เข้าใจและจัดการ กับความรู้สึกนึกคิดที่ว่า ตัวเองเป็นคนไม่เก่ง (Imposter Syndrome)

เราทุกคนต่างต้องต่อสู้กับความรู้สึกไม่มั่นคงและเคลือบแคลงสงสัยในความสามารถของตัวเองอยู่ตลอดเวลา

            "ฉันคิดว่าคนอื่นรู้เสมอว่าตัวเองกำลังทำอะไร แต่ฉันไม่รู้เลย"  "ฉันไม่เหมาะเลยที่จะอยู่ที่นี้"  "ที่ผ่านมาเพียงแค่โชคดีเท่านั้น" "ไม่ว่าฉันจะพยายามสักเท่าไหร่ก็ไม่เก่งเหมือนกับคนอื่นเลย" ความรู้สึกนึกคิดเหล่านี้เป็นสิ่งที่อยู่ในหัวของเราไม่มากก็น้อย แม้หลายคนจะเป็นพวกที่หลงตัวเองและคิดว่าตัวเองเก่งเพื่อที่จะกลบความด้อยของตัวเองลงไป แต่ก็มีหลายคนเช่นเดียวกันที่ไม่มีมั่นใจในตัวเองเลย และคิดว่าเราไม่มีอะไรเก่งสักอย่าง ไม่ว่าเราจะอ่าน หรือพยายามพัฒนาตัวเองมากเท่าไหร่ก็ตาม

            เคยมีการประมาณการ พบว่าร้อยละ 70 เคยประสบกับโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง (Imposter Syndrome) แม้จะไม่ได้วินิจฉันว่าเป็นโรคก็ตาม อาการคิดว่าตัวเองไม่เก่งหมายถึงคนที่แม้จะมีความสามารถ แต่เชื่อว่าความสำเร็จของพวกเขาขึ้นอยู่กับโชคมากกว่าทักษะและความพยายามของพวกเขาเอง และพวกเขาไม่ได้เชี่ยวชาญดังที่ปรากฎ ทำให้รู้สึกหวาดกลัวว่าวันหนึ่งการขาดความรู้และทักษะที่ซ่อนอยู่จะถูกเปิดเผย ก่อให้เกิดความวิตกกังวล เป็นความรู้สึกเหมือนกับว่าความผิดพลาดสามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัน และสักวันหนึ่งจะต้องโดนจับได้แน่นอน

            แน่นอนหลายคนอาจจะเคยศึกษาเกี่ยวกับโรคนี้มาบ้าง และคิดว่า "เราก็ไม่ถึงขนาดนั้นนะ" ไม่เป็นไรครับ เพราะความรู้สึกที่ว่าตัวเองเป็นคนไม่เก่ง อาจจะไม่ได้สร้างความเครียด วิตกกังวล กดดัน อะไรมากขนาดนั้นสำหรับบางคน แต่มันก็เป็นความรู้สึกเครียดและกดดันได้พอสมควร ผมจึงเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อให้ผู้อ่านทำความเข้าใจกับความรู้สึกดังกล่าวของตัวเองมากขึ้น และนำเสนอวิธีการจัดการกับความรู้สึกนี้ให้กับผู้อ่านได้นำไปใช้ประโยชน์เพื่อให้ตัวเองได้คลายความเครียดและความกดดันลง รวมไปถึงผู้อ่านที่วิตกกังวลอย่างรุนแรงกับความรู้สึกที่คิดว่าตัวเองไม่เก่งอยู่ในปัจจุบัน

เข้าใจความรู้สึกนึกคิดที่ว่าตัวเองไม่เก่ง

            สิ่งแรกที่ผมอยากจะสื่อสารกับผู้อ่านทุกท่านก็คือ ผมอยากให้เข้าใจก่อนว่าการไม่มั่นใจในตัวเอง การไม่เชื่อว่าตัวเองมีความสามารถเทียบเท่ากับคนอื่นคือ "ธรรมชาติ" ของเราทุกคนอยู่แล้ว แน่นอนว่ารอบ ๆ ตัวของเราอาจจะมีหลายคนที่สามารถมองข้ามความรู้สึกดังกล่าวไป หรือสามารถกลบความรู้สึกนี้ลงไปได้ แต่พวกเขาก็แสดงออกอย่างตรงกันข้ามอยู่ดี จนบางครั้งมันน่าสมเพชด้วยซ้ำ หรือบางคนอาจทำให้เกิดบรรยากาศที่เป็นพิษในองค์กรไม่ว่าจะเป็นสถานที่ทำงานหรือโรงเรียนก็ตาม

"ไม่ว่าฉันจะพยายามสักเท่าไหร่ก็ไม่เก่งเหมือนกับคนอื่นเลย"

            และสิ่งต่อไปที่ผมอยากสื่อสารก็คือ ผมใช้คำว่า "ความรู้สึกนึกคิด" เพราะผมอยากจะเหมารวมทั้งความรู้สึก และความคิดไปเลย ความรู้สึกเป็นการแสดงออกทางอารมณ์โดยอัตโนมัติเมื่อมีสิ่งเร้ามากระทบ เช่น โดนเพื่อนร่วมงานตะคอก จึงโกรธหรือร้องไห้ ก็เป็นการแสดงออกทางอารมณ์อย่างอัตโนมัติเหมือนกัน ส่วนความคิด คือกระบวนการทางจิตสำนึกที่เกิดขึ้นจากการทำงานของเปลืองสมองเพื่อใช้ในการตัดสินใจและควบคุมการทำงานของร่างกาย  ซึ่งแบ่งออกเป็นความคิดแบบเร็ว (ระบบ 1) ที่ไม่ผ่านกระบวนการใคร่ครวญ แต่เป็นการใช้สัญชาตญาณ และความคิดช้า (ระบบ 2) ที่ใช้สติคิดใคร่ครวญ

กล่าวคือ เราสามารถจะคิดช้า คิดเร็ว หรือรู้สึกว่าตนเองเป็นคนไม่เก่งได้เหมือนกัน

            จากการประมาณที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า มีผู้ที่คิดว่าตัวเองประสบกับโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง ถึงร้อยละ 70 เป็นการยืนยันในระดับหนึ่งว่ามันคือธรรมชาติของเราทุกคนนี้แหละ เป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้น เพียงแต่เราตอบสนองต่อความรู้สึกนึกคิดนี้แตกต่างกันออกไป บางคนเครียด กดดันบ้าง แต่ก็สามารถเดินหน้าพัฒนาตัวเองต่อไปได้ ในขณะที่บางคนเกิดความวิตกกังวลอย่างรุนแรง บางคนซึมเศร้า ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ได้มีจำนวนเยอะขนาดนั้น แต่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าความรู้สึกนึกคิดว่าตัวเองไม่เก่ง สามารถขยายตัวออกไปจนทำร้ายเราอย่างรุนแรงได้สักวันหนึ่ง

            ดังนั้น เราควรเริ่มจากการเข้าใจตัวเอง เข้าใจธรรมชาติของเรา และเข้าใจความรู้สึกนึกคิดว่าตัวเองไม่เก่งเสียก่อน เพราะแม้ความรู้สึกนึกคิดดังกล่าวจะเป็นด้านลบ แต่ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่เราจะต้องขจัดมันออกไป เพราะมันเป็นปฏิกริยาสะท้อนกลับของความรู้และความสามารถในระดับสูงที่เรามี เป็นผลมาจากการที่เราเห็นคุณค่าในความรู้และความสามารถของคนรอบ ๆ ตัวเรา กล่าวคือ เราสังเกตคนรอบตัวหรือบุคคลในสื่อที่เรารู้จักและเราให้ค่ากับความรู้ความสามารถของเขา และมองว่าเขาเก่งกว่าเรามาก จึงทำให้เรารู้สึกนึกคิดว่าตัวเองเก่งไม่พอนั่นเอง

            ยกตัวอย่างเช่น เรามีหัวหน้าที่เก่งมากคนหนึ่ง เป็นคนที่ดีมากสนับสนุนเราอย่างดี ทำให้เรารู้สึกนึกคิดว่าตัวเองยังเก่งไม่พอ เช่น "เรายังเก่งไม่ถึงครึ่งของหัวหน้าเราเลย" หรือ เราอาจจะอ่านหนังสือเยอะมาก และเห็นผลงานของบุคคลสำคัญในอดีตหรือปัจจุบันที่มีความสามารถระดับสูง เช่น สตีฟ จ็อบส์ เจฟฟ์ เบซอส อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ หรือ อีลอน มัสก์ ก็ทำให้เรารู้สึกว่ายังเก่งไม่พอเมื่อเทียบกับพวกเขา แม้เราจะมีความสามารถที่แท้จริงมากแค่ไหนก็ตาม

            เอ็มมา เฮ็ปเบิร์น (Emma Hepburn) ผู้เขียนหนังสือ A Toolkit for Modern Life มองว่าสิ่งนี้คือความย้อนแย้งของโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง เพราะมันเกิดขึ้นในหมู่ผู้คนที่รู้จริง เธอยกตัวอย่างผลการศึกษาทางจิตวิทยาที่เรียกว่า ปรากฎการณ์ ดันนิง - ครูเกอร์ (Dunning - Kruger Effect) ที่อธิบายว่าบ่อยครั้ง ยิ่งเรามีความสามารถเพิ่มมากขึ้น เราจะคิดว่าตัวเองมีความสามารถน้อยลง เพราะตระหนักมากขึ้นว่าตัวเองไม่รู้มากแค่ไหน พูดง่าย ๆ ก็คือ เรารู้มากขึ้น เก่งมากขึ้น เราจะตระหนักถึงความจริงว่า ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เรายังไม่รู้ 

            ไม่เพียงแค่นั้นสำหรับหลายคนที่มีความสามารถ เก่ง แต่ไม่มั่นใจในตัวเอง อาจจะมองว่าคนที่มั่นใจในตัวเองว่าเป็นคนเก่งมีความสามารถทุกคน โดยลืมคิดว่ามันเป็นทัศนคิที่ไม่ถูกต้อง เพราะคนที่ไม่มั่นใจไม่ได้หมายความว่าไม่เก่ง เช่นเดียวกัน คนที่มั่นใจในตัวเอง ก็ไม่ได้หมายความว่าเก่งเช่นเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้นความมั่นใจในตัวเองอย่างล้นเกินไปคือสิ่งที่เลวร้ายอย่างมากต่อตนเอง บางคนมั่นใจในตัวเองมากจนเกินไป บางคนหลงตัวเอง พวกเขามองว่าตัวเองเป็นคนที่สำคัญอย่างมาก 

มันเป็นการตอบสนองต่อความปรารถนาภายในตัวเองอย่างล้นเกิน

            เมื่อเราพยายามตอบสนองต่อความปรารถนาภายในตัวเองอย่างล้นเกิน มันจะทำให้เราแสดงออกอย่างโง่ ๆ เราทะนงตัวเพราะเราไม่รู้ผสมผสานไปกับเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในตัวเอง มันจะทำให้เราไม่ยอมรับความผิดพลาดที่เกิดจากตัวเองเลย ทั้ง ๆ ที่ความผิดพลาดเป็นหัวใจของการเรียนรู้  ถ้าเราไม่ผิดพลาด เราก็จะไม่มีทางได้เรียนรู้อะไรได้เลย ดังนั้นเราจะไม่มั่นใจในตัวเองบ้าง หรือรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งไปบ้างก็ไม่เป็นไร ขอให้เราเข้าใจว่าสิ่งนี้คือธรรมชาติของคนทุกคน อีกทั้งมันยังเป็นหลักฐานว่าเราตระหนักถึงความจริงที่ว่า เราต้องพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อย ๆ ด้วย

            อย่างไรก็ตามความรู้สึกนึกคิดว่าตัวเองไม่เก่งในระดับที่รุนแรงมากก็อาจจะสร้างผลกระทบเชิงลบต่อตัวเองอย่างรุนแรงได้อย่างที่กล่าวไปข้างต้น เพราะหากมีความรู้สึกดังกล่าวในระดับที่รุนแรงจะทำให้เรามีแนวโน้มที่จะมองว่าเหตุการณ์เชิงลบที่เกิดมาจากสาเหตุภายใน และเหตุการณ์เชิงบวกมาจากสาเหตุภายนอก กล่าวคือ สิ่งเลวร้ายใด ๆ ก็ตามเกิดขึ้นเพราะเราไม่เอาไหน ในทางกลับกัน เราไม่อาจได้รับความดีความชอบ หรือให้ความเชื่อถือตัวเองในเรื่องดี ๆ ได้เลย

            ความรู้สึกวิตกกังวลหรือสงสัยในตัวเองอาจทำให้เราสร้างสมมติฐานที่ไม่ถูกต้อง เช่น "ฉันรู้สึกวิตกกังวล ว่าจะต้องทำอะไรผิดแน่ ๆ" แต่จริง ๆ แล้วเราอาจรู้สึกกังวลเพียงเพราะทำเรื่องที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน หรือกำลังสร้างสมดุลให้กับข้อมูลที่ซับซ้อนจำนวนมากอยู่ การมีและจัดการความสงสัยในตัวเองไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ตรงกันข้าม ยังช่วยตรวจสอบและเน้นย้ำว่าเมื่อใดที่เราต้องการการเรียนรู้หรือข้อมูลเพิ่มเติม กล่าวคือ ความกังวลจากความรู้สึกนึกคิดว่าตัวเองไม่เก่งช่วยพลักดันให้เราก้าวไปข้างหน้า ไม่ใช่ฉุดให้เราถอยหลัง

การจัดการความรู้สึกนึกคิดที่ว่าตัวเองไม่เก่ง

            ความสงสัยในตัวเอง ความไม่มั่นใจในตัวเอง เป็นหัวใจสำคัญของความรู้สึกนึกคิดว่าตัวเองไม่เก่ง หรือโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง เราทุกคนต่างมีเรื่องนี้ในระดับที่แตกต่างกันออกไป แต่ต้องรับรู้ให้ได้ว่าเมื่อใดที่การคิดเช่นนี้จะกลายเป็นเรื่องไร้สาระ และต้องจัดการอย่างไรบ้าง ดังนั้นวิธีการจัดการกับความรู้สึกดังกล่าวก็คือ เราจะต้องรับรู้หรือตระหนักถึงความรู้สึกนี้เสียก่อน ว่ากำลังทำร้ายตัวเรา หรือเป็นประโยชน์กับเรา 

            เมื่อเราประเมินว่าความรู้สึกนึกคิดว่าตัวเองไม่เก่ง หรือความสงสัยในตัวเองนี้ไม่มีประโยชน์เลย เราสามารถใช้ 5 ขั้นตอนของ เอ็มมา เฮ็ปเบิร์น (Emma Hepburn) ผู้เขียนหนังสือ A Toolkit for Modern Life ที่จะช่วยให้เราสามารถจำแนกสิ่งกระตุ้นที่ก่อให้เกิดความรู้สึกนึกคิดที่ว่าตัวเองไม่เก่ง หรือโรคที่คิดว่าตัวเองไม่เก่ง และคิดหาวิธีจัดการมันได้

            1) ระบุ รับรู้ถึงเหตุผลที่รู้สึกเช่นนี้ โดยถามตัวเองว่ามีสิ่งใดมากระตุ้นเป็นพิเศษหรือไม่ ถ้ามี เราจะทำอะไรกับสิ่งเหล่านี้ทันทีได้ไหม หรือเรากำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน เช่น ได้รับตำแหน่งใหม่ ทำให้มีสิ่งที่ต้องทำมากเกินไปหรือไม่ หรือมันทำให้เราต้องเพิ่มทักษะเพิ่มเติมในเรื่องที่ถูกขอให้ทำหรือไม่ นอกจากนั้นเราจะต้องประเมินระดับความเครียดและความวิตกกังวลของเราว่ามากแค่ไหน อย่างไรก็ตาม เราอาจจะยังไม่สามารถระบุสิ่งกระตุ้นได้อย่างชัดเจน ซึ่งไม่เป็นไร

            2) สำรวจความรู้สึก สังเกตว่าเรารู้สึกอย่างไร โดยอธิบายความรู้สึกทางกายภาพ อธิบายอารมณ์ที่เกิดขึ้น และอธิบายความคิดของเราออกมา 

            3) ทำให้เป็นเรื่องปกติ การรู้สึกราวกับเป็นตัวปลอมนั้นเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นเราจะต้องเตือนตัวเองว่านี่เป็นเพียงความรู้สึกทางกายภาพ เป็นเพียงการเตรียมพร้อมของร่ายกายสำหรับกระทำต่อไป เป็นเรื่องปกติที่เราจะรู้สึกไม่สบายใจ ยิ่งถ้าต้องทำงานกับความไม่แน่นอนหรือทำเรื่องที่ไม่เคยทำก็จะรู้สึกเช่นนี้ชัดเจนมากขึ้น นอกจากนั้นเราต้องเตือนตัวเองว่าไม่เป็นไรที่จะรู้สึกเช่นนี้ คนส่วนใหญ่รู้สึกเช่นนี้เป็นบางเวลา หลายคนที่เราชื่นชม ผู้ที่ดูมั่นอกมั่นใจจากภายนอกนั้นก็รู้สึกเช่นเดียวกับเราเหมือนกัน

            4) ปรับความคิดใหม่ ความรู้สึกนี้ไม่ได้สะท้อนถึงความสามารถของเรา เพราะความคิดเช่นนี้ไม่ได้ทำให้กลายเป็นเรื่องจริง เราจะต้องเตือนตัวเองให้นึกถึงช่วงเวลาที่คล้ายคลึงกันในอดีตที่เราเคยจัดการได้ และความสงสัยในตัวเองไม่ได้เลวร้ายไปเสียหมด บางครั้งการประเมินตัวเองและเปิดใจรับความคิดเห็นอื่น ๆ อาจเป็นประโยชน์ได้เหมือนกัน

            5) แก้ไขปัญหา ก้าวต่อไปที่จะทำให้รู้สึกดีขึ้น โดยเตือนตัวเองถึงความสำเร็จของเรา และเล่าความคิดของเราให้คนที่ไว้ใจฟัง เพราะหากเราสามารถเล่าให้คนอื่นฟังได้ แสดงว่าเรายอมรับความรู้สึกดังกล่าวแล้ว นอกจากนั้นเราต้องประเมินว่ามีหนทางใดบ้างที่จะจัดการความรู้สึกนึกคิดว่าตัวเองไม่เก่ง เนื่องจากบางคนอาจมีวิธีจัดการที่แตกต่างกันออกไป เช่น การพูดคุยเกี่ยวกับรู้สึกไม่แน่นอนในที่ทำงานกับพนักงานพี่เลี้ยง หรือ คุณครูที่โรงเรียนโดยละเอียด 

            จะเห็นว่าการจัดการกับปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพคือ การที่เรายอมรับความจริงที่ว่าความรู้สึกนึกคิดว่าตัวเองไม่เก่งเป็นเรื่องธรรมชาติ และเรากำลังรู้สึกเช่นนี้อยู่ เราควรจะเล่าให้คนรอบข้างที่เราไว้ใจฟัง เพื่อฟังเสียงสะท้อนจากคนรอบข้าง และพิจารณาว่ามุมมองที่เรารู้สึกตรงกับที่คนภายนอก เช่น เพื่อน ครู หรือหัวหน้ารับรู้หรือไม่ ซึ่งจากประสบการณ์ของผมส่วนใหญ่เรามักจะคิดไปเอง ดังนั้นการที่เรารับรู้ความจริงข้อนี้ว่าเราอาจจะ "เวอร์เกินไป" "กังวลมากเกินไป" หรือ "จริง ๆ  แล้วเรามีความสามารถนะ" มีประโยชน์มากกว่าที่เราจะจินตนาการได้

            อดัม แกรนด์ (Adam Grant) ได้เล่าไว้ในหนังสือ Think Again: The Power of Knowing What You Don't Know ว่า เขาเคยสอนนักศึกษาที่อัจฉริยะ พวกเขาได้จดสิทธิบัตรก่อนที่พวกเขาจะดื่มสุราได้อย่างถูกกฎหมายเสียอีก บางคนก็เป็นเซียนหมากรุกก่อนจะขับรถเป็นด้วยซ้ำ ทว่าคนเหล่านี้ก็ยังต้องต่อสู้กับความรู้สึกไม่มั่นคงและเคลือบแคลงสงสัยในความสามารถของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ผู้อ่านหลายคนคงมีเพื่อนที่ทำข้อสอบได้คะแนนสูงมาก แต่รู้สึกไม่มั่นใจว่าตัวเองทำได้หรือไม่อยู่บ้าง ก็เป็นแบบนั้นแหละครับ ไม่ใช่ว่าเขาแกล้งเป็นทำไม่ได้ แต่เขาเพียงแค่ไม่มั่นใจเท่านั้นแหละครับ 

ดังนั้นความรู้สึกนึกคิดว่าตัวเองไม่เก่ง เป็นเรื่องธรรมชาติที่เราต้องเข้าใจและจัดการเท่านั้นเอง

อ้างอิง

Grant, A. (2021). Think Again: The Power of Knowing What You Don't Know. NY: Viking.

Hepburn, E. (2022). A Toolkit for Modern Life: 53 Ways to Look After Your Mind. London: Greenfinch.

คาลอส บุญสุภา. (2565). ควรจะ ถ่อมตัว อย่างไรให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดต่อตนเองและคนรอบข้าง. https://sircr.blogspot.com/2022/04/blog-post_16.html

ความคิดเห็น