มนุษย์ทุกคนมีอคติมองลบอยู่เสมอ (Negativity Bias)

เรามัวแต่ไปพิจารณาดอกไม้ที่เหี่ยวเฉา แม้แถวนั้นจะมีดอกกุหลาบที่งดงามแค่ไหนก็ตาม

            น่าพิจารณาอย่างยิ่งว่าหากมนุษย์ทุกคนในโลกล้วนมองโลกในแง่บวกอย่างคงเส้นคงวาจะเป็นอย่างไรบ้าง เราคงเชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปได้ และต่อให้เราทำผิดพลาด มันก็คือการเรียนรู้ และเราจะหาข้ออ้างให้ตัวเองอย่างได้เสมอ ไม่เพียงแค่นั้นเรายังมองการกระทำของคนอื่นเป็นเรื่องดีไปเสียหมด อีกทั้งยังชื่นชมคนอื่นต่อทุกการกระทำ แต่ธรรมชาติของมนุษย์มันไม่ใช่แบบนั้น โลกใบนี้มีความสมดุลอยู่เสมอเช่นเดียวกับจิตใจของมนุษย์ เพราะเรามีทั้งอคติมองบวก (Positivity Bias) และอคติมองลบ (Negativity Bias)

            การมีอคติมองบวกจะทำให้เรามองทุกอย่างเป็นบวกไปเสียหมด โดยมองข้ามข้อเท็จจริง และจะทำให้ปัญหาอีกมากมายตามมา เพราะคนที่มีอคติมองบวกจะคิดในแง่ดีไปเสียทุกอย่าง ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์เลวร้ายมากแค่ไหนก็ตาม ซึ่งหลายครั้งมันเหมือนการมักง่ายและจะสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ในบางแนวคิดจะเรียก อคติมองบวกว่า มุมมองเชิงบวกที่เป็นพิษ (Toxic Positivity) ผู้อ่านสามารถอ่านบทความ หายนะ ของการมองในแง่บวก มากจนเกินไป ทางลิ้งนี้เพิ่มเติมได้

            แต่บทความนี้ผมอยากนำเสนอ "อคติมองลบ" ซึ่งจะเป็นด้านตรงข้ามกับ "อคติมองบวก" ซึ่งเราจะพบเห็นได้มากกว่า เพราะมุมมองที่เรามีต่อโลกส่วนใหญ่จะเป็นเชิงลบเนื่องจากเราสัมผัสข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี ตลอดทั้งชีวิตของเรา ด้วยสัญชาตญาณในการดำรงชีวิตให้อยู่รอด ทำให้เราเฝ้ามองสิ่งร้าย ๆ และคอยระวังตัวเองไม่ให้เผชิญกับอันตราย ทั้งหมดนี้ทำให้เราส่วนใหญ่มองในเชิงลบมากกว่าเชิงบวก บทความนี้ผมจึงอยากนำเสนอถึงอคติมองลบอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นที่มาที่ไปของมุมมอง ข้อเสียที่เกิดขึ้น และวิธีการก้าวข้ามมันไป

อคติมองลบ (Negativity Bias)

            ในหนังสือ The Power of Bad: How the Negativity Effect Rules Us and How We Can Rule It จอห์น เทียร์นีย์ (John Tierney) และ รอย เบาเมสเตอร์ (Roy Baumeister) ได้อธิบายว่า มีงานวิชาการต่าง ๆ ที่น่าเชื่อถือมากพูดถึงมุมมองเชิงลบแต่อาจจะใช้ชื่อแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น อคติมองลบ (Negativity Bias) อิทธิพลของการมองลบ (Negativity Dominance) หรือ ปรากฎการณ์มองแง่ลบ (Negativity Effect) ซึ่งในบทความนี้ผมจะใช้ "อคติมองลบ" เป็นส่วนใหญ่

            แต่ไม่ว่าจะเรียกแบบไหนก็ตาม ตัวแปรทั้งหมดก็มีหมายถึงที่สอดคล้องกัน อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่เหตุการณ์และอารมณ์แง่ลบจะส่งผลรุนแรงต่อเรามากกว่าเหตุการณ์และอารมณ์ในแง่ดี ลองพิจารณาดูนะครับ เราโศกเศร้าเสียใจกับคำวิพากษ์วิจารณ์ แต่กลับไม่หวั่นไหวกับคำชมที่พรั่งพรูออกมา เราเห็นใบหน้าที่ไม่เป็นมิตรท่ามกลางผู้คนมากมาย โดยมองไม่เห็นรอยยิ้มอันเป็นมิตรของผู้คนจำนวนมาก 

            พอลโรซิน (Paul Rozin) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ได้ใคร่ครวญเกี่ยวกับอคติมองลบที่เกิดขึ้นกับปรากฎการณ์หลายต่อหลายอย่าง ในหลักคำสอนของหลายศาสนา คนคนหนึ่งถูกประณามสาปแช่งเพราะทำผิดบาปเพียงครั้งเดียวหรือถูกปีศาจสิงสู่เพียงหนเดียว แค่กลับต้องทำความดีและเสียสละทุ่มเทหลายสิบปีถึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้เคร่งครัด เช่น ในระบบวรรณะของชาวฮินดู คนวรรณะพราหมณ์จะแปดเปื้อนหากกินอาหารที่ปรุงโดยคนจากวรรณะที่ต่ำกว่า 

แต่ผู้ที่อยู่ในวรรณะอันแตะต้องไม่ได้ กลับไม่ได้บริสุทธ์มากกว่าเดิมหากกินอาหารที่ปรุงจากคนในวรรณะเดียวกัน

            อคติมองลบ จึงไม่ใช่สิ่งที่เราไม่ควรทำหรือไม่ควรมี เราปฏิเสธมันไม่ได้ เพราะมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ผมตั้งชื่อบทความว่า "มนุษย์ทุกคนมีอคติมองลบอยู่เสมอ" เพราะเราทุกคนล้วนมีสิ่งนี้ในตัวทุกคน ซึ่งมันไม่ใช่ธรรมชาติปากว่าตาขยิบในตัวเอง ที่ปากบอกว่าคนอื่นไม่ดี ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็ไม่ได้ดีอะไรสักเท่าไหร่ หรือการที่เราเกลียดการดูถูกคนอื่น แต่กลับดูถูกคนอื่นอย่างน่าตาเฉย แถมไม่ได้เรียกสิ่งนี้ว่าการดูถูกเสียด้วยซ้ำ อคติมองลบไม่ได้เป็นสัญชาตญาณ ที่คอยปกป้องตัวเอง (Defense Mechanisms) ไม่ใช่อคติเพื่อเข้าข้างตนเอง หรือไม่ใช่ภาพลวงตาทางบวก (Positive Illusions) 

เราเห็นใบหน้าที่ไม่เป็นมิตรท่ามกลางผู้คน โดยมองไม่เห็นรอยยิ้มอันเป็นมิตรของใัครเลย

            อคติมองลบเป็นชื่อหนึ่งของมุมมองเชิงลบเท่านั้น เรามองสีดำอย่างชัดเจนท่ามกลางสีขาวที่งดงาม เรามัวแต่ไปพิจารณาดอกไม้ที่เหี่ยวเฉา แม้แถวนั้นจะมีดอกกุหลาบที่งดงามแค่ไหนก็ตาม เรามองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่าประชาชนทั่วโลกทั้งชายและหญิงเข้าถึงการศึกษาในระดับประถมศึกษาถึงร้อยละ 90 แต่กลับไปมองคนยากจนกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ แล้วบอกว่าโลกนี้คนส่วนมากไม่มีการศึกษา

            อคติมองลบจึงเป็นหลักการธรรมดาสามัญที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ไม่ธรรมดา เมื่อเราไม่เข้าใจว่าพลังความไม่ดีบิดเบือนการตัดสินใจของเราอยู่ เราก็จะตัดสินใจได้ไม่ดี อคติมองลบสามารถอธิบายเหตุการณ์ใหญ่ ๆ หรือเล็ก ๆ ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พลั้งพลาดเข้าร่วมสงครามที่นำมาซึ่งหายนะ เพื่อนบ้านที่อาฆาตพยาบาทกัน คู่สามีภรรยาที่หย่าร้างกัน บริษัทที่ล้มเหลวในการทำธุรกิจ และปรากฎการณ์อื่น ๆ อีกมากมาย

            ยกตัวอย่างสาเหตุที่ทำให้ความสัมพันธ์ในระยะยาวยุติลง คาริล รัสบัลท์ นักวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับคู่รัก อธิบายเอาไว้ว่า "ไม่ช้าไม่นานต้องถึงจุดที่อีกฝ่ายจะมองในแง่ลบมากจนอีกฝ่ายเริ่มตอบสนองในทางลบกลับไป เมื่อเป็นแบบนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะรักษาความสัมพันธ์เอาไว้ได้" การมองแง่ลบจึงเป็นโรคที่รักษาได้ยาก และมันยังสามารถแพร่กระจายได้อีกด้วย นักวิจัยคนอื่น ๆ ก็พบเช่นกันว่า เมื่อขอให้คู่รักแยกกันคิดถึงแง่มุมในความสัมพันธ์ พวกเขาจะใช้เวลาคิดเรื่องไม่ดีมากกว่าเรื่องดี ๆ 

การก้าวข้ามอคติมองลบ

            การจะข้ามผ่านเรื่องไม่ดีให้ได้ เราจำเป็นต้องหยุดการมองในแง่ลบไม่ให้มันเพิ่มปริมาณมากขึ้นเสียก่อนที่มันจะเริ่มเพิ่มขึ้น มันก็เหมือนกับครูที่ไม่คาดหวังในตัวนักเรียน และเลือกมองนักเรียนในมุมมองแง่ลบ นักเรียนจะสามารถรับรู้ได้และตอบสนองกลับมาด้วยมุมมองแง่ลบเช่นเดียวกัน ตรงกันข้ามกับครูที่คาดหวังในตัวนักเรียน เขาจะมองนักเรียนในแง่บวก ซึ่งนักเรียนก็ตอบสนองกลับมาในแง่บวกเช่นเดียวกัน ปรากฎการณ์นี้เรียกว่า Pygmalion Effect

            ดังนั้นการตระหนักรู้ถึงปรากฎการณ์แง่ลบและควบคุมการตอบสนองต่อมันได้ ก็จะสามารถทำให้เราทำลายแบบแผนเลวร้าย อย่างเช่นตัวอย่างเรื่องความสัมพันธ์ที่ต้องยุติลง หรือครูและนักเรียนมองกันและกันด้วยมุมมองเชิงลบ แม้ว่าปรากฎการณ์มองแง่ลบจะฟังดูน่าสลด เป็นวงจนอุบาทที่ทำลายทุกความสัมพันธ์ แต่เราไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นเสมอไป มุมองเชิงลบอาจจะแข็งกว่า แต่มุมมองเชิงบวกก็สามารถเอาชนะได้ถ้าเรารู้ว่าตัวเองกำลังเผชิญหน้ากับอะไร

            อย่างไรก็ตามมันก็เป็นเรื่องท้าทายอย่างมากในการเอาชนะ มุมองเชิงลบหรือ อคติมองลบ เพราะในโลกดิจิทัลได้เพิ่มพูนมุมมองเชิงลบขึ้นอย่างมหาศาล เราจึงจำเป็นที่จะต้องใช้สติปัญญาอย่างสูงและความพยายามที่มากขึ้น นอกจากนั้นแทนที่เราจะผิดหวังกับความล้มเหลว เราสามารถหาทางใช้ประโยชน์จากมันให้ได้แทนที่จะพยายามดิ้นรนเพื่อเป็นพ่อแม่หรือคู่รักที่ดี เราสามารถจดจ่ออยู่กับการหลีกเลี่ยงความผิดพลาดพื้น ๆ เช่น การพูดไม่ดีเล็กน้อยอาจนำไปสู่การตีความผิด ๆ และอาจทำให้มันขยายใหญ่โตเกินจริงได้

            เมื่อเราเข้าใจผลกระทบจากมุมมองเชิงลบบ้างแล้ว เราก็จะสามารถจัดการกับคำวิพากษ์วิจารณ์ได้ดีขึ้น สามารถซึมซับเอาบทเรียนที่มีประโยชน์ได้โดยที่ไม่สูญเสียกำลังใจ ทุกอย่างมันก็เป็นธรรมชาติของมัน ธรรมชาติของเราทุกคน เพียงแต่เราสามารถเลือกได้ที่จะมองมุมมองแบบไหนมากกว่า เราจะเลือกมองเด็กคนหนึ่งว่ามีแต่ข้อเสียและไม่สามารถพัฒนาศักยภาพอะไรได้เลย หรือเราจะพยายามค้นหาศักยภาพบางอย่างที่ซ่อนเอาไว้อยู่ 

อย่างไรก็ตามเราจะต้องไม่ลืมตระหนักถึงอคติมองลบอยู่เสมอ ไม่อย่างนั้นเราจะตกอยู่ในภาพลวงตาทางบวก (Positive Illusions)

            ในปัจจุบันโซเชียลมีเดียได้รวบรวมมุมองเชิงลบอย่างมหาศาล เพราะว่ามุมมองเชิงลบขายได้ดีกว่า เพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้เสพสื่อได้มากกว่า มันจึงเป็นเรื่องยากที่เราจะมองข้าม หรือหลีกเลี่ยงมุมองเชิงลบได้ ทำให้ผมนึกถึงคำที่ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เคยกล่าวไว้ว่า "คุณพูดว่าไม่มีความยุติธรรมชนิดสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ในโลกนี้หรอก และผมก็ตอบคุณว่า ก็เพราะอย่างนั้นสิ เราถึงต้องใช้ความพยายามเป็นสองเท่า เพื่อให้อย่างน้อยที่สุดได้ใกล้ความยุติธรรมสมบูรณ์ให้มากที่สุด" เป็นคำกล่าวของอาจารย์ป๋วยที่ผมประทับใจอย่างมาก เพราะแม้เรื่องต่าง ๆ มันจะยาก 

และมันยิ่งยากมากขึ้นในยุคสมัยนี้ แต่เราจะต้องพยายามเป็นสองเท่าเพื่อที่จะก้าวข้ามอคติมองลบให้ได้ 

อ้างอิง

Tierney, J., & Baumeister, R. (2019). The Power of Bad: How the Negativity Effect Rules Us and How We Can Rule It. NY: Penguin Books.

คาลอส. (2565). เราอยู่ในสังคมแห่งการเสแสร้งที่เต็มไปด้วยหน้ากาก (Positive Illusions). https://sircr.blogspot.com/2022/02/positive-illusions.html

ปกป้อง จันวิทย์. (2558). รำลึก 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในสังคมไร้สันติประชาธรรม. https://prachatai.com/journal/2015/11/62639

ความคิดเห็น