อาการซึมเศร้าเป็นสัญญาณให้เราทิ้งอัตตาและกลับมาเชื่อมต่อกับปัจจุบันขณะหรือความเป็นจริงตรงหน้า
ทุกการกระทำของเราที่แสดงออกมาล้วนแล้วแต่เกิดภายใต้อารมณ์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ ความสุข ความหวัง ความเศร้า ความกังวล ความเครียด หรือคับแค้นใจ โดยเฉพาะอารมณ์เชิงลบ ที่เป็นตัวแปรทางบุคลิกภาพเกี่ยวข้องกับการเผชิญประสบการณ์เชิงลบและการมีมุมมองต่อตนเองในทิศทางลบ ยกตัวอย่างเช่น ความเครียด ความวิตกกังวล ความเหงา หรือความโดดเดี่ยว
ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์เชิงบวกหรือเชิงลบล้วนมีหน้าที่ในตัวของมันเอง เช่น ความกลัว และความขยะแขยง ตามมุมมองเชิงวิวัฒนาการ อารมณ์ดังกล่าวมีหน้าที่ไว้เพื่อให้มนุษย์มีชีวิตรอด ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเราอยู่ในอันตรายไม่ว่าจะเป็นการเผชิญหน้ากับสัตว์ป่า หรือได้กลิ่นขยะแขยงจากอาหารที่เสีย รวมไปถึงสถานการณ์อันตรายและการคุกคามในรูปแบบอื่น ๆ
อาการซึมเศร้าก็คือรูปแบบพฤติกรรมที่แสดงออกเมื่อเราอยู่ภายใต้การครอบงำของอารมณ์เศร้ามาเป็นระยะเวลาหนึ่ง จิตใจของเราจึงพยายามทำทุกวิถีทางให้เราหลุดออกจากอารมณ์ดังกล่าวให้จงได้ กระบวนการหนึ่งที่มันเลือกใช้ก็คือการส่งสัญญาณให้เราเดินออกจากความคิดของตัวเอง โดยการปล่อยวางความกังวลที่มีต่ออดีต อนาคต หรือการตีความปัจจุบันอันไม่สมเหตุสมผล และกลับมาเชื่อมต่อกับปัจจุบันทื่มีเหตุมีผลอีกครั้งหนึ่ง
กล่าวคือ จิตใจของเราเป็นเหมือนกับตัวเราอีกคนหนึ่ง ผมมักเรียกว่า Ego ตัวที่สอง (Second Ego) เมื่อจิตสำนึกของเราในปัจจุบันกำลังพากายหยาบตัวนี้ไปสู่หายนะด้วยความคิดเชิงลบ หรือการดำเนินชีวิตที่ผิดปกติไปจากความต้องการทางจิตใจ จิตใจของเรา หรือ Ego ตัวที่สอง จะส่งสัญญาณต่าง ๆ ออกมาให้เราตระหนักถึงหนทางที่ถูกต้อง
ไม่ว่าจะเป็นการหาเงินให้ได้ตามเป้าหมาย เพื่อทำให้เรารู้สึกปลอดภัย การมีวิถีชีวิตที่พึงพอใจ หรือการสร้างสถานะทางสังคมที่ได้รับการยอมรับ การได้รับการชื่นชมเพื่อกระตุ้นการเห็นคุณค่าในตนเอง หรือความมั่นใจในตัวเอง ฯลฯ ความต้องการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ลึก ๆ แล้วเราทุกคนต่างปรารถนาเหมือนกันทั้งสิ้น
อาการซึมเศร้าคือรูปแบบพฤติกรรมที่แสดงออกเมื่อเราอยู่ภายใต้การครอบงำของอารมณ์เศร้า |
ผมอาจเรียกสิ่งนี้ว่า Ego ตัวที่สอง บางคนอาจจะเรียกว่าจิตใจ อารมณ์ สัญชาตญาณ หรือแดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) นักจิตวิทยาชาวอิสราเอล-อเมริกัน ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ Thinking Fast and Slow อาจเรียกสิ่งนี้ว่า "ระบบคิดเร็ว" ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือมันมีอะไรบางอย่างในจิตใจที่เราไม่สามารถควบคุมได้ และสิ่งนี้มันพยายามส่งสัญญาณบางอย่างกับเราอย่างแน่นอน
เมื่อเราเผชิญกับความโศกสลด ความเศร้า หรือความหดหู่อย่างรุนแรง ความคิดของเรามักจะยุ่งเหยิง ไม่สมเหตุสมผล ยกตัวอย่างเช่น ฝนตก ผู้ที่กำลังโศกเศร้าอาจจะคิดว่าโชคชาตาทำร้ายเรา ฝนจึงตกลงมา นั่นจึงเป็นเหตุที่เราแทบไม่เคยเห็นใครหลุดพ้นจากภาวะซึมเศร้าด้วยการใช้ความคิดได้เลย
ดังนั้น แทนที่จะเอาแต่คิด เราควรกลับมาหาร่างกายของเราอีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การออกกำลังกาย การทำความสะอาดบ้าน การหาผู้ให้คำปรึกษาที่จะช่วยให้เรามีความคิดที่สมเหตุสมผลมากขึ้น หรือการสร้างความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ
แน่นอนในบางกรณี อาการซึมเศร้าอย่างรุนแรงอาจกระชากให้เราหลุดออกจากโลกความเป็นจริง เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น เราจะทิ้งเรื่องราวของตัวเองทันที แอ็คฮาร์ท เทอเลอ ผู้เขียน The Power of Now ได้เล่าประสบการณ์ตัวเองที่ครั้งหนึ่งเขาเคยเผชิญกับอาการอาการซึมเศร้า เขาได้หลุดเข้าไปสู่วงโคจรแห่งความคิดที่ยากจะกลับคืนมาได้ แต่ทันใดนั้นเขาก็ตาสว่างและความคิดก็หยุดลง เขาเขียนว่า
"การหลุดออกจากความคิดต้องเป็นไปอย่างสมบูรณ์ จนทำให้ตัวตนจอมปลอมและตรอมทุกข์ของเราพังทลายลงในทันที เหมือนกับตุ๊กตาเป่าลมที่ถูกถอดปลั๊ก"
สรุปก็คือ อาการซึมเศร้าเป็นสัญญาณให้เราทิ้งอัตตาและกลับมาเชื่อมต่อกับปัจจุบันขณะหรือความเป็นจริงตรงหน้า มันเชิญชวนใช้ชีวิตกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้มากขึ้น และเดินออกจากความคิดของเราเองซึ่งทำได้แค่มองย้อนอดีต หรือกังวลถึงอนาคต หากเรามีภาวะซึมเศร้ารุนแรง อาจต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญให้เชื่อมต่อกับปัจจุบันหรือความเป็นจริง
แต่สำหรับภาวะซึมเศร้าอ่อน ๆ เราสามารถใช้แนวทางต่าง ๆ เพื่อเยียวยาตัวเอง เช่น ออกกำลังกาย หากิจกรรมที่ยุ่งเพื่อทำให้หยุดคิด หรือสนใจผู้อื่น โดยเฉพาะการสนใจผู้อื่น ครั้งหนึ่ง อัลเฟรด แอดเลอร์ (Alfred Adler) เคยกล่าวกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าว่า "คุณจะหายดีได้ภายในสิบสี่วัน ถ้าคุณปฏิบัติตามคำแนะนำนี้ นั่นคือให้คุณพยายามคิดทุกวันว่าจะทำอย่างให้ผู้อื่นรู้สึกพึงพอใจ"
แอดเลอร์ไม่ได้แนะนำให้เราเอาอกเอาใจคนอื่น จนทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเอง แต่สิ่งที่แอดเลอร์กำลังแนะนำก็คือ การทำสิ่งดี ๆ ให้กับผู้อื่น หรือการมอบสิ่งดี ๆ ให้กับผู้อื่น ซึ่งเป็นวิธีการพัฒนาตัวเองที่สำคัญของสาขาจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) ซึ่งสอดคล้องกับบทความเรื่อง "ฟื้นจากบาดแผลทางจิตใจ ตามแบบบรรพบุรุษของเราในอดีต" ที่ผมเขียนเกี่ยวกับการเยียวบาดแผลทางจิตใจที่บรรพบุรุษของเราใช้กันในอดีต
เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่งที่บรรพบุรุษของเราใช้กัน ก็คือ "ความสัมพันธ์" ถ้าในชีวิตของเรามีเพื่อนฝูง ครอบครัว และคนอื่น ๆ ที่เข้มแข็งก็นับได้ว่าเรามีสภาพแวดล้อมที่ช่วยในการเยียวยาโดยธรรมชาติ เราเยียวยาได้ดีที่สุดเมื่ออยู่กับกลุ่มคน กล่าวคือ การมีความสัมพันธ์ที่ดีคือการที่เรารู้จักให้และรับ
สิ่งนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญให้เราสามารถหลุดพ้นจากภาวะซึมเศร้าได้
อ้างอิง
Meurisse, T. (2018). Master Your Emotions: A Practical Guide to Overcome Negativity and Better Manage Your Feelings. แปลไทยโดย สุญญาตา เมี้ยนละม้าย. กรุงเทพฯ: Bookscape.
คาลอส บุญสุภา. (2566). ฟื้นจากบาดแผลทางจิตใจ ตามแบบบรรพบุรุษของเราในอดีต. https://sircr.blogspot.com/2023/06/blog-post.html
คาลอส บุญสุภา. (2566). เรียนรู้และเข้าใจอารมณ์ (Emotions) ของตัวเองให้ดีมากขึ้น เพื่อชีวิตที่มีความสุข. https://sircr.blogspot.com/2023/03/blog-post_23.html
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น