รู้เท่าทันตนเองและการทดลองเรือนจำสแตนฟอร์ด (Standford Prison Experiment)

 อะไรที่ทำให้มนุษย์ที่ผ่านการวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน

จนมีสมองที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกนี้ให้ดีขึ้นได้ดั่งเวทมนตร์

 แต่กลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง

            ผมเป็นคนที่ชอบประวัติศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก ถ้าผมจำไม่ผิดประวัติศาสตร์ที่ผมสนใจแรก ๆ คือสงครามโลก ในขณะนั้นผมเพียงแค่สนุกกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แต่เมื่อผมโตขึ้นผมก็สับสนเหลือเกิน ว่าทำไมคนเป็นล้านถึงได้เข่นฆ่ากันอย่างหน้าตาเฉยได้ขนาดนี้ เพราะโดยปกติแล้วเป็นไปไม่ได้ที่คนปกติทั่วไปจะเข้าบ้านคนแปลกหน้าและฆ่าทุกคนจากนั้นยึดบ้านไว้เอง เพราะมันผิดอย่างแน่นอน แต่พอรัฐบาลตัดสินใจบุกบ้านคนอื่นและฆ่าฟันกัน คนมีศีลธรรมดี ๆ เป็นล้านกลับทำตามกันแม้พวกเขาอาจจะต้องตายด้วยซ้ำ เพราะอะไร มันต่างกันตรงไหน หรือเพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกสอนมาให้เชื่อแบบนั้น 

            มนุษย์เราสามารถคิดได้ด้วยตัวเองได้ไหม ถ้าทุกการตัดสินใจพวกเราสามารถคิดได้ด้วยตัวเองจะเป็นอย่างไร มันคงจะเป็นการปกครองที่ยากเหลือเกิน สังคมไม่ต้องการคนที่คิดอะไรได้เอง แต่ต้องการคนรับใช้ที่จะทำทุกอย่างตามสั่ง แล้วเกิดอะไรขึ้นกับคนที่พยายามจะคิดด้วยตนเอง โดยไม่สนใจความต้องการผิด ๆ ของสังคม มันทำให้พวกเขาอยู่ยากมากขึ้น ผมเห็นหลายคนที่พยายามจะคานกระแสสังคมแต่ก็ต้องจบลงด้วยความเศร้า และความทุกข์ทรมาน

            คนจำนวนมากจึงต้องการให้สังคมคิดให้เขา มันง่ายดี ไม่ต้องเลือกอะไร แค่เชื่อฟังอย่างเดียว นั้นจึงเป็นเหตุผลให้การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวยิวเกิดขึ้น ผู้คนมากมายต่างสงสัยว่าทำไมทหารหรือคนทั่ว ๆ ไปที่ดูไม่ได้เลวร้ายอะไร ถึงได้เห็นด้วย หรือร่วมมือทำสิ่งที่ชั่วร้ายแบบนั้นได้ นายแพทย์ วิคเตอร์ แฟรงเคิล (Viktor Frankl) ซึ่งต่อมาจะเป็นจิตแพทย์ที่มีชื่อเสียง เคยถูกจับเป็นเชลยในค่ายกักกันที่โหดร้ายที่สุดชื่อเอาชวิทซ์ ซึ่งเป็นค่ายที่มีการรมแก๊สเพื่อฆ่าชาวยิวอย่างเป็นระบบ

            ผู้คุมเกือบทุกคนปฏิบัติต่อเชลยเหมือนกับว่าเขาไม่ใช่มนุษย์ทั้ง เฆียนตี ทารุณ และอย่างอื่นอีกมากมาย ผู้คุมบางคนซึ่งเป็นเชลยเหมือนกัน กลับมีจิตใจหยาบกระด้างยิ่งกว่าผู้คุมนาซีเสียอีก เป็นการปฏิบัติกับเพื่อนร่วมชะตากรรมด้วยกันอย่างโหดเหี้ยมทารุณ ใบหน้าของพวกเขาสะท้อนความพึงพอใจอย่างเห็นได้ชัดเจน เป็นไปได้อย่างไรที่คนมีเลือดเนื้อเหมือนกันจะปฏิบัติต่อมนุษย์ผู้อื่นอย่างเลวร้ายขนาดนี้ อะไรที่ทำให้มนุษย์ที่ผ่านการวิวัฒนาการมาอย่างยาวนานจนมีสมองที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกนี้ให้ดีขึ้นได้ดั่งเวทมนตร์ แต่กลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง

ธรรมชาติของมนุษย์

            กวีโรมัน โอวิด (Ovid) ได้บรรยายไว้ใน มหากาพย์เมตามอร์โฟเซส (Metamorphoses) มีเดียต้องตัดสินใจเลือกระหว่างความรักที่เธอมีจต่อเจสันกับหน้าที่ที่มีต่อบิดา เธอจึงคร่ำครวญว่า "ข้าถูกลากไปด้วยพลังประหลาดแบบใหม่ ความปรารถนาและเหตุผลดึงข้าไปคนละทาง ข้าเห็นเส้นทางที่ถูกต้องและยอมรับว่าถูก ทว่ากลับเดินไปตามเส้นทางที่ผิด" 

            นี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในตัวเราเสมอ พฤติกรรมของเราเป็นผลมาจากกระบวนการคิด ซึ่งแบ่งออกเป็น ระบบ 1 เป็นระบบที่คิดอย่างรวดเร็ว มาจากจิตใต้สำนึก ซึ่งบรรจุไปด้วยสัญชาตญาณ และระบบ 2 เป็นระบบที่ช้า มาจากจิตสำนึก ซึ่งบรรจุไปด้วยเหตุผลและการคิดวิเคราะห์ โดยปกติแล้วเราจะดำเนินชีวิตไปตามระบบ 1 ซึ่งเป็นไปตามสัญชาตญาณโดยส่วนใหญ่ ส่วนระบบ 2 ซึ่งเป็นการคิดวิเคราะห์จะเป็นส่วนเสริมที่จะคอยตรวจสอบการทำงานของระบบ 1 นั้นเอง

            ยกตัวอย่างเวลาเราเกือบจะพูดประโยคที่แสนน่ารักเกียจออกมา แต่พยายามอย่างหนักเพื่อควบคุมตัวเองไม่ให้ทำแบบนั้นได้ กล่าวคือ ส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่เรา (ระบบ 2) คิดหรือทำนั้นมีต้นตอมาจากระบบ 1 แต่ระบบ 2 จะเข้ามาควบคุมเมื่อสถานการณ์เริ่มยากลำบาก และมักจะเป็นฝ่ายกุมอำนาจในการตัดสินใจ จนก่อให้เกิดความขัดแย้งและสับสน

            ระบบ 2 คือตัวตนที่เราคิดว่าเราเป็น มีหน้าที่ตัดสินใจ แต่มันก็มักจะส่งเสริมหรือหาเหตุผลมาสนับสนุนแนวคิดและอารมณ์ความรู้สึกที่สร้างขึ้นโดยระบบ 1 และก่อตัวเป็นความขัดแย้งเหมือนกับที่กวีโรมันโอวิดกล่าวไว้ในมหากาพย์เมตามอร์โฟเซสที่ผมยกตัวอย่างไว้ข้างต้น ซึ่ง แดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) นักจิตวิทยาชาวอิสราเอล-อเมริกัน ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ Thinking Fast and Slow ได้แยกระบบการทำงานของสมองออกเป็น 2 ระบบดังกล่าว เขาได้ยกตัวอย่างในหนังสือโดยอธิบายว่า "คุณอาจไม่รู้ตัวว่ามองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับโครงการหนึ่ง เพียงเพราะผู้นำโครงการมีคุณลักษณะบางอย่างที่ทำให้คุณนึกถึงน้องสาวสุดที่รักของคุณ หรืออาจไม่ชอบหน้าใครสักคนเพียงเพราะเขามีหน้าตาคล้ายกับทันตแพทย์ของคุณ" 

            ดังนั้นด้วยธรรมชาติของเราจึงใช้สัญขาตญาณ อารมณ์ ความรู้สึกเป็นตัวนำ ส่วนเหตุผลและการคิดวิเคราะห์เป็นส่วนที่ตามมา ซึ่งมันจะสอดคล้องกับทุกเหตุการณ์เลวร้ายในประวัติศาสตร์ กล่าวคือ ไม่ว่าเราจะมีสมองที่มีศักยภาพในการสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้ แต่ส่วนที่จูงความคิดนี้เดินไปในทางที่ถูกหรือผิด ก็คือสัญชาตญาณ อารมณ์ และความรู้สึก ยกตัวอย่างเช่น เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของคนในชาติ และมองคนนอกชาติว่าเป็นศัตรู ดังนั้นต่อให้ศัตรูเราเป็นมนุษย์เหมือนกับเรา เราก็สามารถฆ่าได้โดยไม่ผิดบาปอะไร มันก็เหมือนกับในประวัติศาสตร์ไทยที่เข่นฆ่ากันในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้นแหละครับ 

            โจนาธาน เฮดต์ (Jonathan Haidt) ผู้เขียนหนังสือ The Happiness Hypothesis ได้นำแนวคิดเชิงพุทธที่เปรียบเปรย จิตใจเป็นเหมือนกับช้าง และตัวเราเหมือนกับควาญช้าง ควาญช้างคือความคิดที่สามารถควบคุมและรู้ตัว ส่วนช้างคือสิ่งที่เหลือทั้งหมด ช้างเป็นทั้งสัญชาตญาณ ปฏิกิริยาลึก ๆ ภายใน อารมณ์ และการรู้ที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของระบบอัตโนมัติ ช้างและควาญช้างต่างมีปัญหาของตัวเอง หากทำงานร่วมกันด้วยดีจะสร้างความฉลาดที่เป็นหนึ่งเดียวให้กับมนุษย์ได้ แม้มันมักจะขัดแย้งกันอยู่เสมอ  

            เราสามารถนำแนวคิดระบบช้าเร็ว ของ คาฮ์นะมัน มารวมกับจิตสำนึกและใต้สำนึกของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เพื่อใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมและกระบวนการคิดได้ ซึ่งทั้ง 3 แนวคิดนี้มีความสอดคล้องกันตรงที่มีสัญชาตญาณ (ระบบ 1 จิตใต้สำนึก และช้าง) เป็นตัวนำเหตุผล (ระบบ 2 จิตสำนึก และควาญช้าง) เหมือนกับที่ เดวิด ฮูม (David Hume) อธิบายว่า "เหตุผลคือทาสของความปรารถนา และควรจะเป็นเช่นนั้นแต่เพียงอย่างเดียวด้วย มันไม่อาจเสแสร้งทำงานอื่น ๆ ได้มากกว่าไปกว่ารับใช้และเชื่อฟังความปรารถนา" ระบบ 2 (ควาญช้าง หรือจิตสำนึก) จะจับตาพฤติกรรมของเราอย่างต่อเนื่องด้วย ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมตัวเองให้ยังคงความสุภาพไว้ในยามโกรธซึ่งเป็นเหตุมาจากระบบ 1 (ช้าง หรือจิตสำนึก) หรือกระตุ้นให้ตื่นตัวเวลาขับรถยนต์ตอนกลางคืน ระบบ 2 จะเพิ่มความพยายามเมื่อตระหนักว่าเรากำลังจะทำผิดพลาด 

            อย่างไรก็ตามสัญชาตญาณเพียงอย่างเดียวไม่ใช่เป็นตัวจุดประกายพฤติกรรมเลวร้ายของมนุษย์ เพราะแม้ธรรมชาติของมนุษย์จะเต็มไปด้วยข้อบกพร่องและไม่น่าพึงใจนัก 

แต่มนุษย์ก็ไม่ได้ชั่วร้ายขนาดนั้นด้วยตนเอง มันจะต้องมีปัจจัยอื่นมาร่วมกันประสานให้รสอาหารที่มีทั้งเปรี้ยวบ้างหวานบ้างเค็มบ้าง กลายเป็นรสขมที่ยากจะลืมเลือน 

เรือนจำสแตนฟอร์ด

            ในช่วงทศวรรษที่ 1970 นักสังคมศาสตร์กลุ่มหนึ่งจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด นำโดย ฟิลิป ซิมบาร์โด (Philip Zimbardo) ตัดสินใจสร้างคุกจำลองในห้องใต้ดินของอาคารภาควิชาจิตวิทยา โดยมีโถงทางเดินยาวและห้องขังขนาดเล็ก จำนวน 3 ห้อง พร้อมทั้งติดตั้งประตูลูกกรงเหล็กสีดำ และทำห้องขังเดี่ยวโดยการดัดแปลงตู้ใบหนึ่ง จากนั้นพวกเขาก็ประกาศลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเพื่อรับอาสาสมัครเพศชายที่ยินดีเข้ารับการทดลอง 

            มีผู้สมัครทั้งหมด 75 คน ซิมบาร์โดกับคณะได้ทำการคัดเลือกคนที่ดูมีสุขภาพจิตใจปกติโดยประเมินจากแบบทดสอบทางจิตวิทยา และมีสุขภาพที่แข็งแรงที่สุดเหลือ 24 จากนั้นก็เลือกว่าใครจะเป็นผู้คุมโดยใช้การสุ่ม แล้วมอบชุดเครื่องแบบ และแว่นกันแดดสีดำให้ พร้อมกับบอกหน้าที่ของพวกเขา ซึ่งก็คือรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเรือนจำ ส่วนที่เหลือครึ่งหนึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นนักโทษ 

            ซิมบาร์โดขอความร่วมมือจากตำรวจในเมืองเพื่อไปจับกุมอาสาสมัครที่เป็นนักโทษถึงบ้านของพวกเขา โดยจับใส่กุญแจมือ นำตัวมายังสถานนีตำรวจ ตั้งข้อหาหลอก ๆ และทำการพิมพ์ลอยนิ้วมือจากนั้นก็ใช้ผ้าปิดตาก่อนพาตัวมายังเรือนจำในห้องใต้ดินภาควิชาจิตวิทยาที่จัดเอาไว้ พวกเขาต้องเปลี่ยนไปใส่ชุดนักโทษที่มีหมายเลขติดอยู่ด้านหน้าและด้านหลังเสื้อ ซึ่งทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายระบุตัวตนเพียงอย่างเดียวของพวกเขาตลอดเวลาที่ถูกจำคุก

            เป้าหมายของการทดลองนี้เพื่อพยายามหาคำตอบว่า ทำไมเรือนจำถึงเป็นสถานที่ที่น่ารังเกียจนัก พวกเขาตั้งสมมติฐานว่าเพราะเรือนจำเต็มไปด้วยคนที่น่ารังเกียจ หรือเป็นเพราะสภาพแวดล้อมในเรือนจำที่น่ารังเกียจจนทำให้ผู้คนภายในเรือนจำมีนิสัยที่น่ารังเกียจตามไปด้วย เขาอยากจะรู้ว่าสภาพแวดล้อมมีผลต่อพฤติกรรมมากแค่ไหน และผลลัพธ์ที่พวกเขาได้รับ ก็ทำให้พวกเขาต่างพากันตะลึงไปเลย

            บรรดาผู้คุมซึ่งบางคนเคยบอกว่าตัวเองเป็นพวกใฝ่สันติกลับเปลี่ยนไปเป็นคนละคน และสวมบทบาทผู้คุมเรือนจำที่เคร่งครัดในระเบียบวินัยอย่างฉับพลัน ในคืนแรกของการทดลอง ผู้คุมปลุกนักโทษตั้งแต่ตีสองแล้วสั่งให้พวกเขาวิดพื้นเข้าแถวเรียงชิดกำแพง และทำทุกอย่างตามที่ผู้คุมสั่ง ในตอนเช้าของวันที่สอง บรรดานักโทษประท้วงด้วยการดึงหมายเลขประจำตัวบนเสื้ออกและไม่ยอมออกจากห้องขัง ผู้คุมจึงตอบโต้ด้วยการจับนักโทษแก้ผ้า ฉีดโฟมจากถึงดับเพลิงใส่พวกเขา จากนั้นจึงจับพวกผู้นำการประท้วงไปขังเดี่ยว 

            ผู้คุมคนหนึ่งเล่าว่า "หลาย ๆ ครั้งพวกเราตะคอกใส่หน้าพวกเขาอย่างไม่ปราณี เพราะมันดูเข้ากันดีกับบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว" ระหว่างที่การทดลองดำเนินไป ผู้คุมก็ยิ่งโหดเหี้ยมและใช้ความรุนแรงมากขึ้น ซิมบาร์โดเล่าว่า "สิ่งที่เราคาดไม่ถึงอย่างสิ้นเชิงก็คือพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นคนละคนได้รวดเร็วขนาดนี้" ผู้คุมสั่งให้นักโทษบอกรักกันและบังคับให้พวกเขาเดินเรียงแถวไปตามโถงทางเดินในสภาพสวมกุญแจมือและมีถุงกระดาษคลุมศรีษะ

            "สิ่งที่ผมทำในตอนนั้นเป็นคนละเรื่องกับนิสัยใจคอของผมในตอนนี้" ผู้คุมอีกคนหนึ่งเล่า "ดูเหมือนตอนนั้นผมจะทรมานจิตใจคนได้อย่างสร้างสรรค์มากทีเดียว" ตอนผมศึกษาเกี่ยวกับการทดลองนี้ ผมคิดว่ามันคงเป็นการทดลองที่ใช้เวลานานพอสมควร ผู้คุมถึงได้แสดงพฤติกรรมแบบนี้ออกมา เพราะอย่าลืมว่าผู้เข้าร่วมได้ทำการประเมินสุขภาพจิตด้วยแบบทดสอบทางจิตวิทยาแล้ว แต่มันน่าตกใจมากทีเดียวที่พฤติกรรมดังกล่าวถูกแสดงออกมาภายใน 36 ชั่วโมงเท่านั้น

            หลังจากผ่าน 36 ชั่วโมงไป นักโทษคนหนึ่งเริ่มมีอาการทางจิตจนต้องออกจากการทดลอง และนั้นก็ไม่ได้หยุดผู้คุมเหล่านั้นเลย ไม่กี่วันผ่านไป ผู้คุมทุกคนต่างเริ่มคุกคามและข่มขู่นักโทษมากขึ้น พวกเขารู้สึกมีอำนาจเหนือกว่า ขณะที่นักโทษกลับยอมจำนนทั้งพยายามหาวิธีทำให้ผู้คุมพอใจ แต่นั้นยิ่งไปกระตุ้นความก้าวร้าวและความบ้าอำนาจของผู้คุมมากขึ้นไปเรื่อย ๆ จนเพิ่มระดับการคุกคามไปอีกขั้น เช่น การให้นักโทษแก้ผ้า ทำความสะอาดชักโครกด้วยมือเปล่า และการคุกคามทางเพศ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้นักโทษอีกสี่คนออกจากการทดลองเนื่องจาก มีสภาพจิตใจหดหู่อย่างรุนแรง ร้องไห้ เกรี้ยวกราด และเกิดภาวะวิตกกังวลเฉียบพลัน

            นักโทษคนหนึ่ง ร้องไห้อย่างบ้าคลั่งแต่ไม่กล้าออกไปจากคุกนี้ เพราะกลัวนักโทษคนอื่น ๆ จะตราหน้าว่าเขาเป็นนักโทษที่ไม่ดี ทำให้สถานการณ์ในห้องขังวุ่นวายและทำให้เพื่อนนักโทษคนอื่นเดือดร้อน จนซิมบาร์โดต้องเข้าไปแทรกแซงและปลอบกับนักโทษคนนั้นว่า "ฟังนะคุณไม่ใช่นักโทษ คุณคือ (ชื่อจริงของเขา) และผมเป็นนักจิตวิทยา ไม่ใช่ผู้คุม และที่นี่ไม่ใช่เรือนจำจริง เป็นเพียงการทดลอง และพวกเขาคืออาสาสมัคร ไม่ใช่นักโทษเหมือนกันกับคุณ ออกมาข้างนอกเถอะครับ" การปลอบโยนดังกล่าวได้ผล นักโทษหนุ่มสงบลงได้ในที่สุด

            ตอนแรกซัมบาร์โดตั้งใจจะทำการทดลองนานสองสัปดาห์ ในตอนแรกเขาไม่คิดว่าสถานการณ์นี้เหนือเกินการควบคุม แม้แต่ตัวเขายังรู้สึกร่วมไปด้วยว่าเขาเป็นผู้คุมเรือนจำ รวมไปถึงคนนอกมากกว่า 50 คนที่รู้เห็นเหตุการณ์ครั้งนี้กลับนิ่งเฉย ยกเว้นนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน คริสตินา มาสเลช (Christina Maslach) เธอบอกกับทีมนักวิจัยว่า "พวกคุณรู้ไหมว่าสิ่งที่พวกคุณทำกับอาสาสมัครพวกนี้มันแย่มาก พวกเขาไม่ใช่นักโทษหรือผู้คุม พวกเขาเป็นแค่คนธรรมดาและพวกคุณจะต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น" คำพูดนี้เตือนสติซิมบาร์โด เขาจึงยุติการทดลองลางคันหลังจากผ่านไปเพียงหกวัน นักโทษคนหนึ่งกล่าวหลังการทดลองสิ้นสุดว่า "ตอนนี้ผมรู้ซึ้งแล้วครับ ไม่ว่าผมจะคิดว่าตัวเองครองสติได้ดีแค่ไหน ผมก็ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมได้อย่างที่คิดไว้" 

            ความรู้สึกของนักโทษที่แสดงออกมาหลังจากการทดลองต้องยุติลง มันเป็นสิ่งที่สะเทือนใจมาก โดยเฉพาะนักโทษคนหนึ่งที่กล่าวว่า "ผมเริ่มรู้สึกว่าตัวตนของผมหายไป ไม่มีตัวผมคนที่อาสาเข้ามาในเรือนจำแห่งนี้หลงเหลืออยู่แล้ว มันเลือนรางเสียจนในที่สุดผมก็ไม่ใช่คนคนนั้นอีกต่อไป ผมคือนักโทษหมายเลข 416 และ 416 ก็ต้องเป็นคนตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อจากนี้" พูดง่าย ๆ ว่า การทดลองนี้ทำให้จิตใจของเขาเปลี่ยนแปลงไปเป็นคนละคน จนเขารู้สึกว่าตนเองไม่สามารถกลับไปเป็นตัวเองในอดีตได้อีกแล้ว

            ข้อสรุปของซิมบาร์โดก็คือ สถานการณ์บางอย่างมีพลังมหาศาลเสียจนสามารถเข้าครอบงำนิสัยใจคอของเรา แน่นอนว่าพฤติกรรมของเราถูกหล่อหลอมมาจากสิ่งแวดล้อม ก่อนที่ซิมบาร์โดจะทำการทดลองนี้ นักจิตวิทยาทุกคนเข้าใจอย่างดีว่า การเลี้ยงดู สภาพสังคม เพื่อน ที่อยู่อาศัย สถานะทางเศรษฐกิจ ส่งผลต่อพฤติกรรมของเราแน่นอน รวมไปถึงพันธุกรรมด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่ซิมบาร์โดค้นพบก็คือ สถานการณ์ ที่ประกอบไปด้วย ช่วงเวลา สถานที่ และบริบทแวดล้อมบางอย่างสามารถทำให้ปัจจัยเหล่านั้นไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง 

            ไม่ว่าคุณจะมีพันธุกรรม สภาพแวดล้อม การเลี้ยงดูที่วิเศษมากขนาดไหนก็ตาม หรือโตมาในเมืองหลวงใหญ่โต รวยมหาศาล ถ้าปรับเปลี่ยนรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น เวลา สถานที่ และบริบทแวดล้อมในปัจจุบัน ก็สามารถทำให้รายละเอียดที่วิเศษเหล่านั้นกระจุยไปได้เลย พูดง่าย ๆ ก็คือ สถานการณ์ปัจจุบันสามารถเปลี่ยนเราจากหน้ามือเป็นหลังมือได้เลย

            บริบทในคุกเช่น การเรียกชื่อนักโทษด้วยหมายเลขแทนที่จะเรียกชื่อจริง การสวมเครื่องแบบเดียวกัน แม้แต่แว่นตากันแดดของผู้คุม ทั้งหมดนี้ลดทอนตัวตนที่แท้จริงของพวกเขา (Denidividuation) ทำให้ความรับผิดชอบส่วนบุคคลลดน้อยลงไปด้วย ผู้คุมพวกนี้ไม่ใช่ปีศาจที่ไหน พวกเขาไม่ได้ชอบใช้ความรุนแรงด้วยซ้ำ แต่พวกเขารู้สึกว่า ความรุนแรงเหล่านี้เป็นบรรทัดฐานของกลุ่ม เป็นอำนาจโดยชอบธรรมของพวกเขา นอกจากนั้นยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนด้วยว่าเป็นฝีมือใคร เพราะผู้คุมสวมแว่นกันแดดและมีเครื่องแบบเหมือนกัน นอกจากนั้นอาสาสมัครยังไม่รู้จักกันเป็นส่วนตัวด้วย ซิมบาร์โดเรียกพฤติกรรมดังกล่าวว่า "พลังของการไม่เปิดเผยตัวตน" (Power of Anonymity)

            ทุกคนอาจตั้งคำถามว่า ทำไมนักโทษที่ทุกข์ทรมานเหล่านั้นถึงไม่ยุติการทดลอง (เขารู้ว่านี้เป็นการทดลอง) แต่มันก็เหมือนกับนักโทษคนที่ซิมบาร์โดเข้าไปปลอบโยนนั้นแหละครับ พวกเขาอยู่ใน "ภาวะสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้" (Learned Helplessness) เหมือนกับช้างที่โดนผูกเชือกมาตั้งแต่เด็ก มันพยายามดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด จนพวกมันสิ้นหวัง แม้มันจะโตขึ้นจนสามารถดิ้นออกจากเชือกได้โดยง่ายดาย แต่มันก็ไม่ทำแบบนั้น สิ่งนี้เกิดกับนักโทษเช่นกัน พวกเขาไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าผู้คุมจะกระทำสิ่งที่เลวร้ายอะไรกับเขาบ้าง จนทุกท้ายพวกเขาก็ต้องจำนนต่อสถานการณ์

            ผลการทดลองนี้ทำให้เราประจักษ์ถึงสิ่งที่เลวร้าย ผู้อ่านอาจจะคิดว่า "ฉันจะไม่ทำแบบนี้แน่นอน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์แบบไหนก็ตาม" แต่ผมคิดว่า "มันก็ไม่แน่" เพราะทั้งหมดที่เกิดขึ้นมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ทั้งหมดนี้มันเป็นสัญชาตญาณดิบของมนุษย์ เราทำไปโดยที่ไม่ใช้สติ ไม่ใช้เหตุผล ไม่คิดวิเคราะห์ (ระบบ 2 จิตสำนึก และควาญช้าง) แต่เราทำทั้งหมดนี้ไปแบบไม่รู้ตัว (ระบบ 1 จิตใต้สำนึก และช้าง) สถานการณ์บีบบังคับให้ผู้คุมทำในสิ่งที่เลวร้าย ทั้ง ๆ ที่ตลอดชีวิตเขาคิดว่าตัวเองเป็นคนที่ดี รักสันติมาตลอด ก็เหมือนกับที่ผมยกคำอธิบายของ เดวิด ฮูม (David Hume) เอาไว้ข้างต้นนั้นแหละครับ "เหตุผลคือทาสของความปรารถนา และควรจะเป็นเช่นนั้นแต่เพียงอย่างเดียวด้วย มันไม่อาจเสแสร้งทำงานอื่น ๆ ได้มากกว่าไปกว่ารับใช้และเชื่อฟังความปรารถนา"

            ในหนังสือ The Righteous Mind: Why Good People Are Divided by Politics and Religion โจนาธาน เฮดต์ (Jonathan Haidt) ได้ยกตอนต้นของหนังสือ รีพับลิก (Republic) ของเพลโต (Plato) ที่กล่าวถึงกลาวคอน (Glaucon) พี่ชายของเพลโต เขาได้ท้าทายโสกราตีส (Socrates) เกี่ยวกับความยุติธรรม โดยเขาให้โสกราตีสลองจินตนาการว่าจะเกิดอะไรกับชายคนหนึ่งซึ่งมีแหวนของไกกีส แหวนทองที่ทำให้ผู้สวมใส่ล่องหนหายตัวได้ดั่งใจ 

            กลาวคอน ท้าทายว่า "เมื่อดูจากภายนอกก็คงรู้ว่าไม่มีใครมีจิตใจแน่วแน่ในความเที่ยงธรรมได้ตลอดหรอก ใครบ้างจะอดใจไม่เหลียวมองทรัพย์สมบัติของผู้อื่นได้บ้างเล่า ในเมื่อเขาได้รับอนุญาตให้หยิบฉวยทุกสิ่งที่ตัวเองต้องการจากชาวบ้านร้านตลาดโดยไม่ต้องเกรงกลัวสิ่งใด เขาจะลักลอบเข้าบ้านใครก็ได้ มีสัมพันธ์หลับนอนกับใครก็ได้ ฆาตกรรมใครก็ได้ สุดแต่ใจต้องการ เขาทำได้ทุกอย่างราวกับเทพเจ้าในมวลมนุษย์ การกระทำทั้งหมดของเขาย่อมไม่มีอะไรแตกต่างจากคนไม่เที่ยงธรรม คนทั้งสองฝ่ายนั้นย่อมเดินบนเส้นสายเดียวกัน นี้แหละคือข้อพิสูจน์อย่างแท้จริงที่ทำให้ผู้คนมักกล่าวกันว่าไม่มีใครยินยอมเป็นคนเที่ยงธรรมโดยความสมัครใจตหรอก"

            สิ่งที่กลาวคอนจะสื่อก็คือ ผู้คนเป็นคนดีเพียงเพราะกลัวผลที่จะตามมาเมื่อถูกจับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเสียหายต่อชื่อเสียงของพวกเขา แต่โสกราตีสมองว่า "ถ้าคนเรามีเหตุผลเพื่อควบคุมความปรารถนาเหล่านั้น เหตุผลจะนำทางเราให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง" ผมคิดว่าสิ่งที่กลาวคอนและโสกราตีสกล่าวนั้น ไม่มีใครผิดใครถูก คนเราสามารถทำในสิ่งที่แย่อย่างมากถ้าอยู่ในสถานการณ์บีบให้เขาทำอย่างนั้น เหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการจำลองเรือนจำสแตนฟอร์ด ของซิมบาร์โด นั้นแหละครับ

            แต่อย่างไรก็ตามโสกราตีสก็ไม่ผิดเหมือนกัน เพราะในเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในค่ายกักกันของนาซีอันโหดร้ายที่มีการรมแก๊สเพื่อฆ่าชาวยิว ชื่อเอาชวิทซ์ วิคเตอร์ แฟรงเคิล (Viktor Frankl) เชลยในค่ายกักกันนี้ ได้เล่าถึงความเลวร้ายของผู้คุมและเชลยที่ถูกตั้งให้เป็นผู้คุม ทั้งคู่ทรมานมนุษย์อย่างโหดเหี้ยม (สิ่งนี้ไม่ต่างกับการทดลองของซิมบาร์โดเลย) แต่ในหมู่คนชั่วช้าที่ใช้สัญชาตญาณดิบอันเลวร้ายในการทำร้ายเพื่อนมนุษย์ ก็มีคนบางคนที่ทำในสิ่งตรงกันข้าม

            แฟรงเคิลยังจำได้ดีว่าหัวหน้าคนงานคนหนึ่งแอบหยิบขนมปังให้เขา ซึ่งเป็นขนมปังที่หัวหน้าคนงานแอบแบ่งจากอาหารเช้าของตนเอง สิ่งนี้ทำให้แฟรงเคิลตื้นตันใจจนน้ำตาซึม เขาไม่ได้ตื้นตันเพราะได้รับขนมปัง แต่ตื้นตันเพราะบางสิ่งบางอย่างในตัวมนุษย์ที่ชายผู้นี้ได้มอบให้แก่เขา เป็นขนมปังที่หยิบยื่นให้พร้อมกับคำพูดและแววตาอันส่อถึงจิตใจ หรือเหตุการณ์ที่ผู้บัญชาการค่ายกักกันควักเงินตัวเองจำนวนไม่น้อย เพื่อซื้อยาจากตลาดในเมืองใกล้ที่สุดมาให้เชลยของเขา 

            มีหลายคนที่ไม่ได้เป็นชาวยิวแต่ก็พยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ยกตัวอย่างเช่น อิเรนา เชนด์เลอร์ (Irena Sendler) ที่ปลอมเอกสารนับพับชิ้นเพื่อช่วยเหลือครอบครัวชาวยิวให้หนีออกจากค่ายกักกันสุดโหดในกรุงวอซ์ซอ เธอปลอมตัวเป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่ทำหน้าที่ตรวจโรคไข้ไทฟัสเข้าไปในค่ายกักกันแล้วค่อย ๆ แอบพาเด็ก ๆ หนีออกมา หรือ ออสการ์ ชินด์เลอร์ (Oskar Schindler) ใช้เงินสะสมทั้งชีวิตเพื่อซื้อตัวชาวยิว 1,100 คน เพื่อไม่ให้เชลยเหล่านั้นทุกข์ทรมาณในค่ายกักกันที่โหดร้าย

            นอกจากนั้นยังมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายที่แสดงให้เห็นถึงความเมตตาและความงดงามในตัวมนุษย์แม้เขาจะอยู่ในสถานการณ์ที่บีบบังคับให้เขาทำในสิ่งที่เลวร้ายก็ตาม แม้ว่าจะเป็นส่วนน้อย แต่มันก็แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่โสกราตีสพูดไม่ได้ผิดเลย แม้มนุษย์เราจะมีสัญชาตญาณ หรือธรรมชาติที่พร้อมจะทำสิ่งที่เลวร้ายโดยที่เราไม่รู้ตัว แต่เราก็มีเหตุผลและสติที่จะคานอำนาจสัญชาตญาณนั้นแล้วเลือกในสิ่งที่ถูกต้องได้ มันต้องใช้ความเข้มแข็งอย่างมาก นั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงมีคนแค่ส่วนน้อยเท่านั้นที่ทำสำเร็จ และมีชีวิตรอดได้

การรู้เท่าทันธรรมชาติอันขาดสติภายในตนเอง 

จึงเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เราประคองสติ 

เพื่อเอาชนะสถานการณ์ที่บีบบังคับ 

และตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้องได้

อ้างอิง

Haidt, J. (2013). The Righteous Mind: Why Good People Are Divided by Politics and Religion NY: Vintage.

Haidt, J. (2006). The Happiness Hypothesis: Finding Modern Truth in Ancient Wisdom. NY: Basic Books.

Gladwell, M. (2002). The Tipping Point: How Little Things Can Make a Big Difference NY: Back Bay Books.

McLeod, S. (2020). The Stanford Prison Experiment. https://www.simplypsychology.org/zimbardo.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). ความลับของจิตไร้สำนึก หรือ จิตใต้สำนึก (Unconsciouns). https://sircr.blogspot.com/2021/07/unconsciouns.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). แนวทางการเลี้ยงลูกให้เติบโตเป็นผู้ให้ (Giver). https://sircr.blogspot.com/2021/06/giver.html

ธัญญารัตน์ โคตรวันทา. (2564). ฟิลิป ซิมบาร์โด - อะไรทำให้คนล้ำเส้นมนุษยธรรม แต่บอกว่าทำตามหน้าที่. https://thepeople.co/the-stanford-prison-experiment-philip-zimbardo/.

ความคิดเห็น