เรากำลังเข้าสู่ยุคสมัย ที่เด็กมีทักษะทางสังคมแย่ลงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ทักษะทางสังคมยังเป็นการรับรู้ เรียนรู้ และประเมินอารมณ์จะผู้คน เพื่อที่จะสามารถควบคุมอารมณ์ การตัดสินใจ การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และการควบคุมตัวเองได้อย่างเหมาะสม

            ทักษะทางสังคมเป็นหนึ่งในทักษะที่คุณหมอจำนวนมากต่างเป็นห่วงเด็กรุ่นใหม่ เหตุผลก็เพราะว่าทุกวันนี้เราพบเห็นเด็ก ๆ ใช้เวลาอยู่กับหน้าจออิเล็กทรอนิกมากกว่าการใช้เวลาอยู่ต่อหน้ากันและกัน และไม่เพียงแค่การมีทักษะทางสังคมที่ลดลงเท่านั้นที่น่าเป็นห่วง แต่สิ่งที่จะตามมาจากการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพที่จะลดลงตามไปด้วย ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักทักษะนี้ก่อน 

            ทักษะทางสังคมคือ ทักษะที่มนุษย์ใช้เพื่อสื่อสารและโต้ตอบระหว่างกันและกันทั้งการใช้วาจา และอวัจนภาษา ซึ่งการสื่อสารนั้นไม่ใช่เพียงแค่การสนทนาอย่างตรงไปตรงมาเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงถึงความคิด และความรู้สึกด้วย นอกจากนั้นการใช้คำพูดยังมีรูปแบบที่ซับซ้อนเบื้องหลัง เช่น การใช้น้ำเสียง ปริมาณคำพูด และคำพูดที่เลือกใช้ รวมไปถึงความละเอียดอ่อนของการใช้ภาษากาย ท่าทางการสื่อสารอื่นที่ไม่ใช่คำพูด

            ดังนั้นการมีทักษะทางสังคมจึงไม่ใช่แค่ความสามารถในการสื่อสารเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำความเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับอีกฝ่าย เช่น อารมณ์ วิธีพูด วิธีคิด ท่าทาง ท้อยคำ น้ำเสียง ผ่านกระบวนการคิดของเราเอง จะเห็นว่ากระบวนการนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะการมีทักษะทางสังคมที่เหมาะสมสามารถสร้างคุณภาพชีวิตให้กับทั้งตัวเองและผู้อื่นในสังคมได้อย่างดี

            นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณหมอจำนวนมากจึงเป็นห่วงการพัฒนาทักษะทางสังคมที่ลดลงของเด็กสมัยนี้ ในหนังสือ Permission to Feel: Unlocking the Power of Emotions to Help Our Kids, Ourselves, and Our Society Thrive ที่เขียนโดย มาร์ค แบร็คเก็ตต์ (Marc Brackett) นักจิตวิทยาชื่อดังได้อธิบายว่า ยิ่งเราใช้เวลาสื่อสารผ่านจออิเล็กทรอนิก เราก็จะใช้เวลาสื่อสารเห็นหน้าหรือแม้แต่ได้ยินน้ำเสียงน้อยลง โอกาสที่เราจะได้ฝึกสังเกต อ่าน วิเคราะห์สัญญาณอัวจนภาษาก็ย่อมลดลงตามไปด้วย 

ทักษะทางสังคมยังเป็นการเข้าใจอารมณ์ วิธีพูด วิธีคิด ท่าทาง ท้อยคำ น้ำเสียงของผู้อื่นผ่านกระบวนการคิด

            ในงานวิจัยชิ้นหนึ่ง เด็กนักเรียนเกรดหก (ป.6) ซึ่งไม่มองหน้าจอสมาร์ตโฟนหรือจอดิจิทัลแบบอื่นเลยเป็นเวลาห้าวัน สามารถอ่านอารมณ์ได้ดีกว่าเพื่อน ๆ ในโรงเรียนเดียวกัน ซึ่งยังคงใช้เวลานับชั่วโมงในแต่ละวันจ้องมือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ หรืออื่น ๆ 

            การใช้เวลาผ่านจออิเล็กทรอนิกส์ไม่ใช่อุปสรรคเพียงเดียวที่มาพร้อมกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน มาร์ค แบร็คเก็ตต์ ยังเล่าให้ฟังถึงกรณีของครูใหญ่ของโรงเรียนในลอสแอนเจลิส ที่เล่าถึงการที่นักเรียนของเธอถอดรหัสสีหน้าได้ยากเป็นพิเศษ เนื่องจากความนิยมใช้โบท็อกซ์  ซึ่งมีมากเป็นพิเศษในบ้านเกิดของเธอ 

            เหตุผลก็เพราะว่าเราอ่านความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่งจากหน้าผาก คิ้ว หางตา และมุมปาก แต่การใช้โบท็อกซ์จะทำให้บริเวณดังกล่าวไม่ขยับเขยื้อนเพราะสารเคมี ในกรณีนี้อาจเกิดขึ้นได้น้อยในสังคมเรา แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือการมีโอกาสที่เด็กจะอ่านความรู้สึกผู้อื่นลดน้อยลงกว่าแต่ก่อนอย่างเท่าทวี

            การรับรู้การแสดงออกทางอารมณ์ของอีกฝ่ายเป็นสิ่งที่สำคัญ และเป็นกระบวนการที่เริ่มมาตั้งแต่วัยเด็ก ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นธรรมชาติของเราที่จะให้ความสนใจข้อมูลอารมณ์ด้านลบมากกว่าด้านบวก เพราะเมื่อครั้งเรายังเป็นเด็ก เราพึ่งพาปฏิกิริยาของผู้อื่นเพื่อประเมินอันตรายในแต่ละสถานการณ์ 

            นี่คือเหตุผลที่เด็ก ๆ มองหน้าพ่อแม่ก่อนที่จะทดลองทำอะไรที่อาจมีความเสี่ยง เพราะพวกเขาจะพยายามมองหาเบาะแสที่จะบอกว่าจริง ๆ แล้วสถานการณ์ตรงหน้ามันเสี่ยงมากแค่นั้น

            ถึงอย่างนั้นพวกเราบางคนก็มีแนวโน้มที่จะรับรู้อารมณ์ด้านลบมากกว่าคนอื่น เมื่อดูใบหน้าที่เป็นปกติ คนที่ซึมเศร้ามีแนวโน้มที่จะอ่านใบหน้านั้นเศร้ามากกว่าคนที่มีความสุข ผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลมีแนวโน้มที่จะมองเห็นความกลัว คนที่เติบโตมาในบ้านที่พ่อแม่ทะเลาะกันก็มักเห็นความโกรธ เช่นเดียวกับเด็กที่ขี้โมโหจะมองเห็นเจตนาร้ายหรือความกลัวมากกว่าเด็กทั่วไป

            นักวิทยาศาสตร์ด้านสมองสามารถระบุได้ด้วยซ้ำว่าความเอนเอียงเหล่านี้ อยู่ในสมองส่วน Perigenual Anterior Cingulate Cortex (pgACC) ซึ่งนอกเหนือจากมันจะช่วยในการรับรู้ เรียนรู้และประเมินอารมณ์เชิงลบและเชิงบวกจากคนรอบข้างแล้ว ยังเป็นส่วนที่มีส่วนในการควบคุมอารมณ์ความรู้สึก การตัดสินใจ การเห็นใจผู้อื่น และการควบคุมความอยากอีกด้วย

            ข้อสังเกตจากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าทักษะทางสังคมไม่ใช่เพียงแค่การตระหนักถึงวิธีที่เราสื่อสารกับผู้อื่น คำพูดที่แสดงออกไป และวิธีการปรับปรุงการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น แต่ยังเป็นการรับรู้ เรียนรู้ และประเมินอารมณ์จะผู้คน เพื่อให้เราสามารถควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก การตัดสินใจ และการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น รวมไปถึงการควบคุมตัวเองได้อย่างเหมาะสมด้วยเช่นกัน

            ผู้อ่านทุกคนคงจะเห็นถึงความสำคัญของทักษะทางสังคม รวมไปถึงความน่ากังวลใจของยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงนี้แล้ว ในอดีตพวกเรามีโอกาสที่จะสื่อสารหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นมากกว่าเด็กสมัยนี้หลายเท่า ซึ่งเป็นผลดีอย่างมากต่อพวกเรา แต่ในปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่เอาเวลาไปใช้กับหน้าจออิเล็กทรอนิกมากขึ้น นี่ไม่นับเนื้อหาสื่อต่าง ๆ ที่เด็กเลือกเสพที่ในหลายกรณีไม่เหมาะสมด้วย

            อย่างไรก็ตามผมไม่ได้หมายความว่าอนาคตของเราจะเต็มไปด้วยความสิ้นหวัง เพราะสมองของมนุษย์มีความยืดหยุ่น (Neuroplasticity) ความยืดหยุ่นของสมอง หรือความสามารถในการปรับเปลี่ยนของสมอง โดยสมองจะถูกกระตุ้นผ่านประสบการณ์บางอย่าง และปลี่ยนแปลงไปตามการใช้งาน ยกตัวอย่าง โครงข่ายประสาทที่เกี่ยวข้องกับการเล่นเปียโนจะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อมันถูกกระตุ้นโดยเด็กน้อยที่ฝึกเล่นเปียโน

            สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ เราสามารถซ่อมแซมในส่วนที่ขาดโดยการฝึกฝนหรือเพิ่มเติมทักษะทางสังคมได้ นี่เป็นข่าวดี เมื่อเด็กเข้าไปศึกษาในโรงเรียน พวกเขาจะเจอสังคมขนาดย่อม ได้ทดลองสิ่งต่าง ๆ เรียนรู้ความผิดพลาดและความล้มเหลว ซึ่งครูสามารถเป็นสื่อกลางหรือผู้อำนวยความสะดวกให้เด็กได้แสดงความคิด อ่าน วิเคราะห์ และประเมินอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น ดังนั้นต่อให้เด็กใช้เวลากับหน้าจออิเล็กทรอนิกมากขึ้น พวกเขาก็ยังมีประสบการณ์ทางสังคมอยู่บ้าง 

            แต่สิ่งที่ต้องระวังก็คือ การปล่อยให้เด็กใช้เวลากับหน้าจออิเล็กทรอนิกนานจนเกินไป ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง และกำลังเกิดขึ้นในหลายครอบครัว พ่อแม่หลายคนต้องใช้เวลาว่างทำงานจนไม่มีเวลาดูแลลูกของตัวเอง ส่งผลให้พวกเขาเลือกใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกเป็นเครื่องทุ่นแรง โดยไม่ได้คำนึงถึงสิ่งที่จะตามมา 

            วิธีแก้ไขวิกฤตนี้นอกเหนือจากการตระหนักรู้ของครอบครัวแล้ว ยังต้องอาศัยการช่วยเหลือของหลาย ๆ ฝ่ายเพื่อหาความสมดุลระหว่างการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกกับการมีกิจกรรมทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาคชุมชน โรงเรียน สังคม ไปจนถึงการเมืองก็สามารถพัฒนากลไกเครื่องมือต่าง ๆ เข้ามาแทรกแซงชีวิตความเป็นอยู่ที่กำลังจะนำไปสู่

ความวิกฤตทางด้านทักษะทางสังคมของเด็กไทยอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

อ้างอิง

Brackett, M. (2019). Permission to Feel: Unlocking the Power of Emotions to Help Our Kids, Ourselves, and Our Society Thrive. NY: Celadon Books.

คาลอส บุญสุภา. (2566). ความยืดหยุ่นของสมอง (Neuroplasticity) ทำให้เราพัฒนาได้อย่างไม่มีจุดสิ้นสุด. https://sircr.blogspot.com/2023/04/neuroplasticity.html

ความคิดเห็น