถึง "ทำไมฉันถึงเคยทำแบบนั้นไปนะ" "ทำไมฉันถึงไม่ไปคบกับคนคนนั้นแทนนะ" หรือ "ทำไมฉันถึงไม่เลือกเรียนสาขานั้นนะ" 

            มันไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะมีบาดแผลในใจ บาดแผลที่ตัดสินใจผิดพลาดในหลาย ๆ เรื่อง บาดแผลของอดีตที่เคยขี้เกียจ หรือบาดแผลที่เคยโดนทารุณกรรมทั้งวาจาและการกระทำ เราทุกคนล้วนมีบาดแผลทั้งสิ้น แต่ความรุนแรงของบาดแผลไม่ได้วัดกันที่ใครเจอเหตุการณ์ที่รุนแรงกว่ากัน แต่เป็นใครนำเอาบาดแผลนั้นมาทำร้ายตัวเราในปัจจุบันมากกว่ากันต่างหาก ในบทความนี้ผมจึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนอย่าปล่อยให้ประสบการณ์หรือบาดแผลในอดีตมาทำให้ปัจจุบันของเราต้องขมขื่น เจ็บปวด 

เพราะชีวิตมันไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นเราจึงไม่ควรไปเพิ่มความยากให้กับมัน

อะไรคือสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับ บาดแผลทางจิตใจ

            รอย เบาไมสเตอร์ (Roy Baumeister) และ พอล โรซิน (Paul Rozin) นักจิตวิทยาชื่อดังสนใจคุณสมบัติเฉพาะทางของภาษาศาสตร์บางอย่าง เพราะโดยปกติแล้วนักจิตวิทยาจะอธิบายสภาวะทางอารมณ์ด้วยคู่คำตรงข้าม เช่น สุข กับ เศร้า ผ่อนคลาย กับตึงเครียด พอใจ กับ ขุ่นเคือง มองแง่ดี กับ มองแง่ร้าย ซึ่งในหนังสือ The Power of Bad: How the Negativity Effect Rules Us and How We Can Rule It จอห์น เทียร์นีย์ (John Tierney) และ รอย เบาเมสเตอร์ (Roy Baumeister) ได้เล่าถึงการสำรวจงานวิจัยจิตวิทยาในเรื่องเหตุกาณ์ดีและร้าย พวกเขาก็สังเกตเห็นว่ามีบางอย่างที่ขาดหายไป

            นักจิตวิทยาต่างรู้กันมานานแล้วว่า เหตุการณ์เพียงเหตุการณ์เดียวสามารถทำให้คนอกสั่นขวัญหายไปหลายปีได้ อาการแบบนี้เรียกว่า บาดแผลทางจิตใจ (Trauma) คืออาการที่ทำให้สภาพจิตใจเปลี่ยนแปลงไป โดยเกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง มีผลกระทบต่อสมองในส่วนความคิด อันเป็นเหตุให้เกิดความเศร้าต่อเนื่องไปถึงการควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรม ทำให้เรารู้สึกจมดิ่ง และกลายเป็นความเครียดที่ไม่สามารถแก้ไขได้ แต่สิ่งที่น่าพิจารณาก็คือ สิ่งที่ตรงขามกับอาการนี้ล่ะคืออะไร 

คำที่ใช้เรียกสภาวะทางอารมณ์เชิงบวกอันเป็นผลมาจากเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์เดียวซึ่งอ้อยอิ่งอยู่นานหลายสิบปีคืออะไรกัน

            บาดแผลทางจิตใจ ไม่มีคำตรงข้าม เพราะไม่มีเหตุการณ์ดี ๆ ที่ส่งผลกระทบยาวนานได้ขนาดนั้นเลยสักเหตุการณ์เดียว เราสามารถตั้งใจนึกถึงช่วงเวลาอันเป็นสุขในอดีตได้ แต่ช่วงเวลาที่ผุดขึ้นมาในความคิดโดยที่เราไม่ได้เรียกหาในอันที หรือที่นักจิตวิทยาเรียกว่าความทรงจำอัตโนมัติ มักจะเป็นเรื่องราวตอนที่ไม่มีความสุข ช่วงเวลาแย่ ๆ ทำให้เกิดความรู้สึกฝังในจิตใต้สำนึกไม่จางหายไปไหน 

มันไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะมีบาดแผลในใจ

            50 ปีหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อนักวิจัยเปรียบเทียบทหารผ่านศึกชาวอเมริกันที่สู้รบในแปซิฟิกกับทหารที่สู้รบในยุโรป นักวิจัยก็ได้พบว่า พวกเขามีรสนิยมที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ทหารผ่านศึกในภูมิภาคแปซิฟิกยังคงหลีกเลี่ยงไม่ยอมกินอาหารเอเซียอยู่ ประสบการณ์ทางเพศที่ย่ำแย่ครั้งหนึ่งหลอกหลอนคนคนหนึ่งไปได้ตลอดทั้งชีวิตแต่ความสัมพันธ์อันแสนสุขสมกลับกลายเป็นความทางจำอันรางเลือน 

            การนอกใจเพียงครั้งเดียวทำลายชีวิตแต่งงานลงได้ แต่ไม่มีการกระทำแห่งความยึดมั่นทุ่มเทใดจะผูกพันคู่รักไว้ด้วยกันอย่างมั่นคงถาวรได้ หรือการถูกพ่อแม่ทอดทิ้งเพียงครั้งเดียว นำไปสู่ความทุกข์กังวลและการเข้ารับการบำบัดรักษาอีกหลายปี แต่กลับไม่มีผู้ใหญ่คนไหนยึดมั่นถือมั่นกับวันแสนวิเศษของสวนสัตว์ในวันที่เขาสนุกสนาน และมีความสุขกับพ่อและแม่ของตัวเองเลย

            พอล โรซิน ยังสังเกตเห็นคำความหมายไม่ดีเดี่ยว ๆ โดด ๆ คำอื่นด้วย ยกตัวอย่างเช่น คำว่า ฆาตกร ไม่มีคำตรงข้ามเลยสักคำเดียว คำว่าอุบัติเหตุก็ไม่มีคำตรงข้ามโดยตรงแม้จะมีคำที่เฉียด ๆ อย่างโชคดี หรือ บังเอิญก็ตาม เช่นเดียวกับคำว่า ขยะแขยง ก็ไม่พบคำตรงข้ามเช่นเดียวกัน ดังนั้นจากข้อสังเกตของโรซินจึงแสดงให้เห็นว่ามุมมองแง่ลบมีพลังอย่างมาก มันแข็งแกร่งมากเสียจนผู้คนไม่แม้แต่จะพยายามหาสิ่งดี ๆ มาเปรียบเทียบกับมัน

            ในวรรณกรรม แอนนา คาเรนินา ที่เขียนโดย เลโอ ตอลสตอย (Leo Tolstoy) มีข้อสังเกตที่ถูกนำมาสร้างเป็นหลักการ เรียกว่า หลักการแอนา คาเรนินา (Anna Karenina Principle) โดยมีใจความว่า "ครอบครัวที่มีความสุขก็เหมือนกันหมด แต่ครอบครัวที่ไร้สุขนั้นไม่มีความสุขในแบบของพวกเขาเอง" กล่าวคือ ความทุกข์ หรือมุมมองเชิงลบมันมีความเข้มข้น และมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละครอบครัว สังคม วัฒนธรรม และด้วยความเข้มข้นนั่นก็ทำให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตอย่างมาก

            จึงเป็นเหตุผลที่งานวิจัย หรือสื่อเลือกนำเสนอผลกระทบอันเลวร้ายจากบาดแผลในใจ ความวิกลจริต และอาการซึมเศร้ากันเสียมากมาย แต่กลับเขียนถึงความยืดหยุ่นและศักยภาพที่จะมีความสุขของจิตใจกันน้อยนิดเหลือเกิน ยกตัวอย่างเช่น ผู้คนจะรู้จักกับภาวะเครียดหลังผ่านเหตุการณ์รุนแรง (Post-trauamtic Stress Syndrome) แต่กลับไม่มีใครพูดถึงการเติบโตหลังจากผ่านเหตุการณ์รุนแรง ทั้งที่จริง ๆ แล้วประสบการณ์เลวร้ายมักจะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น 

ฉลาดขึ้น เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น อดทนขึ้น และเข้าใจมากขึ้น หรือไม่ก็เป็นคนที่ดีขึ้น

            มาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman) นักจิตวิทยาเชิงบวกผู้ทรงอิทธิพล มักรู้สึกหน่ายกับคนที่ให้ความสนใจกับภาวะเครียดหลังผ่านเหตุการณ์รุนแรงกันเสียมากมาย แทนที่จะไปสนใจการเติบโตหลังผ่านเหตุการณ์รุนแรง เพราะจากการศึกษาพบว่า มีคนอย่างน้อยร้อยละ 80 ไม่มีภาวะเครียดหลังผ่านเหตุการณ์รุนแรง แม้ว่าเหตุการณ์เลวร้ายเพียงเหตุการณ์เดียวจะมีพลังมากกว่าเหตุการณ์ดี ๆ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป คนเราก็ตอบสนองด้วยวิธีสร้างสรรค์ ทำให้เรากลายมาเป็นคนที่เผชิญกับความท้าทายในชีวิตได้ดียิ่งกว่าที่เคย 

            ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เคยคร่ำครวญกับประสบการณ์ในอดีต พ่อแม่หย่าร้างกัน แม่ต้องป่วยเป็นโรคจิตเภท ทำให้เกิดเหตุการณ์เลวร้ายตามมามากมายทั้งการใช้เงินที่มากเกินไป โรงเรียนที่ไม่ได้ไป ความรู้สึกไร้คุณค่าในตัวเอง ผมคิดว่าประสบการณ์ในอดีตก่อร่างสร้างตัวกลายเป็นพื้นฐานของจิตใจ ซึ่งไม่ใช่ความคิดที่ผิด แต่มันไม่มีประโยชน์อะไรที่จะทวนความทรงจำเก่า ๆ แล้วรู้สึกเจ็บปวดไปกับมัน การทำแบบนี้จะยิ่งทำให้ปัจจุบันแย่ลงไปเรื่อย ๆ กล่าวคือสิ่งที่ผ่านมาก็เลวร้ายแล้ว ยังจะย้อนนึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาก็ยิ่งทำให้ไม่ดีเข้าไปใหญ่

            การยึดติดอดีตที่เจ็บปวดแล้วย้ำทวนความทรงจำนั้นบ่อย ๆ ไม่ได้ช่วยฟื้นฟูบาดแผลแต่อย่างใด ดังนั้นแทนที่เราจะแค้น เสียใจ เจ็บปวด โกรธตัวเอง หรือโทษคนอื่น เราควรที่จะปลอบโยนตัวเราในอดีต คิดในเชิงบวกมากขึ้นว่าที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้ก็ดีที่สุดแล้ว ผ่านมาได้ถือว่าเก่งมากแล้ง อดทนได้เก่งมาก ตอนนี้เป็นผู้ใหญ่แล้ว เข้มแข็งมากขึ้นแล้ว จากนั้น เราจะต้องหล่อหลอมตัวตนที่ดีมากขึ้น พยายามสร้างคุณค่าในตัวเองให้สูงขึ้น ทำให้ตัวเองภูมิใจ อ่านหนังสือมากขึ้น พัฒนาตัวเองในด้านต่าง ๆ ออกกำลังกายมากขึ้น เพื่อสร้างสรรค์ปัจจุบันให้มีความสุขมากที่สุด

            อย่างไรก็ตามเราไม่ควรโยนกลบทุกอย่างไว้ในอดีต แต่ก็ไม่จำเป็นต้องตัดสินตัวเองจากความทรงจำในอดีต เพราะไม่ว่าเราจะเติบโตในสภาพแวดล้อมแบบไหน มีบาดแผลรุนแรงแค่ไหนก็ตาม เราก็มีสิทธิ์ที่จะก้าวหน้าต่อไปได้ ยังมีสิ่งต่าง ๆ ให้ตัดสินใจอีกมาก และที่สำคัญเราสามารถมีความสุขได้ เพราะบทเรียนจากบทความนี้แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าเหตุการณ์เลวร้ายเพียงเหตุการณ์เดียวจะมีพลังมากกว่าเหตุการณ์ดี ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป คนเราก็ตอบสนองด้วยวิธีสร้างสรรค์ ทำให้โดยเรากลายมาเป็นคนที่เผชิญกับความท้าทายในชีวิตได้ดียิ่งกว่าที่เคย 

ความไม่ดีจะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นได้ในท้ายที่สุด

อ้างอิง

Tierney, J., & Baumeister, R. (2019). The Power of Bad: How the Negativity Effect Rules Us and How We Can Rule It. NY: Penguin Books.

Suhyun, K. (2020). Being Comfortable Without Effort. Seoul: Dasan Books.

คาลอส บุญสุภา. (2564). บาดแผลทางจิตใจ (Trauma) สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน. https://sircr.blogspot.com/2021/11/trauma.html

ความคิดเห็น