การพูดคุยเพียงเล็กน้อยสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของใครหลายคนได้

ทุกวันนี้พวกเราหลายคนรู้สึกไม่มีคุณค่าและไร้ตัวตนในสังคม

            ในบทความก่อนหน้านี้ผมเขียนเกี่ยวกับ "เราสามารถเยียวยาจิตใจของตนเองอย่างเรียบง่าย ด้วยวิธีการตั้งคำถามกับตัวเอง" ซึ่งเป็นการใช้วิธีที่เรียบง่ายในการเยียวยาจิตใจของตัวเอง ทำให้ผมนึกถึงวิธีการเรียบง่าย ๆ ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับใครหลายคนได้ หนึ่งในนั้นก็คือ "การพูดคุยธรรมดา"

            หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่าการพูดคุยธรรมดาสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้ขนาดนั้นเชียวหรือ แต่จริง ๆ แล้วมันสามารถทำได้มากกว่าที่เราคาดคิด ด้วยความที่มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม การอยู่ร่วมกันและการสื่อสารเป็นกลไกสำคัญในการอยู่รอดของมนุษย์ในอดีต

            ด้วยความที่ผมเป็นครูการศึกษาพิเศษ สอนและติดตามให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่ภาวะออทิสซึมสเปกตรัม เมื่อมีคำว่า "สเปกตรัม" แสดงให้เห็นว่าบุคลิกภาพและพฤติกรรมมีหลายเฉดมาก กล่าวคือ เด็กที่มีภาวะออทิสซึมฯ จะมีการแสดงออกทางพฤติกรรมแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับระดับความต้องการความช่วยเหลือ 

            สิ่งหนึ่งที่ทำให้เด็กที่มีภาวะดังกล่าวหงุดหงิดใจ ไม่สบายใจอย่างมากก็คือ การที่เขาไม่สามารถสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจความต้องการของเขาได้ เพราะว่าเด็กหลายคนมักจะสื่อสารด้วยวิธีที่แตกต่างจากคนทั่วไปในสังคมที่เราพบเห็นกัน เขาอาจจะถามคำถามที่ดูน่าหงุดหงิด พูดซ้ำไปซ้ำมา พึมพำ แกล้ง ไปจนถึงแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์อีกมากมาย

            แต่สิ่งที่เขาปรารถนาก็คือการทำให้ตัวเองได้รับความสนใจ รู้สึกมีค่า และความสำคัญ เช่นเดียวกับเด็กคนอื่นทั่วไปในสังคม รวมไปถึงพวกเราเองด้วย

            สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ ทุกคนต้องการการสื่อสาร ต้องการพูดคุย ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในสังคมด้วยกันทั้งนั้นไม่มากก็น้อย เพราะมนุษย์ทุกปรารถนาที่จะมีคุณค่า มีความสำคัญ การพูดคุยเป็นกระบวนการหนึ่งที่ตอบสนองความปรารถนานี้ได้ 

            ทุกวันนี้พวกเราหลายคนรู้สึกไม่มีคุณค่าและไร้ตัวตนในสังคม เรามองดูผู้คนในสังคมมากมายผ่านหน้าจอที่เรียกว่าเครือข่ายสังคม พวกเราเห็นผู้คนที่ร่ำรวยเงินทอง วัตถุ และมีความสำคัญ มันทำให้เราเกิดความรู้สึกอิจฉา และน้อยเนื้อต่ำใจลึก ๆ ไปจนถึงลดคุณค่าตัวเองโดยอัตโนมัติ ซึ่งมันสามารถผลักเราไปถึงโรคซึมเศร้าได้

การพูดคุยเพียงเล็กน้อยสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของใครหลายคนได้

            ดังนั้นการที่เรารู้สึกว่ามีตัวตน มีค่าบนโลกนี้ก็สามารถช่วยให้เราดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขบ้าง และในหลายกรณีมันสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของใครหลายคนได้ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ในเมืองหลุยส์วิลล์ รัฐเคนทักกี ที่ทุกคนในเมืองหวาดผวาหลังเกิดเหตุการณ์อันน่าหวาดหวั่นตอนกลางวันแสก ๆ โดยวันนั้นมีชายสามคนทะเลาะกันบริเวณท้ายรถโดยสารประจำทาง ซึ่งเหตุการณ์บานปลายจนถึงขั้นใช้อาวุธปืน ส่งผลให้ชายหนุ่มอายุ 17 ปีเสียชีวิต

            เหตุการณ์นี้ทำให้ผู้คนกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ  นายกเทศมนตรีของเมืองจึงสั่งให้ผู้ดูแลระบบขนส่งยกระดับความปลอดภัย พวกเขาจึงได้ออกแบบแนวทางบางอย่าง ซึ่งกิจกรรมหนึ่งในโครงการนี้คือการให้พนักงานขับรถโดยสารประจำทางพิจารณาว่าพวกเขาจะเข้ามามีบทบาทในการปกป้องสวัสดิภาพของผู้โดยสารได้อย่างไรบ้าง

            พนักงานขับรถประจำทางร่วมกันพิจารณาคำถามนั้นอย่างจริงจังและเปลี่ยนชื่อตำแหน่งของตัวเองเป็น "ฑูตแห่งความปลอดภัย" พวกเขาสร้างบทบาทใหม่ให้กับตัวเอง โดยคำนึงถึงการทำให้รถโดยสารประจำทางกลายเป็นพื้นที่ที่ผู้โดยสารรู้สึกว่าได้รับการดูแลเอาใจใส่

            มันไม่ใช่แค่การขับขี่อย่างปลอดภัยเท่านั้น แต่สิ่งที่พวกเขาทำก็คือ "การพูดคุยกับผู้โดยสารตอนขึ้นรถ" พวกเขาจะไม่ทำเพียงรับเงินหรือตรวจบัตรโดยสาร แต่ยังสบตาและกล่าวคำทักทายด้วย การสานสัมพันธ์กับผู้โดยสารทุกคนเช่นนี้ช่วยลดภาวะนิรนาม (ไร้ตัวตน) ซึ่งเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการก่ออาชญากรรมในที่สาธารณะ อีกทั้งยังทำให้ผู้โดยสารรู้สึกสบายใจและเป็นที่ต้อนรับมากขึ้นอีกด้วย

            นี้แหละที่เป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จในโครงการนี้ นอกจากพวกจะป้องกันการเกิดการก่ออาชญากรรมได้ พวกเขายังสร้างตัวตนให้กับประชาชนที่โดยสารด้วย ลองพิจารณาดูนะครับ หากเรากำลังรู้สึกเป็นทุกข์ รู้สึกว่าโลกนี้มันไม่น่าอยู่ ทุกอย่างกดดันและเลวร้ายไปหมด แต่มีคนคนหนึ่งทักทาย ไถ่ถาม และรับฟัง มันย่อมสามารถคลายความกดดันที่อยู่ในจิตใจของเราไม่มากก็น้อยได้

            นอกจากนั้นพนักงานขับรถประจำทางแทบจะทุกคนรู้สึกว่า งานของตัวเองมีความหมายมากขึ้นอย่างมหาศาล พวกเขามองว่าตนเองกำลังทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวพวกเขาเอง คือการสนับสนุนโครงการด้านความปลอดภัยในชุมชน ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับงานที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะหมดไฟในการทำงาน เพราะพนักงานขับรถโดยสารประจำทางต้องเผชิญกับความเครียดในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย แต่มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

            กล่าวคือ การที่พนักงานขับรถประจำทางมีเจตจำนงที่จะทักทาย เอาใจใส่ และดูแลผู้โดยสาร มันทำให้เขารู้สึกมีค่าและความสำคัญมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้เขามีความภูมิใจในตัวเอง และยังป้องกันภาวะหมดไฟในการทำงานได้อีกด้วย การพูดคุยเพียงเล็กน้อยจึงสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของใครหลายคนได้ 

            เราสามารถประยุกต์เรื่องราวคนขับรถประจำทางในเมืองหลุยส์วิลล์โดยการเริ่มพูดคุย ทักทาย สื่อสารกับเพื่อนหรือกับคนรอบข้างมากขึ้น รับฟังคนอื่นมากขึ้น ชมเชยคนอื่นมากขึ้น เพื่อให้ผู้อื่นรู้สึกมีคุณค่า มีความสำคัญมากขึ้น ไม่เพียงแค่มันจะเป็นการสร้างสิ่งดี ๆ ให้กับผู้อื่น แต่มันยังส่งผลที่วิเศษกับตัวเราเองด้วย 

จากประสบการณ์ของผม ผมรับรองได้ว่าเราทุกคนสามารถยกระดับชีวิตตัวเองได้จากการทำให้ผู้อื่นรู้สึกมีคุณค่ามากขึ้น 

อ้างอิง

McGonigal, K. (2016). The Upside of Stress: Why Stress Is Good for You, and How to Get Good at It. NY: Avery.

คาลอส บุญสุภา. (2565). การออกแบบบทบาทของงานให้มีคุณค่า ทำให้พนักงานรู้สึกมีความสำคัญและลดภาวะหมดไฟได้. https://sircr.blogspot.com/2022/11/blog-post_20.html

ความคิดเห็น