การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

เราสามารถยับยั้งหรือเร่งการแพร่ระบาดได้ 
ด้วยการปรับเปลี่ยนบริบทแวดล้อมของมันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

            แอนนี่ ทอร์นไดก์ (Anne Thorndike) เป็นแพทย์ทั่วไปที่โรงพยาบาลแมสซาซูเซต์ในเมืองบอสตัน เธอพบเห็นปัญหาเกี่ยวกับการรับประทานอาหารของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและผู้มาเยี่ยมไข้นับพันคน ไม่ว่าจะเป็นกินดื่มน้ำอัดลม อาหารหวาน ๆ หรืออาหารที่มีไขมันสูง เธอจึงตั้งใจจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกซื้ออาหารในโรงอาหารที่โรงพยาบาลของคนเหล่านี้ แต่การจะไปห้ามขายหรือห้ามพวกเขาให้ซื้อกิน คงจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เธอมีความต้องการที่จะปรับพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ โดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว

            ทอร์นไดก์และเพื่อนร่วมงานได้ร่วมกันออกแบบการศึกษาเป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อเปลี่ยนสภาพแวดล้อมโรงอาหารของโรงพยาบาลเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของเจ้าหน้าที่และญาติ พวกเขาเริ่มโดยการจัดเรียงเครื่องดื่มภายในห้องอาหาร แต่เดิมตู้เย็นที่อยู่ถัดจากช่องจ่ายเงินในห้องอาหารจะเต็มไปด้วยน้ำอัดลม นักวิจัยได้เติมน้ำเปล่าเข้าไปในตัวเลือกมากขึ้น นอกจากนี้พวกเขายังวางตะกร้าใส่ขวดน้ำเปล่าใกล้กับเคาน์เตอร์อาหารทั่วโรงอาหารด้วย

            สามเดือนต่อมา ปริมาณการขายน้ำอัดลมในโรงพยาบาลลดลง 11.4% ในขณะที่ปริมาณการขายน้ำเปล่าเพิ่มขึ้น 25.8% พวกเขาจึงลองเปลี่ยนแปลงอาหารในทำนองเดียวกันกับเครื่องดื่ม ซึ่งก็นำไปสู่ผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกันโดยไม่มีใครต้องพูดอะไรกับคนที่กินอาหารที่นั้นเลย สิ่งที่สรุปได้จากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในครั้งนี้ก็คือ คนเรามักเลือกสินค้าไม่ใช่เพราะว่าสิ่งนั้นคืออะไร แต่เพราะมันอยู่ที่ไหนต่างหาก 

            ลองนึกถึงเวลาที่เราไปเดินห้างสรรพสินค้าโดยที่กำลังจะจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์ เรามักจะพบเห็นสินค้ามากมายใกล้ ๆ เคาน์เตอร์ที่ราคาไม่แพงนัก ขนาดก็ไม่ใหญ่จนเกินไป ซึ่งหลายคนก็อาจจะหยิบสินค้านั้นจ่ายเงินเพิ่มเติมโดยไม่ได้คิดและไม่ได้รู้สึกหิวด้วย หรือลองนึกภาพสำนักงานของตัวเองมีขนมหรืออาหารวางเอาไว้เสมอ คงจะยากที่จะไม่หยิบขึ้นมากินเรื่อย ๆ กล่าวคือพฤติกรรมของเราเปลี่ยนได้โดยขึ้นอยู่กับสถานที่ที่เราอยู่ และสิ่งเร้าที่มากระตุ้นเราด้วย

การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

            สิ่งแวดล้อมเปรียบเหมือนมือซึ่งมองไม่เห็นที่กำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ แม้เรามีบุคลิกลักษณะเฉพาะตัว แต่พฤติกรรมเฉพาะบางอย่างก็มักเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าภายใต้สถานการณ์เฉพาะนั้น ๆ คนเรามักจะพูดกระซิบกระซาบเมื่ออยู่ในวัด และมักจะระมัดระวังตัวเมื่อเดินอยู่ริมฟุตบาทตอนกลางคืน ในกรณีเช่นนี้การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแบบธรรมดาที่สุดจึงมักไม่ได้มาจากภายในตัวเรา แต่มาจากปัจจัยภายนอก เราถูกทำให้เปลี่ยนเพราะโลกรอบตัวเรา นิสัยบางอย่างจึงขึ้นอยู่กับบริบทภายนอกไม่ใช่มาจากภายในตัวเราเสมอไป

            พฤติกรรมของเราที่แสดงออกมาอาจจะอ่อนโยน อบอุ่น โอนอ่อนผ่อนตาม เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมหนึ่ง เช่น ร้านกาแฟ ที่ทำงาน หรืออยู่สังคมที่ไม่คุ้นเคย แต่กลับแสดงพฤติกรรม ก้าวร้าว ไม่เป็นมิตร เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคยอย่างบ้าน หรือเวลาที่อยู่กับเพื่อนสนิท ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมหรือผู้คนที่เราคุ้นเคย กล่าวคือ แค่บริบทหรือสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันก็ทำให้คนเราแสดงออกต่างกันแล้ว

            ในทศวรรษที่ 1990 อัตราการเกิดอาชญากรรมร้ายแรงทั่วอเมริกาลดลงด้วยเหตุผลที่ค่อนข้างเรียบง่ายหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็นการค้าโคเคนที่ซาลง ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นต้นกำเนิดของความรุนแรงมากมายในหมู่มาเฟียและพ่อค้ายาเสพติด หรือภาวะเศรษฐกิจขาขึ้น ซึ่งช่วยให้คนที่มีความเสี่ยงจะเลือกเดินทางผิดได้มีงานสุจริตทำ หรืออายุเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นของประชากรโดยรวม ซึ่งส่งผลให้ประชากรที่อยู่ในวัยเสี่ยงจะกลายเป็นอาชญากร (เพศชาย อายุระหว่าง 18-24 ปี) มีจำนวนลดลงตามไปด้วย

            อย่างไรก็ตาม อัตราการเกิดอาชญากรรมในนครนิวยอร์กไม่ได้ลดลงตามไปด้วยเหตุผลที่เรียบง่ายขนาดนั้น เนื่องจากช่วงนั้นภาวะเศรษฐกิจของเมืองกำลังซบเซาและไม่มีอะไรกระเตื้องขึ้นเลย แถมยังมีย่านที่ยากจนที่สุดของเมืองกำลังเดือดร้อนอย่างหนักเพราะถูกตัดเงินสวัสดิการในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 นอกจากนี้ ถึงแม้การค้าโคเคนที่ซาลงจะถือเป็นปัจจัยหนึ่ง แต่มันก็ลดลงอย่างต่อเนื่องมาสักระยะแล้ว ส่วนปัจจัยเรื่องอายุเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นของประชากรยังลดลงอย่างฮวบฮาบ "จึงเป็นที่ชัดเจนว่ายังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้การแพร่ระบาดของอาชญกรรมในครนิวยอร์กมาถึงจุดผลิกผ้น"

            ในหนังสือ The Tipping Point: How Little Things Can Make a Big Difference มัลคอล์ม แกลดเวลล์ (Malcolm Gladwel) ได้นำเสนอข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับ ปัจจัยอื่นที่ทำให้อาชญกรรมในนิวยอร์กลดลง และเป็นข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจมากนั้นก็คือ ทฤษฎีหน้าต่างแตก (Broken Windows Theory) ของนักอาชญาวิทยาชื่อเจมส์ วิลสัน (James Wilson) และจอร์จ เคลลิง (George Kelling) ทั้งสองให้ความเห็นว่าอาชญากรรมเป็นผลลัพธ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของความไร้ระเบียบ กล่าวคือ

ถ้าหน้าต่างบานหนึ่งแตกและถูกปล่อยทิ้งไว้ไม่ซ่อมแซม ผู้คนที่เดินผ่านไปมาก็จะสรุปว่าไม่มีใครสนใจและปราศจากคนดูแล เพียงไม่นานหน้าต่างบานอื่น ๆ ก็จะแตกตามไปด้วย

            ความไร้ระเบียบจากหน้าต่างแตกตาม ๆ มันจะลุกลามจากอาคารหลังนั้นออกไปยังท้องถนน เป็นการส่งสัญญาณให้คนอื่น ๆ รู้ว่าจะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบในย่านนี้ ดังนั้น ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองอย่างการขีดเขียนกำแพง ความไร้ระเบียบวินัยในที่สาธารณะและการข่มขู่รีดไถเงินล้วนเปรียบเสมือนหน้าต่างแตกที่เปิดทางให้มีอาชญากรรมร้ายแรงเกิดขึ้นตามมา โดยทั้งวิลสัน และเคลลิงให้ความเห็นว่า

            "โจรจี้ปปล้นหรือฉกชิงวิ่งราวทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพ เชื่อว่าความเสี่ยงในการถูกจับหรือมีผู้สังเกตเห็นพิรุธจะลดน้อยลงหากลงมือก่อเหตุบนถนนที่เหยื่อรู้สึกหวั่น ๆ เพราะสภาพแวดล้อมไม่ปลอดภัยอยู่แล้ว เหล่าโจรเชื่อว่า ในเมื่อผู้คนในย่านนั้นปล่อยให้เกิดอาชญากรที่สัญจนไปมาโดยไม่ทำอะไร ผู้คนก็จะไม่โทรแจ้งตำรวจเวลาที่เห็นคนไม่ชอบมาพากลหรือยื่นมือเข้าไปช่วยเมื่อเกิดการจี้ปล้นขึ้นมาจริง ๆ"

            ทฤษฎีหน้าต่างแตก (Broken Windows Theory) อธิบายการแพร่ระบาดของอาชญากรรม สามารถติดต่อกันได้ไม่ต่างจากแฟชั่น โดยเริ่มจากหน้าต่างแตกบานเดียวจากนั้นแพร่กระจายไปทั้งชุมชน ในที่นี้ไม่ใช่เพียงหน้าต่างแตกอย่างเดียว แต่สามารถเกิดมาจากความไม่น่าอยู่อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นความสกปรก ความมืด กลิ่น ขยะ รอยขีดเขียนบนกำแพง กล่าวคือ "อาชญากรรมเกิดขึ้นมาจากลักษณะบางประการของสภาพแวดล้อม"

ลดอาชญากรรมโดยการปรับปรุงสภาพแวดล้อม

            ผู้อ่านทุกท่านคงจะได้เห็นแล้วว่าเพียงสภาพแวดล้อมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เสียหายมันก็สามารถแพร่ระบาดจนทำให้สภาพแวดล้อมโดยรวมเสียหาย ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย อย่างไรก็ตามปัญหาหรืออาชญากรรมในนิวยอร์กก็สามารถลดลงได้โดยการนำเอาการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ในทศวรรษที่ 1980 จอร์จ เคลลิง (George Kelling) ได้รับการว่าจ้างให้เป็นที่ปรึกษาขององค์การขนส่งมวลชนแห่งนครนิวยอร์ก และสามารถกระตุ้นให้หน่วยงานนำทฤษฎีหน้าต่างแตกไปปรับใช้จนประสบความสำเร็จ เขาได้ดึงตัว เดวิด กันน์ (David Gunn) เข้ามาเป็นผู้อำนวยการคนใหม่และให้ควบคุมดูแลโครงการปรับปรุงระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน

            แน่นอนว่าจะต้องมีผู้คนมากมายบอกกับเขาว่าอย่าไปสนใจพวกรอยขีดเขียนเลย แต่ให้พุ่งเป้าไปที่ปัญหาใหญ่ ๆ อย่างอาชญากรรมและปรับปรุงการเดินรถแทน ฟังดูแล้วสมเหตุสมผลมาก ลองคิดดูครับถ้ามีโจรชุม เราก็จะต้องเพิ่มกำลังในการจับโจรมากขึ้น มันเป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ยาก แต่การลดเหตุการณ์โจรกรรมจากการทำให้เมืองน่าอยู่แทน ฟังดูเป็นเรื่องที่เข้าใจยากกว่าเหมือนการเกาไม่ถูกที่คัน

            กันน์วางโครงสร้างการบริหารขึ้นมาใหม่ ทั้งยังกำหนดเป้าหมายและตารางเวลาทำความสะอาดรถไฟแต่ละสายแต่ละขบวนอย่างชัดเจน พร้อมกับทดลองใช้เทคนิคใหม่ ๆ ในการทำความสะอาด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ตัวทำละลายลบรอยขีดเขียนบนตู้รถที่ทำจากสเตนเลส ส่วนตู้รถไฟที่ไม่ใช่สแตนเลสก็ใช้วิธีทาสีทับลงไปเลย เขายังตั้งจุดทำความสะอาดเพิ่มขึ้น ถ้ารถไฟแล่นเข้าสถานีโดยมีรอยขีดเขียนบนผนังของตู้ใด มันจะต้องถูกลบทิ้งทันที หรือไม่ก็ปลดตู้นั้นออกไปเลย "จะต้องไม่มีการนำตู้สกปรกมาปะปนกับตู้ที่สะอาดเป็นอันขาด" เพื่อเป็นการส่งข้อความอันชัดเจนไปให้พวกมือบอน

            กันน์ต่อสู้กับรอยขีดเขียนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 6 ปี (1984-1990) จนกระทั่งองค์กรขนส่งมวลชนจ้าง วิลเลียม แบรตตัน (William Bratton) มาเป็นผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจขนส่ง การปฏิรูประบบรถไฟใต้ดินขั้นที่สองก็เริ่มต้นขึ้น แบรตตันก็เชื่อในทฤษฎีหน้าต่างแตก (Broken Windows Theory) เช่นเดียวกับเดวิด กันน์ และนับถือจอร์จ เคลลิงอย่างมาก ดังนั้นงานแรกของเขาในฐานะผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจขนส่งก็คือการกวาดล้างการเบี้ยวค่าโดยสาร เพราะเขาชื่อว่าการเบี้ยวค่าโดยสารก็เหมือนกับรอยขีดเขียนบนผนัง ซึ่งเป็นสัญญาณของความไร้ระเบียบและเป็นการเชื้อเชิญให้เกิดอาขญากรรมที่ร้ายแรงกว่าตามมา

            การจับกุมผู้โดยสารที่เบี้ยวค่าโดยสาร กลายเป็นขุมทรัพย์ของตำรวจไปเลยเพราะการจับกุมแต่ละครั้ง มักจะเจอผู้โดยสารที่พกอาวุธหรือเป็นผู้ร้ายติดหมายจับ พวกโจรคิดได้จึงเก็บอาวุธไว้ที่บ้านและหันมาจ่ายค่าโดยสารแทน เบรตตันเข้ามาทำงานเพียงไม่กี่เดือน ตัวเลขผู้ถูกนำตัวออกจากสถานนีรถไฟใต้ดินเพราะเมาสุราหรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมก็เพิ่มเป็น 3 เท่า ส่วนการจับกุมผู้กระทำผิดเล็กน้อยเพิ่มขึ้นสูงถึง 5 เท่า

            จนกระทั่งในปี 1994 วิลเลียม แบรตตัน ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการกรมตำรวจแห่งมหานครนิวยอร์ก และเขาก็นำกลยุทธ์ดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับทั้งเมือง โดยสั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามอาชญากรรมที่กระทบกระเทือนคุณภาพชีวิตของประชากร ตัวอย่างเช่น เด็กเช็ดกระจกที่เที่ยวขอเงินจากผู้ขับขี่ตามสี่แยกด้วยการเช็ดกระจกรถโดยพลการ รวมถึงการกระทำผิดแบบอื่น ๆ ซึ่งเทียบเท่ากับการเบี้ยวค่าโดยสารรถไฟใต้ดินและการขีดเขียนบนผนังตู้รถไฟ 

            แบรตตันทำให้ตำรวจเอาจริงเอาจังกับการใช้กฎหมายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปัสสาวะในที่สาธารณะ เมาแล้วก่อกวน คนที่ทิ้งขวดเปล่าลงบนถนน หรือทำลายทรัพย์สินแม้เพียงเล็กน้อย เมื่ออัตราการเกิดอาชญากรรมในเมืองลดลงอย่างฮวบฮาบเช่นเดียวกับในระบบรถไฟใต้ดิน พวกเขาก็ได้ข้อสรุปว่าการพยายามลดอาชญากรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คุกคามคุณภาพชีวิตของประชากรนี่เองที่เป็นจุดพลิกผันให้เกิดอาชญากรรมร้ายแรงลดลงตามมาอย่างฮวบฮาบ 

ทฤษฎีหน้าต่างแตกก็คือพลังของการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมนั้นเอง โดยมีแนวคิพื้นฐานว่า เราสามารถยับยั้งหรือเร่งการแพร่ระบาดได้ด้วยการปรับเปลี่ยนบริบทแวดล้อมของมันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

            นอกจากการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในเมืองแล้ว เรายังสามารถปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเพื่อกระตุ้นให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย โดยประสิทธิภาพที่เกิดนั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยตรงจากการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม แต่เป็นผลมาจากการที่พนักงานมีความสุขและได้สื่อสารกันมากขึ้น ซึ่งเราสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมได้อย่างหลากหลาย บริษัทจำนวนมากจึงให้สวัสดิการกับพนักงานที่แตกต่างกันไป หลัก ๆ ก็เพื่อให้พนักงานสะดวกสบาย พึงพอใจ และมีความสุขมากยิ่งขึ้น

            หลายบริษัทในนิตยสาร Fortune สูตรพื้นฐานของพวกเขาก็คือ พนักงานที่มีความสุขหมายถึงกำไรที่มากขึ้น ยิ่งคนกระตือรือร้นและลงทุนลงแรงกับงานเท่าใด บริษัทก็ยิ่งประสบความสำเร็จตามเกณฑ์วัดต่าง ๆ มากขึ้นเท่านั้น การศึกษาบอกว่าพนักงานที่มีความสุขจะมีผลิตภาพดีขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นและให้บริการลูกค้าดีขึ้น พวกเขาจะลาออกหรือลาป่วยน้อยลง อีกทั้งยังมีผลต่อการเชิญชวนคนมาทำงานกันมากขึ้น โดยที่บริษัทไม่ต้องเสียทรัพยากรในการจัดหาบุคคลด้วยตนเอง

            ที่กูเกิลเพล็กซ์ (Googleplex) เป็นสำงานใหญ่ของบริษัทกูเกิลในเมาน์เทนวิว ที่นี้พนักงานจะได้มีโอกาสชิมอาหารอันประณีตระดับงานศิลป์กว่า 200 ชนิด นอกจากนั้นพนักงานยังสามารถนวด ตัดผม แต่งคิ้ว เรียนภาษาต่างประเทศ หรือหาหมอได้ภายในบริเวณบริษัทโดยไม่มีค่าใช้จ่าย อีกทั้งภายในพื้นที่ยังมีศูนย์สุขภาพสามแห่ง ลานโบว์ลิงหนึ่งแห่ง สนามบาสเกตบอล ลานฮอกกี้ โต๊ะปิงปอง ตู้เกม ฟุตบอลโต๊ะ หน้าผาจำลอง สนามพัตกอล์ฟ และสนามวอลเลย์บอลพื้นทราย 

            นอกจากการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อให้พนักงานมีความสุขมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเติมสวัสดิการมากมาย และสิ่งอำนวยความสะดวกจำนวนมากแล้ว หลายบริษัทยังออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อให้พนักงานได้สื่อสารกันมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น แอปเปิลพาร์ก (Apple Park) สำนักงานใหญ่ของบริษัทแอปเปิลซึ่ง สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) เป็นหนึ่งในผู้ที่ให้ไอเดียหลัก เขาออกแบบสถานที่ทำงานโดยสร้างพื้นที่เพื่อให้พนักงานเดินมาเจอกันบ่อย ๆ ได้สื่อสารกัน เพราะเป็นที่รู้กันดีว่านวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ล้วนมาจากการที่พนักงานมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน

            แน่นอนว่าที่แอปเปิลพนักงานได้ก็ได้สวัสดิการมากมายเช่นเดียวกับบริษัทชื่อดังอื่น ๆ แต่ที่นี้ก็มีลักษณะเด่นอย่างหนึ่งก็คือธรรมชาติ แอปเปิลพาร์กถูกออกแบบให้เป็นวงกลมโดยมีส่วนที่เป็นต้นไม้ใบหญ้าอยู่ตรงกลาง พนักงานสามารถเข้าไปทำงานได้ หรือสามารถมองเห็นธรรมชาติได้ตลอดเวลา ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาหนึ่งในปี 2006 ที่พบว่าสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความพึงพอใจจะสว่างวาบขึ้นขณะที่เราดูภาพภูมิทัศน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีพื้นที่อยู่อาศัยอันปลอดภัยเป็นจุดเด่นของภาพ

            นักจิตวิทยาวิวัฒนาการ อยากให้ออกแบบสำนักงานโดยอิงจากสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ในสมัยโบราณที่เรายังอยู่ในทุ่งสะวันนา พวกเราอยู่รอดโดยการยังชีพด้วยการล่าสัตว์และเก็บของป่า และจะกระวนกระวายใจเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบที่เคยเป็นอันตรายต่อบรรพบุรุษ แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับสัญชาตญาณของเรามาก เพราะถึงแม้เราจะเกิดในยุคปัจจุบันแต่ในยีนของเรายังมีความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมในอดีตอยู่ เนื่องจากเราวิวัฒนาการทางสังคมมาอย่างรวดเร็วจนเกินไป เราจึงรู้คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติโดยที่เราไม่รู้ตัว 

            จึงไม่แปลกที่ในยุคนี้บริษัทต่าง ๆ จะแข่งขันกันให้สวัสดิการพนักงานที่เจ๋ง ๆ ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เพราะมันมีผลที่ดีมากกว่าที่คิด ทั้งการมีธรรมชาติที่สวยงามรอบ ๆ การมีอาหารนานาชนิดที่แตกต่างกันไป การมีสวัสดิการด้านสุขภาพครบวงจร การออกแบบสำนักงานที่มีความหลากหลายเพื่อให้สอดรับกับพนักงานที่มีบุคลิกภาพแตกต่างกันไป บางคนชอบความเงียบ บางคนชอบเสียงดัง ๆ ก็สามารถหาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับตนเองในการทำงานได้

การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมจึงมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมมากกว่าที่เราคิดไว้ เพราะหากเราออกแบบมันอย่างถูกต้องก็อาจกลายเป็นกำไรมหาศาลให้กับบริษัทเลยก็ได้

สรุป

            การปรับเปลี่ยนบริบทแวดล้อมสามารถทำได้หลายแบบไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเพื่อให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและผู้มาเยี่ยมไข้นับพันคนเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อเครื่องดื่มและของกินที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น โดยการเปลี่ยนวิธีการวางสินค้าที่ดีต่อสุขภาพให้หยิบสะดวกมากที่สุด หรือจะเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการก่ออาชญากรรมของคนในเมือง โดยการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเล็ก ๆ น้อย ๆ ทีละส่วน เช่น จับคนที่ปัสสาวะในที่สาธารณะ เมาแล้วก่อกวน คนที่ทิ้งขวดเปล่าลงบนถนน ทำลายทรัพย์สินแม้เพียงเล็กน้อย หรือการขีดเขียนตามสถานที่ต่าง ๆ 

            ถ้าหน้าต่างบานหนึ่งแตกและถูกปล่อยทิ้งไว้ไม่ซ่อมแซม ผู้คนที่เดินผ่านไปมาก็จะสรุปว่าไม่มีใครสนใจและปราศจากคนดูแล เพียงไม่นานหน้าต่างบานอื่น ๆ ก็จะแตกตามไปด้วย นี้เป็นการอธิบายสั้น ๆ ของทฤษฎีหน้าต่างแตก (Broken Windows Theory) โดยนักอาชญาวิทยาชื่อเจมส์ วิลสัน (James Wilson) และจอร์จ เคลลิง (George Kelling) ซึ่งเราสามารถประยุกต์แนวคิดดังกล่าวกับการจัดการดูแลสถานที่เล็ก ๆ ไปจนถึงระดับเมืองหรือระดับประเทศได้เลย

            นอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมยังสามารถนำมาใช้กับการทำงานได้อย่างดีอีกด้วย โดยการออกแบบสถานที่ทำงานให้น่าทำงาน มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วน สวัสดิการครบวงจร เพื่อให้พนักงานมีความพึงพอใจและมีความสุขมากขึ้น และยังสามารถออกแบบให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นจากปรับพื้นที่สำนักงานให้พนักงานได้พบเจอหน้าและสื่อสารกันมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้พนักงานรู้สบายใจและปลอดภัยมากขึ้นอีกด้วย

            บทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จริง ๆ แล้วเราสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเพื่อปรับพฤติกรรมอื่น ๆ ได้อีกมากมาย ทั้งการทำให้นักเรียนมีความสุขและเรียนได้ดีขึ้น หรือการทำให้คนมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ซึมเศร้าและฆ่าตัวตายน้อยลง นอกจากนั้นเรายังเปลี่ยนแปลงชีวิตในด้านต่าง ๆ จากการบิด ปรับ หรือแต่งสภาพแวดล้อมในการดำเนินชีวิตรอบตัวเพื่อให้ชีวิตของเราดียิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็น

การเลือกคบเพื่อน การเก็บอาหารในตู้เย็น การจัดโต๊ะทำงาน 
ไปจนถึงการตกแต่งบ้าน หรือห้องเล็ก ๆ เพียงห้องเดียวเท่านั้น

อ้างอิง

Clear, J. (2018). Atomic Habits: An Easy & Proven Way to Build Good Habits & Break Bad Ones. NY: Avery. 

Friedman, R. (2015). The Best Place to Work: The Art and Science of Creating an Extraordinary. Workplace NY: TarcherPerigee.

Gladwell, M. (2002). The Tipping Point: How Little Things Can Make a Big Difference NY: Back Bay Books.

Lichtenfield, S., Elliot, A., Maier, M., & Pekrun, R. (2012). Fertile Green: Green Facilitates Creative Performance. Personality and Social Psychology Bulletin. 38 (6): 784-797. https://doi.org/10.1177/0146167212436611

Lyubomirsky, S., King, L., & Diener, E. (2005). The Benefits of Frequent Positive Affect: Does Happiness Lead to Success?. Psychological Bulletin. 131(6): 803-855. https://doi.org/10.1037/0033-2909.131.6.803

คาลอส บุญสุภา. (2564). การออกแบบสถานที่ทำงานให้พนักงานมีความสุข. https://sircr.blogspot.com/2021/08/blog-post_12.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). อิทธิพลของสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อพฤติกรรม (Environmental Influences). https://sircr.blogspot.com/2021/10/environmental-influences.html

ความคิดเห็น