ผลกระทบของ Gaslighting ที่หยั่งรากในกระบวนการทางวัฒนธรรมและสังคม

โครงสร้างวัฒนธรรมเปิดช่องให้เสียงที่ใหญ่กว่ากดทับประสบการณ์ฝ่ายที่สถานะด้อยกว่า gaslighting จึงกลายเป็นปัญหาหลายชั้น

            จากการศึกษาเกี่ยวกับ Gaslighting เพื่อเขียนบทความ ระวัง Gaslighting แบบไม่เจตนา: สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันในครอบครัวและองค์กร ทำให้ผมพบสิ่งที่น่าสนใจว่า Gaslighting ไม่ใช่เพียงสิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระทำในระดับบุคคลเท่านั้น แต่เป็นโครงสร้างทางสังคมโดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะการวิเคราะห์ล่าสุดยืนยันว่า Gaslighting คือกลไกควบคุมเชิงสังคม ซึ่งอาศัยโครงสร้างอำนาจทางเพศ เชื้อชาติ ชนชั้น และสถาบันเป็นตัวหนุนเสริม (Sweet, 2019)

            Gaslighting หมายถึงยุทธวิธีบิดเบือนความจริงอย่างเป็นระบบ เพื่อทำให้เหยื่อสงสัยการรับรู้ ความจำ และคุณค่าของตนเอง ซึ่งจากบทความที่แล้วผมได้เล่าเกี่ยวกับ ภาพยนต์ Gaslight (1944) ในบทความที่ผ่านมา (ทุกท่านสามารถกดเข้าไปอ่านได้จากลิ้งนี้เกรกอรีค่อย ๆ หรี่ไฟตะเกียงทุกคืน  แสงในบ้านริบหรี่ลง แต่เขาบอกโพลาว่า “เธอมองผิดเอง” จากนั้นซ่อนของสำคัญแล้วกล่าวหาภรรยาว่าวางผิดที่ พร้อมกันเพื่อนบ้านไม่ให้พูดถึงเรื่องไฟหรือเสียงบนห้องใต้หลังคา ผลคือโพลาเริ่มเชื่อว่าตัวเองหลงลืมและสติไม่ดี

            กรณีเกรกอรีและโพลาคือภาพย่อส่วนของ Gaslighting ระดับบุคคล แต่กลไกเดียวกันถูกหล่อเลี้ยงและขยายผลด้วยโครงสร้างสังคมไทยที่ผสานระบบชายเป็นใหญ่กับวัฒนธรรมลำดับชั้น "เกรงใจ" และ "รักษาหน้า” เสียงของผู้มีอำนาจ ผู้ชาย ผู้ใหญ่ หรือคนตำแหน่งสูงจึงมักถูกมอบสิทธิ์ในการกำหนดความจริงแทนเสียงของผู้น้อยได้โดยอัตโนมัติ คำพูดลดทอนอย่าง เช่น “คิดมากไปเอง” หรือ “เรื่องเล็กน้อย” จึงฟังดูสุภาพเหมาะสม เมื่อใช้กับผู้หญิง ลูกน้อง หรือเด็กนักเรียน 

            ในขณะที่การโต้แย้งกลับถูกตีความว่าเป็นการเสียมารยาทหรือท้าทายศักดิ์ศรี ผลลัพธ์คือวงจรบิดเบือนนี้ฝังอยู่ทั้งในครอบครัว ห้องเรียน และที่ทำงาน แม้หลายครั้งผู้พูดจะไม่ได้มีเจตนาร้ายชัดเจน แต่โครงสร้างวัฒนธรรมเปิดช่องให้เสียงที่ใหญ่กว่ากดทับประสบการณ์ฝ่ายที่สถานะด้อยกว่า Gaslighting จึงกลายเป็นปัญหาหลายชั้น เริ่มจากปากคำของบุคคลไปจนถึงแรงโน้มถ่วงของระบบสังคมที่ให้น้ำหนักกับอำนาจมากกว่าความจริง

ผู้ชาย ผู้ใหญ่ หรือคนตำแหน่งสูงมักถูกมอบสิทธิ์ในการกำหนดความจริงแทนเสียงของผู้น้อยโดยอัตโนมัติ

ผลกระทบหลายระดับของ Gaslighting

            1) ระดับปัจเจก ทฤษฎีสังคมวิทยาของ Sweet (2019) ชี้ว่าเมื่อตัวตนถูกทำให้สงสัยความทรงจำและการรับรู้ ซ้ำซ้อนกับอำนาจที่ไม่เท่าเทียม เหยื่อย่อมเสี่ยงต่อภาวะวิตก ซึมเศร้า และหมดไฟ  งานทบทวนวรรณกรรมสหสาขาในปี 2025 พบว่าการสูญเสียความไว้วางใจต่อตนเองเป็นผลกระทบระยะยาวที่รายงานบ่อยที่สุดในกลุ่มผู้ถูก Gaslighting ในที่ทำงาน 

            การสำรวจแรงงาน สหรัฐและยุโรปในปี 2024 ระบุว่ากว่า 58% ของพนักงานเคยเผชิญ Gaslighting ซึ่งสัมพันธ์กับความเสี่ยงหมดไฟ และภาวะลาออกจากงานที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ข้อมูลเชิงปริมาณสนับสนุนโดยการศึกษาในพยาบาลกรีซซึ่งพบว่ากลุ่มที่เผชิญพฤติกรรมดังกล่าวมีคะแนนหมดไฟและความตั้งใจลาออกสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างชัดเจน (Galanis et al., 2024)

            2) ระดับครอบครัวหรือความสัมพันธ์ใกล้ชิด โครงสร้างชายเป็นใหญ่ทำให้เสียงของผู้หญิงถูกลดทอน งานศึกษาของ WHO พบว่าผู้หญิงไทย 1 ใน 6 คนเคยเผชิญความรุนแรงจากคู่ครองตลอดชีวิต และ 60-68 % เป็นความรุนแรงเชิงจิตใจที่มักถูกกล่าวหาว่าคิดไปเอง การศึกษาคุณภาพในผู้รอดชีวิตพบว่าเหยื่อเรียกร้องให้หน่วยบริการสกัด Gaslighting เป็นความช่วยเหลืออันดับต้น ๆ เพราะการบิดเบือนทำให้พวกเธอไม่แน่ใจว่าเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นจริงหรือไม่

            3) ระดับองค์กร พฤติกรรมที่ผู้จัดการหรือหัวหน้างานบิดเบือนความจริง ทำลายวัฒนธรรมความไว้วางใจ งานศึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ปี 2024 พบว่าพนักงานที่ถูกผู้บังคับบัญชา Gaslighting มักรู้สึกว่าตนทำงานผิดตลอด และเกิดวงจรไม่ไว้วางใจกันภายในทีม ส่งผลให้ประสิทธิภาพตกต่ำและอัตราลาออกสูง (Goddard, 2024) ผลเชิงปริมาณจากภาคสุขภาพตอกย้ำว่า 57% ของพยาบาลในตัวอย่างที่เผชิญ Gaslighting มี ความตั้งใจลาออกสูง

            4) ระดับสังคมและสถาบัน เป็นพระเอกหลักในบทความนี้ กฎหมายที่ยึดหลักฐานกายภาพทำให้การละเมิดเชิงจิตใจถูกมองข้าม เหยื่อจำนวนมากจึงลังเลที่จะร้องเรียนและมักถูกเจ้าหน้าที่ปฏิเสธความรุนแรงว่าเป็นเรื่องในบ้าน (Sweet, 2019)  จากการวิเคราะห์บิ๊กดาต้าบน Facebook X และYouTube ใน ไทยและประเทศอื่น ๆ  พบคลื่น hate-speech และอคติต่อเพศหญิงบนโลกออนไลน์เพิ่มสูง อีกทั้งอัลกอริทึมยังช่วยขยายวาทกรรมเชิงลบเพิ่มขึ้น ผลลัพธ์คือการลดทอนและบิดเบือนเสียงประสบการณ์ของผู้หญิงและกลุ่มชายขอบในพื้นที่สาธารณะเป็น Gaslighting เชิงสถาบันรูปแบบใหม่ที่ฝังตัวในโลกดิจิทัล

            กล่าวคือ เมื่อกลไกทางกฎหมายยังวัดความรุนแรงแค่รอยช้ำบนร่างกาย และแพลตฟอร์มดิจิทัลยังปล่อยให้อัลกอริทึมเร่งปริมาณถ้อยคำลดทอนทางเพศ ความจริงของเหยื่อจึงถูกกลบซ้ำสอง ครั้งแรกในบ้านหรือที่ทำงาน ครั้งที่สองในกระบวนการยุติธรรมและสื่อสาธารณะ ผลลัพธ์คือการ Gaslighting เชิงสถาบัน ที่ทำให้ผู้ถูกกระทำสงสัยประสบการณ์ตัวเองและลังเลจะร้องทุกข์ การแก้ไขจึงต้องขยับจากการฟังเหยื่อเป็นปรับระบบ

            จากระดับทั้งหมดที่ทุกท่านเห็นว่า Gaslighting จึงไม่ใช่เพียงเล่ห์จิตวิทยาระหว่างคนสองคน แต่คือกลไกควบคุมที่ตอกย้ำลำดับอำนาจของสังคมทั้งกว้างและลึก หากปล่อยให้ดำเนินไปโดยไร้การตรวจสอบ ผลลบจะลุกลามจากบาดแผลในใจเหยื่อสู่บรรยากาศทำงานที่บิดเบี้ยว และบั่นทอนหลักความยุติธรรมระดับชาติ 

            การหยุดวงจรนี้จึงต้องลงมือพร้อมกันทุกชั้น เริ่มจากการรู้เท่าทันและตั้งขอบเขตของแต่ละคน ขยับสู่ครอบครัวที่รับฟังกันจริงจัง ต่อยอดเป็นองค์กรที่กล้าตั้งระบบฟีดแบ็กปลอดภัย และจบที่นโยบายสาธารณะที่ปกป้องผู้ถูกลดทอนเสียง เมื่อทุกวงจรเชื่อมแรงต้านในทิศเดียวกัน 

ความจริงย่อมมีพื้นที่ยืน และอำนาจที่แท้จริงจะกลับมาอยู่ในมือของเหตุผลและความเคารพซึ่งกันและกัน

อ้างอิง

Chuemchit, M., Chernkwanma, S., Rugkua, R., Daengthern, L., Abdullakasim, P., & Wieringa, S. E. (2018). Prevalence of intimate partner violence in Thailand. Journal of Family Violence, 33(5), 315–323. https://doi.org/10.1007/s10896-018-9960-9 

Darke, L., Paterson, H., & van Golde, C. (2025). Illuminating gaslighting: A comprehensive interdisciplinary review. Journal of Family Violencehttps://doi.org/10.1007/s10896-025-00805-4

Goddard, L. J. (2024). The silent erosion of confidence: Unpacking management gaslighting and its psychological impact. ResearchGatehttps://www.researchgate.net/publication/387508967_The_Silent_Erosion_of_Confidence_Unpacking_Management_Gaslighting_and_Its_Psychological_Impact

Peeren, S., McLindon, E., & Tarzia, L. (2024). “Counteract the gaslighting”: A thematic analysis of open-ended responses about what women survivors of intimate partner sexual violence need from service providers. BMC Women's Health, 24, 110. https://doi.org/10.1186/s12905-024-02943-1

Sweet, P. L. (2019). The sociology of gaslighting. American Sociological Review, 84(5), 851–875. https://doi.org/10.1177/0003122419874843

UN Women Asia Pacific. (2023). Big-data analysis on online misogyny in Bangladesh, Indonesia, the Philippines & Thailand. UN Women Asia and the Pacifichttps://asiapacific.unwomen.org/en/digital-library/publications/2023/03/big-data-analysis-on-hate-speech-and-misogyny

ความคิดเห็น