ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์: เครื่องมือสำหรับครูในยุคปัจจุบัน (Freud's Psychoanalytic Theory: A Tool for Modern Educators)
ศิลปะช่วยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สำรวจและแสดงออกสิ่งที่อยู่ในจิตไร้สำนึกอย่างสร้างสรรค์
ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เป็นนักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์ที่หลายท่านรู้จัก หรืออย่างน้อยก็เคยได้ยินชื่อมาอย่างแน่นอน แนวคิดของเขามักจะมีความขัดแย้งและเป็นที่ถกเถียง แต่ทฤษฎีของฟรอยด์ยังคงมีอิทธิพลอย่างมากในหลาย ๆ สาขาวิชา รวมถึงวงการการศึกษาก็เป็นหนึ่งในสาขาที่ทฤษฎีจิตวิเคราะห์สามารถประยุกต์ใช้ได้ บทความนี้จะพาผู้อ่านทุกท่านไปสำรวจกันว่าเราสามารถประยุกต์ทฤษฎีของฟรอยด์อย่างไร เพื่อใช้ในการพัฒนาวิธีการสอนที่เหมาะสม และการประยุกต์ใช้ทฤษฎีเพื่อเข้าใจและช่วยเหลือนักเรียนอย่างเหมาะสมได้
เราสามารถทำความเข้าใจนักเรียนเบื้องต้นจาก ทฤษฎีพัฒนาการทางบุคลิกภาพ (Psychosexual Developmental Stages) ของฟรอยด์ที่ประไปด้วยพัฒนาการแต่ละขั้นประกอบด้วย ขั้นปาก (Oral Stage), ขั้นทวารหนัก (Anal Stage), ขั้นอวัยวะเพศ (Phallic Stage), ขั้นหยุดพัฒนา (แฝง) (Latency Stage) และขั้นวัยรุ่น (Genital Stage) แต่ละช่วงมีความสำคัญต่อพัฒนาการทางบุคลิกภาพของเด็ก การที่ครูเข้าใจพัฒนาการเหล่านี้จะช่วยให้ครูสามารถปรับวิธีการสอนและการปฏิบัติต่อนักเรียนให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย
ตัวอย่างเช่น ในช่วงหยุดพัฒนา (Latency Stage) ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กเริ่มมีความสนใจในเรื่องการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะทางสังคม ครูสามารถใช้กิจกรรมกลุ่มเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกันและการพัฒนาความสามารถในการทำงานเป็นทีม หรือช่วงวัยรุ่น (Genital Stage) นักเรียนจะสนใจเพศตรงข้ามและพยายามทำตัวเองให้โดดเด่นขึ้นมา ครูสามารถตอบสนองความต้องการดังกล่าวในทิศทางที่ถูกต้องได้
นอกจากนั้นฟรอยด์ยังเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ กลไกการป้องกันตัวเอง (Defense Mechanisms) ซึ่งนักเรียนอาจใช้เพื่อจัดการกับความเครียดและความกดดันในชีวิตประจำวัน การเข้าใจกลไกเหล่านี้สามารถช่วยครูในการระบุและแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในชั้นเรียน ยกตัวอย่างของกลไกการป้องกันตัวเองที่พบได้บ่อยในนักเรียน
การปฏิเสธความจริง (Denial) นักเรียนอาจปฏิเสธความจริงเกี่ยวกับผลการเรียนที่ไม่ดี ครูสามารถช่วยนักเรียนเผชิญกับความจริงและพัฒนาวิธีการแก้ไขปัญหา
การโยกย้าย (Displacement) นักเรียนอาจแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวต่อเพื่อนในชั้นเรียนเนื่องจากความเครียดจากบ้าน ครูสามารถใช้การสนทนาส่วนตัวเพื่อเข้าใจปัญหาและให้การสนับสนุนที่เหมาะสม
การถอยหลังกลับ (Regression) นักเรียนชั้นมัธยมที่กำลังเผชิญกับความเครียดจากการสอบปลายภาค กลับไปทำตัวเหมือนเด็กเล็กๆ เช่น การร้องไห้หรือขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่ในเรื่องง่ายๆ ที่ปกติจะทำเองได้
การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง (Rationalization) นักเรียนที่ไม่ได้ทำการบ้านส่งและอ้างว่า "มันไม่สำคัญและไม่มีผลต่อคะแนนสุดท้าย" แม้ว่าจะรู้ว่าการบ้านนั้นมีความสำคัญ
การกดดันอารมณ์ไปทางอื่น (Sublimation) นักเรียนที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวและมีความโกรธง่าย ได้รับการสนับสนุนให้เข้าร่วมทีมกีฬา ซึ่งช่วยให้เขาปล่อยพลังงานและความโกรธในทางที่สร้างสรรค์แทนที่จะก่อให้เกิดปัญหาในโรงเรียน
ผู้อ่านคงเห็นแล้วว่าทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์สามารถนำมาเข้าใจพฤติกรรมของนักเรียนได้อย่างดี ต่อไปผมจะนำเสนอการพัฒนาวิธีการสอนที่เหมาะสม และการประยุกต์ใช้ทฤษฎีเพื่อเข้าใจและช่วยเหลือนักเรียน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อวงการการศึกษา และเป็นเครื่องมือที่ครูสามารถนำไปพัฒนาและส่งเสริมให้นักเรียนเติบโตอย่างมีคุณภาพต่อไป
การพัฒนาวิธีการสอนที่เหมาะสม
ฟรอยด์เน้นถึงความสำคัญของ จิตไร้สำนึก (The Unconscious Mind) ซึ่งมีผลต่อการเรียนรู้และพฤติกรรมของนักเรียน การเข้าใจว่ามีปัจจัยที่อยู่ใต้สำนึกที่มีผลต่อการเรียนรู้สามารถช่วยครูพัฒนาวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การใช้เทคนิคการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการสะท้อนความคิดและการแสดงออกทางอารมณ์ เช่น การเขียนบันทึกประจำวันหรือการใช้ศิลปะในการเรียนรู้ ซึ่งสามารถช่วยให้นักเรียนเข้าใจตนเองและพัฒนาทักษะทางอารมณ์ ยกตัวอย่างเช่น
1) การเขียนบันทึกประจำวัน (Journal Writing) เป็นวิธีที่ดีในการช่วยให้นักเรียนสะท้อนความคิดและอารมณ์ของตนเอง โดยให้นักเรียนเขียนเกี่ยวกับความรู้สึก ประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน การทำเช่นนี้จะช่วยให้นักเรียนได้รู้จักตนเองมากขึ้น และช่วยระบายความเครียดหรือความกังวลที่อาจมีอยู่ในจิตไร้สำนึก นอกจากจะช่วยในการสะท้อนความคิดและอารมณ์แล้ว การเขียนบันทึกยังช่วยพัฒนาทักษะการเขียนและการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการเรียนรู้ (Pennebaker & Chung, 2011)
2) การใช้ศิลปะในการเรียนรู้ (Art Integration) เช่น การวาดภาพ การปั้น หรือการแสดงละคร เป็นวิธีที่ช่วยให้นักเรียนสามารถแสดงออกทางอารมณ์และความคิดในแบบที่ไม่สามารถทำได้ด้วยคำพูด ศิลปะช่วยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สำรวจและแสดงออกสิ่งที่อยู่ในจิตไร้สำนึกอย่างสร้างสรรค์ นอกจากนั้นครูสามารถออกแบบให้นักเรียนทำงานร่วมกันโดยใช้ศิลปะ เพราะการใช้ศิลปะในชั้นเรียนยังช่วยพัฒนาทักษะการคิดสร้างสรรค์และการทำงานร่วมกัน นักเรียนสามารถทำงานเป็นกลุ่มในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ซึ่งช่วยส่งเสริมการทำงานเป็นทีมและการสื่อสาร (Efland, 2002)
ศิลปะช่วยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สำรวจและแสดงออกสิ่งที่อยู่ในจิตไร้สำนึกอย่างสร้างสรรค์ |
3) การฝึกการสะท้อนตนเอง (Self-reflection Exercises) สามารถทำได้โดยการการตั้งคำถามเกี่ยวกับความรู้สึก ความคิด และประสบการณ์ส่วนตัวของนักเรียน และให้นักเรียนตอบคำถามเหล่านี้ จะช่วยให้นักเรียนได้สะท้อนความคิดและอารมณ์ของตนเอง และเข้าใจตนเองมากขึ้น หรือใช้เทคนิคการสะท้อนตนเองในชั้นเรียน ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การจัดกิจกรรมกลุ่มที่ให้นักเรียนได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนความรู้สึก การใช้เทคนิคการวิเคราะห์ภาพยนตร์หรือวรรณกรรมที่มีเนื้อหาซับซ้อน เพื่อให้นักเรียนได้สะท้อนและวิเคราะห์ความรู้สึกของตัวละครและเปรียบเทียบกับตนเอง (Rodgers, 2002)
4) การสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนความปลอดภัยทางอารมณ์ (Creating an Emotionally Safe Environment) ครูควรสร้างความไว้วางใจระหว่างตนเองกับนักเรียน เพื่อให้นักเรียนรู้สึกปลอดภัยในการแสดงออกทางอารมณ์และความคิด การเปิดโอกาสให้นักเรียนได้พูดคุยและแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระในชั้นเรียนจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ หรือจัดกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างทักษะการจัดการกับความเครียดและความวิตกกังวล เช่น การฝึกหายใจลึก ๆ การใช้เทคนิคการผ่อนคลาย และการเรียนรู้วิธีการสื่อสารทางอารมณ์ที่มีประสิทธิภาพ (Elias & Arnold, 2006)
การประยุกต์ใช้ทฤษฎีของฟรอยด์เพื่อเข้าใจและช่วยเหลือนักเรียน
นอกจากวิธีการสอนที่เหมาะสมแล้ว ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการช่วยเข้าใจและช่วยเหลือนักเรียนในปจจุบันโดยจะแบ่งประเด็นการประยุกต์ออกมาเป็น 4 ประเด็นที่สอดคล้องกันทั้งหมด และยังสอดคล้องกับการพัฒนาวิธีการสอนอย่างเหมะสมอีกด้วย ดังนั้นหากครูสามารถเข้าใจและช่วยเหลือนักเรียนอยู่ถูกต้องแล้ว ครูก็จะสามารถพัฒนาวิธีการสอนที่จะตอบสนองระหว่างกันและกันได้อีกด้วย (Freud, 1923; Westen, 1998) ทั้ง 4 ประเด็นมีรายละเอียดดังนี้
1) การเข้าใจปัญหาด้านอารมณ์และพฤติกรรม ในยุคปัจจุบัน เด็กๆ ต้องเผชิญกับความกดดันจากสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งสามารถนำไปสู่ความเครียดและปัญหาทางจิตใจ เช่น ความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า การใช้แนวคิดของฟรอยด์เกี่ยวกับกลไกการป้องกันตัวเอง เช่น การปฏิเสธความจริง (Denial) และการถ่ายโอน (Displacement) สามารถช่วยให้ครูและผู้ปกครองเข้าใจและจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ดีขึ้น
อย่างที่ผมได้กล่าวไว้ในหัวข้อการใช้วิธีการสอนที่เหมาะสม การใช้ศิลปะและกิจกรรมสร้างสรรค์เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยให้นักเรียนระบายความรู้สึกและเผชิญหน้ากับความเครียด การที่ครูสนับสนุนให้นักเรียนมีพื้นที่ในการแสดงออกทางอารมณ์สามารถช่วยลดปัญหาทางจิตใจและส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ได้
2) การเข้าใจความต้องการทางสังคมและการปรับตัว ในยุคที่การสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์มีบทบาทสำคัญ การพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ การใช้ทฤษฎีพัฒนาการทางบุคลิกภาพของฟรอยด์สามารถช่วยครูในการวางแผนการสอนและกิจกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาทักษะทางสังคมในแต่ละช่วงวัย
โดยเฉพาะปัญหาความสัมพันธ์ที่ทีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น ปัญหาการถูกรังแก (Bullying) และการขาดความมั่นใจในตนเอง การเข้าใจทฤษฎีของฟรอยด์เกี่ยวกับความขัดแย้งทางจิตใจและกลไกการป้องกันตัวเองสามารถช่วยให้ครูและผู้ปกครองให้การสนับสนุนและคำแนะนำที่เหมาะสมได้
3) การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม การเข้าใจความแตกต่างในมาตรฐานทางศีลธรรมและจริยธรรมที่สะท้อนในมาตรฐานทางสังคม (Superego) ของนักเรียนแต่ละคนสามารถช่วยให้ครูสามารถปรับวิธีการสอนและการปฏิบัติต่อนักเรียนได้อย่างเหมาะสม ดังนั้นครูสามารถส่งเสริมการเรียนรู้แบบรวมกลุ่ม การสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่สนับสนุนความหลากหลายและการทำงานร่วมกันสามารถช่วยให้นักเรียนรู้สึกยอมรับและได้รับการสนับสนุนในการพัฒนาตนเอง
4) การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและการสนับสนุนทางใจ ข้อนี้ไม่แตกต่างกับการพัฒนาวิธีการสอนที่เหมาะสมในข้อที่ 4 ครูสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและสนับสนุนให้นักเรียนสามารถแสดงออกทางอารมณ์ได้โดยไม่รู้สึกกดดัน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของฟรอยด์เกี่ยวกับการระบายความรู้สึกและการเผชิญหน้ากับความเครียด โดยสามารถใช้การให้คำปรึกษาและการสนับสนุนทางจิตใจ ครูสามารถใช้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการป้องกันตัวเองเพื่อให้คำปรึกษาและการสนับสนุนทางจิตใจแก่นักเรียนที่มีปัญหาทางอารมณ์หรือพฤติกรรม
การประยุกต์ใช้ทฤษฎีของฟรอยด์ในวงการการศึกษาในยุคปัจจุบันยังคงมีความสำคัญและมีประสิทธิภาพในการช่วยครูและผู้ปกครองเข้าใจและจัดการกับปัญหาด้านอารมณ์และพฤติกรรมของนักเรียน การนำแนวคิดเหล่านี้มาใช้ในการพัฒนาวิธีการสอน และการเข้าใจและช่วยเหลือนักเรียน เป็นกลไกการสนับสนุนทางจิตใจที่สามารถช่วยให้นักเรียนสามารถ
พัฒนาและเจริญเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพในสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
อ้างอิง
คาลอส บุญสุภา. (2565). ทฤษฎีพัฒนาการทางบุคลิกภาพของฟรอยด์ (Psychosexual Development). https://sircr.blogspot.com/2022/02/psychosexual-development.html
คาลอส บุญสุภา. (2560). กลไกการป้องกัน (Defense Mechanism). https://sircr.blogspot.com/2017/12/defense-mechanism.html
Efland, A. D. (2002). Art and Cognition: Integrating the Visual Arts in the Curriculum. Teachers College Press.
Elias, M. J., & Arnold, H. (2006). The Educator's Guide to Emotional Intelligence and Academic Achievement: Social-Emotional Learning in the Classroom. Corwin Press.
Freud, S. (1923). The Ego and the Id. The Hogarth Press and the Institute of Psycho-Analysis.
Pennebaker, J. W., & Chung, C. K. (2011). Expressive writing: Connections to physical and mental health. In H. S. Friedman (Ed.), The Oxford Handbook of Health Psychology (pp. 417-437). Oxford University Press.
Westen, D. (1998). The scientific status of unconscious processes: Is Freud really dead? Journal of the American Psychoanalytic Association, 46(4), 1061-1106.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น