พัฒนากระบวนคิดและสร้างสังคมที่มีคุณภาพ ด้วยม่านแห่งความไม่รู้ (Veil of Ignorance)

แทนที่คำตอบจะชี้ว่าอะไรยุติธรรมและเหมาะสม คนเรากลับเลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองเสียมากกว่า 

            ในอดีตมีนักปรัชญามากมายที่มีชื่อเสียง โดยแต่ละคนก็จะมีแนวคิดที่แตกต่างกันออกไป และมีผลงานวิชาการออกมามากมายที่ผู้อ่านสามารถค้นหานำมาศึกษาได้ ซึ่งหนึ่งในนักปรัชญาที่ผมประทับใจมากที่สุดคนหนึ่งก็คือ จอห์น รอวล์ส (John Rawls) นักปรัชญาการเมืองคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20 ผู้มีปัญญาเฉียบแหลม

            รอวล์สมีชื่อเสียงอย่างมากเกี่ยวกับความยุติธรรม โดยเขาตั้งคำถามว่าหากคนผู้หนึ่งที่มีปัญญาเฉียบแหลม ทำไมจึงสมควรได้รับคำชมจากผู้อื่น ในเมื่อเขาแค่โชคดีที่เกิดมาฉลาด หากคนผู้หนึ่งตั้งใจทำงาน เขาก็แค่บังเอิญโชคดีที่เกิดมาพร้อมความขยัน และหากเด็กคนหนึ่งแข็งแรงพอที่จะรอดจากโรคร้าย ในขณะที่เด็กอ่อนแอกว่าพ่ายแพ้ไป ก็เป็นแค่ความโหดร้ายของชีวิต

            เขาพยายามจะสื่อสารว่า มันไม่ยุติธรรมที่คนคนหนึ่งเพียงแค่เกิดมามียีนที่สังคมให้คุณค่าหรือให้ความนิยม ซึ่งไอเดียที่นำสมัยในยุคนั้น ซึ่งในระหว่างที่เขามีชีวิตอยู่มีทฤษฎีหนึ่งที่มีชื่อเสียงอย่างมากของเขาเรียกว่า ม่านแห่งความไม่รู้ (Veil of Ignorance) ซึ่งอาจารย์ณัฐวุฒิ เผ่าทวีให้ความหมายว่า "เป็นการทดลองทางด้านความคิดอย่างหนึ่ง ซึ่งการทดลองทางด้านความคิดนี้อาศัยการให้เราลองสมมติกับตัวเองว่า ถ้าเรามีทางเลือกอยู่สองทางเลือก เป็นโลกสองโลก เราจะเลือกทางไหน"

            เนื้อหาส่วนที่โด่งดังที่สุดของทฤษฎีว่าด้วยความยุติธรรมซึ่งเป็นการทดลองทางความคิดด้วยม่านแห่งความไม่รู้ โดยเขาตั้งคำถามว่า "ลองนึกภาพว่าเราตื่นขึ้นมาหลังจากหลับลึกระหว่างเดินทางข้ามในอวกาศ และจำอะไรเกี่ยวกับตัวเองไม่ได้เลย ไม่รู้ว่าตัวเองรวยหรือจน แข็งแรงหรืออ่อนแอ ฉลาดหรือโง่ เมื่อยานอวกาศเข้าใกล้ดาวเคราะห์ดวงใหม่ เราจะต้องเลือกว่าจะอยู่ในสังคมไหน ปัญหาก็คือเราไม่รู้ว่าตนจะอยู่ในสถานะใดท่ามกลางกลุ่มคนที่เราเลือกไปอยู่ด้วย"

            "สังคมต่างดาวบางกลุ่มเหลื่อมล้ำอย่างยิ่ง และมีทาสกันเป็นเรื่องปกติ ส่วนบางสังคมไม่ไร้สมดุลขนาดนั้น แต่ก็ยังเหลื่อมล้ำมากและมีทั้งคนยากจนแบบสิ้นไร้ไม้ตอกและคนรวยอู้ฟู่ ในขณะที่บางสังคมก็เสมอภาค โดยคนมั่งมีกับคนยากไร้ต่างกันเพียงเล็กน้อย คุณจะเลือกสังคมแบบไหน" จะเห็นว่าเป็นการทดลองความคิดที่น่าสนใจและทำให้เราได้ฉุกคิดประเด็นทางสังคมได้อีกมากมาย

            จอห์น รอวล์ส มองว่าหากถามคนอื่นว่าสังคมต้องเหลื่อมล้ำแค่ไหนจึงจะถือว่ายุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม คำตอบของพวกเขาย่อมมีอคติตามระดับความสามารถและผลประโยชน์ของตนเอง คนที่แข็งแรง ฉลาด และเก่งย่อมเรียกร้องความเหลื่อมล้ำ เพราะพวกเขาได้เปรียบกว่าคนอื่นตั้งแต่เริ่มต้น ในขณะที่ผู้ด้อยโอกาสจะเลือกความเสมอภาค ดังนั้นแทนที่คำตอบจะชี้ว่าอะไรยุติธรรมและเหมาะสม คนเรากลับเลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองเสียมากกว่า 

ม่านแห่งความไม่รู้ คือการทดลองทางด้านความคิดอย่างหนึ่งที่น่าสนใจและทำให้ฉุกคิดประเด็นทางสังคม

            ในหนังสือ The Broken Ladder: How Inequality Affects the Way We Think, Live, and Die ผู้เขียน คีธ เพย์น (Keith Payne) ได้อธิบายว่า แม้จะไม่อาจกำจัดอิทธิพลของอคติซึ่งเกิดจากสถานะได้โดยสมบูรณ์ แต่รอวล์สก็คิดว่าการหัดมองผ่านม่านแห่งความไม่รู้จะช่วยให้เรามีมุมมองที่เป็นกลางมากขึ้นได้ 

            การทดลองทางความคิดที่รอวล์สยกตัวอย่างสามารถสะท้อนให้เราเห็นถึงความเห็นแก่ตัวและการคิดถึงประโยชน์ของตนเองมากกว่าสังคม ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่แปลกอะไรเพราะมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์เพียงแต่การที่เราจะสามารถสร้างสังคมที่มีคุณภาพได้เราจะต้องคิดถึงประโยชน์ของสาธารณะเป็นหลัก ไม่ใช่การคิดถึงแต่ประโยชน์ของตนเองเพียงอย่างเดียว

            ในโรงเรียนที่ผมอยู่ทำให้ผมได้มีโอกาสใกล้ชิดกับนักเรียนปกติทั่วไป และนักเรียนที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษอย่างนักเรียนออทิสติก หรือบกพร่องทางด้านการเรียนรู้ สิ่งนี้มันทำให้ผมคิดว่าตราบใดที่โลกของเรามันไม่สามารถผลิตคนออกมามียีนที่สอดคล้องกับค่านิยมของสังคมได้ทุกคน เราจะต้องไม่ยอมให้สังคมมีความเหลื่อมล้ำอย่างเด็ดขาด

            ยกตัวอย่างนักเรียนออทิสติกถ้าไม่มีครูการศึกษาพิเศษคอยให้ความช่วยเหลือก็เป็นเรื่องยากอย่างมากที่จะทำให้เขาสามารถเติบโตขึ้นมาสังคมเท่าเที่ยมกับผู้อื่น หากเราอยู่ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำเด็กเหล่านี้ก็จะถูกดีดลงไปชั้นล่าง ๆ เพื่อให้เด็กที่มีความปกติสอดคล้องกับค่านิยมของสังคม เช่น เรียนดี ควบคุมตัวเองได้ แสดงอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม กีฬาเด่น รูปร่างหน้าตาดี ก้าวไปอยู่บนสุดของบันไดแห่งความเหลื่อมล้ำนี้

            การยกตัวอย่างของผมก็เป็นกระบวนการหนึ่งของการทดลองทางความคิดด้วยม่านแห่งความไม่รู้ เพียงแต่สิ่งนี้มันเป็นประสบการณ์ตรงของผมเองที่อยู่กับเด็กนักเรียนแทบจะทุกรูปแบบ ในเมื่อเราทุกคนเกิดมาไม่เท่าเทียมกันในเชิงชีวภาพ ทำไมสังคมเราถึงไม่พยายามมอบความเท่าเทียมกันให้ได้มากที่สุดเสียล่ะ 

            เหมือนที่  อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยกล่าวไว้ว่า "คุณพูดว่าไม่มีความยุติธรรมชนิดสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ในโลกนี้หรอก และผมก็ตอบคุณว่า ก็เพราะอย่างนั้นสิ เราถึงต้องใช้ความพยายามเป็นสองเท่า เพื่อให้อย่างน้อยที่สุดได้ใกล้ความยุติธรรมสมบูรณ์ให้มากที่สุด" 

            ม่านแห่งความไม่รู้ (Veil of Ignorance) จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะพัฒนากระบวนการคิดของเราให้เห็นความเป็นตัวเองของเราได้ชัดเจนมากขึ้น และเข้าใจบริบทของสังคมได้ดีมากขึ้นด้วย เพราะเมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิคู่ควรนิยม (Meritocracy) ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีพรสวรรค์หรือพรแสวงและมีปัจจัยที่คอยเกื้อหนุน ไม่ว่าจะเป็นพื้นเพทางครอบครัวหรือมีโอกาสทางการศึกษา

            ย่อมจะทำให้เราตกอยู่ในภาพลวงตาที่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางจนมองไม่เห็นว่าคนอื่นที่นอกเหนือจากเราต้องดิ้นรนขนาดไหนถึงจะมีชีวิตอยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง สอดคล้องกับสิ่งที่ ไมเคิล แซนเดล (Michael Sandel) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชี้ให้เห็นว่ามายาคติเรื่องความคู่ควร เป็นภาพลวงตาที่อันตราย สามารถทำร้ายผู้คนและสังคมมากกว่าที่คาดคิด เพราะแม้แต่คนด้อยโอกาสในสังคมก็เชื่ออย่างสนิทใจว่าตนเองต้อยต่ำกว่าผู้อื่น ซึ่งความเชื่อดังกล่าวทำลายการเห็นคุณค่าในตนเองอย่างน่าตกใจ 

            ค่านิยมของสังคมเพิกเฉยข้อเท็จจริงที่ว่าคนจนทำงานหนักมากแค่ไหน พวกเขาส่วนใหญ่ต้องทำงานด้วยความยากลำบากหลายชั่วโมงเพียงเพื่อได้ค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของพวกเขาเลย หลักการคู่ควรนิยมจึงตรงกันข้ามกับคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ คนยากจน คนชายขอบ คนเรียนไม่จบ พวกเขาถูกมองว่าพยายามไม่มากพอ ไม่ต่อสู้ ขี้เกียจ จึงสมควรแล้วที่จะยากจน พวกเขาจึงถูกหยามเกียรติจากทั้งผู้ที่เหนือกว่าและจากตัวเองโดยอัตโนมัติ

            ยิ่งเราปล่อยให้สังคมที่ไร้คุณภาพแบบนี้ดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ย่อมเป็นสิ่งที่เลวร้ายต่ออนาคตลูกหลานของเราอย่างยิ่ง เพราะเราจะต้องไม่ลืมว่าวันหนึ่งพวกเขาอาจจะต้องเผชิญกับสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำมากกว่าเราอย่างเท่าทวีก็เป็นได้ถ้าเรายังปล่อยให้สิ่งเลวร้ายแบบนี้ดำเนินต่อไป เครื่องมือที่เรียกว่า "ม่านแห่งความไม่รู้" เป็นสิ่งที่เราสามารถใช้เพื่อสำรวจตัวเองและสังคมได้ไปตลอดชีวิต

เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของเราให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของโลกมากที่สุด

อ้างอิง

Payne, K. (2017). The Broken Ladder: How Inequality Affects the Way We Think, Live, and Die. NY: Viking.

Sandel, M. (2020). The Tyranny of Merit: What's Become of the Common Good?. NY: Farrar, Straus and Giroux.

คาลอส บุญสุภา. (2565). ภาพลวงตาแห่งความสำเร็จ เรามีโอกาสไต่เต้าจากดินสู่ดาวมากแค่ไหน. https://sircr.blogspot.com/2022/10/blog-post_12.html

ณัฐวุฒิ เผ่าทวี. (2562). ก้าวข้ามโลกที่เหลื่อมล้ำผ่าน ‘ม่านแห่งความไม่รู้’. https://thestandard.co/veil-of-ignorance/

ความคิดเห็น