สังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำบีบคุณค่าในตัวเองของมนุษย์ให้ลดลง

หากเรามีความรู้สึกต่อชีวิตในเชิงบวก ก็ย่อมจะมีความมั่นใจ คุณค่า ความเคารพ และอำนาจในตัวเองสูง

            ในสมัยที่เรียนปริญญาโทผมทำงานวิจัยเกี่ยวกับการเห็นคุณค่าในตัวเอง โดยพบว่าการเห็นคุณค่าในตัวเองมีความสัมพันธ์กับความสุข และรายได้ที่นักศึกษาได้รับ ผมจึงตั้งข้อสันนิฐานเอาไว้ว่าหากชีวิตของเราโดยส่วนใหญ่เป็นด้านบวก การเห็นคุณค่าในตัวเองของเราก็จะเป็นบวกเช่นเดียวกัน 

            ต่อมาผมได้ศึกษาเพิ่มเติมโดยมีข้อสันนิฐานนี้อยู่ในหัวและก็พบว่ามันเป็นจริงตามนั้น เพราะการเห็นคุณค่าในตัวเองสัมพันธ์กับ ความมั่นใจในตัวเอง ความเคารพในตัวเอง รวมไปถึงการรู้สึกว่ามีอำนาจในตัวเอง ตัวแปรทั้งหมดสอดคล้องกันจนแทบเป็นเนื้อเดียวกัน เพียงแต่มีหน้าที่และความหมายที่แตกต่างกันออกไป

            ผมเรียกความสอดคล้องนี้ว่า "ความรู้สึกต่อชีวิตในเชิงบวก" (Positive feelings about life) ยิ่งเรามีความรู้สึกเชิงบวกต่อชีวิตมากเท่าไหร่ เราก็จะมีความมั่นใจในตัวเอง คุณค่าในตัวเอง เคารพตัวเอง และรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจ ในทางกลับกันหากเรารู้สึกว่าชีวิตของเรามันแย่ มันไม่ดีเหมือนคนอื่นตัวแปรดังกล่าวก็จะลดลงตามไปด้วย

            ตัวแปรสำคัญในข้อสรุปนี้ก็คือ "ความคิดของเราเอง" กล่าวคือ มันขึ้นอยู่กับวิธีคิดของเราต่อสิ่งรอบ ๆ ตัว เพียงแต่มันก็เป็นการยากที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดของตัวเองจากเชิงลบให้เป็นเชิงบวกได้ถ้าสภาพแวดล้อมหรือบริบทรอบ ๆ ตัวมันแย่

            สังคมในปัจจุบันเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ คนที่ความร่ำรวยหน่อยก็สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและทรัพยากรที่จะทำพวกเขาร่ำรายอย่างมหาศาล ในขณะที่คนยากจนไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีหรือทรัพยากรแบบคนร่ำรวยได้ ทำให้ปัจจุบันคนรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นเป็นเจ้าของความมั่งคั่งครึ่งหนึ่งของทั้งโลก ที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือคนรวยที่สุด 100 คน เป็นเจ้าของสินทรัพย์มากคนจนที่สุด 4 พันล้านคนรวมกัน ซึ่งทำให้สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำอย่างมาก

            เมื่อผมต้องอธิบายผู้คนให้เห็นภาพของเหลื่อมล้ำผมจะเปรียบเปรยมันคล้ายกับ "บันไดสูงเฉียดฟ้าที่ไม่มีจุดสิ้นสุด" สังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำผู้คนจะพยายามตะกายวิ่งขึ้นไปบนบันไดให้สูงกว่าคนอื่นไปเรื่อย ๆ โดยที่พวกเขาจะไม่รู้สึกเลยว่าตัวเองอยู่สูงแล้ว เพียงแต่พวกเขาจะรู้สึกว่าตัวเองอยู่สูงกว่าผู้อื่นหลายคนเมื่อมองลงมาด้านล่าง ในขณะคนด้านล่างที่ไม่สามารถวิ่งขึ้นไปอยู่บนจุดที่อยู่สูงได้ก็จะรู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยกว่าผู้คนในสังคม

ผู้คนที่อยู่ด้านล่างของบันไดแห่งความเหลื่อมล้ำย่อมรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าน้อยกว่าคนที่อยู่สูงกว่า

            อย่างที่ผมอธิบายไปว่าหากเรามีความรู้สึกต่อชีวิตในเชิงบวก ก็ย่อมจะมีความมั่นใจ คุณค่า ความเคารพ และอำนาจในตัวเองสูง แต่ในทางตรงกันข้ามหากรู้สึกเป็นลบตัวแปรดังกล่าวก็จะเป็นลบตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิต รายได้ และคุณภาพชีวิตของคนในครอบครัว รวมไปถึงสังคมรอบ ๆ ตัวเขาด้วบเช่นกัน สิ่งนี้จะเป็นผลกระทบลูกโซ่ที่มันฉุดหลาย ๆ ประเทศให้ชะลอการพัฒนาอย่างน่าเสียดาย

            บันไดทางสังคมที่จิตใจและร่างกายของเราพยายามไต่ขึ้นตลอดหลายพันศตวรรษที่ผ่านมาสูงเพียงไม่กี่ขั้นเท่านั้น หากบันไดทางสังคมในโลกปัจจุบันยังคงสัดส่วนที่เราคุ้นเคยไว้ ความปรารถนาต่อสถานะคงไม่ใช่ปัญหา ทว่าตอนนี้เราเผชิญหน้ากับบันไดที่สูงเยี่ยงตึกระฟ้าแถมยังสูงอย่างไม่รู้จบ หากเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่สนใจเรื่องสถานะ ก็อาจพอยอมรับความเหลื่อมล้ำอันใหญ่หลวงในปัจจุบันได้

            แต่เพราะเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่โหยหาสถานะทางสังคม จึงต้องประทะกับความเหลื่อมล้ำที่สูงจนไม่รู้จบ ซึ่งส่งผลกระทบมหันต์ต่อทุกคน ไม่เพียงแต่คนจนแต่รวมถึงชนชั้นกลางด้วย และไม่เพียงเท่านั้นเหล่าชนชั้นสูงที่อยู่บนได หากพวกเขามองคู่เปรียบเทียบที่อยู่สูงกว่าตัวเองมากจนเกินไป ก็เลี่ยงไม่ได้ที่คุณค่าในตัวเองของเขาจะถูกความคิดของเขาบีบให้ลดลง

            คนที่อยู่บนขั้นบนไดที่สูงกว่าคนอื่นก็จะคิดว่าตัวเองคู่ควร "ฉันคู่ควรกับการศึกษาสูง ๆ" หรือ "ฉันคู่ควรกับวิถีชีวิตไฮโซของฉัน" ในหนังสือ The Tyranny of Merit: What's Become of the Common Good? ผู้เขียน ไมเคิล แซนเดล (Michael Sandel) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชี้ให้เห็นว่ามายาคติเรื่องความคู่ควร เป็นภาพลวงตาที่อันตราย สามารถทำร้ายผู้คนและสังคมมากกว่าที่คาดคิด 

            ค่านิยมของสังคมเพิกเฉยข้อเท็จจริงที่ว่าคนจนทำงานหนักมากแค่ไหน พวกเขาส่วนใหญ่ต้องทำงานด้วยความยากลำบากหลายชั่วโมงเพียงเพื่อได้ค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของพวกเขาเลย หลักการคู่ควรนิยมจึงตรงกันข้ามกับคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ คนยากจน คนชายขอบ คนเรียนไม่จบ พวกเขาถูกมองว่าพยายามไม่มากพอ ไม่ต่อสู้ ขี้เกียจ จึงสมควรแล้วที่จะยากจน พวกเขาจึงถูกหยามเกียรติจากทั้งผู้ที่เหนือกว่าและจากตัวเองโดยอัตโนมัติ

            เพราะแม้แต่คนด้อยโอกาสในสังคมก็เชื่ออย่างสนิทใจว่าตนเองต้อยต่ำกว่าผู้อื่น ซึ่งความเชื่อดังกล่าวทำลายการเห็นคุณค่าในตนเองอย่างน่าตกใจ และยิ่งเราปล่อยให้สังคมเหลื่อมล้ำต่อไปมากขึ้น เราก็จะยิ่งเห็นผู้คนต่างแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย และคนจำนวนมากที่อยู่บันไดชั้นล่าง (หรือรู้สึกว่าอยู่ชั้นล่าง) ก็จะต้องประสบปัญหาสุขภาพจิตซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมของเขาเหล่านั้น ทำให้ความเหลื่อมล้ำมันยิ่งฉีกขาดห่างออกไปมากขึ้นเรื่อย ๆ 

            เมื่อพิจารณาความปรารถนาต่อสถานะทางสังคมของมนุษย์ร่วมกับสภาพเศรษฐกิจของหลายประเทศที่กำลังประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานี้ เรามองเห็นความเหลื่อมล้ำเปลี่ยนไป หากคนเราตอบสนองต่อความเหลื่อมล้ำไปตามความโหยหาทางสังคม ความเหลื่อมล้ำก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเงินในกระเป๋าของเราเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

            แต่ยังเกี่ยวข้องกับตำแหน่งแห่งที่ของเราเมื่อเทียบกับผู้อื่น เงินจึงเป็นแค่วิธีหนึ่งในการนับคะแนน "ความรู้สึก ว่ายากจน" สำคัญเช่นเดียวกับ "ความยากจน" เอง มุมมองส่วนบุคคลว่าตัวเราเองอยู่ ณ ขั้นไหนของบันไดสถานะจึงสามารถบ่งชี้อนาคตของเราได้มากทีเดียว 

            อย่างไรก็ตามความจริงนี้ก็เป็นข้อได้เปรียบอย่างหนึ่ง เนื่องจากเราสามารถปรับกรอบความคิดของเราให้พึงพอใจต่อคุณภาพชีวิตในปัจจุบันของตัวเองได้ เราสามารถตระหนักได้ว่าผู้คนมากมายต่างก็แข่งขันกัน ผู้คนเหล่านั้นจึงประสบกับความทุกข์ ความเศร้า และความวิตกกังวล เราไม่ใช่เพียงคนคนเดียวเท่านั้นที่กำลังต่อสู้กับชีวิตที่แสนยากเย็น และต่อให้เราร่ำรวยขนาดไหนก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะมีชีวิตที่มีความสุขได้ตลอดรอดฝั่ง 

เพราะเราจะต้องไม่ลืมว่าบันไดแห่งความเหลื่อมล้ำมันไม่มีขั้นที่สูงที่สุด ต่อให้เราไต่ขึ้นไปสูงมากเท่าไหร่มันก็ยังมีขั้นต่อไปรออยู่เสมอ

อ้างอิง

Payne, K. (2017). The Broken Ladder: How Inequality Affects the Way We Think, Live, and Die. NY: Viking.

Sandel, M. (2020). The Tyranny of Merit: What's Become of the Common Good?. NY: Farrar, Straus and Giroux.

คาลอส บุญสุภา. (2565). ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทำร้ายสุขภาพจิตของเราอย่างคาดไม่ถึง. https://sircr.blogspot.com/2021/12/blog-post.html

คาลอส บุญสุภา. (2565). ภาพลวงตาแห่งความสำเร็จ เรามีโอกาสไต่เต้าจากดินสู่ดาวมากแค่ไหน. https://sircr.blogspot.com/2022/10/blog-post_12.html

ความคิดเห็น