เพราะเหตุใดพวกเราหลายคนจึงมักแก้ปัญหา โดยการสร้างปัญหาให้ใหญ่โตขึ้น

ความคาดหวังทำให้ความทุกข์ทรมานของมนุษย์ทอดยาวออกไป

            ตอนแรกผมจะตั้งชื่อบทความว่า "เพราะเหตุใดคนเราจึงมักแก้ปัญหา โดยการสร้างปัญหาให้ใหญ่โตขึ้น" แต่ผมเกรงว่าจะมีผู้อ่านหลายคนที่ไม่เห็นด้วย เพราะเรามักจะคิดว่าตัวเองเป็นคนที่มีความสามารถ ฉลาด เป็นคนดี "ดังนั้นฉันจะต้องแก้ไขปัญหาอย่างฉลาดอยู่แล้วแหละ" แต่จะเป็นแบบนั้นจริง ๆ หรือไม่ลองอ่านบทความนี้จนจบแล้วค่อยตอบครับ

            เหตุผลที่ผมเชื่อว่ามนุษย์เราหลายคนมักแก้ปัญหา โดยการสร้างปัญหาให้ใหญ่ขึ้นก็ด้วยแนวคิดทางจิตวิทยาที่ว่ามนุษย์เราจำนวนมากมีมุมมองเชิงบวกที่เป็นพิษ (Toxic Positivity) ซึ่งเป็นภาวะที่เรามองในแง่บวกมากจนเกินไปโดยมองข้ามข้อเท็จจริง หรือไม่มีเหตุผลใด ๆ มารองรับ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาตามมาอีกมากมาย คนที่อยู่ในภาวะมุมมองเชิงบวกที่เป็นพิษ จะพยายามคิดทุกอย่างในด้านดี ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์เลวร้ายมากแค่ไหนก็ตาม

            จึงไม่แปลกที่การแก้ไขปัญหาของเรา จะอาศัยมุมมองเชิงบวกที่เป็นพิษดังกล่าวมาปั่นให้สถานะของปัญหาใหญ่โตมากขึ้น หรืออธิบายง่าย ๆ ก็คือ แก้ไขปัญหาโดยการทำให้ปัญหาใหญ่โตมากขึ้นกว่าเดิม ผมตระหนึกถึงข้อเท็จจริงนี้ ตั้งแต่ที่ผมอ่านเรื่อง Anxious people ซึ่งเป็นนวนิยายของนักเขียนชาวสวีเดน เฟรียดริค บัคมัน (Fredrik Backman)

            Anxious people เริ่มจากเรื่องราวของคนคนหนึ่งที่เผชิญกับชีวิตที่ดิ่งลงเหว การหย่าร้าง ตกงาน ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน และกำลังถูกพรากสิทธิ์ในการเลี้ยงดูลูกไป เมื่อคิดแล้วไม่มีความหวัง เขาจึงตัดสินใจเข้าปล้นธนาคารโดยลำพังแบบไม่ได้วางแผนเอาไว้ เพื่อจะนำเงินไปจ่ายค่าเช่าบ้านเท่านั้น

            และด้วยความพยายามที่จะจัดการทุกอย่างโดยลำพัง แบบไม่คิดหน้าคิดหลัง ไม่มีการวางแผน จึงทำให้เขาลืมคิดไปว่าธนาคารส่วนใหญ่ในสวีเดนเป็นธนาคารแบบไร้เงินสด การปล้นจึงล้มเหลวไม่เป็นท่าตั้งแต่แรกเริ่ม เขาจึงจำเป็นต้องหนีเข้าไปในอพาร์ตเมนต์ห้องหนึ่งที่กำลังประกาศขายและมีกลุ่มลูกค้าเข้ามาเยี่ยมชม การจับคนเป็นตัวประกันในพื้นที่ปิดจึงเกิดขึ้น

พวกเราหลายคนมักจะพยายามคิดทุกอย่างในด้านดี ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์เลวร้ายมากแค่ไหนก็ตาม

            นี่เป็นเพียงแค่เรื่องราวเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในนวนิยายเล่มนี้ เพราะมันมีเรื่องราวที่น่าสนใจ ขบขน ชวนคิดมากมายที่ซ่อนอยู่ภายใต้ตัวละครทั้งหมดของเรื่อง แต่ประเด็นที่ผมนำเสนอก็เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า ตัวละครคนนี้เผชิญกับปัญหาที่ยากจะแก้ไขได้ เขาจำเป็นต้องปล้นธนาคารเพื่อหาเงินไปจ่ายค่าเช่าบ้าน ซึ่งนั่นคือวิธีแก้ไขปัญหาของเขา แต่เมื่อเขาพบว่าธนาคารไม่ได้เก็บเงินสดเอาไว้ เขาจึงหนีเข้าไปในอพาร์ตเมนต์ห้องหนึ่ง และจับคนเป็นตัวประกัน

            ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นถึงการแก้ไขปัญหา โดยทำให้ปัญหาใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเรามักจะพบเห็นกันอยู่ทั่วไป เช่น การเล่นการพนันเพื่อจะนำเงินมาแก้ปัญหาหนี้ หรือการกู้เงินจากบัตรเครดิต (ดอกเบี้ยสูง) เพื่อมาแก้ปัญหาความขัดข้องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการแก้ไขความขัดแย้งโดยการทำร้ายฝ่ายตรงข้าม

            อย่างที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้น เราเกือบทุกคนมีมุมมองเชิงบวกที่เป็นพิษ เราคาดหวังว่าสิ่งต่าง ๆ จะต้องดีจนมองข้ามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตรงหน้า และตัดสินใจโดยขาดวิจารณญาณ สอดคล้องความเห็นของ ฟรีดริช นีทเชอ (Friedrich Nietzsche) นักปรัชญาชื่อดังชาวเยอรมันที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับความหวังเอาไว้ว่า "ความคาดหวังทำให้ความทุกข์ทรมานของมนุษย์ทอดยาวออกไป" 

            เพราะเขามองว่าเมื่อมนุษย์มีความหวัง มนุษย์จะโง่เขลาพอที่จะเชื่อว่าการมีชีวิตอยู่นั้นมีความหมาย มีจุดจบ และมีพันธะสัญญา นีทเชออาจจะมองชีวิตในด้านลบแต่ความเห็นของเขาก็เป็นสิ่งที่น่าขบคิด เราหลายคนคาดหวังว่าปัญหาที่เราพบเจอจะถูกแก้ไขไม่ว่าเราจะทำสิ่งที่ผิดพลาดเอาไว้มากแค่ไหนก็ตาม "เรามีสิ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยช่วยเหลืออยู่" "เราทำบุญเอาไว้มาก" หรือ "เราเป็นคนเก่งที่แก้ได้ทุกปัญหา"

            ผมอาจจะไม่เห็นด้วยกับนีทเชอทั้งหมด แต่มันก็เป็นข้อเท็จจริงที่มนุษย์หลายคนมีความหวังที่ไม่สมเหตุสมผล และคิดว่าสิ่งดี ๆ จะต้องเกิดขึ้นแม้ว่าตัวเองไม่ว่าเขาจะเล่นพนันอย่าบ้าคลั่ง เล่นหวยอย่างบ้าคลั่ง หรือตั่งตารอคอยว่าสิ่งดี ๆ จะต้องเกิดขึ้นกับเขาไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง รวมไปถึงการคิดเข้าข้างตัวเองว่า "ฉันเป็นคนมีความสามารถเหนือกว่าคนอื่น"

            ทั่ง ๆ ที่จริงแล้วเราก็เป็นคนธรรมดาทั่วไปที่ต้องเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ อยู่เสมอ โชคดีบ้าง โชคร้ายบ้าง สมหวังบ้าง ผิดหวังบ้าง ทุกข์บ้าง สุขบ้าง เป็นธรรมชาติของชีวิตเราทุกคน เราจะต้องตระหนักว่าชีวิตประกอบไปด้วยขาวและดำ มันมีสองด้านเสมอ ดังนั้นการคาดหวังว่าสิ่งต่าง ๆ สามารถเกิดผลกระทบเชิงลบได้ พร้อมกับวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหานั้นอย่างมีวิจารณญาณและถ่อมตัว

อาจจะเป็นวิธีที่ฉลาดที่สุดเท่าที่มนุษย์เราจะทำได้เพื่อแก้ไขปัญหาแล้ว

อ้างอิง

Backman, F. (2021). Anxious people. NY: Simon & Schuster.

คาลอส บุญสุภา. (2565). หายนะ ของการมองในแง่บวก มากจนเกินไป (Toxic Positivity). https://sircr.blogspot.com/2022/03/toxic-positivity.html

คาลอส บุญสุภา. (2565). ข้อคิดที่ได้จากตำนาน กล่องแพนดอรากับความหวังที่เหลือสุดท้าย (Pandora's Box). https://sircr.blogspot.com/2022/06/pandoras-box.html

ความคิดเห็น