ไม่มี "ความสุข" และ "ความทุกข์" ใดที่จะคงอยู่ถาวรตลอดไป

"ธรรมชาติสร้างให้มนุษย์อยู่ภายใต้การควบคุม 
ของอิทธิพลสองอย่าง นั้นคือ ความเจ็บปวดและความสุข 
สองสิ่งนี้จะคอยกำหนดสิ่งที่เราต้องทำและสิ่งที่เราควรทำต่อไป"

            นักฟิสิกส์อัจฉริยะ สตีเฟน ฮอว์คิง (Stephen Hawking) เป็นบุคคลที่กำลังจะมีชีวิตรุ่งโรจน์ทางด้านวิชาการในอนาคต เขากำลังจะมีความรักที่งดงาม จนกระทั่งเขาได้พบกับมรสุมครั้งใหญ่ในชีวิต เมื่ออายุได้ 21 ปี เขาตรวจพบว่าเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) ทำให้วันหนึ่งเขาจะต้องเป็นอัมพาตทั้งตัว ยิ่งไปกว่านั้นแพทย์ยังวินิจฉัยว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น แต่กระนั้นเขาก็ยังเดินหน้าแก้ปัญหาสำคัญ ๆ ทางจักรวาลวิทยา จนได้รับรางวัลมากมาย และเขียนหนังสือวิทยาศาสตร์ที่ขายดีที่สุดตลอดกาล

            ในบทสัมภาษณ์ของนิวยอร์กไทมส์ครั้งหนึ่ง เขาถูกถามว่า "เขารักษากำลังใจไว้ได้อย่างไร ในระหว่างที่เขาเป็นอัมพาตทั้งตัว" เขาตอบว่า 

"ความคาดหวังของผมลดลงเป็นศูนย์ตอนอายุ 21 ปี ทุกอย่างหลังจากนั้นล้วนเป็นโบนัส" 

            ทำให้ผมนึกถึงตอนเรียนปริญญาโท วันนั้นผมคิดว่าถ้าผมเรียนจบได้คงจะมีความสุขตลอดไปแน่นอน เพราะมันเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง ซึ่งจะคงอยู่กับเราตลอดไป แม้มันจะไม่ได้หนักหนามากมาย แต่มันก็เป็นช่วงเวลาที่อึดอัด ต้องเผชิญกับความแน่นอน ความสับสน และตระหนักได้ว่าสิ่งใด ๆ บนโลกนี้มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับที่เราทั้งหมด แต่มันขึ้นอยู่กับผู้อื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการต้องอนุมัติอะไรสักอย่าง ในกรณีของผมคือการรอตีพิมพ์ ซึ่งใช้เวลานาน 

            ช่วงเวลาดังกล่าวสามารถเรียกได้ว่าเป็นความทุกข์ก็ว่าได้ ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่ผมจะคาดหวังว่า เมื่อผมสามารถเรียนจบแล้ว ผมคงจะมีความสุขอย่างมาก จนกระทั่งผมสามารถทำได้สำเร็จตามที่คาดหวังไว้ แต่ก็ทำให้พบว่าความสุขนั้นมันไม่ได้เป็นอย่างที่ผมคาดหวังเอาไว้ ผมมีความสุขแน่นอน แต่ไม่นานมันก็หายไปอย่างรวดเร็ว ผมชินชากับใบปริญญานั้นจนวันหนึ่งผมก็ไม่ได้รู้สึกมีความสุขอีกแล้วกับสิ่งนี้

            ความรู้สึกมันเหมือนกับเวลาที่เราอยากได้ของบางอย่าง เช่น คอมพิวเตอร์ รถยนต์ สมาร์ทโฟนออกใหม่ หรือได้เลื่อนตำแหน่ง กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามที่เราคาดหวังเอาไว้ เมื่อถึงวันที่เราได้มันมา มันก็ชั่งสุขแสนสุข แต่ไม่นานความสุขนั้นก็หายไปอย่างรวดเร็ว ความรู้สึกหลังจากที่ผมเรียนจบก็เช่นเดียวกัน มันหายไปอย่างรวดเร็วเหมือนกับวันที่ผมได้สิ่งของที่เคยคาดหวังเอาไว้แล้วสักพัก

            ในทางกลับกันสตีเฟน ฮอว์คิง ผู้ป่วยเป็นอัมพาตลดความคาดหวังของตัวเองลงมาน้อยมาก นั้นทำให้เขาสามารถรู้สึกมีความสุขได้ แม้จะมีช่วงเวลาที่ยากลำบาก และร่างกายที่ไม่สามารถขยับได้ตามใจนึก แน่นอนว่าเขาคงมีความทุกข์เหมือนกับทุกคน แต่เขาก็มีความสุขเหมือนกับพวกเราทุกคนแน่นอน ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นอัมพาตทั้งตัวก็ตาม

ความสุข และ ความทุกข์

            เจเรมี เบนแธม (Jeremy Bentham) ได้กล่าวในหนังสือของเขาเรื่อง Introduction to the Principles of Morals and Legislation ว่า "ธรรมชาติสร้างให้มนุษย์อยู่ภายใต้การควบคุมของอิทธิพลสองอย่าง นั้นคือ ความเจ็บปวดและความสุข สองสิ่งนี้จะคอยกำหนดสิ่งที่เราต้องทำและสิ่งที่เราควรทำต่อไป" สิ่งที่แบนแธมกล่าวนั้นไม่ได้ผิดอะไร ความต้องการความสุขผลักดันให้เราทำบางสิ่งบางอย่างให้สำเร็จ ในขณะเดียวกันควาทุกข์ก็ผลักดันเราเช่นกัน

            ความสุขและความทุกข์เป็นผลมาจากสัญชาตญาณของเรา ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด การอยากจะเป็นคนสำคัญ อยากให้คนยอมรับ ฯลฯ สัญชาตญาณดังกล่าวได้ผลักดันพฤติกรรมของมนุษย์ให้แสดงออกโดยการแสวงหาความสุข เพื่อหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดหรือความทุกข์ หรือการแสวงหาความสุขเพราะอยากเป็นคนสำคัญ อยากที่จะมีตัวตนหรือมีความหมายบนโลกใบนี้ หรือเพียงแค่อยากจะพึงพอใจ

            จากที่ผมกล่าวมาทั้งหมด ความคาดหวัง เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก ลองจินตนาการถึงบุคคลหนึ่งที่ต้องถูกฉีดยาอย่างเจ็บปวดเป็นประจำวันทุกวัน เขาไม่สามารถปรับตัวให้คุ้นเคยกับการฉีดยาได้ เขาจึงรู้สึกเจ็บปวดเหมือนกันทุกวัน ผู้อ่านคิดว่าคนจะมองว่าการลดจำนวนครั้งของการฉีดยาลงจาก 20 ครั้ง เหลือ 18 ครั้งจะน่าพึงปรารถนาเท่ากับการลดจาก 6 เหลือ 4 ครั้งหรือไม่

            โจทย์นี้มาจากหนังสือ Thinking Fast and Slow เขียนโดย Daniel Kahneman เขาได้แยกระบบการทำงานของสมองออกเป็น 2 ระบบ คือ ระบบ 1 (เร็ว) ระบบ 2 (ช้า) โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

            1. ระบบที่ 1 จะเป็นระบบที่ทำงานอย่างรวดเร็ว แต่จะเป็นการคิดแบบง่าย ๆ ใช้สัญชาตญาณ 

            2. ระบบที่ 2 จะเป็นระบบที่ทำงานช้า ขี้เกียจ แต่เป็นระบบคิดแบบซับซ้อน ใช้การคิดวิเคราะห์

            โดยส่วนมากเวลาที่สิ่งแวดล้อม เช่น เราเห็นนกบิน เห็นป้ายโฆษณา อ่าน Social Medias จะเป็นการทำงานของระบบที่ 1 ก่อนเสมอ เมื่อข้อมูลที่อ่านมีความซับซ้อน ยุ่งยาก วุ่นวาย ก็จะส่งไปที่ระบบ 2 เพื่อใช้การคิดวิเคราะห์ แต่ระบบ 2 มันขี้เกียจมาก ดังนั้น ในการดำเนินชีวิตของเราส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการทำงานของระบบที่ 1 ที่จะตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นง่าย ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น อะไรก็ตามที่เรียบง่าย เข้าใจไม่ยาก จะถูกใจระบบที่ 1 

            จากโจทย์การฉีด แม้มันจะลดจำนวนการฉีดลง 2 เข็มเท่ากัน แต่การโดนฉีด 18 เข็มมันเจ็บมากกว่า 4 เข็มแน่นอน สมองส่วนคิดเร็วที่ใช้สัญชาตญาณก็เลยทำให้เรารู้สึกว่า เลือกการฉีดลดจาก 6 เหลือ 4 จะดีกว่า เพราะมันเจ็บน้อยกว่า ดังนั้นการกำหนดว่าอะไรที่มีความสุข หรือทุกข์ มากน้อยเท่าไหร่ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับการคิดวิเคราะห์ของเราเป็นส่วนใหญ่ แต่จะขึ้นอยู่กับสัญชาตญาณของเรา แน่นอนการใช้ความคิด เพื่อทบทวนความหมายของชีวิต ความทรงจำที่แสนสุข หรือการมีทัศนคติที่ดีต่อสิ่งที่มีอยู่ก็ทำให้เรามีความสุขได้เช่นกัน เพียงแต่ว่าอิทธิพลของสัญชาตญาณมีมากกว่าเท่านั้นเอง

            ตอนนี้ทุกท่านคงเข้าใจแล้วว่า ระบบที่ 1 ที่ทำงานอย่างรวดเร็ว เป็นวิธีคิดง่ายโดยใช้สัญชาตญาณ มากกว่าการที่มนุษย์จะใช้ระบบที่ 2 ที่ใช้การคิดวิเคราะห์อย่างมหาศาล ถ้าเปรียบเทียบกับทฤษฎีทางจิตวิเคราะห์ เราคิดว่าเราดำเนินชีวิตด้วยจิตสำนึก (Conscious) แต่จริง ๆ แล้วการดำเนินชีวิตของเราส่วนใหญ่ รวมทั้งการตัดสินใจทั้งหลาย มาจากจิตใต้สำนึก (Unconscious) แทบจะทั้งสิ้น

            เพราะหน่วยความจำมหาศาลนั้นก็คือจิตใต้สำนึก เป็นสิ่งที่เก็บสะสมสิ่งต่าง ๆ ไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสัญชาตญาณ ประสบการณ์ชีวิต ซึ่งจิตใต้สำนึกนี่เป็นสิ่งเราไม่สามารถนึกถึงมันได้ และไม่รู้ตัวว่ามันมีอยู่ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ได้พูดและเขียนถึงจิตใต้สำนึกเมื่อราว 100  ปีก่อน เป็นทฤษฎีทางจิตวิทยาที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งศตวรรษและส่งผลกระทบต่อการดูแลผู้ป่วยจำนวนมากใน 100 ปีถัดมา 

            จอห์น บาร์ก (John Bargh) ได้อธิบายว่ามนุษย์ตัดสินใจกระทำอะไรด้วยจิตใต้สำนึกมากกว่าจิตสำนึก (เป็นการคิดที่เรารู้ตัว) บ่อยครั้งที่เราเลือกทำอะไรบางอย่างโดยไม่มีเหตุผล มหัศจรรย์กว่านั้นคือ แม้ว่าบางครั้งเรามีเหตุผลที่ดีกว่าในสมอง แต่เราก็ยังคงเลือกกระทำโดยไม่มีเหตุผลอยู่ดี สมองซึ่งมีน้ำหนักน้อยมากเมื่อเทียบกับร่างกายมนุษย์ทั้งร่างกายแต่บริโภคแคลอรี่มากถึงร้อยละ 20 ของร่างกายทั้งหมด และตรงไหนกันแน่ที่กินพลังงานมากมายขนาดนั้น 

ความสามารถในการปรับตัวของมนุษย์

            โจนาธาน เฮดต์ (Jonathan Haidt) ได้พูดถึงหลักการปรับตัวไว้ใน หนังสือชื่อ The Happiness Hypothesis โดยผมสรุปการอธิบายของเขาว่า ถ้าผมให้เวลาผู้อ่านสิบวินาทีพูดถึงสิ่งที่ดีที่สุดและแย่ที่สุดที่อาจเกิดขึ้นกับเรา สำหรับสิ่งที่ดีที่สุด เราอาจจะบอกว่า ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 สองใบ 12 ล้านบาท แต่สิ่งที่แย่ที่สุด อาจจะเป็นอัมพาตทั้งตัวตั้งแต่คอลงไป การถูกลอตเตอรี่จะทำให้คุณเป็นอิสระจากความกังวลและข้อจำกัดต่าง ๆ ทำให้คุณทำตามความฝันได้ช่วยเหลือคนอื่นได้ และมีชีวิตอยู่สบาย ๆ ดังนั้นจึงน่าจะนำความสุขที่ยั่งยืนมาให้มากกว่าการหลั่งโดปามีน (สารสื่อประสาทที่หลั่งมากจะทำให้พึงพอใจ)

            ส่วนการสูญเสียการทำงานของร่างกายจะสร้างข้อจำกัดให้เรามากยิ่งกว่าติดคุกเสียอีก เราจะต้องเลิกล้มเป้าหมายและความฝันเกือบทั้งหมด และต้องพึ่งพาคนอื่นให้ช่วยกิน ช่วยขับถ่าย หลายคนคิดเมื่ออ่านถึงตรงนี้อาจจะคิดว่า "ถ้าฉันเป็นอย่างนั้น ฉันขอตายดีกว่า" แต่เราคิดผิด เพราะไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะสามารถปรับตัวกับมันได้ เพียงแต่ตอนนี้ที่เราจินตนาการอยู่นั้น เราไม่รู้จะต้องทำอย่างไร มันเป็นกระบวนการคิดวิเคราะห์ที่มาจากจิตสำนึก (ระบบ 2)

            เราห่วยแตกอย่างมากกับเรื่องทำนายอารมณ์ ซึ่งก็คือการทำนายว่าเราจะรู้สึกอย่างไรในอนาคต เรามักจะประเมินความเข้มข้นและระยะเวลาในการตอบสนองทางอารมณ์ของเรามากเกินไป ภายในเวลาหนึ่งปี คนที่ถูกรางวัลที่ 1 สองใบ และคนที่เป็นอัมพาตทั้งตัว (โดยเฉลี่ย) จะหวนกลับมาสู่ระดับความสุขพื้นฐานที่เคยมี กล่าวคือ คนถูกรางวัลที่ 1 ซื้อบ้านและรถใหม่ เลิกทำงานที่น่าเบื่อ กินอาหารดี ๆ จู่ ๆ ก็มีชีวิตที่แตกต่างไปจากที่เคยมี แต่ภายในไม่กี่เดือน ความแตกต่างนนั้นก็เริ่มพร่าเลือน และความสุขเริ่มจางหาย จิตมนุษย์นั้นอ่อนไหวเป็นพิเศษต่อความเปลี่ยนแปลงในเงื่อนไขต่าง ๆ แต่ไม่อ่อนไหวต่อระดับคงที่ 

            ความสุขของคนถูกรางวัลที่ 1 มาจากความร่ำรวยที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้มาจากความสุขที่หยุดนิ่ง อยู้ในระดับสูง และไม่กี่เดือน ความสะดวกสบายก็จะกลายเป็นเรื่องพื้นฐานในชีวิตประจำวัน เพราะคนถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 จะเริ่มไม่เห็นคุณค่า และไม่รู้วิธีที่จะยกระดับความสุขให้เพิ่มขึ้น ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ เงินอาจทำลายความสัมพันธ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ญาติ นักปอกลอก และคนแปลกหน้าที่รุมล้อมกันเข้ามาเพื่อขอส่วนแบ่ง

            ในขณะเดียวกัน คนที่เป็นอัมพาตขยับแขนขาไม่ได้นั้นช่วงแรกความสุขที่เคยมีจะหายไปอย่างมหาศาล เขาจะคิดว่าชีวิตนี้จบสิ้นแล้ว การต้องเลิกทำทุกสิ่งที่เคยอยากทำมันทำให้รู้สึกเจ็บปวด แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักพักเขาก็จะเริ่มปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นได้ คล้ายกับการปรับตัวของผู้ที่ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 นั้นแหละครับ ที่พอปรับตัวได้กับปัจจุบันก็รู้สึกว่าไม่มีความสุขเหมือนวันที่ใช้เงินในช่วงแรก หลังจากที่ผู้ป่วยอัมพาตเริ่มปรับตัวได้ เขาจะตั้งเป้าหมายใหม่ที่ง่ายกว่าเดิม และเขาจะค้นพบว่ากายภาพบำบัดช่วยเพิ่มความสามารถให้ตนเองได้

            เขาจะไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากตั้งหน้าตั้งตาเดินต่อไป ซึ่งแต่ละก้าวนั้นทำให้เขามีความสุข เหมือนกับที่สตีเฟน ฮอว์คิงกล่าวไว้นั้นแหละครับ "ความคาดหวังของผมลดลงเป็นศูนย์ตอนอายุ 21 ปี ทุกอย่างหลังจากนั้นล้วนเป็นโบนัส" มันคือกระบวนการปรับตัวของมนุษย์ คนเราจะตัดสินสภาวะปัจจุบันโดยเทียบว่ามันดีกว่าหรือแย่กว่าสภาวะที่คนคุ้นชิน ในด้านหนึ่ง การปรับตัวเป็นเพียงคุณสมบัติของเซลล์ประสาท มันจะตอบสนองต่อสิ่งเร้าใหม่ ๆ อย่างรวดเร็วรุนแรง (ทุกข์มากตอนที่เป็นอัมพาต หรือสุขมากตอนที่ถูกหวย)

            แต่จากนั้นมันจะค่อย ๆ คุ้นเคย กับสภาวะในขณะนั้น ทำให้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่คุ้นเคยแล้วน้อยลง (เริ่มจะรู้สึกเฉย ๆ หลังจากที่เป็นอัมพาต หรือถูกหวยมาพักหนึ่ง) นอกจากความคุ้นชินกับสภาวะในขณะนั้นแล้ว เรายังตั้งค่ามาตรฐานให้กับเป้าหมายใหม่ด้วย เหมือนกับนักกีฬามาราธอน ตั้งเป้าหมายระยะทางวิ่ง 10 กิโล ใช้เวลา ครึ่งชั่วโมง ในขณะที่คนทั่วไปจะตั้งเป้าหมายน้อยกว่านั้นอย่างมาก

            ดังนั้นไม่สำคัญเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเรา จะดีหรือร้ายอย่างไรก็แล้วแต่ สุดท้ายเราจะหวนกลับไปสู่ค่าความสุขตั้งต้นของตัวเอง สมองของเรามีระดับความสุขตั้งต้นอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่กำหนดโดยยีนเป็นส่วนใหญ่ ครั้งหนึ่ง อดัม สมิธ (Adam Smith) เคยกล่าวเอาไว้ว่า "ในทุกสถานการณ์ซึ่งไม่มีใครคาดหมายถึงการเปลี่ยนแปลง จิตของมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะในระยะยาวหรือระยะสั้น จะหวนคืนสู่สภาวะสงบตามธรรมชาติ มันก็จะตกกลับลงสู่สภาวะนั้น ยามอัตคัดขัดสน หลังผ่านไประยะหนึ่ง มันก็จะยกระดับขึ้นมาดังเดิม"
            โจนาธาน เฮดต์ (Jonathan Haidt) กล่าวไว้ได้น่าสนใจว่า เราทุกคนต่างติดอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า "ลู่วิ่งแห่งความสุข" บนลู่วิ่งออกกำลังกาย เราอาจจะเพิ่มความเร็วได้ตามต้องการแต่ถึงอย่างก็วิ่งอยู่ที่เดิม ในชีวิต เราอาจจะทำงานหนักได้มากเท่าที่เราอยากจะทำ สั่งสมความร่ำรวย และสนุกสนานตามเท่าที่ต้องการ แต่เราไม่ได้ไปไหนเลย เพราะเราไม่อาจเปลี่ยน "สภาวะสงบตามธรรมชาติอันปกติ" ของตนเองได้ 
ความรวยที่เราสั่งสมมาจะยกระดับความคาดหวังขึ้นมา แต่ไม่ได้ทำให้เรามีอะไรดีกว่าที่เคยเป็นในอดีต แต่กระนั้น ด้วยความที่เราไม่ตระหนักว่าพยายามเท่าไรก็ไม่ได้ผล เราจึงยังคงดิ้นรนต่อไป ยังคงทำสิ่งต่าง ๆ ต่อไป เพื่อพยายามจะเอาชนะเกมแห่งชีวิต เพราะยังคงต้องการมากกว่าที่ตัวเองมี เราจึงต้องวิ่ง วิ่ง และวิ่ง เหมือนหนูถีบจักรต่อไป
สรุป

            มันจึงไม่มีความสุข หรือความทุกข์ใดที่เป็นถาวร ต่อให้เรามีความสุขมากหรือทุกข์มากเท่าไหร่ก็ตาม สุดท้ายเมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งมันก็จะย้อนกลับมาที่ค่าตั้งต้น สิ่งนี้เป็นข้อเท็จจริง ดังนั้นการวิ่งตามหาความสุขมันจึงเป็นการกระทำที่สูญเปล่า เพราะสุดท้ายต่อให้เราได้มันมาก็ตาม มันก็จะวิ่งกลับมาในจุดเดิม คือจุดก่อนที่เราจะวิ่งตามหา ความสุขที่เราเคยมี เคยปรารถนา จะหายไปดั่งหิมะบนฝ่ามือ

            อย่างไรก็ตาม ความสุขยังเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิต เป็นเป้าหมายของชีวิตของใครหลายคน ยิ่งไปกว่านั้นธรรมชาติของมนุษย์ยังพยายามจะตอบสนองความพึงพอใจให้มากที่สุดเสียด้วยซ้ำ อีกทั้งธรรมชาติของมนุษย์เราพยายามจะหลบเลี่ยงความทุกข์ด้วยเช่นกัน ที่ทำสำคัญคือเรามีความคาดหวัง  จึงไม่แปลกที่เราจะพยายามค้นหาความสุข ในขณะที่เรากำลังเผชิญกับความทุกข์ หรือความเจ็บปวด

            ซึ่งค่าตั้งต้นของความสุขนั้น มันจะมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม ประสบการณ์ในอดีต ฯลฯ ค่าตั้งต้นของความสุขแต่ละคนจึงไม่เท่ากันอย่างแน่นอน ดังนั้นคำพูดที่บอกว่าจะต้องมีความสุขในช่วงเวลาที่อยู่เฉย ๆ มันจึงใช้ได้สำหรับบางคน หากเราสามารถมีความสุขได้กับปัจจุบัน มีความสุขจากการอยู่นิ่ง ๆ ชื่นชมความงดงามของสิ่งรอบข้าง ระหว่างทางในการเดินทาง มันเป็นเรื่องที่ดีสำหรับคนนั้นอย่างแน่นอน

            แต่หากใครที่รู้สึกมีความทุกข์อยู่ในทุกชั่วขณะ ไม่สามารถหาความสุขโดยง่าย เราจะต้องสร้างค่าตั้งต้นของเราใหม่ ด้วยการยกระดับตัวตนขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น เสริมการมีคุณค่าในตนเอง เสริมความเชื่อมั่นในตนเอง เราสามารถทำได้โดยการพัฒนาความสามารถ ซึ่งสามารถสร้างได้จากการตั้งเป้าหมาย และการฝึกฝน ที่จะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร

            นอกจากนั้นเราสามารถตามหาความสุขได้ เคล็ดลับก็คือ การหาความสุขจากความเรียบง่าย ยกตัวอย่างเช่น การไปรับประทานอาหารที่อร่อย ที่ปกติเราจะไม่ค่อยทานแล้วราคาไม่แพงจนเกินไป เพื่อเป็นการเสริมความสุขขึ้นมาจากค่าตั้งต้น และเรายังสามารถทำได้บ่อยครั้ง (อาทิตย์ละครั้ง) หรือเราสามารถซื้อของให้ตัวเองที่ราคาไม่แพง เช่น หนังสือ ปากกา ของตกแต่งบ้านหรือโต๊ะทำงาน เล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อเป็นการเสริมความสุขให้กับตนเอง 

สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการอ่อนโยนกับตนเอง ไม่กดดัน 
ให้รางวัลกับตัวเองเล็ก ๆ น้อย ๆ พร้อมกับพัฒนาตนเอง
แล้วเราจะมีความสุขได้เองอย่างง่ายดาย แม้จะไม่ถาวรก็ตาม
อ้างอิง

Haidt, J. (2006). The Happiness Hypothesis: Finding Modern Truth in Ancient Wisdom. NY: Basic Books.

Kahneman, D. (2013). Thinking Fast and Slow. NY: Farrar, Straus and Giroux.

คาลอส บุญสุภา. (2564). ความลับของจิตไร้สำนึก หรือ จิตใต้สำนึก (Unconsciouns). https://sircr.blogspot.com/2021/07/unconsciouns.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิต. https://sircr.blogspot.com/2021/05/blog-post.html

ความคิดเห็น