"แรงที่วัตถุที่หนึ่งกระทำต่อวัตถุที่สอง ย่อมเท่ากับแรงที่วัตถุที่สองกระทำต่อวัตถุที่หนึ่ง แต่ทิศทางตรงข้ามกัน"
นิทานอีสปมีที่มาที่ไปตั้งแต่สมัยกรีก 600 ปีก่อนคริสตกาล แต่งโดยอีสปทาสชาวกรีก ผู้เรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติในฐานะชนชั้นล่างอย่างละเอียดละออ นิทานของเขาสะท้อนธรรมชาติของมนุษย์ได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะหลายครั้งการที่เราเป็นคนชั้นล่าง มีชีวิตอย่างยากลำบากก็ทำให้สัมผัสกับความจริงแท้ทั้งสังคมและนิสัยใจคอของผู้คน ผสมไปกับความเฉลียวฉลาดและสร้างสรรค์ของผู้เขียน กลั่นออกมาเป็นนิทานยอดเยี่ยมที่เป็นอมตะ โดยในครั้งนี้ผมเลือกนิทานเกี่ยวกับลมและพระทิตย์ที่แสนโด่งดัง โดยผมจะวิเคราะห์และเขียนเป็นข้อคิดที่ได้จากนิทานเรื่องนี้ในช่วงท้ายของบทความ
นิทานลมและพระทิตย์สามารถดัดแปลงไปเป็นกลยุทธ์ที่มีประโยชน์หลากหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็น การเจรจา ธุรกิจ การตลาด จิตวิทยา การปกครอง หรือการศึกษา ซึ่งในหนังสือ How to Win Friends and Influence ผู้เขียนคือ เดล คาร์เนกี้ (Dale Carnegie) ได้ยกเรื่องนี้ขึ้นมาเปรียบเปรยถึงข้อดีในการแสดงออกอย่างอ่อนโยนและมีมิตรไมตรี การใช้อำนาจที่นิ่มนวลแทนการใช้อำนาจที่แข็งกร้าวอันกลวงเปล่า เดลได้อ่านเรื่องราวนี้ในสมัยของเขายังเด็ก ระหว่างที่เขากำลังเดินเท้าเปล่าผ่านป่าไปโรงเรียนชนบทที่อยู่นอกเมืองในรัฐมิสซูรี่
นิทานอีสปลมและพระทิตย์ การจูงใจอย่างนิ่มนวล
วันหนึ่งลมเหนือและพระอาทิตย์ต่างโต้เถียงกันว่าใครจะเก่งกว่ากัน ลมพูดว่า "ข้าจะพิสูจน์ให้เห็นว่าข้ามีพลังมากกว่า เห็นชายชราสวมเนื้อนอกที่อยู่ตรงนั้นไหม ข้าพนันว่าข้าสามารถทำให้เขาถอดเสื้อนอกได้เร็วกว่าเจ้า"
พระอาทิตย์จึงตกปากรับคำและหลบไปอยู่หลังก้อนเมฆ จากนั้นลมก็เป่าไปที่ชายชราผู้นั้นโดยเพิ่มระดับความรุนแรงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเกือบเป็นพายุทอร์นาโด แต่กระนั้นยิ่งลมเป่าไปแรงมากเท่าไหร่ ชายชราผู้นั้นก็ยิ่งดึงเสื้อนอกไว้แนบกับตัวมากเท่านั้น
ลมรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับกิจกรรมนี้ จนกระทั่งในที่สุดลมก็สงบลงยอมแพ้ และมอบภารกิจนี้ให้พระอาทิตย์ทำต่อไป พระอาทิตย์จึงออกมาจากเมฆ และยิ้มอย่างใจดีกับชายชรา แสงแดดแรงระดับปานกลางทำให้ชายชราถอถอดเสื้อคลุมชั้นนอกออก
จากนั้นพระอาทิตย์ก็ฉายแสงแรงขึ้นอีกเล็กน้อยจนชายชราทนร้อนไม่ไหวต้องถอดเสื้อออกทั้งหมด และไปอาบน้ำที่แม่น้ำใกล้ ๆ สุดท้ายพระอาทิตย์จึงบอกกับลมว่า "ความอ่อนโยนและความมีมิตรไมตรี มักมีพลังมากกว่าความเกรี้ยวกราดและความรุนแรงเสมอ"
ข้อคิดที่ได้จากนิทานอีสป ลมและพระอาทิตย์
เดล คาร์เนกี้ (Dale Carnegie) มองว่านิทานเรื่องนี้สอดคล้องกับสิ่งที่ อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham lincoln) เคยกล่าวเอาไว้ว่า "น้ำผึ้งหนึ่งหยดสามารถจับแมลงวันได้มากกว่าน้ำดีขมหนึ่งแกลลอน" ซึ่งผมก็เห็นด้วยในสิ่งนี้ ยิ่งไปกว่านั้น นิทานเรื่องนี้สามารถประยุกต์ได้หลายแขนง ยกตัวอย่างเช่น การเมืองการปกครอง ที่ผู้ปกครองควรจะให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงออก และเลือกที่จะใช้วิธีการจัดการที่อ่อนโยนมากกว่าการจัดการที่เข้มงวดอย่างเช่นการจับคนเข้าคุก ซึ่งจะตามมาด้วยความขัดแย้ง และความแตกแยกที่มากขึ้นกว่าเดิม
"ความอ่อนโยนและความมีมิตรไมตรี มักมีพลังมากกว่าความเกรี้ยวกราดและความรุนแรงเสมอ" |
1) พระคุณให้ผลดีกว่าพระเดช ในฐานะผมอยู่ในระบบการศึกษามายาวนานตั้งแต่เป็นนักเรียนและเป็นครูในปัจจุบัน เรื่องหนึ่งที่สอนผมเป็นอย่างแรกเลยก็คือ "พระคุณให้ผลดีกว่าพระเดช" พระคุณ หมายถึงการปฏิบัติอย่างอ่อนโยน ในขณะที่พระเดชจะเป็นการใช้การลงโทษหรือการกระทำอื่น ๆ ที่รุนแรง เช่น การดุอย่างรุนแรง เหตุผลที่พระคุณดีกว่าพระเดชเพราะว่า เมื่อเราใช้ความรุนแรง (ดุ ด่า ว่ากลาว ตักเตือน ทำโทษ) จะเกิดการต่อการต้านเสมอ ไม่ต่างกับกฎทางฟิสิกส์ของนิวตันที่กล่าวว่า
"แรงที่วัตถุที่หนึ่งกระทำต่อวัตถุที่สอง ย่อมเท่ากับแรงที่วัตถุที่สองกระทำต่อวัตถุที่หนึ่ง แต่ทิศทางตรงข้ามกัน"
กล่าวคือ เมื่อเราทำอะไรลงไปมันจะมีผลสะท้อนกลับมาเสมอ หากเราดีกับคนอื่น คนอื่นก็จะปฏิบัติหรือคิดกับเราในแง่ดี แต่หากเราทำเลวร้ายหรือรุนแรงกับผู้อื่น ผู้อื่นก็จะปฏิบัติหรือคิดกับเราในแง่ลบตามมาเช่นกัน การลงโทษกับนักเรียนมักจะก่อให้เกิดการต่อต้าน ซึ่งจะเกิดผลสะท้อนกลับเชิงลบตามกลับมา เหมือนกับลมที่ยิ่งพยายามเป่าให้ชายชราถอดเสื้อออกมาเท่าไหร่ เขาก็ยิ่งดึงเสื้อให้แน่นมากขึ้นเท่านั้น ในขณะที่พระอาทิตย์เพียงแค่ฉายแสงของตัวเองออกไป ชายชราก็ถอดเสื้อออกมาอย่างง่ายดาย
2) ใช้อำนาจอ่อน (Soft Power) แทนการใช้อำนาจหนัก (Hard Power) เป็นที่พูดถึงในปัจจุบันกับคำว่า Soft Power ซึ่งมีคำแปลออกมามากมาย แต่ผมขอใช้คำว่า "อำนาจอ่อน" ซึ่งแม้จะเป็นคำที่ไม่สวยมากเท่ากับคำอื่น แต่ก็เข้าใจได้โดยง่าย "อำนาจอ่อน" หมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือความคิด โดยทำให้เกิดการคล้อยตาม ตรงกันข้ามกับ "อำนาจหนัก" ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือความคิด โดยใช้การบังคับ
ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเกาหลีใต้จะสร้างวัฒนธรรมด้านอาหารให้เกิดขึ้นทั่วเอเซีย พวกเขาจึงสนับสนุนผ่านสื่อบันเทิง โดยให้มีอาหารและเครืองดื่มประจำชาติของเกาหลีเข้าไป เช่น กิมจิ หรือโซจู ซึ่งเป็นอาหารที่เราพบเห็นในซีรีย์เกาหลีแทบทุกเรื่อง การทำแบบนี้จะเป็นการฝังค่านิยมบางอย่างลงไปผ่านสื่อที่ผู้คนชื่นชอบ หรือวรรณกรรมเยาวชนที่ฝังแง่คิดที่ดีงาม อย่างเช่น แมงมุมเพื่อนรัก (Charlotte’s Web) หรือ วินนีเดอะพูห์ (Winnie the Pooh) รวมไปถึงนิทานอีสปลมและพระอาทิตย์ก็เช่นเดียวกัน
3) อย่าเป็นคนที่มั่นใจเกินเหตุ จากนิทานเรื่องนี้ผู้อ่านจะเห็นว่า ลมเป็นฝ่ายมั่นใจอย่างแรงกล้าและลงมือก่อนในลำดับแรก ซึ่งผลการแข่งขันก็ตามเรื่องในนิทานข้างต้น ลมพ่ายแพ้เพราะความมั่นใจในตัวเองมากเกินไป เขาไม่ได้ประมาทเหมือนกระต่ายในเรื่อง "กระต่ายกับเต่า" แต่ลมมั่นใจในตัวเองเกินเหตุ จนสุดท้ายก็ต้องล้มเหลวในท้ายที่สุด การที่เราจะทำอะไรสำเร็จไม่จำเป็นต้องมั่นใจในตัวเองเกินเหตุเสมอไป เราสามารถตั้งข้อสงสัยในตัวเองและก้าวเดินต่อไปด้วยความถ่อมตัวได้
อดัม แกรนต์ (Adam Grant) ผู้เขียนหนังสือ Think Again: The Power of Knowing What You Don't Know ให้ความเห็นว่า เมื่อเรามั่นใจในตัวเองจนไม่เคลือบแคลงสงสัย จะส่งผลให้เราเพ่งความสนใจอย่างแน่วแน่ไปกับการเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้อื่น แต่ความคิดของเราเองกลับแน่วแน่ไม่เปลี่ยนแปลง มันทำให้เราเกิดอคติและหลงงมงายกับความเชื่อและความพอใจของตนเอง ทำให้เรากลายเป็นคนที่เพิกเฉยและบอกปัดความคิดเห็นของผู้อื่นที่ไม่สอดคล้องกับความคิดของเราเอง
การที่เราทะนงตัวเพราะเราไม่รู้ผสมไปกับความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในตัวเอง มันจะทำให้เราไม่ยอมรับความผิดพลาดที่เกิดจากตัวเองเลย
สุดท้ายไม่ว่าจะเป็น การใช้พระคุณแทนพระเดช การใช้อำนาจอ่อน (Soft Power) แทนการใช้อำนาจหนัก (Hard Power) หรือการไม่เป็นคนที่มั่นใจจนเกินเหตุ ล้วนมีความสอดคล้องกันนั่นคือ "ความถ่อมตัว" ซึ่งหมายถึง การที่เราลดอัตตาของตัวเองให้เล็กลง เพราะเราตระหนักว่าเราทุกคนต่างก็มีข้อบกพร่องและทำผิดพลาดกันได้ หากเรามั่นใจในตัวเองมากเกินไปเหมือนลม ใช้อำนาจหนัก และใช้พระเดชในการลงโทษ สุดท้ายก็ไม่มีใครที่จะคล้อยตามเราอย่างแน่นอน
ในทางตรงกันข้าม การจะจูงใจผู้อื่นเราจะต้องอาศัยความนิ่มนวล ละมุน อ่อนโยน ถ่อมตัว ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงการให้เกียรติผู้อื่นและยอมรับในตัวผู้อื่น แม้จะเป็นเรื่องยากที่จะจูงใจอย่างนิ่มนวล แต่หากประสบความสำเร็จ ความเชื่อใจ และการยอมรับก็จะคงอยู่ไปอีกนานแสนนาน อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham lincoln) เลือกคณะรัฐมนตรีที่ดูถูกและไม่ชอบขี้หน้าเขาอย่างรุนแรงขึ้นมา บางคนมองว่าเขาไร้ความสามารถ สุดท้ายลินคอล์นใช้เวลาในการโน้มน้ามจิตใจและจูงใจรัฐมนตรีเหล่านั้นจนกลายเป็นคณะทำงานที่ทรงประสิทธิภาพ
นักประวัติศาสตร์ ดอริส กู้ดวิน (Doris Goodwin) อธิบายว่า "การที่ลินคอล์นสามารถรับมือกับพวกเสือสิงห์กระทิงแรดในคณะรัฐมนตรีได้ บ่งบอกให้เรารู้ว่า เมื่อคุณสมบัติที่เรามักเชื่อมโยงกับความนอบน้อมอย่างความเมตตา ความอ่อนไหว ความห่วงใย ความซื่อสัตย์ และความเข้าอกเข้าใจมารวมอยู่ในตัวของนักเมืองผู้ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง มันอาจจะกลายเป็นขุมพลังที่ยิ่งใหญ่ได้" สุดท้ายรัฐบาลในสมัยลินคอล์นก็สามารถชนะสงครามกลางเมือง รวมชาติสหรัฐเป็นหนึ่งเดียว และปลดปล่อยทาสได้ในท้ายที่สุด เคล็ดลับคือสิ่งที่เขาเคยกล่าวไว้
"น้ำผึ้งหนึ่งหยดสามารถจับแมลงวันได้มากกว่าน้ำดีขมหนึ่งแกลลอน"
อ้างอิง
Carnegie, D. (1998). How to Win Friends & Influence People. NY: Pocket Books.
Grant, A. (2021). Think Again: The Power of Knowing What You Don't Know. NY: Viking.
Grant, A. (2014). Give and Take: Why Helping Others Drives Our Success. NY: Penguin. Books
คาลอส บุญสุภา. (2564). การเปลี่ยนศัตรูมาเป็นพันธมิตร. https://sircr.blogspot.com/2021/07/blog-post.html
ศรีเรือน แก้วกังวาล. (2553). อ่านจิตวิทยา อ่านคน อ่านเรื่องเล่าจากอีสป. กรุงเทพฯ: หมอชาวบ้าน.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น