เราจะเห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้น หากภูมิใจในตัวเอง

การได้รับการต่อว่า การดุ การโทษ 
ไม่ได้ทำให้เกิดคุณค่าในตัวเองเลย นั้นจึงเป็นเหตุ 
ให้พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์จะเกิดขึ้นไปเรื่อย ๆ

            สตีฟ จ็อบส์ เมื่อครั้งยังเป็นเด็กมักจะชอบแสดงพฤติกรรมแผง ๆ ออกมา โดยเฉพาะการแกล้งเพื่อน ๆ  แต่นั้นไม่ได้ทำคุณครูหลายหมดความเมตตาในตัวเขา ยกตัวอย่าง คุณครู อิโมจิน ฮิลล์ หรือเรียกว่าครูเท็ดดี้ ซึ่งครั้งหนึ่ง สตีฟ จ็อบส์เคยเล่าไว้ว่า "คุณครูคนนี้คือแม่พระในชีวิตผม" เพราะหลังจากที่ครูคนนี้เฝ้าดูจ็อบส์เพียงไม่กี่สัปดาห์ โดยเฝ้ามองพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เขาแสดงออก

            จนกระทั่งวันหนึ่งหลังเลิกเรียนครูเท็ดดี้ก็ยื่นแบบฝึกหัดให้จ็อบส์ แล้วบอกให้เขาเอากลับไปทำที่บ้าน จากนั้นครูก็เอาอมยิ้มแท้งเบ้อเริ้มออกมาโชว์พร้อมกับเงิน 5 เหรียญ โดยตั้งเงื่อนไขว่าถ้าจ็อบส์ทำการบ้านนี้เสร็จจะมอบทั้ง 2 ชิ้นนี้ให้ เขาจึงเอาการบ้านกลับไปทำ และกลับมาส่งภายใน 2 วัน หลังจากนั้นไม่กี่เดือนครูเท็ดดี้ก็ไม่จำเป็นต้องติดสินบนจ็อบส์อีกแล้ว กลายเป็นว่าจ็อบส์ตั้งใจเรียนเพื่อให้คุณครูดีใจแทน 

            จากเรื่องราวของสตีฟ จ็อบส์ ผมเชื่อว่าผู้อ่านหลายคนคงคุ้นเคยกับเรื่องราวแบบนี้ดี หรือบางทีมันอาจจะเคยเกิดขึ้นกับคุณก็ได้ หลายคนอาจเคยเป็นเด็กที่ถูกเมิน ไม่รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เหตุผลที่เรารู้สึกแบบนั้นเพราะว่าวัฒนธรรมโรงเรียนส่วนใหญ่ในประเทศไทยทั้งในอดีตและปัจจบันมักจะชื่นชมเด็กที่เรียนดี เรียนเก่ง หากได้คะแนนเกรดที่ดีก็จะเป็นที่เชิดหน้าชูตาจากทั้งครอบครัวและคุณครู นั้นจึงทำให้เด็กนักเรียนที่มีทักษะทางด้านการเรียนน้อย หรือมีต้นทุนชีวิตที่แย่กว่า หรืออาจจะสนใจเรื่องอื่นมากกว่าเรื่องเรียน รู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า

            มนุษย์ทุกคนต่างก็อยากเป็นคนสำคัญ เป็นสัญชาตญาณพื้นฐาน เราอยากเป็นที่สนใจ ได้รับการยอมรับ อยากจะมีคุณค่า แต่การที่เรียนไม่เก่งนั้นเท่ากับว่าเราจะดูไร้ค่าในสายตาของใครหลายคน เป็นค่านิยมที่ผิด ๆ ยิ่งครอบครัวไหนที่ไม่ให้ความสนใจแก่ลูกเท่าที่ควรแล้ว เด็กเหล่านั้นจะแสดงพฤติกรรมเรียกความสนใจ โดยแสดงออกตรงกันข้ามกับความต้องการของคุณครู หรือพ่อแม่ เช่น การพูดคำหยาบ (แบบจงใจ) การแกล้งเพื่อน การใช้เสียงดังในขณะเรียน เพื่อให้ได้รับความสนใจ เพราะว่าเด็กบางคนหากไม่ได้ความสนใจในทางบวก ก็จะต้องการความสนใจทางลบ เช่น การดุด่าว่ากล่าว

            วิธีการแก้ปัญหานี้มีหลักการไม่ยาก ขึ้นอยู่กับระยะเวลา และขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพของเด็กคนนั้น ๆ ด้วย ยกตัวอย่าง สตีฟ จ็อบส์ แม้จะไม่ได้เกเรใหญ่โตในช่วงเด็ก แต่เขาก็มีพฤติกรรมในทางลบที่ไม่พึงประสงค์ คุณครูของเขารู้ว่าควรจะทำอย่างไร จึงวางเงื่อนไขโดยให้ทำบางอย่าง (ความสำเร็จ) เพื่อแลกเปลี่ยนกับสิ่งที่เขาชอบ (คงไม่มีใครไม่ชอบเงินหรอกนะครับ) ยิ่งเขาทำสำเร็จมากขึ้นเขาก็จะได้สิ่งที่เขาชอบ  ซึ่งจะทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้น เพราะได้รับความสนใจทางบวกเมื่อส่งการบ้าน สุดท้ายเขาก็ไม่สนใจรางวัลอีกแล้ว เขาต้องการให้คุณครูดีใจแทน กล่าวคือ "เขาเห็นคุณค่าในตนเองมากขึ้น"

การมีความภาคภูมิใจทำให้เราเห็นคุณค่าในตนเองมากขึ้น

            นักจิตวิทยาสังคมซึ่งศึกษาเกี่ยวกับศาสตร์ของอารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์บอกว่า ที่สุดแล้วความภาคภูมิใจนั้นมาจากสถานะของตน ความภาคภูมิใจคือความรู้สึกดี ๆ เมื่อเราคิดถึงตอนบรรลุผลอันเป็นที่ต้องการของสังคม ซึ่งจะช่วยยกสถานะของเราในกลุ่ม นี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากนักเรียนที่เรียนดีจะภาคภูมิใจในตัวเอง เพราะการเรียนดีมันเป็นความต้องการของสังคม ใคร ๆ ก็อยากเรียนดีจริงมั่ยครับ ดังนั้นนักเรียนที่เรียนดีจะได้รับการยอมรับและความภาคภูมิใจ และจะเห็นคุณค่าในตนเองมากขึ้น

            ในฐานะสัตว์สังคม คนเราต้องการให้คนอื่นมองในเชิงบวกเพราะการมีคนมองเห็นความสำคัญจะทำให้เราได้เปรียบอย่างมากในวิวัฒนาการมนุษย์ คือได้รับความสนใจมากที่สุด มีอิทธิพลมากกว่าและเข้าถึงทรัพยากรสำคัญได้มากกว่า นั้นจึงเป็นสาเหตุที่เด็กต้องการได้รับความสนใจ อยากจะให้คนอื่นมองว่าตัวเองสำคัญ หากเราไม่ได้รับความสนใจที่เป็นบวก เราก็อาจจะแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์เพราะมันก็ทำให้คนอื่นเห็นว่า "ฉันก็มีตัวตนอยู่นะ" หรือ "ฉันอยู่ตรงนี้นะ" พูดง่าย ๆ มันทำให้เขาเป็นคนสำคัญ

            อีกวิธีหนึ่งที่มนุษย์มักจะใช้ตรวจสอบความสำคัญของตนเอง ก็คือการเปรียบเทียบตำแหน่งทางสังคมของตนเองกับคนรอบข้าง เมื่อสถานะสูงขึ้นเราจะรู้สึกดีกับตัวเองและภาคภูมิใจ แต่ทันทีที่สถานะลดต่ำลง เรามักจะรู้สึกในทางตรงกันข้าม คืออับอาย ซึ่งเป็นความรู้สึกลบที่มนุษย์เรากลัวอย่างมาก เพราะว่าความอับอายมันจะไปลดความสำคัญของเราลง ทำให้เรารู้สึกไม่มีค่า ไม่เพียงแค่นักเรียนที่เปรียบเทียบคะแนนกับเพื่อนแล้วรู้สึกไม่มีค่า อับอาย แต่เมื่อเติบโตขึ้นเราก็ยังเปรียบเทียบอยู่เหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน หรือชีวิตความเป็นอยู่

            ยิ่งในปัจจุบันเรามีเครือข่ายสังคมออนไลน์ เรายิ่งเปรียบเทียบกันโดยง่ายมากขึ้น เพียงแค่สะบัดข้อนิ้วเท่านั้น เราก็เห็นชีวิตความเป็นอยู่แสนจะดีของคนอื่น เรื่องราวดี ๆ ของคนอื่นเยอะแยะมากมาย โดยที่เราลืมคิดไปว่าคนทุกคนต่างก็เผชิญกับเรื่องแย่ ๆ ทั้งนั้นแหละ เพียงแต่เขาก็อยากเอาเรื่องดี ๆ มาลงเพื่อทำให้คนสนใจ และตอบสนองความสำคัญของตัวเองเท่านั้นแหละ ดังนั้นเราจะต้องตระหนักถึงเรื่องนี้เอาไว้ ก่อนที่จะนั่งดูเรื่องราวชีวิตที่แสนน่าอิจฉาของผู้อื่น  

            ความภาคภูมิใจกับความอับอายจึงเกี่ยวโยงกับสถานะสังคมกันอย่างซับซ้อน เป็นเหตุผลว่าทำไมการตกงานหรือชนะการแข่งขันจึงมีผลต่อเรามาก การเปลี่ยนแปลงสถานะของเราในสายตาของผู้อื่นมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับอารมณ์กับความรู้สึกของเรา ความภาคภูมิใจและความอับอายเป็นเสมือนป้ายบอกทางว่าเราประสบความสำเร็จในสิ่งที่สังคมให้ความสำคัญหรือไม่ 

            เราภาคภูมิใจกับความสำเร็จที่ยกสถานะของเราขึ้นในสายตาผู้อื่น เช่น ตำแหน่งงานที่ดี รถหรู หรือครอบครัวที่น่ารัก นี่คือสิ่งที่เราจะป่าวประกาศกับเพื่อนฝูงและเพื่อนบ้าน เรามักจะไม่พูดปัญหาทางการเงินหรือชีวิตสมรส นั้นจึงเป็นเหตุผลที่คนส่วนใหญ่โพสต์แต่เรื่องดี ๆ ตามบรรทัดฐานทางสังคม (ดูดีในสายตาคนอื่น) ลงในเครือข่ายสังคม มีน้อยคนที่จะโพสต์ปัญหาต่าง ๆ ที่ดูน่าอับอายลงไป ยกเว้นในกรณีที่เขาเหล่านั้นมีปัญหาอัดแน่นในจิตใจจริง ๆ 

            ดังนั้นถ้าถามว่าการมีรถหรู มีบ้านสวย มีแฟนน่ารัก มีเงิน จะทำให้ภาคภูมิใจหรือไม่ คำตอบก็คือใช่ครับ ความภาคภูมิใจไม่ได้เกี่ยวกับว่าสิ่งที่เราครอบครองนั้นจะมีคุณค่าที่แท้จริงหรือไม่ แต่มันเกี่ยวกับว่าเรามีทัศนคติอย่างไรกับสิ่งเหล่านั้น ตัวอย่างที่ผมยกขึ้นมาเป็นสิ่งที่บรรทัดฐานสังคมให้ค่านิยม การมีในสิ่งที่สังคมให้ความนิยมก็จะทำให้เราภาคภูมิใจอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีความภาคภูมิใจเลย ถ้าเราไม่ได้ครอบครองรถหรู หรือบ้านสวย เพราะความภาคภูมิใจเป็นทัศนคติ

            แน่นอนว่าค่านิยมส่วนตัวของเรามันอิงจากบรรทัดฐานทางสังคม แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดมันขึ้นอยู่กับว่าเราให้ค่าสิ่งเหล่านั้นมากแค่ไหน บางคนมองว่าสิ่งของต่าง ๆ มันไม่ได้มีค่าอะไรขนาดนั้น ผู้คนต่าง ๆ หมกมุ่นที่จะครอบครอง ทั้ง ๆ ที่คุณค่าที่แท้จริงมันอยู่ภายใน ดังนั้นมันจึงขึ้นอยู่กับปัจเจกบุคคลด้วยที่จะให้ค่าสิ่งไหนบ้าง ความภาคภูมิใจของจะแปรผันไปตามทัศนคติที่เราให้ค่ากับสิ่ง ๆ นั้น สำหรับบางคนอาจภาคภูมิใจกับการอ่านหนังสือจบ มากกว่าการมีสมาร์ทโฟนสวยหรู ในขณะเดียวกันหลายคนก็ให้ค่ากับสมาร์ทโฟนสวยหรูเหนือสิ่งอื่นใดก็ได้เช่นกัน

            การเห็นคุณค่าในตนเองเป็นการประเมินตนเอง ผ่านประสบการณ์ สถานการณ์ หรือเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วผ่านจิตสำนึก นอกจากนั้นยังเป็นการประเมินตนเอง จากคนรอบข้าง สังคม กล่าวคือ ถ้าคนรอบข้างมองว่าการกระทำนี้เป็นการกระทำที่ดี ประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลว แย่ ก็จะส่งผลต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง ของตัวบุคคลนั้น ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน

            อย่างที่ผมกล่าวไว้ข้างต้นว่า "นักเรียนที่เรียนดีจะภาคภูมิใจในตัวเอง เพราะการเรียนดีมันเป็นความต้องการของสังคม ใคร ๆ ก็อยากเรียนดีจริงมั่ยครับ ดังนั้นนักเรียนที่เรียนดีจะได้รับการยอมรับและความภาคภูมิใจ และจะเห็นคุณค่าในตนเองมากขึ้น" เพราะว่าการเห็นคุณค่าในตนเองเป็นการประเมินประสบการณ์ เมื่อเราได้รับคำชมจากการเรียนดี ได้เกรดดีในแต่ละครั้งก็จะเป็นประสบการณ์ที่ดี ซึ่งมันจะหล่อหลอมการเห็นคุณค่าในตนเองมากยิ่งขึ้น ทำให้เราเป็นคนสำคัญ

            ในขณะเดียวกันหากเด็กคนหนึ่งโดนดูถูก ไม่ให้ความสนใจ มองข้าม ครูสนใจเพื่อนอีกคนที่เรียนดีมากกว่า มันก็จะสะสมเป็นประสบการณ์ทำให้เห็นคุณค่าในตนเองลดลง รู้สึกสำคัญน้อยลง เขาจึงพยายามดึงความสนใจด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อจะมีความสำคัญบ้างให้ได้ ซึ่งหลายครั้งมันไม่ใช่พฤติกรรมที่พึงประสงค์ หรือหากนักเรียนคนนั้นถูกสังคมบีบเอาไว้ไม่ให้สร้างความสนใจเพื่อให้ตัวเองสำคัญ มันก็จะทำให้คุณค่าของเขาลดลงตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้เขาค่อยซึมเศร้าไปเรื่อย ๆ 

            พูดง่าย ๆ เราทุกคนอยากจะมีคุณค่ามากขึ้นกันทั้งนั้น เลยต้องหาทางทำอะไรสักอย่าง หากมีอะไรบางอย่างที่มากดไว้ไม่ให้เราดิ้นรนเพื่อที่จะเป็นคนสำคัญหรือมีคุณค่ามากขึ้น จะทำให้เกิดอาการซึมเศร้า จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะพบเห็นนักเรียนมากมายที่มีความสุขกับการแกล้งเพื่อน พูดคุยหัวเราะเล่นเสียงดัง แต่ในขณะเดียวกันก็มีเด็กที่เรียนปานกลาง ที่รู้สึกว่าตัวเองไม่สำคัญ ไม่ชอบแสดงออกเพราะกลัวโดนต่อว่า (เหมือนกับที่เพื่อนโดน หรือตัวเองเคยโดนมาก่อน) พฤติกรรมดังกล่าวจะทำให้มีแนวโน้มซึมเศร้ามากขึ้นเมื่อโตขึ้น

            คนในวัยทำงานก็เช่นเดียวกัน เรามักพบเห็นพนักงานที่พยายามจะเป็นคนสำคัญโดยการนินทา ดูถูก ด่าทอพนักงานคนอื่น ทำตัวเป็นสารพิษ แต่ในขณะเดียวกันเราก็เห็นพนักงานมากมายที่ให้กำลังใจ ช่วยเหลือพนักงานคนอื่นอย่างดี ทั้งสองกรณีต่างก็แสวงหาความสำคัญ แต่ใช้วิธีที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับว่าในอดีตพวกเขาได้รับประสบการณ์มาแบบไหน ถ้าเขาได้รับคำชมหรือได้รับช่วยเหลือ กำลังใจ ความไว้ใจ เขาก็จะโตขึ้นมาแล้วใช้วิธีการนั้นต่อไปในวัยทำงาน ในขณะเดียวกันหากเขาได้รับการต่อว่า การดุด่า (จากการพยายามจะแสวงหาความสำคัญ) เขาก็จะเติบโตขึ้นมาแล้วแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์กับเพื่อนร่วมงานต่อไป

            อย่างไรก็ตามสุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับแรงจูงใจ และนิสัยใจคอด้วย คนบางคนมีแรงจูงที่อยากมีอำนาจ มีนิสัยใจคอที่ยกตนข่มท่าน ก็จะแสดงพฤติกรรมที่เขาเรียกกันว่า "เฮงซวย" ออกมา ต่างกับพนักงานที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์ มีนิสัยที่นึกถึงจิตใจคนอื่น แคร์ความรู้สึกคนอื่น ก็จะแสดงพฤติกรรมที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งคนเหล่านั้นก็จะได้รับความนับถือมากกว่าในท้ายที่สุด และประสบความสำเร็จมากกว่าจากนี้การเป็นผู้ให้

สรุป

            ตอนนี้เรารู้แล้วว่ามนุษย์ทุกคนอยากมีคุณค่า อยากเป็นคนสำคัญ เราจึงแสวงหาความภาคภูมิใจ ในกรณีที่เป็นนักเรียนก็จะพยายามเรียกร้องความสนใจ ถ้าไม่ได้จากทางบวก เช่น การชื่นชม การให้รางวัล ก็จะอยากได้ความสนใจทางลบ เช่น การต่อว่า การดุ ทำโทษ แน่นอนว่าการให้ความสนใจทางบวกจะเป็นการทำให้เรารู้สึกมีคุณค่ามากขึ้น ในทางตรงกันข้ามการได้รับการต่อว่า การดุ การทำโทษ ไม่ได้ทำให้เกิดคุณค่าในตัวเองเลย

            สิ่งนี้จะส่งผลเมื่อเราเติบโตขึ้นไปจนถึงวัยทำงาน สังเกตได้จากพนักงานประเภทที่เป็นสารพิษ ชอบนินทา ทำลายบรรยากาศ ชอบด่า ตะคอก จะเป็นคนที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยมีคุณค่า และพยายามจะแสวงหาคุณค่า แสวงหาความสำคัญ ในทางตรงกันข้ามกับคนที่รู้สึกว่าตัวเองมีค่า เขาจะแสดงพฤติกรรมที่เป็นมิตรอย่างแท้จริง แคร์ ห่วงใย ช่วยเหลือผู้อื่น (เป็นผู้ให้) 

            กุญแจสำคัญจึงอยู่ที่การสร้างความภาคภูมิใจ เพราะหากเรามีความภาคภูมิใจเราจะรู้สึกมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น ซึ่งการสร้างความภาคภูมิใจนั้นสร้างได้ไม่ยาก นั้นคือการทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ แล้วเป็นผลสำเร็จโดยเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อน เมื่อทำไปต่อเนื่องจะเกิดความภาคภูมิใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง เราจึงจะสามารถรับรู้ถึงคุณค่าในตัวเองได้ อย่างไรก็ตามคุณค่าในตัวเองนั้นจะสามารถสร้างได้ง่ายมากขึ้นหากได้รับการชื่นชมจากคนรอบข้าง 

โดยเฉพาะในวัยเด็กหากได้รับคำชมบ่อย ๆ 
เขาจะมีคุณค่าในตัวเองมากยิ่งขึ้น 
ซึ่งจะทำให้เขาเติบโตเป็นคนที่มอบคุณค่าให้กับผู้อื่นต่อไป

อ้างอิง

Friedman, R. (2015). The Best Place to Work: The Art and Science of Creating an Extraordinary. Workplace NY: TarcherPerigee.

Grant, A. (2014). Give and Take: Why Helping Others Drives Our Success. NY: Penguin. Books

คาลอส บุญสุภา. (2563). การเห็นคุณค่าในตนเอง (Self Esteem) ตอนที่ 1. https://sircr.blogspot.com/2020/02/self-esteem-1.html

คาลอส บุญสุภา. (2559). การเลี้ยงดูและการศึกษา จากกรณีศึกษาอับราฮัม ลินคอร์น และ สตีฟ จ็อบส์. https://sircr.blogspot.com/2016/01/vs.html

ความคิดเห็น