เราควรเข้าใจความคิดฆ่าตัวตายของคนเป็นโรคซึมเศร้าให้มากขึ้น

การที่คนคนหนึ่งคิดจะฆ่าตัวตาย มันเป็นการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ

            มีคนมักจะบอกผมเสมอว่าเด็กในยุคสมัยนี้ค่อนข้างเปราะบางอย่างมาก หากเทียบกับเด็กในรุ่นก่อน ๆ ผมเห็นด้วยอย่างมาก แต่ผมไม่ได้มองว่าพวกเขาเปราะบางเพราะตัวของพวกเขาเอง แต่ด้วยปัจจัยแวดล้อมหรือบริบททั้งหมดที่อยู่รอบตัวพวกเขาต่างหากที่ทำให้เขาเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็น การเลี้ยงดู สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เครือข่ายสังคมทั้งหมด และความเหลื่อมล้ำของสังคมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ 

            ด้วยเหตุทั้งหมดนี้จึงทำให้ผมเป็นห่วงเด็กในยุคนี้อย่างมาก ผมได้ยินเรื่องราวของนักเรียนหลายคนที่คิดว่าทางออกของพวกคือการฆ่าตัวตาย แม้พวกเขาจะไม่ได้มีการวางแผนเอาไว้ หรือไม่ได้คิดจะทำแบบนั้นจริง ๆ แต่มันก็น่าเศร้าที่พวกเขามีความคิดที่อยากจะจบชีวิตตัวเอง หรือรู้สึกว่าเรื่องของพวกเขามันไร้ทางออกหรือมืดแปดด้านจริง ๆ  

            เด็กหลายคนที่ผมรู้จักมักมองตัวเองว่าไม่มีความสามารถ ไม่มีคุณค่า และไม่คิดว่าการมีชีวิตอยู่ของตัวเองมีความหมาย มันมาจากการที่พวกสามารถเข้าถึงสื่อที่ทำให้พวกเขาพบเห็นคนที่มีความสุขและเต็มไปด้วยสามารถมากมาย และด้วยสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์มันก็ทำให้พวกเราเปรียบเทียบคนอื่นโดยไม่รู้ตัว บวกกับสังคมที่เหลื่อมล้ำที่ชักจูงให้เราถีบหัวคนอื่นเพื่อขึ้นบันไดอันไม่มีจุดสิ้นสุดต่อไปเรื่อย ๆ 

            ทั้งหมดนี้มันส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้าไปจนถึงโรคซึมเศร้า ทำให้การฆ่าตัวตายเป็นหนึ่งในทางออกยอดนิยม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาหรือเธอจะฆ่าตัวตายจริง ๆ มันมีความลับของความคิดฆ่าตัวตายซ่อนเอาไว้อยู่ ซึ่งหากเราเข้าใจข้อมูลนี้จะช่วยให้เราให้ความช่วยเหลือและปกป้องชีวิตที่น่าสงสารของคนที่เราห่วงใยได้ 

            โรคซึมเศร้า (Depression) เป็นโรคที่ส่งผลทางอารมณ์และความรู้สึกโดยจะมีความคิดต่อตนเองในทางลบ ทำให้รู้สึกหม่นหมอง หดหู่ เศร้า ท้อแท้ หมดหวัง มองโลกในแง่ร้าย ขาดความสนใจในสิ่งต่าง ๆ  และตำหนิตนเอง รู้สึกว่าทุก ๆ อย่างช้าลงไม่ว่าการเดิน พูด หรือคิด นอกจากนั้นยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกของตนเองได้ ส่งผลให้พยายามหลีกหนีจากสถานการณ์ต่าง ๆ หลบเลี่ยงการเผชิญหน้า

            อาการของโรคซึมเศร้าจะขึ้นอยู่กับแต่ละคน บางคนมีอารมณ์เศร้าที่ชัดเจนบ่อยครั้ง หรือเกือบจะตลอดเวลา แต่ในขณะที่บางคนไม่มีอารมร์เศร้าที่ชัดเจน แต่มีความรู้สึกเบื่อหน่ายกับทุกสิ่งทุกอย่าง เบื่อตัวเอง เบื่อคนรอบตัว เบื่องาน บางคนอาจมีอารมณ์ทางเพศลดลง เบื่ออาหาร และนอนไม่หลับ แต่ก็มีส่วนน้อยที่มีอารมณ์ทางเพศมากขึ้น กินเก่งขึ้น และนอนหลับตลอดเวลา

โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่ส่งผลทางอารมณ์และความรู้สึกโดยจะมีความคิดต่อตนเองในทางลบ

            นอกจากนั้นยังมีการคิดฆ่าตัวตาย ไปจนถึงวางแผนฆ่าตัวตาย หลายคนเข้าใจว่าการคิดฆ่าตัวตายเป็นอันตรายอย่างมาก แต่ในความจริงแล้วความคิดฆ่าตัวตายอาจจะเป็นการท้อแท้ ความเศร้า หรือกำลังเผชิญหน้ากับความเครียด ความกดดัน แต่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าบางคนอาจมีการวางแผนฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะกับบุคคลที่มีพันธุกรรมของครอบครัวที่เป็นโรคซึมเศร้า หรือมีประวัติฆ่าตัวตายสำเร็จมาก่อน

            การที่คนคนหนึ่งคิดจะฆ่าตัวตาย มันเป็นการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ หลายคนมักเรียกว่า การเรียกร้องความสนใจ แกล้งทำ หรือดูสำออย แต่ในเชิงจิตวิทยาแล้ว ต่อให้ดูเหมือนการเรียกร้องความสนใจอย่างไร ก็เป็นการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลืออยู่ดี

            รุ่นน้องที่สนิทกันคนหนึ่งของผมทำงานเกี่ยวกับการให้คำปรึกษา พบเคสที่มีนักศึกษาซึมเศร้าเยอะมากขึ้น บางเคสมีการทำร้ายตนเอง เช่น การกรีดข้อมือ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร จิตใจของเรามีความสมดุลอยู่ระหว่างความสุข และความเศร้า (ทุกข์) เวลาสูญเสียสมดุลคนจะแสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น คนที่มีความสุขมากก็จะแสดงออกมาในเชิงบวก หัวเราะ ร่าเริงมากเป็นพิเศษ

            ขณะเดียวกันบุคคลที่มีความเศร้าเยอะมาก ก็จะแสดงออกในเชิงลบ เช่น มองพื้นตลอดเวลาเดิน (ไม่นับบุคลิกภาพแบบเก็บตัว) แววตาเศร้า ร้องไห้บ่อยครั้ง หากมีความเศร้ามากถึงจุดหนึ่ง ก็อาจจะทำร้ายตัวเองซึ่งเป็๋นการขอความช่วยเหลือรูปแบบหนึ่ง เกิดจากการเสียสมดุลทางจิตใจ หากไม่มีใครสนใจ รับฟัง ช่วยเหลือ อาจจะทำให้เกิดเหตุบานปลาย (การพูดคุยกับคนที่ไว้ใจเป็นขั้นแรกของการพื้นตัว)

            ซึ่งมีทั้ง แบบรุนแรง เช่น กระโดดตึก/น้ำ แขวนคอ ปืน หรือของมีคม แบบรุนแรงน้อย เช่น กินยาเกินขนาด ยาพิษ หรือสารเคมี  แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่พยายามฆ่าตัวตายจะทำสำเร็จทุกคน หลายคนพยายามทำแต่มีคนช่วยเอาไว้ ในหนังสือ Talking to Strangers มัลคอล์ม แกลดเวลล์ (Malcolm Gladwell) ผู้เขียนได้อธิบายถึงความเป็นไปได้ที่การฆ่าตัวตาย อาจเกิดจากการจับคู่เชื่อมโยง (Coupling) กล่าวคือ พฤติกรรมต่าง ๆ เชื่อมโยงกับสภาพการณ์และเงื่อนไขที่เฉพาะเจาะจงมาก

            เช่น คนบางคนโกรธเอย่างมากเมื่อเห็นเด็กโดนไม้ตี ทั้ง ๆ ที่ปกติไม่ใช่คนที่โกรธง่าย อาจจะเพราะเขาเคยโดยไม้ตีบ่อยในสมัยเด็ก ซึ่งเป็นการจับคู่เชื่อมโยงระหว่างโดนไม้ตี กับประสบการณ์เจ็บปวดในวัยเยาว์ ดังนั้นการฆ่าตัวตายอาจจะไม่ใช่เพียงแค่คนที่หดหู่ซึมเศร้าเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่คนเหล่านั้นอาจจะทำในบางห้วงเวลาที่จิตใจอ่อนแอ บวกกับวิธีเฉพาะเจาะจง เช่น การจับคู่เชื่อมโยงระหว่างการฆ่าตัวตายกับเชือกเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถระบุสาเหตุได้แน่นอน

            ดังนั้นหากคนใกล้ตัวมีความพยายามฆ่าตัวตายด้วยวิธีใดก็ตาม ให้พยายามเอาสิ่ง ๆ นั้นออกไปจากบ้าน จะสามารถช่วยเหลือเขาได้ เพราะต่อให้จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาได้ช่วยเหลือทางจิตใจมาแล้วจนผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น แต่เมื่อผู้ป้วยโรคซึมเศร้ากลับมาเจอสถานการณ์แวดล้อมแบบเดิมอีกครั้งหนึ่ง ก็อาจจะมีความพยายามฆ่าตัวตายอีกครั้งก็ได้

            จิตใจที่เสียสมดุล จะต้องเติมความสุขเพื่อเรียกความสมดุลกลับมา แต่หากจะทำได้ต้องสร้างศักยภาพให้บุคคลมีความพร้อมที่จะมีความสุขให้ได้ก่อน กล่าวคือจะต้องรักษาความสมดุลของสารสื่อประสาทให้กลับมาเป็นปกติ ไม่ว่าจะด้วยยา หรือการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาก็ตาม

            นอกจากนี้ความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) ของคนรอบข้างก็มีผลอย่างมากที่จะทำให้ผู้ที่หดหู่เศร้าใจกลับมายิ้มร่าเริงและดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขได้อีกครั้งหนึ่ง ผมพบเห็นครูหรืออาจารย์หลายคนที่หาทางออกแก้ไขปัญหานักเรียนโดยการใช้อารมณ์ ตะคอก ลงโทษ แน่นอนเป็นวิธีหนึ่งให้นักเรียนได้เรียนรู้ แต่สำหรับผมแล้วมันเป็นวิธีที่โง่เง่ามาก เพราะใคร ๆ ก็ไม่ชอบการใช้อารมณ์เชิงลบทำร้ายความรู้สึก ต่อให้ทำไปด้วยเจตนาดีแค่ไหนก็ตาม

            ผมเชื่อว่าความใจดีเป็นกลไกสำหรับในการช่วยเหลือคนทุกคนที่เผชิญกับปัญหา ไม่ว่าปัญหานั้นจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม ยิ่งสำหรับเด็กในยุคนี้ที่เปราะบางอย่างมาก พวกเรายิ่งสมควรจะใจดีกับเขาให้มากขึ้น เราสามารถสอนเขาได้แม้อาจจะยากสักหน่อย แต่สักวันเราอาจเจอวิธีที่ทำให้พวกเขาเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องทำร้ายจิตใจของพวกเขาเลยก็ได้

ความใจดีที่มีต่อกันและกันนี่แหละที่จะช่วยคนรอบข้างให้รู้สึกว่าความตายไม่ใช่หนึ่งในทางออกเสมอไป

อ้างอิง

Cowen, M. (2020). Depression and the CPA. https://www.journalofaccountancy.com/issues/2020/feb/mental-illness-depression-at-work-mark-cowan-cpa.html

Gladwell, M. (2019). Talking to Strangers: What We Should Know about the People We Don't Know. UK: Confer Books.

คาลอส บุญสุภา. (2564). โรคซึมเศร้า (Depression) เงามืดที่คืบคลาน. https://sircr.blogspot.com/2021/04/depression.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). สาเหตุของโรคซึมเศร้า.(Depression). https://sircr.blogspot.com/2021/05/depression.html

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. (2561). โรคซึมเศร้า. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพ: อมรินทร์.

ความคิดเห็น