มิตรภาพที่ดี คือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนจำเป็นต้องมี (Healthy Relationship)

"ผึ้งไม่สามารถอยู่เพียงลำพังได้ มันจะทุกข์ตรมเมื่อถูกแยกให้อยู่โดดเดี่ยว"

            ผมเชื่อว่าผู้อ่านทุกคนรู้กันดีว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม แต่เรามักจะลืมไปว่าการที่เราเป็นสัตว์สังคม เราจำเป็นต้องพึ่งพาสังคมเพื่อการดำรงชีวิตด้วย ซึ่งในยุคสมัยนี้การพึ่งพาทางสังคมจะแตกต่างกับบรรพบุรุษของเราที่จำเป็นต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันอย่างสูงเพื่อความปลอดภัยและความอยู่รอด อย่างไรก็ตาม DNA นี้ก็ถูกฝังผ่านยุคสมัยมาถึงปัจจุบัน และมีผลต่อกระบวนการคิดและพฤติกรรมของเราอย่างปฏิเสธไม่ได้

            นั่นเป็นเหตุผลที่พวกเราทุกคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องอาศัยกระบวนการทางสังคม พวกไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากสังคม จอร์จ มอนบิโอต์ (George Monbiot) นักเขียนและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและการเมืองชาวอังกฤษ ได้เปรียบมนุษย์เป็น "ผึ้งเลี้ยงลูกด้วยนม" สิ่งนี้ชัดเจนมาก เพราะผึ้งเคลื่อนไหวไปด้วยกันเป็นกลุ่มสังคม โดยมีภาระงานและหน้าที่แตกต่างกันไป แต่ทุกตัวต่างก็ปฏิบัติรับใช้ผึ้งนางพญา             

            พฤติกรรมดังกล่าวทำให้เรามักจะรู้สึกมีความสุขหรืออุ่นใจเมื่อได้อยู่กับกลุ่มเพื่อน และจะรู้สึกเหงาเมื่อต้องอยู่คนเดียว เนื่องจากธรรมชาติของเราต้องการพึ่งพาสังคม ในอดีตบรรพบุรุษของเราไม่สามารถมีชีวิตรอดได้ด้วยตัวคนเดียว พวกเขาจึงต้องพึ่งพากันและกัน พึ่งพาการทำงานร่วมกัน อย่างที่ผมได้กล่าวไว้เบื้องต้นว่า มันอยู่ใน DNA ของเรา แม้ว่าเราจะมีบุคลิกภาพประเภทที่ชอบอยู่คนเดียว ไม่ชอบคบหาผู้คนจำนวนมาก แต่เราก็ไม่สามารถปฏิเสธสายสัมพันธ์ทั้งหมดได้อยู่ดี

            โรเบิร์ต วาลดิงเกอร์ (Robert Waldinger) จิตแพทย์ นักจิตวิเคราะห์ที่มีชื่อเสียงจากสถาบัน Harvard Medical School เขาเป็นผู้ดูแลคนหนึ่งในการศึกษาระยะยาวที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกอย่าง Harvard Study of Adult Development เป็นการศึกษาที่ติดตามชีวิตของผู้คนจำนวน 724 คน ตลอดระยะเวลา 80 ปี จนสุดท้ายเหลือรอดเพียง 60 คนเท่านั้น ซึ่งจากการศึกษานี้ทำให้เราได้รู้เคล็ดลับของการมีชีวิตที่มีความสุข นั่นคือ "การมีความสัมพันธ์ที่ดี" 

"เคล็ดลับของการมีชีวิตที่มีความสุข คือการมีความสัมพันธ์ที่ดี" 

            ไม่เพียงแต่ทางวิวัฒนาการ สังคม การแพทย์ หรือจิตวิทยาเท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับการมีความสัมพันธ์หรือมีมิตรภาพที่ดี ปรัชญาสายสโตอิก ก็มองว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่รักและใส่ใจคนอื่น ชาวสโตอิกมองว่าเราควรห่วงใยคนอื่น ปรารถนาให้พวกเขาเติบโตและพัฒนาความรู้สึกเป็นพี่น้องกับมวลมนุษย์ทั้งหมด ปฏิบัติกับคนแปลกหน้าหรือแม้แต่ศัตรูเหมือนเขาเป็นญาติ เป็นพี่ชายน้องสาว เป็นป้าเป็นลุง เพราะพวกเราล้วนเป็นพลเมืองในโลกใบเดียวกัน ความแน่นแฟ้นที่มีร่วมกันนี้จะก่อตัวเป็นพื้นฐานของความรักและมิตรภาพที่มีร่วมกัน

            นักปรัชญาสายสโตอิกอย่าง มูโซนิอัส รูฟัส และ มาร์คัส ออเรเลียส จักรพรรดินักปรัชญาผู้เรืองอำนาจในยุคโรมัน มองว่ามนุษย์ไม่ต่างกับ "ผึ้ง"  เพราะผึ้งไม่สามารถอยู่เพียงลำพังได้ มันจะทุกข์ตรมเมื่อถูกแยกให้อยู่โดดเดี่ยว และผึ้งจะคำนึงถึงประโยชน์ที่มีต่อรวงรังของมันอยู่เสมอ ไม่ต่างกับที่ จอร์จ มอนบิโอต์ นักเขียนชื่อดังที่เปรียบมนุษย์เป็น "ผึ้งเลี้ยงลูกด้วยนม" ที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น กล่าวคือ พฤติกรรมของผึ้งจะอยู่ร่วมกันเป็นฝูง และพึ่งพาอาศัยกันและกัน

            ยิ่งไปกว่านั้นการที่เรามีเพื่อนที่มีคุณธรรมตามแบบสโตอีก (มีปัญญา ยุติธรรม กล้าหาญ และมีวินัย) ย่อมเป็นปัจจัยภายนอกที่มีค่ามากที่สุดในโลก ในหนังสือ The Little Book of Stoicism: Timeless Wisdom to Gain Resilience, Confidence, and Calmness ผู้เขียน โยนัส ซัลซ์เกเบอร์ (Jonas Salzgeber) ได้ยกข้อความของ เซนากา ที่เขียนว่า"คนที่มีปัญญา ต้องการเพื่อนฝูง เพื่อนบ้าน และเพื่อนร่วมงาน ไม่ว่าเขาจะรู้สึกว่าตัวเองลำพังมีศักยภาพมากแค่ไหนก็ตาม"

            จะเห็นว่าแทบจะทุกศาสตร์ต่างมีความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า การมีความสัมพันธ์หรือมิตรภาพที่ดี จะนำมาซึ่งชีวิตที่ดี แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเราจะต้องไม่ลืมว่า หากเราปรารถนาจะมีความสัมพันธ์ที่ดี เราจะต้องมอบความสัมพันธ์หรือมิตรภาพที่ดีกับผู้อื่นด้วย เพราะการทำดีกับผู้อื่นย่อมจะส่งผลดีกับตัวเราเอง แต่มันไม่ใช่ผลบุญที่จะได้กลับมาโดยอัตโนมัตินะครับ มันเหมือนกับโบนัสที่เราไม่มีทางรู้ว่าจะมาเมื่อไหร่ ดังนั้นอย่าไปคาดหวังแต่ให้เรารับรู้เอาไว้ก็เพียงพอ สุดท้ายผมขอยกข้อค้นพบของ วาลดิงเกอร์ ซึ่งเขาค้นพบจากผลลัพธ์งานวิจัยชิ้นสำคัญของโลกมาปิดท้ายบทความนี้กันครับ

"เคล็ดลับของการมีชีวิตที่มีความสุข คือการมีความสัมพันธ์ที่ดี"

อ้างอิง

Salzgeber, J. (2019). The Little Book of Stoicism: Timeless Wisdom to Gain Resilience, Confidence, and Calmness. https://www.njlifehacks.com/

Waldinger, R., et al. (2016). Harvard Study of Adult Development. https://www.youtube.com/watch?v=8KkKuTCFvzI&t=1s

คาลอส บุญสุภา. (2565). ข้อคิดที่ได้จากนิทานอีสป พ่อลูกและลา ไม่มีทางทำให้ทุกคนพอใจได้. https://sircr.blogspot.com/2022/08/blog-post_12.html

ความคิดเห็น