จิตวิทยาสังคม การคล้อยตาม (Conformity)

"คนจำนวน 1100 คน ดื่มน่ำผลไม้ผสมยาพิษไซยาไนด์ เพื่อฆ่าตัวตายหมู่"

            เราได้ยินคำสอนเกี่ยวกับการเลือกคบเพื่อนมานาน "คบคนดีมีศรีแก่ตัว คบคนชั่วอัปราชัย" หมายถึง การคบคนดีจะสร้างประโยชน์ให้กับตนเอง ในขณะที่การคบคนชั่วจะพาให้เราพ่ายแพ้ เป็นคำสุภาษิตที่เข้าใจง่าย  ซึ่งสอดคล้องกับสุภาษิต "คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล" ทั้งสองสุภาษิตชวนให้เราคิดว่า "มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ หรือ" หากเราเป็นคนที่อยู่ในศีลธรรมอันดี พูดจาไรเราะอ่อนหวาน แต่เลือกคบหากับเพื่อนที่กระทำในสิ่งผิดอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเสพยา การทะเลาะวิวาท และใช้คำพูดหยาบคายอยู่ตลอด จะทำให้เรากลายเป็นเหมือนเพื่อนเราหรือไม่

            ในทางจิตวิทยาสังคมมีคำตอบให้เรื่องนี้อย่างชัดเจนนั่นคือ "ใช่" มนุษย์เรามีความสามารถในการปรับตัวเพื่อการอยู่รอด เมื่อมนุษย์เราเข้าไปในสิ่งแวดล้อมไหนก็จะเปลี่ยนแปลงและปรับตัวไปตามสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ แล้วเป็นไปได้หรือไม่ที่คนคนหนึ่งจะเลือกต่อต้านการปรับตัวนั้น ๆ "ฉันอยากจะเป็นตัวของฉันเอง" "ฉันไม่อยากจะดื่มสุราแม้เพื่อนฝูงของฉันจะดื่มกันทุกวัน" คำตอบก็คือ "ได้" แต่มันจะเป็นเรื่องยากอย่างมากเพราะการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมเป็นสัญชาตญาณที่ติดตัวเรามาแต่กำเนิด

การคล้อยตาม (Conformity)

            สัญชาตญาณที่ทำให้เราปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้เรียกว่า "การคล้อยตาม" (Conformity) คือการที่บุคคลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองให้เข้ากับมาตรฐานหรือความเชื่อซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป หรือเข้ากับบรรทัดฐาน (Norms) ของกลุ่มหรือสังคม การอยู่รวมเป็นกลุ่มเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนปกติทุกคน การที่คนเราอยู่ในกลุ่มได้อย่างมีความสุขนั้น เราจะต้องปฏิบัติตนให้เป็นไปตามบรรทัดฐานของกลุ่ม บางครั้งเราอาจจะอยากกระทำในสิ่งที่ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐาน แต่ด้วยความกลัวว่าจะถูกลงโทษจากกลุ่ม เราจึงจำเป็นต้องระงับความคิดนั้นและปฏิบัติตามกลุ่มอยู่ดี

            ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มเพื่อนของเราโดดเรียนกันหมดทุกคน ทั้งที่เราไม่อยากโดดเรียนด้วย แต่กลัวว่าเพื่อนจะไม่ยอมรับ จึงต้องคล้อยตามเพื่อนโดยการโดดเรียนแม้เราจะไม่อยากโดดก็ตาม เพราะเป็นการยากที่จะต้านทานแรงกดดันจากกลุ่ม "ยิ่งกลุ่มเพื่อนมีความคิดเหมือนกันมากเท่าไหร่ยิ่งมีอิทธิพลทำให้คนในกลุ่มนั้นต้องคล้อยตามมากขึ้นเท่านั้น" มนุษย์เป็นสัตว์สังคม การอยู่กับกลุ่มทำให้บรรพบุรุษของเราปลอดภัย สิ่งนี้จึงถูกฝังใน DNA ซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมของเรา

            การคล้อยตามหลายครั้งเกิดขึ้นกับกลุ่มสังคมที่ร่วมกันทำสิ่งที่เลวร้าย แม้ว่าคนบางคนในกลุ่มจะดูเป็นคนที่ไม่น่าจะทำเรื่องแบบนั้นได้เลยก็ตาม เพราะการต่อต้านจำเป็นต้องใช้สติคิดใคร่ครวญซึ่งเป็นระบบที่ช้ากว่าสัญชาตญาณที่คิดและตัดสินใจอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเหตุการณ์ค่ำคืนแห่งการฆ่าตัวตายหมู่ที่โจนส์ทาวน์ หรือ White Night ที่คนจำนวน 1100 คน ดื่มน่ำผลไม้ผสมยาพิษไซยาไนด์ เพื่อฆ่าตัวตายหมู่ ในปี 1978 ผู้ที่สั่งผู้คนทั้งหมดให้ทำตามก็คือ จิม โจนส์ (Jim Jones) สาธุคุณผู้มีวาทศิลป์

            เขาก่อตั้งชุมชนเล็ก ๆ ในประเทศกายอานา โดยตั้งชื่อว่า "โจน์ทาวน์" และหลังจากที่รัฐบาลกลางสหรัฐทำการสืบสวนหลังจากได้รับแจ้งว่าเขาทำทารุณกรรมและล่วงละเมิดทางเพศกับเด็ก โจนส์ก็ตัดสินใจสั่งให้สาวกทุกคนกรอกยาพิษให้ลูกหลานของตัวเองก่อนแล้วดื่มตาม โดยมีการจัดเตรียมยาพิษในถังขนาดใหญ่หลายใบ หลายคนไม่เห็นด้วย หลายคนตะโกนทักท้วง แต่คนเหล่านี้ก็ถูกกดดันจนต้องหุบปาก พ่อแม่เริ่มป้อนยาพิษให้ลูกแล้วค่อยกรอกปากตัวเองตามคำสั่งของโจนส์และแรงกดดันจากสาวกคนอื่น ๆ 

ศพของพวกเขาถูกพบนอนเรียงรายโดยกุมมือของกันและกันเอาไว้  

            เหตุการณ์ White Night เป็นตัวอย่างที่ดีของการคล้อยตาม เช่นเดียวกับเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ้าพันธ์ชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)โยนความผิดพลาดทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเยอรมนีไปที่ชาวยิวเพื่อสร้างความเกลียดชังจนกลายเป็นการคล้อยตามกันของคนในสังคม ส่งผลให้มีนาซีจำนวนมหาศาลยินดีที่จะทุบตีชาวยิวให้ตายคาถนน หากชาวยิวคนนั้นไม่กล่าวทักทายด้วยวลี "ไฮล์ ฮิตเลอร์" ทั้งหมดนี้เป็นอิทธิพลการคล้อยตาม

การทดลองของ โซโลมอน แอช (Solomon Asch)

            กระบวนการดังกล่าวได้รับการยืนยันจากหนึ่งในงานวิจัยที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก โดยนักจิตวิทยาชื่อโซโลมอน แอช (Solomon Asch) เขาได้แสดงให้เห็นว่าในบางครั้งคนเราก็ต้องคล้อยตามคนอื่นเพื่อแสวงหาการยอมรับจากกลุ่ม ทั้งที่คนเราอาจจะไม่ได้เชื่ออย่างนั้นก็ตาม (Normative Social Influences) แต่ก็ต้องทำเป็นว่าเชื่อและแสดงพฤติกรรมคล้อยตามไปเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในสายตาของผู้อื่น (Public Compliance) กล่าวคือ ยอมทำตามคนอื่นแม้จะไม่เห็นด้วย

            แอชยืนยันความน่าเหลือเชื่อนี้จากการทดลองที่จัดกลุ่มทดลองขนาด 7 คน ซึ่งใน 7 คนนี้มีผู้สมรู้ร่วมคิดของแอช 6 คน สรุปคือมีผู้ทดลองเพียงคนเดียวเท่านั้น เขาขอให้ผู้ทดลองคนนี้ตัดสินความยาวของเส้นตรงจำนวนหนึ่ง ผู้อ่านสามารถจินตนาการพร้อมกับดูภาพด้านล่างประกอบไปได้ครับ

            การทดลองนี้แอชให้ผู้ทดลองพิจารณาเส้นตรงทางซ้ายมือและตัดสินว่าเส้น A, B หรือ C ทางด้านขวาเส้นไหนที่มีความยาวเท่ากับเส้นตรงซ้ายมือ คำตอบที่ถูกต้องอย่างเห็นได้ชัดคือเส้น B และทุกคนในกลุ่มก็เลือกตอบข้อนี้ จากนั้นนักวิจัยก็ให้ดูภาพเส้นตรงชุดต่อไป คำตอบของคนทุกคนต่างก็สอดคล้องกันเช่นเดิม จนกระทั่งมาถึงการทดลองรอบที่ 3 ดังภาพด้านล่าง
           เราจะเห็นว่าในภาพด้านบนเส้นที่เท่ากันกับภาพซ้ายมือก็คือ C อย่างเห็นได้ชัด แต่น่าแปลกที่คนแรกในกลุ่มยืนกรานว่าเป็นเส้น B ทั้ง ๆ ที่เป็นเส้นที่ผิดนั้นทำให้ผู้เข้าร่วมทดลองตะลึง แต่ไม่ใช่แค่นั้นเพราะหน้าม้าคนที่สองก็เลือก เส้น B เหมือนกัน สมาชิกคนที่สามและสี่ของกลุ่มก็เลือก B ตามไปด้วย สรุปก็คือกลุ่มทดลอง (หน้าม้า) ทั้ง 6 คนเลือกเส้นที่ผิดหมด สิ่งที่น่าแปลกไปกว่านั้นก็คือ กลุ่มทดลองเพียง 1 คนจงใจเลือกผิดตามไปด้วย

            การทดลองทั้งหมดแบ่งเป็น 18 ทีม และหน้าม้าเหล่านี้ได้รับคำสั่งให้จงใจเลือกคำตอบที่ผิดในการทดลอง 12 รอบ เพื่อดูว่าเราจะยอมฝ่าฝืนวิจารณญาณที่ดีกว่าของตัวเองและคล้อยตามคนส่วนใหญ่หรือไม่ ผลปรากฎว่าผู้เข้าร่วมการทดลองยอมคล้อยตามเกินหนึ่งในสามของรอบการทดลองทั้งหมด พวกเขาเลือกเส้นที่ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเพียงเพราะคนที่เหลือในกลุ่มเลือกเส้นนั้น สามในสี่ของผู้เข้าร่วมการทดลองยอมคล้อยตามคำตอบที่ผิดอย่างน้อยหนึ่งครั้ง
            เมื่อผู้เข้าร่วมการทดลองถูกทดสอบคนเดียว พวกเขาแทบไม่เคยตอบผิดเลย ตอนที่คล้อยตามกลุ่ม พวกเขารู้ว่าตัวเองเลือกคำตอบที่ไม่ถูกต้องแต่ก็ยังคงเลือกเพราะกลัวว่าจะถูกหัวเราะเยาะ ไม่จำเป็นต้องมีผู้นำเผด็จการที่โหดเหี้ยมมาข่มขู่ให้เราหวาดกลัวจนยอมปิดปากเงียบ การมีความคิดเห็นแบบหัวเดียวกระเทียมลีบสามารถทำให้แม้กระทั่งคนต้นแบบที่มีความยึดมั่นเกิดความหวาดกลัวมากพอที่จะยอมคล้อยตามคนส่วนใหญ่

            สิ่งที่แอชค้นพบจะปรากฎในตัวมนุษย์ทุกคนโดยไม่จำกัดเชื้อชาติศาสนา มีผู้ทำการทดลองเรื่องการคล้อยตามนี้ในหลากหลายรูปแบบไม่ต่ำกว่า 130 ครั้งใน 17 ประเทศ รวมถึงซาอีร์ (คองโกในปัจจุบัน) เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น นอร์เวย์ เลบานอน และคูเวต ฯลฯ ผลปรากฎว่าแบบแผนการคล้อยตามของกลุ่มตัวอย่างในแต่ละประเทศไม่แตกต่างกันมากนัก โดยจะตอบผิด (ตอบตามคนอื่น) ราว ๆ ร้อยละ  20 - 40 ของคำถาม แม้อัตราการตอบผิดจะไม่สูงมาก แต่ภารกิจง่ายมากอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ผลลัพธ์ที่แสดงออกมาทำให้รู้ว่า คนเราสามารถทำอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผิดแค่ไหนเพียงเพราะว่าคนรอบตัวของเขาทำสิ่งนั้น 

            ในงานวิจัยของโซโลมอน แอช ผู้เข้าร่วมการทดลองที่คล้อยตามคำตอบของกลุ่มบอกในการสัมภาษณ์ตัวต่อตัวว่า พวกเขาคิดว่าตัวเองคงมองผิดไป ในเมื่อทุก ๆ คนพูดเป็นเสียงเดียวกัน สิ่งนั้นก็คงถูกต้องแล้ว อีกทั้งยังมีผลการศึกษาวิจัยจากภาพถ่ายสมองพบว่า ตอนที่คนเราคล้อยตามผู้อื่น (อย่างในการทดลองของแอช) สมองจะมองเห็นสถานการณ์อย่างที่คนอื่นบอกจริง ๆ กล่าวคือเชื่อแบบนั้นจริง ๆ 

            วิธีที่ง่ายดายที่สุดเพื่อส่งเสริมการไม่คล้อยตามคือการเพิ่มผู้คัดค้านเข้าไปหนึ่งคน ดังที่ เดเร็ค ซิเวอร์ส (Derek Sivers) กล่าวไว้ว่า "ผู้สนับสนุนคนแรกเปลี่ยนคนหัวเดียวกระเทียมลีบให้กลายเป็นผู้นำได้" ถ้าเรานั่งอยู่กับคนอีกเจ็ดคนและสมาชิกหกคนในกลุ่มเลือกคำตอบที่ผิด แต่สมาชิกหนึ่งคนที่เหลืออยู่เลือกคำตอบที่ถูกต้อง อัตราการยอมคล้อยตามจะลดลงอย่างฮวบฮาบ โดยคนจะเลือกคำตอบที่ผิดลดลงจากร้อยละ 37 เหลือเพียงร้อยละ 5.5 "การมีผู้สนับสนุนหนึ่งคนช่วยลดทอนแรงกดดันจากคนส่วนใหญ่ได้มากทีเดียว" แอชกล่าว

            ยกตัวอย่างการประชุมที่มีการลงความเห็น แม้คนบางส่วนจะมีความเห็นไม่ตรงกันกับคนส่วนใหญ่ก็มักจะแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันหมด สิ่งนีกเรียกว่า การพร้อมใจกันเพิกเฉย (Pluralistic Ignorance) หมายถึงการที่สมาชิกกลุ่มส่วนใหญ่หรือทั้งหมดไม่คิดจะหาคำตอบว่าคนอื่น ๆ คิดอย่างไร สิ่งนี้ขึ้นกับธรรมเนียมปฏิบัติบางอย่างที่ไม่ดี ล้าหลังแต่ยังคงอยู่ในสังคมจนมาถึงทุกวัน เป็นเพราะว่าคนบางกลุ่มเพิกเฉยความที่จะเปลี่ยนแปลง และเมื่อไม่มีการต่อสู้ทางความคิด ธรรมเนียมดังกล่าวจึงยังไม่สูญสิ้นไป 

            อย่างไรก็ตามธรรมเนียมปฏิบัติแย่ ๆ หลายอย่างได้สลายไปจากสังคม โดยเริ่มต้นจากคนไม่กี่คนที่ใช้การไตร่ตรอง และกระพือสังคมจนสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ถึงแม้ว่าในประเทศไทยจะยึดถือค่านิยมแบบกลุ่มก้อนเสียมากถ้าเทียบกับในยุโรป ดังนั้นถึงเวลาที่คนยุคใหม่จะต้องยึดถือค่านิยมปัจเจกบุคคล และเสริมสร้างอัตลักษณ์พิเศษที่แปลกและแตกต่างจากคนส่วนมากในสังคม และพร้อมที่จะโต้แย้งความคิดเห็นที่เราไม่เห็นด้วย สังคมถึงจะมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาก้าวหน้ามากขึ้น กล่าวคือ 

การต่อต้านพฤติกรรมคล้อยตามเป็นกลไกแห่งการเปลี่ยนแปลง

อ้างอิง

Grant, A. (2017). Originals: How Non-Conformists Move the World. NY: Penguin.

Muzika. (2563). โจนส์ทาวน์ เมืองลัทธิฆ่าตัวตายหมู่ ที่น่ากลัวที่สุดในประวัติศาสตร์โลก. https://travel.trueid.net/detail/p7gMwwzkM4ev

คาลอส บุญสุภา. (2564). อิทธิพลทางสังคม ที่ทำให้เกิด การคล้อยตาม (Conformity). https://sircr.blogspot.com/2021/10/conformity.html

สิทธิโชค วรานุสันติกุล. (2546). จิตวิทยาสังคม : ทฤษฎีและการประยุกต์. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น

ความคิดเห็น