ลำบากในวันนี้เพื่อสบายในอนาคต อาจไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้องเสมอไป

เงินกี่ล้านที่เราจะต้องหามาให้ได้ ความอดทนแค่ไหนที่เราจะต้องสละ สุขภาพจิตแค่ไหนกันที่เราจะต้องโยนมันทิ้งไป

            จากประสบการณ์ของผมได้ที่ได้ฟังหรืออ่านบทสัมภาษณ์ของบริหารเก่ง ๆ ที่ประสบความสำเร็จในอดีตหรือปัจจุบัน คำแนะนำต่อคนรุ่นใหม่ที่พวกเขาเห็นตรงกันก็คือ "เด็กรุ่นใหม่ทำงานที่ต้องใช้ทักษะที่หลากหลาย อันแสนลำบากเพื่อฝึกฝนประสบการณ์ให้มากที่สุดในตอนต้น" เพราะว่าในช่วงต้นเด็กรุ่นใหม่จะมีพลังงานทั้งกายและใจที่ค่อนข้างเยอะ สามารถอดทนและทำงานอย่างต่อเนื่องได้

            ผมเชื่อว่าทั้งผมและผู้อ่านก็เห็นด้วยกับคำแนะนำนี้ ยิ่งเราฝึกฝนมากเท่าไหร่เราก็ยิ่งเก่งมากขึ้นเท่านั้น สิ่งนี้เป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นสามัญสำนึกที่เราทุกคนต่างเห็นตรงกัน แต่หากถามผมว่าแนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่ถูกต้องหรือไม่ ผมไม่สามารถเหมารวมว่าสำหรับมนุษย์ทุกคนแล้วมันคือความคิดที่ถูกหรือผิด แต่เราสามารถตั้งคำถามกับมันได้ว่า "มันคุ้มหรือไม่"

            แน่นอนผมเป็นหนึ่งคนผ่านประสบการณ์อันหนักหน่วงในช่วงที่เพิ่งเริ่มทำงานใหม่ ๆ และประสบการณ์เหล่านั้นก็ทำให้ผมมีความสามารถในระดับหนึ่งมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ผมก็รู้สึกว่ามันไม่ได้คุ้มค่ามากขนาดนั้น เพราะผมก็ต้องเสียอะไรหลายอย่างในช่วงเวลานั้นอย่างที่ไม่สามารถนำกลับคืนมาได้เช่นกัน ซึ่งผมเชื่อว่าผู้อ่านหลายคนก็คงเคยเผชิญกับความรู้สึกทุกข์จากการทำงานเหมือนกันทั้งสิ้น

            อย่างไรก็ตาม ผมได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า "ผมไม่สามารถเหมารวมว่าสำหรับมนุษย์ทุกคนแล้วมันคือความคิดที่ถูกหรือผิด" ดังนั้นการลำบากในวันนี้ แล้วสบายในวันหน้า อาจจะถูกสำหรับคนหลายคนก็ได้ ซึ่งผมมองว่ามันขึ้นอยู่กับเป้าหมายในชีวิตของเรา หากคุณต้องการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีความเชี่ยวชาญสูง มีรายได้ที่สูง มันก็คุ้มที่คุณจะทำงานหนักในวันนี้เพื่อฝึกฝนประสบการณ์ หรือเพิ่มจุดเพื่อเชื่อมต่อประสบการณ์ให้มากที่สุด

            แต่หากเป้าหมายของคุณคือต้องการ "มีชีวิตที่มีความสุข" หรือ "มีชีวิตที่มีความหมาย" เราก็ต้องกลับมามองดูตัวเองแล้วว่า เส้นทางที่เรากำลังเดินไปมันมีความสุขหรือมีความหมายหรือไม่ แล้วจะทำอย่างไรให้ชีวิตของเรามีความสุขหรือมีความหมายได้ ซึ่งในบทความนี้ผมคงไม่ได้พูดถึงเรื่องเหล่านี้อย่างลงลึกมากนักแต่จะแตะอย่างผิวเผิน

            ทุกวันนี้มีคอนเทนต์มากมายที่พูดถึงการบริหารเวลา การจะทำอย่างไรให้มีประสิทธิผลมากที่สุด หรือที่เรียกกันว่า "Productive ให้มากที่สุด" เราเปลี่ยนแปลงเวลาที่เดินไปตามทิศทางของมันให้กลายเป็นทรัพยากรที่สำคัญ จึงเป็นธรรมดาที่เราจะเริ่มรู้สึกกดดันที่จะใช้มันให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และเราก็มักพร้อมที่จะโทษตัวเองเมื่อใช้เวลาไปอย่างสิ้นเปลือง

หากเป้าหมายคุณคือ มีชีวิตที่มีความสุข ก็ต้องกลับมาดูตัวเองแล้วว่า ตอนนี้มีความสุขแล้วหรือไม่

            ผมเชื่อว่าเราทุกคนไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา ไปจนถึงบุคคลที่กำลังทำงานอยู่ต่างเคี่ยวเข็ญตัวเองหนักขึ้น อ่านหนังสือให้หนักขึ้น หรือทำงานให้หนักขึ้น ราวกับว่าเราเป็นเครื่องจักรในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ทำงานตลอดทั้งวัน แทนที่จะตั้งคำถามว่าข้อเรียกร้องเหล่านั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ เรากำลังทำในสิ่งที่ถูกต้องอยู่หรือไม่

            แทนที่เราจะแค่ดำเนินชีวิตของเราให้มันเป็นไปตามเวลา หรือแทนที่จะมองเวลาเป็นเพียงเวลา แต่กลับกลายว่าเราละเลยคุณค่าของห้วงเวลาในปัจจุบัน โดยยึดโยงเวลาในปัจจุบันเข้ากับเป้าหมายสักอย่างในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นร่ำรวยเงินทอง ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน หรือเพื่อความผ่อนคลายในอนาคตที่เราหวังจะไปให้ถึงเมื่องานที่ทำอยู่ในปัจจุบันพ้นทางไปแล้ว

            และเมื่อทุกอย่างไม่ได้ดั่งใจ มันก็จะทำให้เราเกิดความทุกข์ จนความรู้สึกสงบใจไม่มีวันเกิดขึ้นได้ ซึ่ง โอลิเวอร์ เบอร์คีแมน ได้เปรียบตารางเวลาเหมือนกับเผด็จการที่คอยกำหนดการกระทำของมนุษย์ เป็นความเร่งรีบที่ไร้สุข เพราะเรารู้สึกว่าจะต้องทำอะไรให้มากขึ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเราสามารถลองถามตัวเองดูก็ได้ว่า "ในปัจจุบันนี้เต็ม 10 เรามีความสุขในระดับเท่าไรกันแน่"

            ผมอ่านเจอเรื่องเล่าหนึ่งในหนังสือชื่อ The Why Cafe เขียนโดย จอห์น สเตรเลกกี (John Strelecky) เรื่องมีอยู่ว่า นักธุรกิจคนหนึ่งลาพักร้อนเพื่อหนีจากภาระที่หนักอึ้งไปชาร์จแบต เขานั่งเครื่องบินไปยังสถานที่ห่างไกล และเดินทางเข้าไปในหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งเขาสังเกตเห็นชาวประมงคนหนึ่งที่ดูมีความสุขและพึงพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีมากกว่าใคร ๆ จึงทำให้นักธุรกิจคนนั้นสนใจไคร่รู้อย่างมาก

            จนกระทั่งวันหนึ่งเขาถามชาวประมงคนนั้นว่าเขาทำอะไรบ้าง ชาวประมงจึงเล่าวิถีชีวิตของตนเองว่า เขาตื่นนอนตอนเช้า กินอาหารเช้ากับภรรยาและลูก หลังจากลูก ๆ ไปโรงเรียนแล้วเขาก็ไปตกปลา ส่วนภรรยาก็วาดรูป ระหว่างที่เขาตกปลาอยู่ราวสองสามชั่วโมงก่อนกลับบ้านพร้อมกับปลาจำนวนที่เพียงพอสำหรับทำอาหารเลี้ยงครอบครัว จากนั้นก็งีบเอาแรงนิดหน่อย สุดท้ายหลังมื้อเย็นเขากับภรรยาจะเดินเล่นริมชายหาด มองดูพระอาทิตย์ตกดิน ขณะที่ลูก ๆ ว่ายน้ำเล่นกัน

            นักธุรกิจตกใจอย่างมากและถามว่า "คุณจับปลาได้มากกว่าปริมาณที่นำไปทำอาหารเลี้ยงครอบครัวหรือเปล่า" ชาวประมงมองหน้าเขาพร้อมรอยยิ้มและตอบว่า "ผมมักจะจับปลาได้มากกว่าที่ต้องการเยอะเลย แต่ผมจะปล่อยมันไป ผมแค่ชอบตกปลาน่ะ"

            ถ้าอย่างนั้น ทำไมคุณไม่ตกปลาทั้งวันและหาปลาให้ได้มากที่สุดล่ะ นักธุรกิจถาม "จากนั้นก็นำปลาไปขาย ให้ได้เงินเยอะ ๆ ไม่ช้าคุณก็จะซื้อเรือลำที่สอง ลำที่สาม และชาวประมงของเรือเหล่านั้นก็จะจับปลาได้มากมายเหมือนกัน ภายในไม่กี่ปีคุณก็จะมีออฟฟิศในเมืองใหญ่ ผมพนันได้เลยว่าคุณจะมีธุรกิจส่งออกปลาไปทั่วโลกภายในสิบปี"

            ชาวประมงจึงตั้งคำถามว่า "ทำไมผมจะต้องทำสิ่งเหล่านั้นด้วยล่ะ" 

            "เพื่องเงินไง" นักธุรกิจตอบ "คุณทำอย่างนั้นเพื่อจะหาเงินให้ได้มาก ๆ จากนั้นค่อยเกษียณ และทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ"

            ชาวประมงจึงยิ้มและถามกลับไปว่า "อย่างเช่น อาจได้มานั่งกินอาหารเช้ากับครอบครัว ตกปลาวันละนิดวันละหน่อย ใช้เวลาช่วงเย็นกับภรรยาเดินริมชายหาด มองดูพระอาทิตย์ตกดิน ในขณะที่ลูก ๆ ว่ายน้ำเล่นกันน่ะหรือ" 

            "แน่นอน คุณจะทำอะไรก็ได้" นักธุรกิจพูด ชาวประมงจึงยิ้มกับนักธุรกิจและอวยพรเขาให้มีความสุขกับการพยายามชาร์จแบตในครั้งนี้

            เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นการสอนใจ แต่มันก็สามารถสะท้อนชีวิตของพวกเราให้มองเห็นว่า เราทุกคนต่างทำงานหนักในทุกวันนี้ก็เพื่อจะสบายในวันหน้า เงินกี่ล้านที่เราจะต้องหามาให้ได้ ความอดทนแค่ไหนที่เราจะต้องสละ สุขภาพจิตแค่ไหนกันที่เราจะต้องโยนมันทิ้งไป เราไม่เคยตั้งคำถามเหล่านี้เลยด้วยซ้ำ

            หากใครหลายคนกำลังมีความสุขกับการทำงาน รู้สึกหลงใหลกับการทำงาน รู้สึก Flow ไปกับการทำงาน ก็เป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก และผมขออวยพรให้คุณประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง แต่หากใครบางคนกำลังมีความทุกข์ รู้สึกเศร้า รู้สึกไม่มีค่ากับการทำงานในปัจจุบัน และต้องมากล่อมตัวเองด้วยคำว่า "เราจะสบายในวันหน้า" มันอาจจะไม่ใช่เส้นทางที่ถูกต้องก็ได้นะ

            ผมไม่ได้จะแนะนำให้ลาออก ให้ทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำอยู่ แต่ผมอยากให้เราออกแบบวิถีชีวิตที่เหมาะสมกับตัวเอง ค้นหาว่าเรามีความสุขกับสิ่งใดบ้างและทำในสิ่งนั้นหรือใช้เวลาไปกับสิ่งนั้นให้มากขึ้น อะไรที่เราทำแล้วทุกข์ก็ควรลดถอยมันลง หากไม่สามารถลดมันลงได้ก็ควรถอยออกจากมัน แล้วเดินไปในเส้นทางใหม่แทน เพื่อให้ชีวิตของเรามีความสุขมากกว่าความทุกข์

ถ้าเป้าหมายของเราคือการมีชีวิตที่มีความสุข ทำไมเราจึงต้องทนทุกข์กับช่วงเวลานี้ แทนที่จะมีความสุขให้มากกว่าไปเลยเสียล่ะ

อ้างอิง

Burkeman, O. (2021). Four Thousand Weeks: Time Management for Mortals. NY: Farrar, Straus and Giroux.

Strelecky, John. (2011). The Why Cafe. Windermere. Aspen Light Publishing.

คาลอส บุญสุภา. (2566). ประวัติศาสตร์ของตารางเวลา การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่ไม่อาจนำกลับคืนมาได้. https://sircr.blogspot.com/2023/02/blog-post_26.html

ความคิดเห็น