ข้อคิดที่ได้จากนิทานอีสป พ่อลูกและลา ไม่มีทางทำให้ทุกคนพอใจได้

ด้วยระบบการคิดโดยอาศัยสัญชาตญาณที่ขาดสติอันรวดเร็วของเรา ก็มักจะทำให้เราปฏิบัติตนไปตามความคาดหวังของทุกคนที่เราพบเจอ           

            ผมมีความคิดเห็นว่าความทุกข์เป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับเราทุกคน เราไม่สามารถหลีกหนีมันได้ ซึ่งในบทความนี้ผมอยากนำเสนอความทุกข์ที่เกิดจากการพยายามทำให้ทุกคนพึงพอใจ ผมเชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านก็เคยประสบกับความพยายามหรือความต้องการนี้อยู่เสมอ ทั้ง ๆ แทบจะทุกคนก็รู้ว่า "เราไม่สามารถทำให้ทุกคนพึงพอใจได้" แต่เราก็พยายามอยู่เสมอที่จะทำให้ใครต่อใครพึงพอใจอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติตัว การใช้วาจา การแต่งกาย รวมไปถึงการที่ใครบางคนพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงนิสัยตัวเองเพื่อให้ผู้อื่นพึงพอใจ

            ตามข้อเท็จจริงแล้วเราไม่สามารถทำให้ทุกคนพึงพอใจได้ เพราะเราแตกต่างกันมากกว่าที่เราคิดเอาไว้ แม้ว่าเราหลายคนจะปฏิบัติตนไปตามบริบทที่สังคมคาดหวัง ไม่ว่าจะเป็นการไหว้  การแสดงความเคารพผู้อาวุโสการแต่งตัวเรียบร้อย ไปจนถึงวิธีการรับประทานอาหาร แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะพึงพอใจกับการปฏิบัติตนไปตามบริบทสังคมของเรา ยกตัวอย่างเช่น การแต่งตัวเรียบร้อยของเราอาจจะไม่เรียบร้อยในมุมของคนอื่น วิธีการปรับประทานอาหารที่สุภาพของเรา อาจจะไม่ได้ตามมาตรฐานความสุภาพของใครบางคน

            มนุษย์ทุกคนแตกต่างกัน นั่นเป็นความงดงามที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา ลองคิดดูครับแม้เราจะมีบรรพบุรุษกลุ่มเดียวกันจากแอฟริกาเมื่อนานมาแล้ว ซึ่งผิวพรรณและใบหน้าก็แทบจะไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อบรรพบุรุษของเรากระจายตัวไปตามมุมต่าง ๆ ของโลก กลับทำให้ผิวพรรณ ใบหน้า บุคลิกภาพ นิสัยใจคอ ของพวกเขาแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ผมประทับใจธรรมชาติข้อนี้อย่างมากและด้วยความแตกต่างดังกล่าว จึงทำให้เป็นเรื่องยากที่เราจะทำให้ทุกคนพอใจได้ ซึ่งผมได้ยกนิทานอีสปเรื่อง "พ่อลูกและลา" เพื่อผู้อ่านเข้าใจอย่างชัดเจนว่า

เราไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจอย่างแน่นอน

นิทานพ่อลูกและลา ไม่มีทางทำให้ทุกคนพอใจได้

            วันหนึ่งพ่อและลูกชายจูงลาของพวกเขาไปขายที่ตลาด เมื่อเดินไปตามทาง พวกเขาได้เดินผ่านกลุ่มเด็กผู้หญิงซึ่งหัวเราะเด็กชาย แล้วพูดอย่างดูแคลนว่า "เจ้าเด็กน้อย เจ้าช่างงี่เง่าอะไรเช่นนี้ ลาน่ะเขามีไว้สำหรับขี่ ทำไมเจ้าต้องเดินให้เมื่อยขา ทำไมเจ้าถึงไม่ขี่ลาล่ะ" พ่อของเด็กจึงบอกลูกชายให้ขี่ลา

            จากนั้นทั้งสองก็เดินทางต่อไปอีกไม่ไกลนักก็พบชายแก่คนหนึ่ง เขาตำหนิเด็กว่า "เด็กคนนี้ช่างเกียจคร้านอะไรเช่นนี้ ปล่อยให้พ่อเดิน แต่ตัวเองขี่บนหลังลาสบาย" พ่อของเด็กจึงบอกให้ลูกชายลงจากหลังลา แล้วตัวเขาจึงขึ้นไปขี่ลาแทนลูก ลูกชายจึงเป็นฝ่ายเดิน

            พอเดินไปได้สักพักก็เจอกลุ่มผู้หญิง ซึ่งพอเห็นคนทั้งสองก็ตำหนิชายผู้เป็นพ่อว่า "พ่อผู้เกียจคร้าน ตัวเองเอาแต่สบายปล่อยให้ลูกชายเดินเปื้อนฝุ่น" ผู้เป็นพ่อจึงเรียกลูกชายขึ้นมาขี่บนหลังลาด้วยกัน

            ต่อมาก็เจอชายอีกคนหนึ่ง พอเห็นคนทั้งสองขี่บนหลังลาก็พูดพลางส่ายหน้าพลาง "โอ้พ่อ โอ้แม่ น่าสงสารลาเหลือเกินที่ต้องแบกร่างอ้วนถึงสองคนไปบนหลัง ช่างทรมานสัตว์อย่างไม่มีความละอายใจบ้างเลย" ดังนั้น ทั้งพ่อและลูกชายจึงลงจากหลังลา และเพื่อไม่ให้มีใครมาตำหนิและวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของเขาอีกต่อไป พวกเขาจึงมัดขาลาทั้งสี่เข้าด้วยกัน สอดไม้ไประหว่างขาลาแล้วแบกเดินพาเข้าเมืองไป โดยพ่ออยู่ข้างหนึ่ง และลูกอยู่อีกข้างหนึ่ง 

            ขณะที่พวกเขากำลังแบกลาข้ามสะพานก็พบชายชาวประมงที่กำลังหัวเราะเยาะการกระทำของพวกเขาทั้งสอง ลูกชายรู้สึกกดดันจึงร้องไห้โฮออกมา ฝ่ายลาก็ตกใจเสียงร้องของเด็กจึงแกว่งตัวและยกเท้าเตะไปมา ลูกชายจึงปล่อยไม้ข้างที่เขาแบก สุดท้ายลาก็หกคะเมนตีลังกาตกลงไปในแม่น้ำไป

ข้อคิดที่ได้จากเรื่องพ่อลูกและลา

            นิทานเรื่องนี้แสดงให้เห็นทุกมิติของพ่อลูกและลา ไม่ว่าจะเป็น พ่อลูกและลาเดินด้วยกัน พ่อขี่ลา ลูกขี่ลา พ่อและลูกแบกลา ซึ่งเป็นการวนไปวนมาของพ่อและลูก ทั้งสองคนเหมือนวิ่งอยู่ในเขาวงกตของการพยายามทำให้ทุกคนที่เดินผ่านพวกเขาพึงพอใจ ไม่ต่างอะไรกับเราทุกคนที่ลึก ๆ ก็พยายามทำให้คนอื่นพึงพอใจ ทำให้ผมตั้งคำถามว่าเพราะอะไร "เราถึงอยากทำให้ทุกคนพึงพอใจ" ทั้ง ๆ ที่เราก็รู้ดีอยู่แล้วว่า "เป็นไปไม่ได้" ไม่เพียงแค่นั้นแต่นิทานเรื่องนี้ยังมีข้อสอนใจเรื่องอื่น ๆ ที่ผมจะนำเสนอต่อจากนี้

"เราไม่สามารถทำให้ทุกคนพึงพอใจได้"

            1) เราไม่สามารถทำให้ทุกคนพึงพอใจได้ อย่างที่ผมได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า ธรรมชาติของเรามหัศจรรย์อย่างยิ่ง เรามีบรรพบุรุษกลุ่มเดียวกันจากแอฟริกาที่แทบจะไม่แตกต่างกันเลย แต่เมื่อพวกเขาออกเดินทางไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของโลก กลับทำให้มนุษย์รุ่นต่อ ๆ มา แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะนิสัยใจคอที่แตกต่างออกไป ทำให้แต่ละคนมีความคิดเห็นและการมองโลกที่ไม่เหมือนกัน แม้บางคนจะมีมุมมองแบบเสรีนิยม หรืออนุรักษนิยม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเสรีนิยม หรืออนุรักษนิยมไปเสียทุกเรื่อง

            ด้วยความแตกต่างนี้ก็ทำให้เราไม่สามารถทำให้ผู้อื่นพึงพอใจได้เสียทุกอย่างไป เหมือนในนิทานเรื่องนี้แม้การที่ลูกชายขี่ลาจะทำให้เด็กผู้หญิงกลุ่มแรกพอใจได้ แต่ก็ไม่สามารถทำให้ชายแก่ที่พบเจอพึงพอใจได้ เช่นเดียวกัน การที่พ่อพยายามจะทำให้ชายแก่พึงพอใจ แต่ก็ไม่สามารถทำให้ชายอีกคนหนึ่งพอใจได้ สิ่งนี้เป็นสัจธรรมข้อสำคัญที่เราทุกคนควรจะตระหนักและระลึกไว้เสมอว่า "เราไม่สามารถทำให้ทุกคนพึงพอใจได้" ดังนั้นหากใครที่วิจารณ์หรือไม่พอใจเรา ผมก็อยากให้ผู้อ่านทุกท่านระลึกข้อคิดนี้เอาไว้เสมอครับ

            2) เหตุผลที่มนุษย์อยากทำให้ทุกคนพึงพอใจเพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม พวกเราทุกคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องอาศัยกระบวนการทางสังคม พวกไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากสังคม จอร์จ มอนบิโอต์ (George Monbiot) นักเขียนและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและการเมืองชาวอังกฤษ ได้เปรียบมนุษย์เป็น "ผึ้งเลี้ยงลูกด้วยนม" สิ่งนี้ชัดเจนมาก เพราะผึ้งเคลื่อนไหวไปด้วยกันเป็นกลุ่มสังคม โดยมีภาระงานและหน้าที่แตกต่างกันไป แต่ทุกตัวต่างก็ปฏิบัติรับใช้ผึ้งนางพญา

            ด้วยพฤติกรรมดังกล่าวทำให้เรามักจะรู้สึกมีความสุขหรืออุ่นใจเมื่อได้อยู่กับกลุ่มเพื่อน และจะรู้สึกเหงาเมื่อต้องอยู่คนเดียว เนื่องจากธรรมชาติของเราต้องการพึ่งพาสังคม ในอดีตบรรพบุรุษของเราไม่สามารถมีชีวิตรอดได้ด้วยตัวคนเดียว พวกเขาจึงต้องพึ่งพากันและกัน พึ่งพาการทำงานร่วมกัน มันจึงเป็นระบบอัตโนมัติที่ทำให้เราใส่ใจความคิดเห็นของผู้อื่น เราจึงต้องตั้งสติเอาไว้และตระหนักอยู่เสมอถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ไม่มีใครชอบเหมือนกันและไม่มีใครพอใจเหมือนกัน

            3) เราควรยอมรับความเป็นจริงว่าเราไม่ได้เข้มแข็งอย่างที่เราคิด ข้อคิดนี้อาจจะทำให้ผู้อ่านบางท่านไม่พอใจ แต่ผมอยากจะนำเสนอว่า เราไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่เข้มแข็งนัก เพราะจากข้อที่ 2 ที่ผมอธิบายว่าเราทุกคนเป็นสัตว์สังคม ทำให้เราค่อนข้างพึ่งพาและคล้อยไปตามอิทธิพลทางสังคมมากกว่าที่เราคิดเอาไว้ ผมเชื่อว่าถ้าทำโพลที่มีคำถามว่า "ท่านคิดว่าตนเองไม่สามารถทำให้คนทุกคนพึงพอใจได้ใช่หรือไม่" ผมเชื่อว่า 9 ใน 10 จะต้องตอบว่าใช่ แต่ด้วยระบบการคิดโดยอาศัยสัญชาตญาณที่ขาดสติอันรวดเร็วของเรา ก็มักจะทำให้เราปฏิบัติตนไปตามความคาดหวังของทุกคนที่เราพบเจออยู่ดี

            เราควรที่จะยอมรับความเป็นจริงข้อนี้ และตระหนักเสมอเมื่อเราจะต้องตัดสินใจอะไรบางอย่างว่าเราไม่สามารถทำให้ทุกคนพึงพอใจได้ การยอมรับความเป็นจริงเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก เพราะมันทำได้ยาก และขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เราปรารถนาที่จะเข้มแข็งเพื่อที่จะไม่รู้สึกอ่อนแอ เพราะเรากลัวว่าจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และเมื่อเราเผชิญหน้ากับความอ่อนแอ มันก็จะทำให้เราตกอยู่ในสภาวะสิ้นหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนไม่สามารถกลับมายืนได้อีกครั้งหนึ่ง ยิ่งยุคสมัยที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและการเปรียบเทียบกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ยิ่งทำให้การจะดำรงอยู่ได้อย่างเข้มแข็งแทบจะเป็นไปได้ยากอย่างมาก 

ดังนั้นการตระหนักถึงความเป็นจริงว่า เราไม่ได้เข้มแข็งอย่างที่เราคิด จะช่วยเราได้อย่างมากในการยืนหยัดอยู่กับปัจจุบัน

            จากทั้งสามข้อ ไม่ว่าจะเป็นการไม่สามารถทำให้คนทุกคนพึงพอใจได้ มนุษย์ทุกคนเป็นสัตว์สังคม และเราควรยอมรับความเป็นจริงว่าเราไม่ได้เข้มแข็งอย่างที่เราคิด มีความสอดคล้องกันอย่างลงตัว เพราะการที่เราอ่อนแอเราจึงต้องอาศัยอิทธิพลทางสังคมเพื่อการดำรงอยู่และพยายามที่จะทำให้ทุกคนพึงพอใจ มันจึงกลายเป็นธรรมชาติของเราไปในที่สุด เป็นสิ่งที่เราคาดหวังและแสดงออกทางพฤติกรรมโดยอัตโนมัติ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว "เป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอนที่จะทำให้คนทุกคนพึงพอใจ"

            เราจึงต้องฝืนธรรมชาติข้อนี้เพื่อที่จะลดภาระทางจิตใจของเราเอง เนื่องจากสภาพความเป็นไปในปัจจุบันแตกต่างจากในอดีตอย่างหาที่เปรียบมิได้ แต่พฤติกรรมหรือธรรมชาติในตัวเราแทบจะไม่แตกต่างจากในอดีต สิ่งที่ผมกำลังจะบอกก็คือ เราจะต้องยอมรับในความแตกต่าง และหาหนทางที่จะดำเนินชีวิตโดยการประนีประนอมระหว่างธรรมชาติในตัวเราและการดำเนินชีวิตอย่างแตกต่าง เราต้องให้ความสำคัญกับร่างกายและจิตใจของตัวเองเหนือความต้องการทางสังคม กล่าวคือ บางครั้งเราอาจจะทำให้คนบางกลุ่มพึงพอใจบ้าง แต่เราจะต้องไม่ลืมความปรารถนาของตนเอง และดำเนินชีวิตในทิศทางที่เราต้องการ เหมือนกับที่ เกรแฮม มัวร์ (Graham Moore) ผู้เขียนบทภาพยนต์เรื่อง The Imitation Game ได้กล่าวไว้บทเวทีออสการ์ว่า 

"จงเป็นในสิ่งที่แปลกและแตกต่างต่อไป" 

อ้างอิง

คาลอส บุญสุภา. (2564). สังคมช่วงชิงอะไรจากเราไปบ้าง. https://sircr.blogspot.com/2021/01/blog-post.html

ศรีเรือน แก้วกังวาล. (2553). อ่านจิตวิทยา อ่านคน อ่านเรื่องเล่าจากอีสป.  กรุงเทพฯ: หมอชาวบ้าน.

ความคิดเห็น