แนวทางแก้ไขโรคซึมเศร้า (Depression) ตอนที่ 2

            ในบทความนี้ผมจะลงลึกแต่ละปัจจัยที่กล่าวมาในบทความที่แล้ว  เพื่อให้ผู้ที่กำลังเผชิญหน้ากับโรคซึมเศร้าหรือภาวะซึมเศร้าสามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือคนรอบข้างสามารถนำวิธีการดังกล่าวไปดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ป้วยได้เช่นเดียวกัน 

            ผมมีความเชื่อว่า ความปราถนาที่จะช่วยเหลือหรือเอื้ออารี(ใจดี)กับผู้อื่น เป็นตัวแปรสำคัญในการต่อสู้กับโรคซึมเศร้า  หากคนรอบข้างเข้าอกเข้าใจ ใจดี เอื้ออารี กับผู้ป่วยมากขึ้น ก็จะทำให้ผู้ป่วยสามารถหลุดพ้นออกจากความเศร้าได้ นอกจากนั้นหากผู้ป่วยมีความปรารถนาที่จะช่วยเหลือเอื้ออารีต่อผู้อื่น ก็จะเป็นตัวแปรสำคัญในการที่ตนเองจะหลุดพ้นด้วยเช่นเดียวกัน ในหนังสือ Into the Magic shop ที่เขียนโดย Jame Doty เขาได้กล่าวถึงการศึกษาความเอื้ออารีว่า "ปัจจุบันพบว่าการแสดงความเอื้ออารีนั้นไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อผู้รับ แต่ยังส่งผลดีต่อผู้ให้อีกด้วย" 

            ดังนั้นการเอาชนะโรคซึมเศร้า จำเป็นต้องมีแนวทางแก้ไขแล้ว และการร่วมมือช่วยเหลือกันทั้งตัวผู้ป่วย คนรอบข้าง รวมไปถึงสังคมและภาครัฐ 

            จากบทความที่แล้ว ผมนำเสนอเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยกำหนดสมดุลของการแก้ปัญหาออกมา เพื่อแก้ไขทีละปัจจัย และจบลงด้วยการนำเสนอสมดุลการแก้ไขปัญหาโรคซึมเศร้าในตอนท้ายของบทความ ซึ่งในบทความนี้ผมจะลงลึกรายละเอียดทีละปัจจัยของสมดุลโรคซึมเศร้า โดยสมดุลดังกล่าวกำหนดขึ้นมาจากสาเหตุโรคซึมเศร้า ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ปัจจัยทางชีววิทยา

            โรคซึมเศร้าจะเกิดขึ้นพร้อมกับสารสื่อประสาทบางชนิดที่ลดลง  โดยสารสื่อประสาทที่มีความสอดคล้องมากที่สุดกับโรคซึมเศร้า คือ เซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึก หาก มีมากก็จะมีอารมณ์ที่ดีมากขึ้น นอนหลับสบาย ในทางกลับกันหากมีน้อยก็จะซึมเศร้า นอนไม่หลับ  

            เมื่อพบผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า จิตแพทย์จะจ่ายยาที่ทำงานกับสารสื่อประสาทเซโรโทนิน เช่น โปรแซ็ก (Prozac) ที่จะเข้าไปยังไซแนปส์ (ช่องว่างระหว่างเซลล์ประสาท) เนื่องจากเซลล์ประสาทจะปลอยเซโรโทนินเข้าไปในไซแนป์ ยาดังกล่าวจะทำให้เซลล์ประสาทดูดเซโรโทนินกลับเข้าตัวเอง แล้วปล่อยออกมาอีกครั้ง กล่าวคือไซแนปส์จะมีเซโรโทนินมากขึ้นทันทีที่กินยาเข้าไป

            ภายในไม่กี่สัปดาห์พฤติกรรมของผู้ป่วยก็จะเปลี่ยนแปลงไป และดีขึ้นภายในเวลา 1 - 2 เดือน หากให้ยาในขนาดที่ถูกต้อง แม้ว่าก่อนหน้านั้นผู้ป้วยจะมีความพยายามฆ่าตัวตายไปแล้วก็ตาม  ผู้ป่วยจะยังจำช่วงเวลาที่ป่วยได้ แต่จะรู้สึกแปลกใจว่าทำไมตนเองถึงทำแบบนั้น หรือคิดแบบนั้น 

            Jonathan Haidt ผู้เขียนหนังสือ The Happiness Hypothesis  ได้นำการค้นพบของ Peter Kramer  ที่นำเสนอกรณีศึกษาของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวลมานาน และได้รับยาดังกล่าว ซึ่งเขาอธิบายว่ายาโปรแซ็ก มีผลต่อบุคลิกภาพอย่างมาก เช่น เชื่อมั่นในตนเองมากกว่าเดิม ฟื้นฟูตนเองกลับมาจากภาวะเสื่อมถอยได้ และมีความสุขมากขึ้น ส่งผลต่อความสัมพันธ์และการทำงาน 

            อย่างไรก็ตามการใช้ยาเป็นที่ถกเถียงกัน เนื่องจากมันเป็นวิธีลัด หากผู้ป่วยอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเดิม ๆ หากหยุดยาก็อาจทำให้กลับมาเป็นโรคซึมเศร้าอีกครั้งก็ได้  จะเป็นเรื่องดีอย่างมากหากรับประทานยาร่วมกับการออกกำลังกาย เนื่องจากมีการศึกษากลุ่มตัวอย่างกว่า 33,900 คน พบว่าการออกกำลังกายเป็นประจำสามารถป้องกันโรคซึมเศร้าได้ 

ปัจจัยทางความคิด

            จะใช้คำว่าปัจจัยทางจิตวิทยาก็ได้ แต่เหตุผลที่ผมเลือกใช้คำว่าความคิดเนื่องจาก บุคคลที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีกระบวนการคิดที่แตกตต่างจากคนปกติทั่วไป  Aaron Beck นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ผู้คิดค้นวิธีบำบัดการรู้คิด (Cognitive Therapy) ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพอย่างมากในการรักษาอาการซึมเศร้า วิตกกังวล และปัญหาอื่น ๆ เขามองว่าผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าหรือมีภาวะซึมเศร้าจะมีความเชื่อมโยงกัน 3 เรื่อง เรียกว่า สามเหลี่ยมการรู้คิด นั้นก็คือ บุคคลจะมีความคิดเชิงลบต่อตนเอง โลก และอนาคต 

            จิตใจของผู้ที่ซึมเศร้าจะเต็มไปด้วยความคิดอัตโนมัติที่คอยค้ำจุนความเชื่อที่ไม่สมเหตุสมผล โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้น บุคคลจะเข้าสู่วงจรป้อนกลับซึ่งบิดเบือนความคิดจนก่อให้เกิดความรู้สึกด้านลบ  การทำลายวงจนดังกล่าว คือการเปลี่ยนแปลงความคิด ซึ่งสามารถไปหานักจิตวิทยา จิตแพทย์เพื่อใช้บริการจิตวิทยาให้คำปรึกษาได้ แต่ผมอยากนำเสนอวิธีง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถทำกันได้ เช่น การฝึกตามความคิดให้ทัน โดยเขียนความคิดออกมา ระบุว่าอะไรที่ไม่สมเหตุสมผล และค้นหาวิธีคิดที่ถูกต้อง เรียกว่าการเปลี่ยนกรอบความคิด หรือการตีความหมายใหม่ในทางบวก (Reframing) เมื่อผ่านไปหลายสัปดาห์ ความคิดของผู้ป่วยก็จะเริ่มจริงมากขึ้น ความกังวลและความเศร้าก็จะค่อย ๆ ลดลง 

            ทุกครั้งที่เปลี่ยนกรอบความคิดได้ และสามารถทำอะไรที่ง่าย ๆ ได้สำเร็จ ผู้ป่วยก็จะได้รับรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ เกิดความสุขหรือความโล่งใจขึ้นมา ทำให้เกิดพฤติกรรมใหม่ ความคิดอัตโนมัติก็จะเปลี่ยนแปลง เป็นความคิดที่สมเหตุสมผลมากขึ้น และตามมาด้วยอารมณ์ที่เปลี่ยนไป เพราะความคิด อารมณ์ พฤติกรรม มีความเชื่อมโยงต่อกันและกัน
            ดังนั้นนอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงกรอบความคิด (Reframing) บุคคลสามารถระบายอารมณ์ออกมาโดยการเขียน พูดคุยเล่าให้ผู้อื่นฟัง (ปรับอารมณ์) หรือปรับพฤติกรรมโดยการตั้งเป้าหมาย เป็๋นภารกิจง่าย ๆ ประจำวัน และทำให้สำเร็จ ก็จะเกิดความภูมิใจ ความเห็นคุณค่าในตนเองมากขึ้น หรือการเขียนไดอารี่ก็ช่วยได้เหมืิอนกัน  แต่จะต้องเขียนอย่างมีโครงสร้างโดยเริ่มจาก "วันนี้เกิดเรื่องอะไรดีบ้าง" "เราทำภารกิจอะไรสำเร็จบ้าง" "อยากจะพูดบอกตัวเองอย่างไรบ้าง" เช่น "ขอบคุณตัวเอง ที่พยายามจนสำเร็จ" หรือ "จะต้องเข้มแข็งขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ" "พยายามได้ดีแล้ว" "จะต้องพยายามต่อไปมากขึ้น" หรืออาจจะขอบคุณผู้อื่นด้วยก็ดีมาก

ปัจจัยทางสภาพแวดล้อม

            สภาพแวดล้อม หรือเรียกว่าสภาพแวดล้อมทางสังคม (Social Environment) หมายถึงสิ่งแวดล้อมที่มีความเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของตัวบุคคลในด้านของการใช้ชีวิตในสังคม ซึ่งหมายรวมถึงพฤติกรรม วัฒนธรรม ประเพณี ที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน อันเป็นพื้นที่ใช้สอยของครอบครัว ชุมชน ไปจนถึงการเมือง เป็นปัจจัยที่ใหญ่มาก

            อย่างที่ได้กล่าวมาถึงปัจจัยทางด้านความคิด คนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมองตนเองในแง่ลบ และมองโลกในแง่ลบด้วย เช่น เวลาที่มีเพื่อนร่วมงานมา Feedback งาน ผู้ป่วยอาจมองในเชิงลบว่าโดนตำหนิ ประกอบกับเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นเล็กน้อย ก็มองเป็นความผิดที่รุนแรงของตนเอง หรือ บางที่ทำงานอาจจะมีความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (Toxic Relationship) ทำให้อาการซึมเศร้ายิ่งแย่เข้าไปอีก ผู้ป่วยอาจจะต้องพูดคุยทำความเข้าใจกับเพื่อนร่วมงานถึงอาการป่วย ความรู้สึกนึกคิดของตนเอง หรือหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมดังกล่าวไปเลย ในกรณีที่เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ 

            การที่จะรักษาโรคซึมเศร้านอกจากได้รับยา ปรับความคิด แล้วยังต้องปรับสภาพแวดล้อม โดยการทำความเข้าใจกับคนรอบข้างเพื่อให้เกิดความเข้าใจ หากที่ทำงานไม่สามารถเล่าได้  ครอบครัว แฟน และเพื่อนก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยดึงให้ผู้ป่วยออกมาจากความเศร้าได้ โดยการที่มีบุคคลคอยรับฟังปัญหา คอยให้กำลังใจ  นอกจากนั้นสภาพแวดล้อมทางด้านที่อยู่อาศัยก็มีส่วนเช่นเดียวกัน บางบ้านมีสวน มีสัตว์เลี้ยง หรืออยู่กับครอบครัว เป็นครอบครัวขยาย (มีคนในบ้านเยอะ) ก็อาจจะมีแนวโน้มที่จะอาการดีขึ้นมากกว่า ผู้ป่วยที่อยู่คอนโดแคบ ๆ คนเดียว 

            นอกจากการช่วยเหลือและให้กำลังใจของคนรอบข้างอย่างที่กล่าวมาข้างต้น คนรอบข้างสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้โดยการชวนทำกิจกรรมต่าง ๆ  ทำความสะอาดบ้าน งานอดิเรก ภารกิจเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น อ่านหนังสือวันละ 30 หน้า วาดรูปวันละ 1 ภาพ ออกกำลังกายวันละ 30 นาที เก็บเงินวันละ 50 บาท  หรืออาจจะน้อยกว่านั้น แต่หัวใจสำคัญจะต้องทำให้สำเร็จง่าย ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกภูมิใจในตนเอง และรู้สึกมีคุณค่า (หรือผู้ป่วยอาจจะชวนเพื่อนเองก็ได้)

            ทุกปัจจัยล้วนสอดคล้องกัน เป็นดุลยภาพ หากสามารถเยียวยาทุกปัจจัยได้พร้อมกันก็สร้างความสมดุล และหายจากโรคซึมเศร้าได้ กล่าวคือ หากรับประทานยา ออกกำลังกาย แต่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย ก็ยากที่จะสามารถคิดในเชิงบวกได้ หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี แต่ไม่ได้รับประทานยา หรือออกกำลังกาย ก็ไม่สามารถคิดในเชิงบวกได้เพราะสารสื่อประสาทเสียความสมดุล ทางที่ดีคือจะต้องพยายามปรับทุกปัจจัยเท่าที่ศักยภาพพอจะทำได้ เช่น หากไม่สามารถลาออกจากการทำงานที่ไม่ดี โดนเอาเปรียบ และมีความสัมพันธ์ที่เป็นพิษได้ ก็ต้องระบายหรือขอกำลังใจจากเพื่อน/ครอบครัว/แฟน พร้อมกับรับประทานยา และปรับกระบวนการคิด 

            อย่างไรก็ตามวิธีการที่ดีที่สุด คือการพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยให้สามารถหลุดพ้นจากโรคหรือภาวะซึมเศร้าได้ สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยอาจจะต้องมีความพยายามสู้ ปรารถนาที่จะมีชีวิตอย่างมีความสุข  หากมีใจที่สู้ร่วมกับได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ก็จะสร้างสมดุลระหว่าง ชีววิทยา ความคิด และสภาพแวดล้อมให้สมดุลได้อย่างแน่นอน

อ้างอิง

Doty, J. (2016). Into the Magic shop : A Neurosurgeon's Quest to Discover the Myteries of the Brain and the Secrets of the Heart. UK: Hodder & Stouhton.

Haidt, J. (2006). The Happiness Hypothesis: Finding Modern Truth in Ancient Wisdom. NY: Basic Books.

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. (2563). รู้ไว้บำบัดใจ. กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

คาลอส บุญสุภา. (2564). แนวทางแก้ไขโรคซึมเศร้า (Depression) ตอนที่ 1. https://sircr.blogspot.com/2021/05/depression-1.html

ความคิดเห็น