ความสุขในการทำงาน (Happiness at Work)

พนักงานที่มีความสุขจะมีผลิตภาพดีขึ้น  
มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นและให้บริการลูกค้าดีขึ้น 
พวกเขาจะลาออกหรือลาป่วยน้อยลง
            ชาร์ลส์ เฮนรี (Charles Henry) เจ้าของบริษัทจอห์นส์แมนวิลล์ โล่งใจหลังจากที่ขายบริษัทของตัวเองได้ในราคา 2.3 พันล้านดอลลาร์ เขาอยู่ในอุตสาหกรรมนี้มากว่า 37 ปี และพร้อมจะปลดเกษียณแล้ว เฮนรี่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการขายบริษัทนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดีเท่าไหร่นัก ทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตแบบนี้ 

            ทว่าหลังจากที่ตกลงกันจนมาถึงขั้นสุดท้ายมีผู้ซื้อรายใหม่เข้ามาเสนอราคาสูงมาก มันจึงเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับเฮนรี่เหลือเกิน ซึ่งผู้ซื้อบริษัทของเขาคือเบิร์กเชียร์แฮธาเวย์ บริษัทข้ามชาติที่มีบริษัทในเครือมากมายในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ไกโค บริษัทประกันภัย บริษัทเสื้อผ้า ไอศกรีม โคคา-โคลา และไอบีเอ็ม นอกจากนั้นยังมีบริษัทอื่น ๆ อีกมากมาย บริษัทนี้มีพนักงานทั้งสิ้น 250,000 คน มีรายได้ปีละกว่า 180,000 ล้านดอลลาร์ CEO ของบริษัทนี้คือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) 

            เฮนรีในวัย 59 ปี กำลังฝันหวานวางแผนเที่ยวกับภรรยาและลูกสาวสี่คนของเขา ระหว่างที่กำลังบินไปพบเจ้านายใหม่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เขาวาดฝันเกษียณของตัวเองอย่างสวยงาม และถึงแม้ว่าเขาจะมีปัญหากับบัฟเฟตต์ในอนาคต เขาก็จะลาออก ไม่สนใจ พูดง่าย ๆ คือเขากะไม่อยู่แน่นอน กะชิว ๆ สบาย ๆ จนกระทั่งเขาเข้าไปคุยกับวอร์เรน บัฟเฟตต์เป็นเวลาหกชั่วโมงทุกอย่างก็เปลี่ยนไป

            เขาเดินออกจากห้องประชุมมาเหมือนเป็นคนละคน พร้อมกับความตั้งใจว่าจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้บริษัทก้าวหน้า ชาร์ลส์ เฮนรี ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Fortune ว่า "ผมเข้าใจได้ไม่ยากเลยว่าเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทของบัฟเฟตต์ สุดท้ายคุณจะรู้สึกว่าไม่อยากทำให้ชายคนนี้ผิดหวัง" เขารับตำแหน่ง CEO ต่อเพื่อพาบริษัทผ่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ แต่สุดท้ายเขาก็อยู่ยาวถึง 4 ปีครึ่ง

            ไม่ใช่เพียงแค่ ชาร์ลส์ เฮนรี ที่กระตือรือร้นอยากจะทำงานให้กับ วอร์เรน บัฟเฟตต์ แต่พนักงานจำนวนมากที่ได้พูดคุยกับเขาก็รู้สึกเหมือนกันแทบจะทุกคน วิธีการบริหารของเขาไม่เหมือนใคร ซึ่งรวมถึงการมอบอำนาจในการตัดสินใจให้กับพนักงานของตนเอง แทนที่จะคอยควบคุมโดยตรง น้อยครั้งที่เขาจะออกคำสั่งให้พนักงานทำโน่นทำนี้ เพียงแต่เขาจะตั้งคำถามในฐานะคนนอก ที่ไม่ได้คลุกอยู่กับงานประจำ จนกระทั่งพวกเขามองเห็นปัญหาได้กระจ่าง และเกิดความรู้ความเข้าใจบางอย่างขึ้นมา 

            ผมไม่ได้จะมาเขียนประวัติของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) แต่ผมว่ามันน่าสนใจที่พนักงานจำนวนมาก กระตือรือร้นและรักที่จะทำงานกับผู้ชายคนนี้ หลายคนพบว่ามันเป็นความสุขด้วยซ้ำ ผมสนใจอย่างมากว่าอะไรที่ทำให้มนุษย์ทำงานอย่างมีความสุข เพราะท่านผู้อ่านก็รู้ว่า การทำงานหลายครั้งมันเป็นความทุกข์เสียด้วยซ้ำ บางคนไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ แต่ก็ต้องทำงานต่อไป หากอะไรก็ตามที่จะช่วยให้คนคนหนึ่งพอจะมีความสุขในการทำงานได้บ้าง คงจะเป็นเรื่องที่วิเศษที่สุดอย่างแน่นอน

ความสุขในการทำงาน

            หากเราได้รับเงินประจำทุกเดือน เรายังจำเป็นที่จะต้องทำงานอยู่หรือไม่ คำตอบอาจจะแตกต่างกันไป แต่สุดท้ายแล้วมนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่อยากจะเป็นคนสำคัญ อยากจะมีความหมาย เราจึงอยากที่จะประสบความสำเร็จ หากเรามีเงินเพียงพอก็จะตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน ตามทษฎีของลำดับขั้นความต้องการของอับราฮัม มาสโลว์ (Abraham Maslow) ได้ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการสิ่งพื้นฐาน (ปัจจัย 4) (Physical Needs) ความต้องการความปลอดภัย (Safety Needs) และความต้องการความรัก (Belonging Needs) เราถึงจะสามารถไปถึงขั้นที่อยากได้รับการยอมรับ (Esteem Needs) ซึ่งทั้ง 4 ลำดับนี้ คือความต้องการระดับต้น (Deficiency Needs) 

            ต่อมาเป็นความต้องการที่สูงขึ้นไป เราจะต้องการเมื่อเราเติมเต็มความต้องการระดับต้นได้ เราเรียกความต้องการดังกล่าวว่า ความต้องการที่จะเจริญเติบโต (Growth Needs) ซึ่งมีลำดับขั้นประกอบไปด้วย ความต้องการใฝ่รู้ใฝ่เรียน (Cognitive Needs) ความต้องการสุนทรียะ (Asthetic Needs) และ ความต้องการความสำเร็จ หรือความสมบูรณ์แบบในชีวิต (Self Actualization Needs) เหมือนกับการค้นพบความหมายชีวิต ค่อนข้างเป็นนามธรรมพอสมควร

ได้รับการยอมรับจากตนเองและผู้อื่น

           มนุษย์เราต้องได้รับการเติมเต็มความต้องการระดับต้นก่อน (ความต้องการลำดับที่ 1-4) จึงจะใฝ่หาความต้องการที่จะเจริญเติบโต (5-7) กล่าวคือ หากบุคคลไม่ได้รับการเติมเต็มเงินเดือนที่พอจะเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวให้ปลอดภัยได้ ไม่ได้มีความสัมพันที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน และไม่ได้รับการยอมรับ เขาก็จะต้องไม่อยากใฝ่เรียนรู้ ใฝ่ดี มีคุณธรรม (ถ้ามันไม่จำเป็น) ไปจนถึง ค้นพบวิถีทางชีวิตเพื่อเติมเต็มความสมบูรณ์แห่งตน หรือใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย

(ความต้องการยังมีขั้นที่ 8 อยู่ด้วย ผู้อ่านสามารถอ่าน ทฤษฎีความต้องการของมาสโลว์ ได้ในลิ้งนี้)

            ในปัจจุบันเราประเทศของเราไม่ได้มีสวัสดิการที่ดีเท่าไหร่นักนอกเหนือจากการรักษา พวกเรายังคงต้องทุ่มเททำงานหนักเพื่อหารายได้ให้เพียงพอต่อความต้องการ การทำงานจึงเป็นเงื่อนไขที่เราจะได้รับเงินมาตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะตามมาด้วยความปลอดภัย ความรักและสังคม และการได้รับการยอมรับ  อย่างไรก็ตามเงื่อนไขที่ประเทศจะสามารถเจริญเติบโตได้นั้นจะต้องช่วยเหลือให้ประชาชนตอบสนองความต้องการพื้นฐานและความปลอดภัยได้ฟรี หรือได้โดยไม่ลำบากมากนัก เพื่อให้ประชาชนได้สนองความต้องการในขั้นถัด ๆ ไป

            แต่ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนก็ตามในปัจจุบันก็คงยังต้องทำงานอยู่ดี ด้วยระบบทุนนิยมที่ยังพัฒนาได้ไม่ดีพอ เราจึงต้องดิ้นรนเพื่อที่จะสนองความต้องการในแต่ละขั้นด้วยตนเอง เพราะเรามีสัญชาตญาณ และความปรารถนาที่ยากจะปฏิเสธหรือมองข้ามได้  แต่ทำอย่างไรเราถึงจะได้รับการยอมรับจากการทำงานได้ เบื้องต้น เราจะต้องยอมรับและนับถือตนเองก่อน นั้นหมายความว่าเราจะต้องทำงานที่เรารู้สึกว่าดี มีความหมาย และมีความสุข เพราะการทำงานอย่างมีความสุข มันหมายถึงเรายอมรับ และนับถือตนเองแล้ว เพราะเราพึงพอใจต่องานและชีวิตของเราในระดับหนึ่งแล้วนั้นเอง

มีทัศนคติที่ดีในการทำงาน

            การจะสามารถมีความสุขกับการทำงานได้ ในมุมมองของจิตวิทยาเชิงบวกหรือมีทัศนคติที่ดีในการทำงาน ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้หากเรามีสมาธิจดจ่อกับงานที่เรารัก ทำให้รู้สึกสนุกสนานและอยากทำงานอย่างเต็มที่โดยไม่เบื่อหน่าย ทำให้เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วโดยที่เราไม่รู้ตัว ไมค์ ชิคเซนต์มิไฮยี (Csikszentmihalyi) เรียกว่า "สภาวะลื่นไหล" (Flow) มันจะแตกต่างจากความสนุกสนานรื่นรมย์ เราจะเป็นเหมือนหนึ่งเดียวกับเสียงดนตรี โลกทั้งใบจะเหมือนกับหยุดหมุน หลายคนเรียกว่า "สภาะท็อปฟอร์ม" (Being in the Zone) 

            มันจะเกิดขึ้นเมื่อเราทุ่มเทพลังใจหรือความสนใจไปที่เป้าหมายที่ทำได้จริง และเมื่อทักษะมาบรรจบกับโอกาสที่จะกระทำ เราจะทุ่มเทสมาธิและความสนใจไปที่งานตรงหน้าจนลืมสิ่งอื่น ๆ ทุกอย่างนอกเหนือจากนั้นไว้ชั่วขณะ เวลาจึงเหมือนผ่านไปอย่างรวดเร็ว เซลิกแมนแนะนำว่า การที่เราจะเข้าสู่สภาวะลื่นไหล (Flow) ได้เราจะต้องรู้ว่าจุดแข็งของตนเองคืออะไร แล้วเราจะต้องออกแบบชีวิตเพื่อให้ได้ใช้จุดแข็งเหล่านั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ไม่ว่าจะเป็นงาน การเล่น มิตรภาพ ครอบครัว 

            แน่นอนว่าสภาวะลื่นไหล (Flow) ไม่สามารถเกิดกับทุกคน หลายคนอาจไม่สามารถทำงานจนลืมเวลาได้ แต่หัวใจสำคัญของการทำงานอย่างมีความสุขก็คือ ความรู้สึกดีที่ได้ทำงานนั้น หรือรักในตัวงาน ยกตัวอย่างเช่น  หากคนที่ประกอบอาชีพครู รักการสอน ก็จะทำให้เขาทำงานอย่างมีความสุข แม้การสอนจะไม่ได้ทำให้เขาสอนจนลืมเวลา แต่มันก็เป็นช่วงเวลาที่เขารู้สึกดี หรือ พนักงานบัญชีที่อาจจะไม่ได้หลุ่มหลงกับการทำงานด้านตัวเลข แต่ก็สามารถทำงานได้เรื่อย ๆ อย่างมีความสุข

            อย่างที่ผมบอกว่าหัวใจสำคัญ ก็คือความรู้สึกดีที่ได้ทำงานนั้น ไม่ใช่เพียงแต่ตัวงานอย่างเดียว พนักงานบัญชีอาจไม่ได้รู้สึกดีกับงานของตัวเอง แต่รู้สึกดีที่ได้ทำงานในองค์กรที่มีส่วนสำคัญ กล่าวคือ เขามีทัศนคติที่ดีในการทำงาน ซึ่งทัศนคติดังกล่าว เกิดขึ้นได้กับตัวพนักงานเอง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นได้จากองค์กรหรือบริษัท ยกตัวอย่างเช่น บริษัทที่ให้สวัสดิการดี มีชื่อเสียงในทางที่ดี ก็สามารถหล่อหลอมให้พนักงานมีทัศนคติในการทำงานที่ดีได้ หรือแม้จะเป็นบริษัทขนาดเล็กที่ไม่ได้มีความสำคัญอะไรมาก แต่บริษัทก็สามารถหล่อหลอมให้พนักงานรู้สึกว่าตัวเองมีความหมายได้ ซึ่งจะทำให้พนักงานมีทัศนคติที่ดี และทำงานได้อย่างมีความสุขมากขึ้น

การมีอิสระในการทำงาน

            อีกปัจจัยที่สำคัญในการสร้างแรงจูงใจและความสุขในการทำงานให้กับพนักงานก็คือ การให้เขารู้สึกว่ามีอิสระในการทำงาน อย่างที่ เอ็ดเวิร์ด ดีซี (Edward Deci) และริชาร์ด ไรอัน (Richard Ryan) ได้บอกว่า วิธีการที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) มักจะใช้ คือ การทำให้พนักงานรู้สึกว่ามีอิสระในการทำงาน เพราะเมื่อพวกเขามีอิสระ พวกเขาจะรู้สึกมีอำนาจใจการตัดสินใจ คนเราจะกระตือรือร้นกับการทำให้ดีที่สุดโดยธรรมชาติ ยิ่งไปกว่านั้นความเป็นอิสระยังเป็นความต้องการพื้นฐานเชิงจิตวิทยาของมนุษย์

            การศึกษาของทั้งดีซีและไรอันพบว่า การได้ตัดสินใจด้วยตนเองจะช่วยกระตุ้นความกระตือรือร้นภายในและเป็นพื้นฐานของสุขภาพจิตที่ดีในทุกวัฒนธรรมและพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จโดยไม่จำกัดแค่ในที่ทำงาน ผู้ที่ลดน้ำหนักด้วยเหตุผลส่วนตัวจะลดน้ำหนักได้มากกว่าคนที่รู้ลดเพราะผู้อื่นกดดัน เช่นเดียวกับคนที่ตัดสินใจเลิกสูบบุหรี่เอง จะประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่ถูกคนอื่นกดดัน นอกจากนั้นผู้ป่วยจะทำตามแผนการรักษาของหมอมากกว่าถ้าพวกเขาเข้าใจและเห็นด้วยกับแผนนั้น

            คุณค่าของการมีอิสระในการทำงานก็คือ ทำให้คนโอบรับเป้าหมายของตนเอง โดยคิดว่าพวกเขาเลือกที่จะลงทุนลงแรงในงานนั้น ๆ เอง ความรู้สึกเป็นเจ้าของนี้สร้างแรงบัลดาลใจให้พนักงานโดยมีความสนใจ ความสงสัยใคร่รู้ และความปรารถนาที่จะประสบความสำเร็จเป็นตัวขับเคลื่อน เมื่อใดที่เป็นเช่นนี้ หรือเมื่อความสนใจของผู้บริหารและของพนักงานมาบรรจบกัน ก็ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องคอยจับตาดูพนักงานอยู่ตลอดเหมือนกระบวนการทำงานในยุคเก่า หรือที่บริษัทส่วนมากทำอยู่ในปัจจุบัน

            นอกจากนั้นแล้วการจู้จี้ ห้ามนู้นห้ามนี้อาจจะเป็นผลร้ายมากกว่าที่คิดเอาไว้ เนื่องจากการค้นพบทางจิตวิทยาสังคมเรียกว่า "ปฏิกิริยาโรมีโอและจูเลียต" (Romeo and Juliet Effect) มีผลครอบคลุมมากว่านั้นไม่เพียงแต่คู่รักเท่านั้นที่จะแสดงท่าทีดื้อแพ่งต่อต้านเมื่อถูกกำจัดอิสรภาพ แต่สิ่งนี้เป็นกับทุกบริบท เมื่อใดก็ตามที่เราถูกสั่งห้ามโน่นห้ามนี้ สิ่งที่ถูกห้ามก็ยิ่งน่าทำขึ้นมาทันที

            นักจิตวิทยาเรียกสิ่งนี้ว่า ความต้านทาน (Reactance) เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกว่ากำลังถูกควบคุมหรือเมื่ออิสรภาพของเรากำลังตกอยู่ในอันตราย เราจะมีแรงจูงใจที่จะพยายามนำมันกลับคืนมา ซึ่งบ่อยครั้งมักจะพบในรูปแบบของการขัดคำสั่ง เหมือนกับที่ผู้สูบบุรี่ที่เห็นภาพคำเตือนเกี่ยวกับผลของการสูบบุหรี่ก็จะยิ่งมุ่งมั่นสูบต่อไปมากกว่าเดิม เหมือนกับซองบุหรี่ในประเทศไทยแม้ว่าจะใช้ภาพน่ากลัวมากแค่ไหน คนก็สูบกันอยู่ดี หรือในกรณีที่เราถูกยัดเยียดขายสินค้า เราก็มักจะยืนกรานที่จะไม่ซื้อเด็ดขาด เพราะยิ่งถูกบังคับมากเท่าไหร่เราก็จะยิ่งต่อต้านมากเท่านั้น

การมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี

            นอกเหนือจากการได้รับการยอมรับ สภาวะลื่นไหล และการมีอิสระในการทำงาน จะทำให้เราทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้นแล้ว ปัจจัยอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยก็คือสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่แบ่งได้เป็น 2 ข้อใหญ่ ๆ เลยก็คือ สถานที่ทำงาน และสัมพันธภาพระหว่างเพื่อนร่วมงาน ในส่วนของสถานที่ทำงานนั้นบริษัทชั้นนำของโลกพยายามจะออกแบบสถานที่ทำงานให้พนักงานมีความสุขมากที่สุด

            ยกตัวอย่างเช่น กูเกิลเพล็กซ์ (Googleplex) เป็นสำงานใหญ่ของบริษัทกูเกิลในเมาน์เทนวิว ที่นี้พนักงานจะได้มีโอกาสชิมอาหารอันประณีตระดับงานศิลป์กว่า 200 ชนิด หรือ บริษัทซอฟแวร์ แซส ที่วิเคราะห์ธุรกิจซึ่งทำรายได้กว่าสามพันล้านเหรียญในปี 2012 มีสนามเทนนิส ซาวนา โรงบิลเลียด สระว่ายน้ำที่มีระบบทำความร้อน และที่ปรีกษาด้านงานและชีวิตส่วนตัว ซึ่งรวมถึงการให้คำแนะนำอย่างเป็นความลับเกี่ยวกับการวางแผนทางการเงิน การดูแลผู้สูงอายุ และปัญหาครอบครัว ส่วนที่เฟซบุ๊ก พนักงานสามารถขี่จักรยานซึ่งบริษัทจัดไว้ให้ไปยังร้านตัดผม นำผ้าไปซักร้านซักแห้ง กาแฟขนมขมเคี้ยวฟรี หรือหาหมอฟันบริษัทได้อย่างสะดวกสบาย

            จึงปฏิเสธไม่ได้เลยที่พนักงานจะมีความสุขหากได้ทำงานบริษัทเหล่านี้ หลายบริษัทในประเทศไทยก็มีหลายที่ที่ออกแบบสวัสดิการ และสถานที่ทำงานได้อย่างน่าสนใจ และต้องการให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข ไม่ว่าจะเป็น Rabbit Digital Group, Bitkub, Line รวมไปถึง Facebook และ Google ในประเทศไทย อย่างไรก็ตามไม่จำเป็นต้องออกแบบสถานที่ทำงานโดยใช้เงินมหาศาล เพียงแค่มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานให้กับพนักงานก็เพียงพอจะทำให้พวกเขามีความสุขได้แล้ว เช่น การรักษาพยาบาล อาหาร หรือเครื่องดื่ม

            อีกส่วนหนึ่งก็คือสัมพันธภาพระหว่างเพื่อนร่วมงาน เรียกได้ว่าเป็นหัวข้อที่ใหญ่อย่างมากในประเทศไทย เพราะหลายสำนักงานมีความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (Toxic Relationship) ซึ่งทำให้พนักงานรู้ทำงานโดยไร้ความปลอดภัยทางจิตใจ ซึ่งความสัมพันธ์เป็นพิษมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่ย่ำแย่ ผู้บริหารที่แย่จนทำให้สร้างความกดดันขึ้นมา กล่าวคือ พฤติกรรมของคนในองค์กรโดยส่วนมากจะเป็นอย่างไร มีอิทธิพลมาจากสภาพแวดล้อมและผู้บังคับบัญชา หากองค์กรสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยเหลือกันซึ่งกัน หรือ ผู้บังคับบัญชาที่เข้าอกเข้าใจผู้ใต้บังคับบัญชา ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษก็จะไม่เกิดขึ้น

            อีกทั้งถ้าในองค์กรมีบุคคลที่สร้างความสัมพันธ์ที่เป็นพิษขึ้นมาย่อมเป็นเรื่องอันตรายต่อความปลอดภัยทางจิตใจ เพราะ Robert Sutton ผู้เขียนหนังสือ The Asshole Survival Guide ได้อธิบายถึงการที่พบเจอคนที่หยาบคาย ช่างเย้ยหยัน และดูถูกคนอื่น ทำให้รู้สึกคับแค้น ต่ำต้อย ไร้เกียรติ หรือหมดพลัง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ยังทำให้สิทธิภาพในการทำงานลดลง ไม่ว่าจะเป็นทักษะการตัดสินใจ การสร้างงาน ความคิดสร้างสรรค์ และความกระตือรือร้น

            ยิ่งไปกว่านั้นพิษในองค์กรสามารถแพร่ไปติดคนอื่น เหมือนกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ไปสู่คนต่อคนอย่างง่ายดาย และไม่รู้ตัว หากในองค์กรมีคนงี่เง่าแค่คนเดียว เพื่อนร่วมงานทั้งหมดรวมถึงเราก็มีแนวโน้มกลายเป็นคนงี่เง่าเช่นนั้นได้เหมือนกัน ซึ่งจะเป็นการขัดขวางประสิทธิภาพในการทำงาน และความคิดสร้างสรรค์ของสมาชิกภายในทีม และลดความเชื่อมั่น แรงจูงใง รวมไปถึงการแสดงความคิดเห็นที่ลดน้อยลงไปด้วย อีกทั้งสภาพการทำงานยังมีความหงุดหงิด และจะนำมาซึ่งการพังทลายของจิตใจในท้ายที่สุด

            สิ่งแวดล้อมในการทำงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะไม่ว่าคนที่มั่นใจมากแค่ไหน ได้รับการยอมรับมากแค่ไหน มาอยู่ในสภาพแวดล้อมในการทำงานที่แย่ มีความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ ก็ย่อมแตกสลายและสุดท้ายก็ต้องถอยห่างจากองค์กรดังกล่าวในที่สุด ในทางกลับกันหากพนักงานให้ความเคารพ ยอมรับ ให้เกียติซึ่งกันและกัน เอาใจเขามาใส่ใจเรา ก็จะสร้างสัมพันธภาพที่ดี ส่งผลให้เกิดสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัย ทำให้พนักงานทำงานได้อย่างมีความสุข 

            ยิ่งไปกว่านั้น พนักงานที่มีความสุขหมายถึงกำไรที่มากขึ้น การศึกษาบอกว่าพนักงานที่มีความสุขจะมีผลิตภาพดีขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นและให้บริการลูกค้าดีขึ้น พวกเขาจะลาออกหรือลาป่วยน้อยลง ยิ่งไปกว่านั้นยังทำหน้าที่ทูตนอกบริษัทในการกระจายเรื่องดี ๆ (ปากต่อปาก) ซึ่งจะดึงดูดคนมีฝีมือเข้ามาร่วมทีมด้วย การที่พนักงานมีความสุขจึงส่งผลอย่างดีนอกเหนือจากตัวเราแล้ว ยังส่งผลต่อคนรอบข้าง และองค์กรด้วย 

            ดังนั้นการทำให้พนักงานมีความสุข จึงเป็นหนทางเดียวที่จะสร้างผลประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายได้อย่างดี และยังเป็นข้อตกลงร่วมกันของมนุษย์ที่งดงามอีกด้วย นั้นจึงเป็นเหตุผลที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ใส่ใจกับเรื่องนี้มาก เพราะว่า ชาร์ลส์ เฮนรี (Charles Henry) ไม่ใช่พนักงานคนเดียวที่ยินดีทำงานให้เขา ยังมีพนักงานชั้นสูงหลายคนที่ทุ่มเท แรงกาย และความคิดสร้างสรรค์ จนทำให้บริษัทในเครือของบัฟเฟตต์ประสบผลสำเร็จ ส่งผลให้บัฟเฟตเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงจนถึงทุกวันนี้ 

สรุป
การมีความสุขในการทำงานประกอบไปด้วยปัจจัยดังต่อไปนี้

            1) ได้รับการยอมรับจากตนเองและผู้อื่น คือการที่เราได้เติมเติมความต้องการขั้นพื้นฐาน มีเงินเดือนพอประมาณ อาหารอิ่มท้อง ความปลอดภัย มีเพื่อน คนรัก และสุดท้ายเราจะสามารถทำงานที่ดีมากขึ้น สร้างสรรค์มากขึ้น จนได้รับการยอมรับจากผู้อื่น ซึ่งจะทำให้เรายอมรับในตัวเองตามไปด้วย

            2) มีทัศนคติที่ดีในการทำงาน คือการที่เรามีสภาวะไหลลื่นไนการทำงาน จนลืมเวลา หรือรู้สึกดีที่ได้ทำงานนี้ เพราะมันทำให้เรามีความหมายมากขึ้น หรือรู้สึกดีด้วยเหตุผลอื่น ๆ 

            3) ได้รับอิสระในการทำงาน คือการที่หัวหน้างานไม่จู้จี้เกินไป ให้ความสำคัญกับเราโดยมอบอิสระที่จะสามารถนำเสนอ ลองผิดลองถูกได้ เปลี่ยนวิธีการทำงาน หรือสร้างสรรค์งานออกมาตามแนวคิดของตนเองได้ 

            4) มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี คือ การทำงานในสถานที่ทำงานที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ทำให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีเพื่อนร่วมงานที่ปราศจากความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ ไม่แทงกันข้างหลัง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้กำลังใจที่ดีต่อกัน รวมไปถึงเคารพและยอมรับซึ่งกันและกัน

อ้างอิง

Friedman, R. (2015). The Best Place to Work: The Art and Science of Creating an Extraordinary. Workplace NY: TarcherPerigee.

คาลอส บุญสุภา. (2559). ลำดับขั้นความต้องการ 8 ขั้นของมาสโลว์ (Maslow's Hierarchy of Needs). https://sircr.blogspot.com/2016/12/8-maslows-hierarchy-of-needs.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). การออกแบบสถานที่ทำงานให้พนักงานมีความสุข. https://sircr.blogspot.com/2021/08/blog-post_12.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). ความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety) ตอนที่ 1. https://sircr.blogspot.com/2021/05/psychological-safety-1.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). จิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology). https://sircr.blogspot.com/2021/06/positive-psychology.html

ความคิดเห็น