ข้อคิดที่ได้จากตำนาน กล่องแพนดอรากับความหวังที่เหลือสุดท้าย (Pandora's Box)

เรื่องราวนี้ถูกกลั่นมาจากความคิดของผู้เขียนในอดีต ซึ่งสะท้อนมุมมองทางประวัติศาสตร์อย่างน่าสนใจ    

            ผมเชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านคงเคยได้ยินเกี่ยวกับตำนานกรีกเรื่อง กล่องแพนดอรา กันมาบ้างแล้ว แต่สำหรับผู้อ่านที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนไม่เป็นไรครับ เพราะผมจะอธิบายเนื้อหาโดยย่อของเรื่องนี้ เรื่องเล่านี้เป็นที่โด่งดังเพราะถูกนำมาใช้เป็นการเปรียบเปรยถึงความหวัง และเป็นที่มาที่ไปของสิ่งเลวร้ายบนโลกมนุษย์ไม่ว่าจะเป็น ความตาย เชื้อโรค ความยากจน ความอดอยาก และสงครามที่วนเวียนตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ 

            ในบทความนี้ผมให้ความสำคัญของการวิเคราะห์เรื่องตำนานนี้ในจุดที่น่าสนใจ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับจิตวิทยาค่อนข้างเยอะ และแน่นอนผมอยากจะวิเคราะห์ถึงสิ่งที่เหลือสุดท้ายในกล่องแพนดอรา นั้นก็คือ ความหวัง เพราะเป็นเรื่องน่าแปลกใจอย่างมากว่ากล่องแพนดอราที่บรรจุด้วยสิ่งเลวร้ายมากมายกลับมีความหวังเป็นหนึ่งในนั้น ทั้ง ๆ ที่เราเชื่อกันว่าความเป็นสิ่งที่ให้พลังบวกกับเรา แม้แต่นักฟิสิกส์อัจฉริยะ สตีเฟน ฮอว์คิง (Stephen Hawking) ยังเคยกล่าวไว้ว่า  "แม้แต่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด คนเราจะอยู่รอดได้ก็ต่อเมื่อยังคงมีความหวัง”

ตำนานกล่องแพนดอรากับความหวังที่เหลือสุดท้าย

            กล่องแพนดอราหากเล่าถึงที่มาแบบรวบรัดเลยก็คือ เป็นกล่องที่ถือกำเนิดมาจากความแค้นของเทพเจ้าสูงสุดในโอลิมปัส "ซูส" ซึ่งเป็นความแค้นที่มีต่อโพรมีเทียส ที่ขโมยไฟจากเทพเจ้าไปให้กับมนุษย์ที่ตนเองสร้างขึ้นมา (เพื่อเป็นของเล่นแก้เหงาของซูส) เหตุผลที่ซูสแค้นนักแค้นหนาก็เพราะว่า ซูสไม่อยากให้มนุษย์เท่าเทียมกับเทพเจ้า โดยซูสมองว่าไฟนั้นแหละที่เป็นตัวแปรสำคัญให้มนุษย์สร้างสรรค์ และเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขาให้สูงเทียบเท่ากับพระเจ้าได้

            ซูสต้องการจะลงโทษโพรมีเทียสอย่างเจ็บแสบที่สุดโดยพุ่งเป้าหมายไปที่มนุษย์ซึ่งโพรมีเทียสรักอย่างมาก และต้องการจะสั่งสอนมนุษย์เพื่อไม่ให้ทัดเทียมกับพระเจ้าได้ ซูสสั่งให้ฮีเฟสตุสทำอย่างที่โพรมีเทียสทำ คือการปั้นดินเหนียวแล้วทำให้ชุ่มชื้นด้วยน้ำลายของตนเอง แต่เป็นหุ่นมนุษย์เพศหญิง โดยฮีเฟสตุสให้ อะโฟรไดที เฮรา ดีมีเทอร์ และอะทีนาเป็นแบบในการปั้นหุ่นหญิงสาวให้งดงามมากที่สุดเท่าที่จะทำได้  จากนั้นจึงสร้างชีวิตให้กับนาง

            อะทีนาอบรมหญิงสาวเกี่ยวกับงานบ้าน การเย็บปักถักร้อย และการทอผ้า แล้วแต่งตัวให้นางด้วยผ้าสีทองแสนวิจิตร เช่นโดยเดียวเหล่าเทพองค์อื่นที่มอบเครื่องประดับสวยงามมากมาย และอบรมนางให้มีบุคลิกภาพที่น่าหลงใหล รวมไปถึงเทพเฮอร์มีสที่อบรมเรื่องการพูดและศิลปะการหลอกล่อ ความอยากรู้อยากเห็น และเล่ห์เหลี่ยมต่าง ๆ อีกทั้งยังประทานชื่อให้นางว่าแพนดอรา (Pandora) มีความหมายว่า ผู้ได้รับของขวัญทั้งปวง มาจากการที่เหล่าเทพได้ประทานคุณสมบัติพิเศษและทักษะต่าง ๆ มากมายให้กับนาง

            แต่ไม่หมดเพียงแค่นั้นเพราะฮีเฟสตุสได้ประทานของขวัญอีกชิ้นหนึ่งที่สำคัญอย่างมากต่อเส้นเรื่องนี้ นั้นก็คือกล่องบรรจุความลับ ซึ่ง สตีเฟน ฟราย (Stephen Fry) ผู้เขียน Mythos ได้อธิบายว่า จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่กล่องแต่เป็นโถดินเผาเคลืองเงาและปิดผนึกแน่นสนิท ซึ่งชาวกรีกเรียกว่าพิทอส (Pithos) แต่ทุกวันนี้เรามักเรียกว่ามันกล่องตาม ๆ กันมา เพื่อให้คงความคุ้นชินของผู้อ่านผมจึงขอใช้คำว่ากล่องแทนความคำว่าโถ (อีกอย่างมันดูโรแมนติกมากกว่าด้วย)

            ซูสมอบกล่องดังกล่าวให้กับ แพนดอรา และกล่าวว่า "สิ่งนี้มีไว้เพื่อประดับเท่านั้น ห้ามเปิดออกเด็ดขาด" จากนั้นให้เฮอร์มีนพาแพนดอราไปที่บ้านของโพรมีเทียสและน้องชายเอพิมีเทียสใจกลางเมืองมนุษย์ที่เจริญแล้ว แต่เฮอร์มีสผู้ฉลาดหลากแหลมเลือกช่วงเวลาที่พี่ชายโพรมีเทียสไม่อยู่ เหลือเพียงแค่เอพิมีเทียสที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำก่อนคิดทีหลัง แล้วก็เป็นไปตามแผนทุกอย่างด้วยความงดงามของแพนดอราทำให้เอพิมีเทียสตกหลุมรักเข้าเต็มอก

            แน่นอนว่าเรื่องราวความรักนี้คงไม่เป็นที่ถูกใจของโพรมีเทียสอย่างแน่นอนเพราะ จึงน่าจะเป็นความคิดที่ดีหากจะรีบแต่งงานโดยเร็ว เอพิมีเทียสคิด ซึ่งก็เป็นไปตามนั้น ทั้งสองรีบแต่งงานกันและในเวลาต่อมาทั้งสองก็รักกันมากขึ้นเรื่อย ๆ  ชีวิตของแพนดอราและเอพิมีเทียสชั่งมีความสุขและมีชีวิตชีวาอย่างมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ผมและผู้อ่านน่าจะรู้กันดีก็คือ 

เมื่อชีวิตเริ่มจะดีขึ้นหรือเริ่มเข้าที่เข้าทาง ชีวิตก็จะถีบเราอย่างรวดเร็วด้วยเรื่องเฮงซวยต่าง ๆ มากมาย

            แพนดอรา คันยิบ ๆ เหมือนแมลงตัวเล็กที่บินรอบตัวเธอ เธอเอาแต่คิดหาเหตุผลมากมายว่ากล่อง (โถ) ธรรมดานี้ไม่เห็นจะมีอะไรน่าสนใจ ทำไมซูสถึงสั่งว่าห้ามเปิดออก เธอพยายามคิดแล้วคิดอีกและตระหนักเรื่องนี้มันต้องมีคำอธิบาย "มันอาจจะมีสิ่งมีค่าหรือพลังอำนาจบางอย่างก็เป็นได้" แต่เธอก็ไม่เปิดมันเพราะเธอเคยสาบานไว้แล้วว่าจะไม่เปิดมันออกมา เธอจึงย้ายมันไปเก็บไว้ที่สวนเล็ก ๆ หลังบ้านและขุดหลุมฝังมันเอาไว้อย่างแน่นหนา ไอเดียนี้ค่อนข้างดี แต่เราค่อยคุยกันตอนส่วนวิเคราะห์ท้ายเรื่อง

            หลังจากนั้นทั้งสองคนคู่รักก็จัดงานปาร์ตี้แสนสนุก ทุกอย่างสำเร็จราบรื่นไปด้วยดี แพนดอราอิ่มเอมไปด้วยคำชื่นชมที่ได้รับไม่ขาดสาย เธอมีทุกสิ่งทุกอย่างแล้วตอนนี้ ชีวิตรักที่ดี ความงดงาม ที่อยู่อาศัย และอาหารมากมาย แต่ก็เธอนอนไม่หลับเอาแค่คิดเรื่องกล่องจนทนต่อไปไม่ไหวแล้ว เธอลุกออกจากบ้านและขุดกล่องนั่นออกมาและเปิดมันออกอย่างรวดเร็ว แพนดอราร้องลั่นด้วยความเจ็บปวดและตื่นตระหนกเมื่อเห็นสิ่งมีชีวิตน่ากลียดน่ากลัวบินออกมา พวกมันเต็มไปด้วยเงาดำมืดสนิท สุดท้ายเธอรวบรวมความกล้าและปิดฝากล่องผนึกเอาไว้

"สิ่งนี้มีไว้เพื่อประดับเท่านั้น ห้ามเปิดออกเด็ดขาด"

            สิ่งที่บินออกไปพวกมันก็คือลูกหลานกลายพันธุ์ของลูก ๆ ที่มืดมนและชั่วร้ายของนิกส์กับแอเรบุส พวกมันกำเนิดจากอะพาที (ความหลอกลวง) เกราส (ความชรา) อัวซิส (ความทุกข์ยาก) โมมอส (การกล่าวโทษ) กีเรส (ความตายอย่างทารุณ) ยังมีลูกหลานของอาเท (Ate-ความพินาศ) กับเอรีส (ความขัดแย้ง) ได้แก่ โพนอส (ความยากลำบาก) ลิมอส (ความหิวโหย) อัลกอส (ความเจ็บปวด) ดิสโมเนีย (อนาธิปไตย) ซูเดีย (การโกหก) นีเกีย (การทะเลาะโต้เถียง) แอมฟิโลเจีย (การปะทะคารม) มาคาย (สงคราม) ฮิสมีนาย (สมรภูมิรบ) แอนดรอกทาซาย (การฆ่าคนโดยไม่เจตนา) และโฟนอย (ฆาตกรรม)

            โดยที่เธอไม่มีวันรู้เลยว่าสิ่งที่เธอผนึกเอาไว้ก็คือธิดาคนสุดท้องของนิกส์ สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่ถูกทิ้งให้กระพือปีกอย่างสิ้นหวังในกล่องชั่วกาลนาน มันมีชื่อว่า เอลพิส (Elpis) หรือ "ความหวัง" หลังจากที่สิ่งเลวร้ายได้บินออกไปยุคทองก็สิ้นสุดลงอย่างรวดเร็ว เพราะสิ่งชั่วร้ายที่ถูกปล่อยออกมาได้ทำลายอารยธรรมนุษย์จนก่อให้เกิดความตาย เชื้อโรค ความยากจน ความอดอยาก และสงครามกลายมาเป็นเคราะห์กรรมที่มนุษย์ต้องเผชิญอย่าหลีกเลี่ยงมิได้ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม

ข้อคิดที่ได้จากตำนานกล่องแพนดอรา

            ตำนานกรีกหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องราวของเทพเจ้า ผู้เขียนในอดีตพยายามที่จะใช้เรื่องราวดังกล่าวเพื่ออธิบายความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ บนโลกใบนี้ตั้งแต่กำเนิดจักรวาล โลก สิ่งมีชีวิต รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่น การเพาะปลูก หรือฤดูกาล เรื่องราวของกล่องแพนดอราก็เป็นกรณีเดียวกัน ซึ่งผู้แต่งใช้เพื่ออธิบายที่มาที่ไปของสิ่งเลวร้ายต่าง ๆ บนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็น ความตาย เชื้อโรค ความยากจน ความอดอยาก และสงคราม

            อย่างไรก็ตามเรื่องราวดังกล่าวถูกกลั่นมาจากความคิดของผู้เขียนในอดีต ซึ่งสะท้อนมุมมองทางประวัติศาสตร์อย่างน่าสนใจ ยิ่งไปกว่านั้นพวกเราสามารถนำเรื่องราวน่าสนใจเหล่านี้มาใช้ในการเรียนรู้ได้อย่างดี เพราะเรื่องราวเหล่านี้สะท้อนมุมมองเบื้องลึกของความคิดมนุษย์ออกมา มากกว่าการบอกเล่าเรื่องจากปากตัวเองที่เจือปนไปด้วยความรู้สึกที่อยากให้คนอื่นมองตนเองในด้านดี ดังนั้นเรื่องราวที่มนุษย์เขียนขึ้นจึงสะท้อนความเป็นตัวตนออกมาได้อย่างวิเศษ

            1) ซูสมีความแค้นต่อโพรมีเทียส ที่ขโมยไฟจากเทพเจ้าไปให้กับมนุษย์ ส่วนนี้เป็นการตีความของชาวกรีกโบราณที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง เพราะเรารู้กันดีอยู่แล้วว่าไฟเป็นตัวแปรสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสำหรับมนุษยชาติ เช่นเดียวกับผู้เขียนเรื่องนี้ที่มองว่ามนุษย์สามารถทัดเทียมกับเทพเจ้าได้ผ่านไฟ เอาจริง ๆ แล้วไม่แน่อนาคตในสักวันหนึ่งพวกเราอาจจะทัดเทียมกับภาพความสมบูรณ์แบบที่เราเรียกว่าพระเจ้าก็เป็นได้ 

            2) ตอนที่ซูสมอบกล่องดังกล่าวให้กับ แพนดอรา และกล่าวว่า "สิ่งนี้มีไว้เพื่อประดับเท่านั้น ห้ามเปิดออกเด็ดขาด" ซูสคาดหวังอย่างมั่นใจว่าแพนดอราจะต้องเปิดออกมาแน่นอนสักวันหนึ่ง แต่กลับบอกว่าห้ามเปิดสิ่งนี้ออกเด็ดขาด การกระทำนี้เรียกว่า จิตวิทยาย้อนกลับ (Reverse Psychology) หมายถึง การที่เราพูดบางสิ่งบางอย่างที่เราต้องการให้ผู้อื่นทำ โดยบอกให้เขาทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับผลลัพธ์ที่เราต้องการ การพูดของซูสจึงเป็นการฝังเมล็ดพันธ์ที่ไปกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นในตัวแพนดอราเข้าอย่างจัง

            3) แพนดาราย้ายกล่องปริศนาไปเก็บไว้ที่สวนเล็ก ๆ หลังบ้านและขุดหลุมฝังมันเอาไว้อย่างแน่นหนา ให้ไกลไม้ไกลมือมากที่สุด นั่นเป็นวิธีที่ค่อนข้างฉลาดเพราะการที่แพนดอราอยากเปิดเจ้ากล่องนี้มากก็ไม่ต่างกับการที่เราอยากกินไอศกรีมหวาน ๆ แสนอร่อยในขณะที่กำลังลดความอ้วนนั้นแหละครับ และการที่แพนดอรานำกล่องไปเก็บไว้ในสวนหลังบ้านและฝังมันไว้ก็คือการเพิ่มแรงเสียดทาน ต่อแรงผลักมหาศาลที่ดึงดูดให้เธอทำตามใจปรารถนา (อยากเปิดกล่อง)

            เคิร์ต เลวิน (Kurt Lewin) นักจิตวิทยาชื่อดังเชื่อว่าบริบทหรือสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยที่สร้างพลังให้กับพฤติกรรม กล่าวคือ บริบทและสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งบริบทและสภาพแวดล้อมหมายถึง สิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ คนที่อยู่ด้วย เวลา สิ่งของ และการกระทำต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว ดังนั้นการที่แพนดอรานำกล่องที่ตนเองอยากเปิดออกไปเก็บเอาไว้ให้ไกลตัวจึงเป็นการสร้างเงื่อนไขให้กับสภาพแวดล้อมเป็นการเพิ่มแรงเสียดทาน แต่น่าเสียดายที่แรงผลักดันมากกว่าแรงเสียดทานก็เลยทำให้ในท้ายที่สุดกล่องที่แสนอันตรายก็ถูกเปิดออก

            4) จุดที่เป็นไฮไลต์หลักของเรื่องก็คือ กล่องที่ถูกเปิดออกเต็มไปด้วยสิ่งเลวร้ายต่าง ๆ มากมาย แต่เพราะเหตุใด เอลพิส (Elpis) หรือ "ความหวัง" จึงถูกใส่ไว้ลงในกล่องด้วยล่ะ เพราะใครต่างก็เข้าใจว่าความหวังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของมนุษย์ แต่ในหมู่นักคิด นักวิชาการยืนยันว่า เอลพิสจริง ๆ แล้วคือความคาดหวังถึงสิ่งเลวร้ายที่สุด กล่าวคือ เป็นลางสังหรณ์ถึงหายนะที่กำลังใกล้เข้ามา ดังนั้นภูตตนสุดท้ายที่ถูกเก็บเอาไว้แท้จริงแล้วคือปีศาจที่เลวร้ายมากที่สุด 

            ลองพิจารณาดูนะครับ ถ้าเรามีลางสังหรณ์ถึงหายนะอยู่ตลอดเวลา เราคงแทบไม่เป็นอันกินอันนอน ซึ่งเมื่อมนุษย์ไม่มีเจ้าความคาดหวังดังกล่าว อย่างน้อยพวกเราก็ไม่ต้องกลัวชะตากรรมของตนและความหมายที่โหดร้ายของการมีชีวิตอยู่ เรายังคงมีชีวิตอยู่ได้โดยคาดหวังว่าสิ่งดี ๆ อาจจะเกิดขึ้นกับเราสักวันหนึ่ง สักวันฉันจะถูกหวย สักวันฉันจะได้งานที่ดี กล่าวคือ เราจะสามารถอยู่ได้ไปวัน ๆ ท่ามกลางสิ่งเลวร้ายมากมายที่เกิดรอบตัวเรา

            ฟรีดริช นีทเชอ (Friedrich Nietzsche) ตีความเรื่องนี้ต่างไปเล็กน้อย เพราะสำหรับเขาแล้วความหวังเป็นสิ่งที่อันตรายที่สุดในบรรดาสิ่งที่อยู่ในกล่อง เพราะความคาดหวังทำให้ความทุกข์ทรมานของมนุษย์ทอดยาวออกไป ดังนั้นการที่ซูสใส่ความหวังเอาไว้ในกล่อง ก็เพราะประสงค์ให้มนุษย์ทรมานด้วยสัญญาลวงที่คิดว่าสิ่งดี ๆ จะมาถึง เมื่อมนุษย์มีความหวัง มนุษย์จะโง่เขลาพอที่จะเชื่อว่าการมีชีวิตอยู่นั้นมีความหมาย มีจุดจบ และมีพันธะสัญญา หากไม่มีความหวัง อย่างน้อยพวกเราจะดำเนินชีวิตอย่างเป็นอิสระจากแรงบัลดาลใจที่ลวงหลอก

            ความเห็นของนีทเชอค่อนข้างน่าสนใจ แต่สำหรับผมไม่คิดอย่างนั้น ผมคิดว่าเหตุที่ผู้เขียนเรื่องแพนดอราใส่ความหวังเอาไว้ในกล่องก็เพราะว่า ซูสปรารถนาให้มนุษย์สังหรณ์ถึงหายนะอยู่ตลอดเวลา จนเกิดความทุกข์ทรมานไม่เป็นอันกินอันนอน แต่เนื่องจากความคาดหวังถูกกักเอาไว้ในกล่อง ก็ทำให้เรายังคงพอจะใช้ชีวิตต่อไปได้ เหตุผลที่ผมไม่เห็นด้วยกับนิทเชอก็เพราะว่าในปัจจุบันมนุษย์ก็ทุกข์ทรมานกับสัญญาลวงที่คิดว่าสิ่งดี ๆ จะมาถึงอยู่แล้ว และเราทุกคนต่างก็หวังว่าชีวิตของเราน่าจะมีความหมายอยู่บ้างบนโลกใบนี้

ทั้ง ๆ ที่อลพิส (Elpis) หรือ "ความหวัง" ไม่เคยถูกปล่อยออกมา

อ้างอิง

Fry, S. (2017). Mythos: The Greek Myths Retold. London: Michael Joseph.

คาลอส บุญสุภา. (2565). กลยุทธ์ลดแรงเสียดทานเพื่อ ลดน้ำหนัก และ ควบคุมการใช้จ่าย. https://sircr.blogspot.com/2022/03/blog-post.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). วิธีเปลี่ยนแปลงประสบการณ์เลวร้ายเพื่อก้าวเดินต่อไป. https://sircr.blogspot.com/2021/06/blog-post_26.html

ความคิดเห็น