การต่อต้านอย่างสร้างสรรค์ด้วยปลายพู่กันของ หวง หย่ง-ฟู่ (Huang Yung-Fu)

"ทุกคนร่วมมือกันละเลงสีลงบนพื้นผิวจนกลายเป็นเมืองที่สวยสดงดงาม"

            การต่อต้านเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมมนุษยชาติ เป็นกระบวนการหนึ่งที่เกิดมาจากความขัดแย้งซึ่งเป็นธรรมชาติของเราทุกคน เราทุกคนเมื่ออยู่รวมกันเป็นสังคมย่อมมีความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา เพราะมนุษย์เราทุกคนมีความแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็น พันธุกรรม สถานะทางเศรษฐกิจ สถานะทางสังคม ความเปราะบางทางจิตใจ สภาพแวดล้อม นิสัยใจคอ และอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมา

            การต่อต้านจึงหนึ่งในวิธีการที่นำไปใช้เแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ยกตัวอย่างเช่น การที่บริษัทขัดแย้งกับพนักงานเรื่องค่าจ้าง พนักงานจึงรวมตัวกันต่อต้านบริษัทโดยการไม่ไปทำงาน หรือการที่นักเรียนต่อต้านครูที่ใช้อำนาจเกินขอบเขตโดยการไม่มาเรียน หรือแม้แต่ประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลโดยการออกมาชุมนุม จากตัวอย่างจะเห็นว่าการต่อต้านสามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายบริบทและวิธีการ และหลายครั้งก็อาจจะเป็นวิธีการที่ก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงกับทั้งสองฝ่าย และหลายครั้งก็เป็นวิธีการที่สร้างสรรค์เช่นเดียวกัน

            ในประวัติศาสตร์มีวิธีการต่อต้านที่สร้างสรรค์มากมายที่ประสบผลสำเร็จอย่างน่าประทับใจ ไม่ว่าจะเป็น คนงานเหมืองแร่ชาวชิลีที่ประท้วงออกุสโต ปิโนเชต์ (Augusto Pinochet) ผู้นำเผด็จการในสมัยนั้น แทนที่พวกเขาจะเสี่ยงด้วยการหยุดงานประท้วง พวกเขาใช้วิธีเรียกร้องให้ประชาชนทั่วประเทศแสดงท่าทีต่อต้านด้วยการเปิดและปิดไฟในบ้านสลับกันเป็นพัก ๆ พวกเขาไม่กลัวที่จะทำแบบนั้น และไม่นานเขาก็รู้ว่า ผู้คนก็ไม่กลัวที่จะทำแบบนี้เช่นเดียวกัน 

            หรือในประเทศโปแลนด์เมื่อนักเคลื่อนไหวต้องการคัดค้านข่าวลวงที่รัฐบาลปล่อยออกมา พวกเขารู้ว่าการปิดโทรทัศน์ในบ้านย่อมไม่ได้แสดงให้ประชาชนด้วยกันเห็นว่าพวกเขาพร้อมจะลุกขึ้นประท้วง พวกเขาจึงเอาโทรทัศน์ของตัวเองใส่รถเข็นและเข็นไปตามถนน ไม่นานก็มีคนทำแบบเดียวกัน และทำตามกันไปทั้งเมืองไปจนถึงทั่วประเทศ จนกระทั่งในที่สุดฝ่ายค้านก็ได้อำนาจมาปกครอง

            นอกจากตัวอย่างที่ยกมายังมีตัวอย่างการต่อต้านที่สร้างสรรค์ที่สร้างความประทับใจให้ใครหลายคน นั่นคือการต่อต้านอย่างสร้างสรรค์ด้วยปลายพู่กันของ หวง หย่ง-ฟู่ (Huang Yung-Fu) ผู้จุดประกายผู้คนเพื่อมาวาดรูปต่อต้านการเวียนคืนที่ดินของรัฐบาลและทำให้สถานที่ที่เก่าแก่เสื่อมโทรมกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันงดงามของเมืองไถจง ประเทศไต้หวันมาจนถึงทุกวันนี้

หมู่บ้านสายรุ้ง (Rainbow Village) สัญลักษณ์แห่งการต่อต้านอย่างสร้างสรรค์ครั้งหนึ่งบนโลกใบนี้

            หวง หย่ง-ฟู่ เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1924 ในเมืองไถซาน มณฑลกว่างตง เขาเริ่มหัดจับปืนยาวตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และเริ่มออกเดินทางจากบ้านเกิดเพื่อเข้าร่วมกับทหารอาสาในสงครามต่อต้านญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1937 ในภายหลังเขาเข้าร่วมกับพรรคก๊กมินตั๋ง และต้องหันกระบอกปืนมาสู้รบกับคนจีนด้วยกัน 

            แต่โชคร้ายที่ชัยชนะเป็นของพรรคคอมมิวนิสต์ของ เหมา เจ๋อตง (Mao Zedong) ในปี ค.ศ. 1949 หลังการพ่ายแพ้ของพรรคก๊กมินตั๋ง เขากับเหล่าทหารและครอบครัวอีกกว่าสองล้านชีวิตจำเป็นต้องหนีข้ามทะเลไปยังเกาะไต้หวันและอยู่ที่นั้นตลอดมาจนปลดประจำการในปี ค.ศ. 1978

            หย่ง-ฟู่เก็บหอมรอมริดมานานเพื่อซื้อบ้านพักยามเกษียณในหมู่บ้านทหารผ่านศึก แถมชานเมืองไถจง ซึ่งในปี 2010 หมู่บ้านนี้ก็เกือบร้างผู้คน เพราะคนรุ่นเก่าเริ่มเสียชีวิตไป อีกทั้งคนรุ่นใหม่ก็ทยอยย้ายออกไป เหลือเพียงแค่ 11 หลังที่ยังคงมีลมหายใจรวมถึงคุณปู่ หวง หย่ง-ฟู่ ที่ใช้ที่นี้เป็นที่พำนักมานานกว่า 30 ปี จนกระทั่งเขาได้รับจดหมายแจ้งจากทางการเพื่อขอคืนพื้นที่ โดยให้เลือกระหว่างจะรับเงินชดเชย หรือจะรับสิทธิย้ายไปบ้านหลังใหม่ "แต่ผมไม่อยากย้ายที่นี่คือบ้านเพียงแห่งเดียวที่ผมรู้จักในไต้หวัน" หวง หย่ง-ฟู่ กล่าว

            เงินจำนวนไม่ถึงสองล้านบาทเมื่อเทียบเป็นเงินบาทไม่สามารถทดแทนสถานที่ที่เขาใช้นอนหลับอย่างสบายใจและเป็นสถานที่แห่งความทรงจำของเขาตลอดในช่วงท้ายชีวิตได้แม้แต่น้อย เขาจึงตัดสินใจที่จะลุกขึ้นต่อสู้ มือที่เคยถือปืนกลับมาเปลี่ยนเป็นถือผู้กันแทน และสีสันที่งดงามแทนกระสุนปืนที่มุ่งหมายจะทำลายชีวิตคน เพื่อต่อสู้กับการรื้อถอนที่คืบคลานเข้ามาทำลายหมู่บ้านแห่งนี้อย่างช้า ๆ

            พ่อของเขาเคยสอนเขาวาดรูปเมื่อตอนอายุ 5 ขวบ ซึ่งเขาไม่ได้วาดอีกเลยจนกระทั่งตอนนี้ และสิ่งแรกที่เขาวาดก็คือเจ้านกน้อยที่ชอบบินเข้ามาในบ้านของเขา จากนั้นก็ตามมาด้วยสุนัข แมว กระต่าย เครื่องบิน รูปภาพและสีสันปรากฎขึ้นเต็มผนังบ้านล้นออกไปยังตึกร้าง ลามไปถึงถนน ก่อนจะเลื่อนไปทั่วหมู่บ้านที่รกร้างแห่งนี้ แม้รูปภาพจะไม่ได้สวดสดงดงามแต่สีสันและความพยายามกลับไปสะดุดตากลุ่มนักศึกษาด้านศิลปะเข้าอย่างจัง พวกเขาจึงตัดสินใจช่วยเหลือคุณปู่ในการรณรงค์ไม่ให้ทางการรื้อถอนหมู่บ้าน 

            พวกเขาตั้งชื่อให้หมู่บ้านแห่งนี้ใหม่ว่า หมู่บ้านสายรุ้ง (Rainbow Village) พร้อมกับเรียกคุณปู่หวงด้วยชื่อที่พ้องกันว่า "คุณปู่สายรุ้ง" หลังจากนั้นไม่นานเรื่องราวนี้ก็รู้กันไปทั่ว ทำให้มีแนวร่วมที่หลั่งใหลเข้ามาเยี่ยมเยียนอย่างต่อเนื่องทั้งสื่อมวลชน นักท่องเที่ยวจากทั้งในประเทศไต้หวันและต่างประเทศ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐหลายคนที่ไม่อยากเห็นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของไต้หวันถูกรื้อถอนไป และถูกทำลายกลายเป็นสิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่ที่ไร้จิตวิญญาณ

           ทุกคนร่วมมือกันละเลงสีลงบนพื้นผิวจนกลายเป็นเมืองที่สวยสดงดงาม และในที่สุดทางการก็ตัดสินใจยกเลิกการรื้อถอนหมู่บ้านสายรุ้ง และซ่อมแซมปรับปรุงใหม่ เพื่อให้ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นของเมืองไถจง โดยทางการสัญญากับคุณปู่ว่าจะเก็บบ้านของเขาเอาไว้ 

            หวง หย่ง-ฟู่ เล่าว่า "ผมได้ยินแล้วก็มีความสุข และอยากขอบคุณผู้คนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ผมชอบพูดคุยกับผู้ที่มาเยี่ยมเยียนหมู่บ้านแห่งนี้ ส่วนใหญ่พวกเขาบอกว่าชอบภาพวาดพวกนี้ ผมไม่รู้สึกเหงาเลย เพราะมีคนแวะมาตลอด" ทุกวันนี้ภาพวาดของหวง หย่ง-ฟู่ และประชาชนมากมายที่ร่วมมือกันยังคงเจิดจรัส และเป็นสัญลักษณ์การร่วมมือกันต่อต้านที่สร้างสรรค์ที่สุดในโลกจนถึงทุกวันนี้

ข้อคิด

            1) การรวมผู้คนเป็นหนึ่งเดียว การต่อต้านมากมายสำเร็จด้วยการรวมผู้คนเป็นหนึ่งเดียว จากเรื่องราวชัยชนะของคุณปู่หวง หย่ง-ฟู่ ที่เริ่มต้นหยิบพู่กันขึ้นมาปกป้องหมู่บ้านเพียงลำพัง แต่สุดท้ายก็สำเร็จได้ก็เพราะแรงสนับสนุนของผู้คนมากมาย ตั้งแต่การสนับสนุนของนักศึกษา นักสื่อสารมวลชน เจ้าหน้าที่รัฐ ไปจนถึงนักท่องเที่ยว ทุกคนช่วยกันปลุกชีวิตของหมู่บ้านเก่าแก่ที่ใกล้ผุพังให้กลับมามีชีวิตชีวาสดใสขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

            ไม่มีทางที่ หย่ง-ฟู่ จะทำสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียวต่อให้เขาวาดภาพสวยเท่าไหร่ก็ตาม ในทางกลับกันภาพวาดของคุณปู่ไม่ได้มีลักษณะเด่นอะไรมากมายถ้าเทียบกับผลงานศิลปะที่ได้รับความนิยมทั่วไป แต่จิตใจที่ต้องการจะต่อสู้และวิธีการต่อต้านของเขามันสะท้อนเข้าไปถึงจิตใจของผู้คนจำนวนมาก ทำให้ผู้คนรวมกันเป็นหนึ่งเดียวและช่วยเหลือให้ความปรารถนาของคุณปู่ผู้นี้เป็นจริงขึ้นมา

            2) การกระทำเล็ก ๆ สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ ในประวัติศาสตร์โลกมีเรื่องราวเล็กน้อยมากมายที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ ยกตัวอย่างเช่นการต่อสู้แบบอหิงสาของ มหาตมา คานธี เพื่อปลดปล่อยอินเดียออกจาการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เป็นแรงบัลดาลใจให้กับชาวอินเดียจำนวนมากจนลุกฮือขึ้นมา รวมไปถึง เนลสัน แมนเดลา ที่ได้รับแรงบัลดาลใจจากการต่อสู้ จนสามารถแก้ไขความขัดแย้งระหว่างสีผิวที่รุนแรงได้ ดังที่ มาร์กาเร็ต มีด (Margaret Mead) เคยกล่าวไว้ว่า "อย่าได้สงสัยว่าพลเมืองผู้มีหัวคิดกลุ่มเล็ก ๆ จะเปลี่ยนแปลงโลกได้จริง ๆ ความจริงแล้วกลุ่มคนเพียงเล็กน้อยนั่นแหละที่ทำได้มาโดยตลอด"

            การต่อต้านอย่างสร้างสรรค์จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงผู้คนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะสังคมของเราประกอบด้วยผู้คนจำนวนมากมายที่แตกต่างกันมากกว่าที่เราคิดเอาไว้ จึงเป็นเหตุผลที่เรามีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ขัดแย้งกัน สู้รบกัน และมันก็เป็นการยากอย่างมากที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดของกันและกันได้ การคิดค้นวิธีใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาซึ่งเป็นความคิดที่แตกต่างจากที่เป็นอยู่ในสังคม ก็จะสามารถเอาชนะใจและดึงผู้คนเข้าร่วมกันให้มากที่สุดได้

เพื่อทำให้พวกเขาเห็นว่าสิ่งเลวร้ายรอบ ๆ ตัว สามารถเปลี่ยนแปลงได้หากพวกเราร่วมมือกัน

อ้างอิง

คาลอส บุญสุภา. (2565). การต่อต้านอย่างสร้างสรรค์ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ (Creative Resistance). https://sircr.blogspot.com/2022/03/creative-resistance.html

ทีมนักเขียน THE PEOPLE. (2564). THE PEOPLE เรื่องเล่า 'คน' เปลี่ยนโลก. กรุงเทพฯ: loupe.

ความคิดเห็น