ความยืดหยุ่นของสมอง (Neuroplasticity) ทำให้เราพัฒนาได้อย่างไม่มีจุดสิ้นสุด

การทำซ้ำ ๆ นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง นี่คือเหตุผลว่าทำไมการฝึกฝนกีฬา ศิลปะ และวิชาการสามารถนำไปสู่การพัฒนาได้

            สมองของมนุษย์เป็นสิ่งหนึ่งที่น่าอัศจรรย์อย่างมาก ไม่น่าเชื่อว่าก้อนไขมันหนักประมาณ 1.3 - 1.5 กิโลกรัมจะสามารถทำให้มนุษย์มีศักยภาพมากพอที่จะแสดงความสามารถที่จะเปลี่ยนโลกได้ ตลอดประวัติศาสตร์เราเห็นมนุษย์มากมายที่มีความอัจฉริยะ ไม่ว่าจะเป็น โมสาร์ท บีโธเฟน ไอสไตน์ ฮอว์กิง เทสลา ฯลฯ ทำให้แตกแขนงคำถามสำคัญออกมาสองนั่นคือ ความสามารถของมนุษย์มาจากพันธุกรรม หรือมาจากสภาพแวดล้อมกันแน่

            นักจิตวิทยาในอดีตจนถึงปัจจุบันต่างถกเถียงเกี่ยวกับคำถาม แต่ก็ไม่พบข้อสรุปที่ชัดเจน เพราะมีหลักฐานที่แน่นอนว่าสติปัญญา ความสามารถ รวมไปถึงความเศร้า เครียด กังวล และปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ก็สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ในขณะเดียวก็มีหลักฐานมากมายที่ชี้ว่าสติปัญญา ความสามารถ สามารถหล่อหลอมได้ผ่านสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดู การอบรม การศึกษา กระบวนการพัฒนาของชุมชนและสังคม แน่นอนรวมไปถึงความเศร้า เครียด กังวล และปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ด้วย

            อย่างไรก็ตามเราก็รู้ได้อย่างชัดเจนว่าสติปัญญาและความสามารถ มาจากทั้งพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าการจะให้ความสำคัญกับพันธุกรรมมากจนเกินไปมันไม่ได้เกิดผลดีเท่ากับสภาพแวดล้อม เพราะการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของมนุษย์เป็นเรื่องที่ยากมาก ตรงกันข้ามกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่เราสามารถเริ่มทำมันได้ทันที

            กล่าวคือเราสามารถออกแบบสภาพแวดล้อมอย่างเหมาะเพื่อสร้างบุคคลให้มีสติปัญญา และความสามารถได้ ผ่านการออกแบบการศึกษา การอบรมให้กับครอบครัว การวางนโยบายของภาครัฐเพื่อพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในเมื่องเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดการพัฒนาตนเอง

            ในหนังสือ What Happened to You? นายแพทย์บรูซ เพอร์รี่ (Bruce Perry, M.D., Ph.D) ได้อธิบายถึง ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวต่อโลกของเราแต่ละคน ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่น่าทึ่งที่สุดของสมองคนเรา เซล์ประสาทและโครงข่ายประสาทสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพขึ้นมาได้จริง ๆ เมื่อพวกมันถูกกระตุ้น สิ่งนี้เรียกว่า ความยืดหยุ่นของสมอง (Neuroplasticity)

            ความยืดหยุ่นของสมอง หรือความสามารถในการปรับเปลี่ยนของสมองจะถูกกระตุ้นผ่านประสบการณ์บางอย่าง สมองจะเปลี่ยนแปลงไปตามการใช้งาน ยกตัวอย่าง โครงข่ายประสาทที่เกี่ยวข้องกับการเล่นเปียโนจะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อมันถูกกระตุ้นโดยเด็กน้อยที่ฝึกเล่นเปียโน

            ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามประสบการณ์เหล่านี้จะแปรเปลี่ยนจนกลายเป็นฝีมือการเล่นเปียโนที่เก่งขึ้น ความยืดหยุ่นของสมองในแง่นี้เป็นเรื่องที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า "การทำซ้ำ ๆ นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง" และนี่คือเหตุผลว่าทำไมการฝึกฝนกีฬา ศิลปะ และวิชาการสามารถนำไปสู่การพัฒนาได้

ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวต่อโลกของเราแต่ละคน เป็นคุณสมบัติที่น่าทึ่ง

            หลักการสำคัญของความยืดหยุ่นของสมองคือความเฉพาะเจาะจง หากต้องการจะเปลี่ยนแปลงส่วนใดส่วนหนึ่งของสมอง ส่วนที่เฉพาะเจาะจงนั้น ๆ จะต้องถูกกระตุ้นให้ทำงาน ดังนั้นถ้าเราอยากจะหัดเล่นเปียโน จะไม่มีประโยชน์เลยที่เราจะอ่านหนังสือสอนเล่นเปียโน หรือเพียงแค่เปิดดูคลิปในยูทูบ 

            เราจะต้องเอามือของเราวางลงบนคีย์ จากนั้นก็เล่นไปเท่านั้นเอง เราต้องกระตุ้นสมองส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเล่นเปียโนเพื่อจะเปลี่ยนแปลงมัน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำไมเด็กที่มีภาวะออทิสติกสเปกตรัมบางคนสามารถเล่นดนตรีหรือวาดรูปได้เก่งมาก เพราะพวกเขาหมกมุ่นกับสิ่งนี้และทำมันซ้ำไปซ้ำมา

            ผมมีลูกศิษย์คนหนึ่งที่มีภาวะออทิสติกฯ เขาสามารถวาดภาพไดโนเสาร์ได้หลากหลายสายพันธุ์ โดยไม่ต้องดูแบบ เพราะเขาชอบไดโนเสาร์จึงฝึกวาดเป็นระยะเวลาที่ยาวนานและหมกมุ่นกับมัน ไม่เพียงแค่นั้นด้วยการฝึกวาดรูปไดโนเสาร์ยังทำให้ความสามารถในการวาดรูปอื่น ๆ และการเขียนตัวอักษรพัฒนาตามไปด้วย เพราะการวาดทำให้สมองที่ใช้ควบคุมกล้ามเนื้อมัดเล็กตรงบริเวณนิ้วมือพัฒนามากขึ้น รวมไปถึงสมองส่วนเมื่อที่เกี่ยวข้องด้วย

            หลักการเรื่องความเฉพาะเจาะจงนี้สามารถประยุกต์กับหน้าที่ทั้งหมดที่สมองส่วนต่าง ๆ เป็นตัวกลางในการทำงานให้กับเรา เรื่องนี้รวมถึงความสามารถที่จะรัก ถ้าเราไม่เคยถูกรัก โครงข่ายประสาทที่ทำให้มนุษย์มีความรักก็จะไม่พัฒนาขึ้นมา กล่าวคือ หากเรามีประสบการณ์ร่วมกับอะไรก็ตาม จะทำให้โครงข่ายประสาทในส่วนนั้น ๆ ได้รับประสบการณ์ตามไปด้วย 

            การใช้งานและฝึกฝนจะทำให้ความสามารถเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้ คนที่ไม่เคยได้รับความรักมาก่อน หากลองได้รับแล้ว เขาก็จะสามารถรักได้ ยกตัวอย่าง เด็กน้อยทารกที่ต้องการความช่วยเหลือ หากตอนที่เขายังเป็นทารกได้รับความช่วยเหลือ ดูแลเอาใจใส่ ก็จะทำให้โครงข่ายประสาทส่วนนี้ทำงานและมีประสบการณ์ที่ดีมากขึ้น 

            ในทางกลับกันหากเด็กทารกน้อยไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ โครงข่ายประสาทส่วนนี้ก็จะทำงานน้อยลง เมื่อเด็กทารกน้อยเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นคนเชื่อใจคนอื่นยาก และมีความโหยหาความรักและการยอมรับมากเป็นพิเศษ บางคนถึงขนาดที่ยอมทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน แม้ว่าจะต้องทำร้ายจิตใจตัวเองมากแค่ไหนก็ตาม

            อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่พลาดกระบวนการพัฒนาโครงข่ายประสาทไปในช่วงวัยเด็ก แล้วจะทำให้โครงข่ายดังกล่าวไม่สามารถพัฒนาได้อีกต่อไป ตรงกันข้ามเลยครับเพราะตลอดชีวิตของคนเราโครงข่ายประสาทสามารถยืดหยุ่นและพัฒนาได้อยู่เสมอ 

            ดังนั้นต่อให้ใครบางคนพลาดโอกาสได้รับความรักและการดูแลเอาใจใส่จากคนรอบข้าง จนประสบกับวิบากกรรมแห่งชีวิต แต่เขาก็สามารถได้รับความรัก ความเชื่อใจ และการดูแลเอาใจใส่ได้อย่างต่อเนื่องเมื่อเขาเติบโตขึ้น แม้ว่าโครงข่ายทางประสาทจะพัฒนาได้ช้ากว่าในวัยเด็ก กล่าวคือสามารถพัฒนาได้ตลอดไป เพียงแต่อาจจะต้องใช้ระยะเวลามากหน่อยเท่านั้นเอง

            ความยืดหยุ่นของสมอง (Neuroplasticity) จึงทำให้เราสามารถพัฒนาได้อย่างไม่มีจุดสิ้นสุด สิ่งนี้สามารถอธิบายด้วยการศึกษาของนักจิตวิยา เค แอนเดอร์ส อีริกสัน (K. Anders Ericsson) และคณะได้อย่างดี พวกเขาศึกษาโดยการแบ่งนักไวโอลินของสถาบันดนตรีเบอร์ลิน ออกเป็น 3 กลุ่ม 

            กลุ่มที่ 1 เป็นพวกดาวรุ่ง ซึ่งเป็นนักเรียนที่มีโอกาสจะก้าวขึ้นไปเป็นผู้บรรเลงเดี่ยวระดับโลก กลุ่มที่ 2 ถูกมองว่าเป็นเพียงแค่นักไวโอลินที่ "ฝีมือดี" เท่านั้น ส่วนกลุ่มที่ 3 เป็นนักเรียนที่ไม่น่าจะได้เล่นในระดับอาชีพ โดยเขาถามทุกกลุ่มว่าคุณเล่นไวโอลินมาตลอดทั้งชีวิต คุณซ้อมไปกี่ชั่วโมง

            ผลการศึกษาพบว่า นักไวโอลินทั้ง 3 กลุ่มเริ่มเล่นในวัยเดียวกันคือ 5 ขวบแต่พออายุ 8 ขวบพวกเขาก็มีชั่วโมงการซ้อมที่ต่างกัน นักไวโอลินระดับหัวกะทิแต่ละคนจะซ้อมเป็นเวลา 10,000 ชั่วโมงขึ้นไป ในขณะืที่ นักเรียนที่เล่นในระดับดีจะฝึกซ้อมคนละ 8,000 ชั่วโมงเท่านั้น ส่วนนักเรียนที่ไม่ได้เป็นมืออาชีพจะฝึกซ้อมเกินกว่าคนละ 4,000 ชั่วโมงมาเพียงเล็กน้อย

            อริกสันและคณะยังได้ศึกษากับนักเปียโนเพิ่มเติม ผลที่ได้ก็สอดคล้องกันคือ เริ่มต้นช่วงเวลาเดียวกัน เมื่อโตขึ้นจำนวนการฝึกซ้อมก็ต่างกัน แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือพวกเขาไม่พบคนที่เก่งมาตั้งแต่เกิด หรือนักดนตรีที่มีพรสวรรค์ชนิดที่ว่าซ้อมเพียงเล็กน้อยก็เก่งกว่าคนอื่นเลย 

            ในทางกลับกันสิ่งที่พวกเขาพบก็คือ คนที่เก่งอย่างมาก คือพวกที่บ้าซ้อม หรือทุ่มเทซ้อมมากกว่าคนอื่น ๆ และคนพวกนี้เกือบทั้งหมดก้าวขึ้นไปสู่จุดสูงสุดแทบทั้งนั้น แม้แต่โมสาร์ทก็ฝึกซ้อมเปียโนตั้งแต่เด็ก กว่าผลงานของเขาจะโด่งดังก็เป็นช่วงทึ่เขาอายุ 21 ปี ซึ่งเป็นเวลาฝึกซ้อมมายาวนานถึง 10 ปี 

            อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยนี้ก็ยังมีบุคคลอัจริยะตั้งแต่แรก ๆ แล้ว ยกตัวอย่างบุคคลที่มีภาวะออทิสติกออทิสติกสเปกตรัม ซาวองต์ (Autistic Savant) คือบุคคลออทิสติก ฯ ที่มีความสามารถพิเศษ ซึ่งมักพบว่ามีความสามารถพิเศษเฉพาะเจาะจงในบางด้าน หรืออาจมีความจำแบบพิเศษ ที่สามารถจำได้ทุกอย่างที่เรียนรู้ 

            แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำบางสิ่งบางอย่างเพียงอย่างเดียวแล้วจะประสบความสำเร็จ เพราะเอลเลน วินเนอร์ (Ellen Winner) นักจิตวิทยาชั้นนำผู้ศึกษาเด็กที่มีพรสวรรค์ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า "ไม่มีซาวองต์คนไหนเลย ที่กลายเป็นนักสร้างสรรค์ผู้ยิ่งใหญ่ที่พลิกโฉมวงการ" เนื่องจากการจะประสบความสำเร็จในขั้นนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยทักษะที่หลากหลาย

            หลายอาชีพต้องอาศัยการฝึกฝนซ้ำ ๆ ไม่ว่าจะเป็นนักหมากรุก แพทย์ผ่าตัด หรือนักกีฬา บุคคลเหล่านี้เมื่อฝึกฝนไปถึงระดับเชี่ยวชาญแล้วจะมีการปรับตัวตามกฎใหม่ได้ยากกว่าคนธรรมดา อาชีพบัญชีก็เป็นอีกหนึ่งในหลายอาชีพที่ยิ่งทำซ้ำ ยิ่งเชี่ยวชาญมากขึ้น แต่เมื่อนักบัญชีผู้ที่มีประสบการณ์สูงถูกขอให้ใช้กฎหมายลดหย่อนภาษีแบบใหม่ในงานวิจัยครั้งหนึ่ง พวกเขากลับทำผลงานได้แย่กว่ามือใหม่เสียอีก

            ดีน คีท ไซมอนตัน (Dean Keith Simonton) นักจิตวิทยาและนักวิจัยด้านความคิดสร้างสรรค์คนสำคัญตั้งข้อสังเกตว่า "แทนที่จะหมกมุ่นอยู่กับหัวข้อแคบ ๆ ผู้ประสบความสำเร็จด้านความคิดสร้างสรรค์ต่างสนใจในเรื่องกว้างขวาง บ่อยครั้งความกว้างนี้ช่วยให้เกิดความรู้ที่ไม่อาจรู้ได้ในความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพียงอย่างเดียว" ยกตัวอย่าง สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ที่ลงเรียนวิชาประดิษฐ์ตัวอักษรโดยที่เขาไม่รู้ว่าวันหนึ่งวิชานี้จะเป็นส่วนสำคัญในการออกแบบตัวอักษรที่สวยงามกับเครื่องแมคอินทอชในอนาคต

            คริสโตเฟอร์ คอนนอลลี (Christopher Connolly) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาทางจิตวิทยาในประเทศอังกฤษ กล่าวว่า "วิ่งบนทางด่วน 8 เลน แทนที่จะเดินตามทางเลนเดียว คนเหล่านี้จะมีขอบเขตทักษะกว้างไกล" ดังนั้นมันจึงไม่สายเกินไปที่เราจะพัฒนาโครงข่ายประสาทในด้านต่าง ๆ ที่เราสนใจให้เติบโตมากขึ้น เนื่องจากสมองของเรามีความยืดหยุ่นและมันสามารถพัฒนาได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ขอให้เรามุ่งมั่น มีความพยายาม ไม่ท้อถอย

แม้คนเราจะเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้เสมอ

อ้างอิง

Epstein, D. (2019). Range: Why Generalists Triumph in a Specialized World. NY: Riverhead Books.

Ericsson, K., Krampe, R., & Tesch-Romer, C. (1993). The Role of Deliberate Practice in the Acquisition of Expert Performance. Psychological Review. 100(3): 363-406.

Perry, B., & Winfrey, O. (2021). What Happened to You?: Conversations on Trauma, Resilience, and Healing. NY: Flatiron Books: An Oprah Book.

คาลอส บุญสุภา. (2564). มุ่งมั่น ฝึกฝน และทดลองทำให้หลากหลายเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จ. https://sircr.blogspot.com/2021/07/blog-post_25.html

ความคิดเห็น