ภาพลวงตาแห่งความสำเร็จ เรามีโอกาสไต่เต้าจากดินสู่ดาวมากแค่ไหน

ความเท่าเทียมทางโอกาสคือทางออกที่จำเป็นทางศีลธรรมและต่อความอยุติธรรมในสังคม

            ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา โลกาภิวัตน์ได้ขับเคลื่อนด้วยตลาดควบคู่กับแนวคิดเรื่องความสำเร็จเฉพาะคนที่คู่ควรเท่านั้น (คู่ควร หมายถึง ผู้ที่มีพรสวรรค์หรือพรแสวงและมีปัจจัยที่คอยเกื้อหนุน ไม่ว่าจะเป็นพื้นเพทางครอบครัวหรือมีโอกาสทางการศึกษา) เพราะโลกตลอด 4 ทศวรรษหมุนเวียนด้วยทุน พร้อมกับการให้คุณค่ากับกลุ่มธุรกิจ แทนที่จะให้คุณค่ากับพลเมือง ส่งผลให้มีการเปิดใจรับข้อถกเถียงเรื่องความเท่าเทียมของกันและกันน้อยลง

            การคัดเลือกแบบคู่ควรนิยม (Meritocracy) มองดูภายนอกอาจสมเหตุสมผล คนที่ขยันหมั่นเพียร มีความสามารถ จนพาตนเองมาถึงจุดนี้ย่อมสมควรได้รับผลลัพธ์ที่ดีงาม กล่าวคือพวกเขาคู่ควรกับผลลัพธ์ที่ได้ แต่ที่น่ากลัวก็คือสิ่งนี้สอนให้เรารู้ว่าความสำเร็จของเราเกิดจากตัวเราเอง ซึ่งบั่นทอนสำนึกการเป็นหนี้บุญคุณ กลายเป็นว่าสังคมโลกส่วนใหญ่โดยเฉพาะสังคมไทยมองว่า "จนเพราะขี้เกียจ" หรือ "ด้อยโอกาสเพราะไม่มีความพยายาม" หรือ "คุณยังพยายามไม่มากพอ"

            ในหนังสือ The Tyranny of Merit: What's Become of the Common Good? ผู้เขียน ไมเคิล แซนเดล (Michael Sandel) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชี้ให้เห็นว่ามายาคติเรื่องความคู่ควร เป็นภาพลวงตาที่อันตราย สามารถทำร้ายผู้คนและสังคมมากกว่าที่คาดคิด เพราะแม้แต่คนด้อยโอกาสในสังคมก็เชื่ออย่างสนิทใจว่าตนเองต้อยต่ำกว่าผู้อื่น ซึ่งความเชื่อดังกล่าวทำลายการเห็นคุณค่าในตนเองอย่างน่าตกใจ 

            ค่านิยมของสังคมเพิกเฉยข้อเท็จจริงที่ว่าคนจนทำงานหนักมากแค่ไหน พวกเขาส่วนใหญ่ต้องทำงานด้วยความยากลำบากหลายชั่วโมงเพียงเพื่อได้ค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของพวกเขาเลย หลักการคู่ควรนิยมจึงตรงกันข้ามกับคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ คนยากจน คนชายขอบ คนเรียนไม่จบ พวกเขาถูกมองว่าพยายามไม่มากพอ ไม่ต่อสู้ ขี้เกียจ จึงสมควรแล้วที่จะยากจน พวกเขาจึงถูกหยามเกียรติจากทั้งผู้ที่เหนือกว่าและจากตัวเองโดยอัตโนมัติ

พวกเขาถูกหยามเกียรติจากทั้งผู้ที่เหนือกว่าและจากตัวเองโดยอัตโนมัติ

            น้อยคนมากที่จะสามารถไต่เต้าจากดินสู่ดาวได้  เฮนรี แอรอน (Henry Aaron) เป็นหนึ่ยในนั้น เขาเป็นนักกีฬาที่เก่งที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ เติบโตขึ้นมาในภาคใต้ของอเมริกายุคแบ่งแยกสีผิว สมัยเด็กเฮนรีมักจะมองดูพ่อของเขาถูกบังคับให้ยอมสละคิวตอนต่อแถวซื้อของในร้านค้าให้กับคนผิวขาวทุกคนที่เดินเข้ามา จนกระทั่งเขาได้ดูเรื่องราวของ แจ็คกี้ โรบินสัน (Jackie Robinson) ผู้ซึ่งสามารถทลายเส้นแบ่งสีผิวของกีฬาเบสบอลลงได้ ทำให้เฮนรี่ในวัย 13 ขวบเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจและเชื่อว่าวันหนึ่งของเขาจะเป็นผู้เล่นในเมเจอร์ลีกได้เหมือนกัน

            เฮนรีไม่มีไม้หรือลูกเบสบอล เขาจึงฝึกซ้อมโดยใช้สิ่งของที่เขามี นั่นคือ "ก้านไม้" เขาเอาก้านไม้มาหวดฝาขวดที่น้องชายโยนให้ นอกจากฝาขวดแล้วเขายังใช้สิ่งของอื่น ๆ ที่หาได้ตามท้องถนนเพื่อใช้สำหรับฝึกฝน พัฒนาตัวเองตามความฝันที่เขาตั้งใจเอาไว้ (แต่ส่วนใหญ่จะเป็นฝาขวด) และด้วยความมุมานะ ทุ่มเท บวกกับฝาขวดและก้านไม้นี้เองที่ทำให้อนาคตเขาสามารถทำลายสถิติโฮมรันตลอดชีวิตของแบบ รูท (Babe Ruth) ซึ่งเป็นนักเบสบอลมืออาชีพชาวอเมริกันชื่อดังได้

            ผมเชื่อว่าเรื่องราวของ เฮนรี แอรอน สอนเราถึงความพยายาม ความเพียร และความฝัน เป็นเรื่องราวที่ไม่ว่าจะเป็นใครก็ต้องชอบ โดยที่เราแทบจะลืมตั้งคำถามเกี่ยวกับความยุติธรรม ความน่ารังเกียจของอคติที่คนผิวขาวจำนวนมากในสมัยนั้นมีต่อคนผิวสี กลายเป็นว่าหากคุณปรารถนาจะหลบหนีออกจากระบบอันน่ารังเกียจนี้ คุณจะต้องตีโฮมรันได้เท่านั้นหรือ 

            ทั้ง ๆ ที่ความเท่าเทียมทางโอกาสคือทางออกที่จำเป็นทางศีลธรรมและต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม มันไม่ง่ายเลยที่เราจะยึดความแตกต่างที่ว่านี้ แรงบันดาลใจจากวีรกรรมดินสู่ดาวของคนไม่กี่คนทำให้เกิดคำถามที่ว่าคนอื่นจะหนีจากสภาพแวดล้อมที่เหนื่ยวรั้งพวกเขาไว้ได้อย่างไร แทนที่จะซ่อมแซมเงื่อนไขที่ทำให้คนอยากหลีกหนีจากมัน แต่เรากลับไปสร้างการเมืองที่บอกว่าการพยายามคือคำตอบของการหลุดออกจากความเหลื่อมล้ำ

            การทลายอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของมนุษย์แต่ละคนอย่างที่แอรอนทำ เป็นสิ่งที่ดีอย่างแน่นอน และยังมีตัวอย่างอีกมากมายในโลกที่สามารถทำสำเร็จโดยลุกขึ้นจากดินโคลนและก้าวไปสู่ดวงดาวได้ ทั้งที่จริง ๆ แล้วมันไม่ควรจะมีใครจมปลักอยู่กับความยากจนและอคติที่เต็มไปด้วยดินโคลนด้วยซ้ำไป เพราะยังมีคนที่ด้อยโอกาสอีกเป็นหลายล้านคนที่ต่อให้พวกเขาพยายามมากแค่ไหนก็ไม่อาจก้าวพ้นจากดินโคลนออกไปได้

            การมุ่งเน้นเฉพาะคนที่ไต่เต้าได้สำเร็จเป็นส่วนใหญ่ไม่อาจหล่อเลี้ยงสายสัมพันธ์ทางสังคมและความผูกพันของพลเมืองที่จำเป็นต่อประชาธิปไตรได้ แม้แต่ในสังคมที่ประสบความสำเร็จในการส่งมอบการเลื่อนชั้นทางสังคมก็ยังต้องหาวิธีที่จะสร้างหลักประกันว่าคนที่เลื่อนชั้นไม่สำเร็จจะมีชีวิตที่ดีและมองตัวเองว่าเป็นสมาชิกของโครงการส่วนรวม ความล้มเหลวของหลายประเทศที่เน้นความคู่ควรทำให้คนที่ขาดคุณวุฒิ ด้อยโอกาส มีชีวิตที่ยากแค้นแสนสาหัสและทำให้พวกเขารู้สึกว่าตนเองไม่ใช่คนส่วนหนึ่งในสังคมที่พวกเขาปรารถนา

            ผมเชื่อว่าผู้อ่านทุกคนคิดว่า หากคุณพยายามพัฒนาตัวเอง มองหาโอกาส คุณก็จะก้าวหน้าขึ้นไปและประสบความสำเร็จได้ ไม่ใช่ความคิดที่แปลกอะไร ในอดีตผมก็คิดแบบนี้เหมือนกัน แต่เราจะต้องไม่ลืมว่ามันมีเงื่อนไขมากมายที่ทำมนุษย์หลายคนไม่มีวันจะก้าวหน้ามากขึ้นได้ต่อให้พวกเขาพยายามากแค่ไหนก็ตาม เราไม่สามารถเอาเรื่องราวปัจเจกชนอย่างเช่น เฮนรี แอรอน หรือ แจ็คกี้ โรบินสัน มาเป็นตัวอย่างของบุคคลทั้งระบบได้

            ไมเคิล แซนเดล ได้นำเสนอทางออกของสังคมในอนาคต โดยเขาเสนอให้สังคมสร้างความเท่าเทียมของเงื่อนไขที่ครอบคลุม เอื้อให้คนที่ไม่อาจสะสมความมั่งคั่งมหาศาลหรือได้ตำแหน่งอันมีเกียรติได้มีชีวิตที่ดีงามและเปี่ยมด้วยศักดิ์ศรี สิ่งนี้จะทำให้พวกเขาสามารถพัฒนาและใช้ความสามารถของพวกเขาในการทำงานที่ได้รับการยอมรับจากสังคม 

            ความสุขของปัจเจกบุคคลไม่ได้เรียกร้องแต่เพียงว่ามนุษย์ควรมีเสรีภาพในการไต่เต้าสู่ตำแหน่งใหม่ ๆ ที่สะดวกสบายและโดดเด่น แต่เรียกร้องด้วยว่ามนุษย์ควรสามารถมีชีวิตที่เปี่ยมศักดิ์ศรีและมีวัฒนธรรมไม่ว่าพวกเขาจะไต่เต้าได้หรือไม่ได้ก็ตาม ทุกวันนี้คนที่ทำงานประเภทแรงงานไร้ฝีมือรู้สึกไม่พึงพอใจในงานของตนเองเช่นเดียวกับบุคคลที่ทำงานในออฟฟิตหรือสูงขึ้นไปกว่านั้น เพราะระบบคู่ควรนิยมมันสร้างบันไดอันไม่มีที่สิ้นสุด กล่าวคือเราไม่มีทางขึ้นไปถึงชั้นสูงสุดของบันไดได้

            ทุกวันนี้เราอยู่ท่ามกลางพายุหมุนแห่งความโกรธแค้นที่เกิดจากการคลายเงื่อนที่ว่านี้ เราจะต้องซ่อมแซมความผูกพันทางสังคมที่ยุคแห่งความคู่ควรทำลายเพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีของงานขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง การที่เราอยู่ในสังคมที่ให้ค่ากับพรสวรรค์ของเรานั้นถือเป็นความโชคดีแต่ไม่ใช่สิ่งที่เราคู่ควร ในทางตรงกันข้ามสำนึกที่ตื่นตัวในความบังเอิญของชะตาชีวิตอาจดลใจให้เราถ่อมตัวมากยิ่งขึ้น

            ความถ่อมตนแบบนี้คือจุดเริ่มต้นของการหาทางกลับตัวออกจากจริยธรรมความสำเร็จอันโหดเหี้ยมซึ่งผลักพวกเราให้ถอยห่างออกจากกัน มันชี้ทางให้เราพ้นไปจากความคู่ควรอันไร้สาระที่มีแต่จะสร้างความเหลื่อมล้ำให้ขยายกว้างมากขึ้นสู่ชีวิตสาธารณะที่เต็มไปด้วยมิตรไมตรี 

เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กันและกันมากขึ้น และอาฆาตชิงชังกันน้อยลง 

อ้างอิง

Sandel, M. (2020). The Tyranny of Merit: What's Become of the Common Good?. NY: Farrar, Straus and Giroux.

คาลอส บุญสุภา. (2565). ข้อคิดที่ได้จากเรื่องราว เฮนรี แอรอน นักเบสบอลจากดินสู่ดาว. https://sircr.blogspot.com/2022/09/blog-post_24.html

ความคิดเห็น