การจับคู่สภาพแวดล้อม กับการแสดงออกทางพฤติกรรม

คนบางคนโกรธอย่างมากเมื่อเห็นเด็กโดนไม้ตี 
ทั้ง ๆ ที่ปกติไม่ใช่คนที่โกรธง่ายอะไรขนาดนั้น 
อาจจะเพราะเขาเคยโดนกระทำในแบบเดียวกันเมื่อครั้งอดีต

            สะพานโกลเด้นเกต เป็นสะพานที่สวยงามและมีขนาดใหญ่มากที่ตั้งอยู่ในเขตซานฟรานซิสโก ในประเทศสหรัฐอเมริกาเปิดใช้งานในปี 1937 แต่สะพานที่สวยงามมหึมานี้ก็มีเรื่องน่าเศร้าเกิดขึ้นจนเป็นตำนาน เพราะสะพานนี้เป็นสถานที่การฆ่าตัวตายที่มีชื่อเสียงมาก กว่า 1,500 ชีวิตที่สูญเสียไป เรียกได้ว่าเป็นสถานที่ที่คนไปฆ่าตัวตายมากที่สุดในช่วงเวลานั้น พูดง่าย ๆ หากเรายืนแช่อยู่บนสะพานนั้นนานพอ ก็คาดได้ว่าอาจเห็นใครบางคนพยายามจะกระโดดจากสะพานนั้น

            จึงเป็นที่น่าแปลกใจว่าเพราะอะไร ในเมื่อสะพานนี้เป็นสถานที่ที่คนฆ่าตัวตายมากขนาดนั้น ทำไมเทศบาลผู้ดูแลสะพานแห่งนั้นจึงตัดสินใจติดแนวกั้นป้องกันคนฆ่าตัวตายในปี 2018 กล่าวคือ ต้องใช้เวลาถึง 80 ปี ผู้ดูแลหรือเทศบาลจึงตัดสินใจติดแนวป้องกันจนได้ ไม่ใช่ปัญหาด้านการเงินแน่นอน เพราะเทศบาลมีทุนทรัพย์ในการจัดการ และดูแลสะพานในด้านต่าง ๆ เป็นจำนวนมากกว่าค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครื่องป้องกันเยอะมาก และพวกเขาก็ไม่ได้ใจดำ หรือไม่สนใจว่าจะมีใครกระโดดมากน้อยแค่ไหน

            จริง ๆ แล้วมันเป็นเพราะคนส่วนใหญ่ที่ปฏิเสธไม่ยอมให้ติดแนวป้องกันนั้น โดยพวกเขาส่วนใหญ่คิดว่า ถ้าติดเครื่องป้องกันไว้บนสะพาน สุดท้ายไม่กี่เดือนคนที่คิดอยากฆ่าตัวตายก็จะเดินไปกระโดดสะพานอื่น หรือฆ่าตัวตายด้วยวิธีอื่นอย่างเช่นการใช้ปืน แขวนคอ กระโดดน้ำ กรีดเส้นเลือดใหญ่ กระโดดจากตึกสูง ซึ่งเลือกให้กระโดดสะพานเสียยังดีกว่ากระโดดลงจากตึก เพราะอาจมีโอกาสทำให้คนอื่นที่เดินอยู่ตามถนนได้รับบาดเจ็บ หรืออาจจะเสียชีวิตได้

            ผู้ที่คัดค้านการติดตั้งเครื่องป้องกันมองเห็นว่าแทนที่จะเสียเงินเป็นจำนวนหลายล้านเหรียญ ควรจะนำเงินไปดูแลสุขภาพจิตคนจำนวนมากแทนที่จะมัวห่วงคนไม่กี่คนที่กระโดดสะพานฆ่าตัวตาย เนื่องจากวิธีการฆ่าตัวตายมีหลากหลายวิธีมากมายจากที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งจากความคิดเห็นของผู้คนจำนวน 3 ใน 4 เดาว่าสุดท้ายเมื่อติดเครื่องป้องกันบนสะพานโกลเด้นเกตแล้ว คนก็จะเลือกปลิดชีวิตด้วยวิธีอื่นอยู่ดี 

แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่แบบนั้น เพราะจากการศึกษาข้อมูลโดยนักจิตวิทยา ริชาร์ด เซเดน ที่ติดตามข้อมูลจากบุคคล 515 คนซึ่งพยายามจะกระโดดสะพานนี้เพื่อปลิดชีวิตตัวเองระหว่างปี 1937 ถึง 1971 แต่ถูกขัดขวางโดยไม่ได้คาดคิด พบว่ามีเพียงแค่ 25 คนจาก 515 รายเท่านั้นที่ยังตัดสินใจเลือกจะปลิดชีวิตตัวเองด้วยวิธีอื่น กล่าวคือมีคนเพียงแค่ 4.9% หรือประมาณ 1 ใน 20 คนเท่านั้นที่ต้องการจะฆ่าตัวตายไม่ว่าจะวิธีไหนก็ตาม ดังนั้นสามารถกล่าวได้ว่าคนส่วนมากที่อยากกระโดดสะพานโกลเด้นเกตในช่วงเวลานั้นอาจอยากทำเพราะความคิดชั่ววูบเท่านั้น หรือ

มันมีความเชื่อมโยงอะไรบางอย่างกับสะพานนี้เท่านั้น ซึ่งเรียกว่า การจับคู่เชื่อมโยง (Coupling) ระหว่างสภาพแวดล้อมกับพฤติกรรมการฆ่าตัวตาย

การจับคู่พฤติกรรมกับสภาพแวดล้อม

            ในหนังสือ Talking to Strangers ที่เขียนโดย มัลคอล์ม แกลดเวลล์ (Malcolm Gladwell) เขาได้อธิบายถึงการจับคู่เชื่อมโยง (Coupling) โดยเขาได้อธิบายว่า พฤติกรรมต่าง ๆ เชื่อมโยงกับสภาพการณ์และเงื่อนไขที่เฉพาะเจาะจงมาก เขาเล่าในหนังสือว่า "พ่อของผมอ่านวรรณกรรมเรื่อง A Tale of Two Cities ของชาร์ลส์ ดิคเกนส์ ให้ผมกับน้อง ๆ ฟังสมัยเรายังเป็นเด็ก แล้วพออ่านถึงตอนจบเรื่องซิดนีย์ คาร์ตัน สิ้นชีวิตในบ้านของชาร์ลส์ ดาร์นีย์ พ่อผมก็น้ำตาไหลพราก พ่อผมไม่ใช่คนขี้แย ไม่ใช่พวกมีอารมณ์อ่อนไหวในทุก ๆ ช่วงเวลาสำคัญที่สะเทือนอารมณ์ ดูหนังเศร้าพ่อก็ไม่ร้องไห้ ตอนที่ลูกย้ายจากบ้านไปเรียนต่อพ่อก็ไม่ร้องไห้ ท่านอาจจะแอบน้ำตาคลอบ้างเป็นครั้งคราว แต่ไม่ถึงขนาดที่ใครจะสังเกตเห็น อาจเว้นแต่แม่ของผมเท่านั้น"

            "พ่อจะร้องไห้ก็ต่อเมื่อมีลูก ๆ นั่งฟังท่านอ่านหนังสืออยู่บนโซฟา" เขาเล่าต่อ "บวกกับท่านต้องอ่านวรรณกรรมสุดแสนสะเทือนใจเป็นวัติการณ์เล่มหนึ่งเท่านั้น ขาดปัจจัยอย่างไหนในสองอย่างนั้นไปก็ไม่มีใครได้เห็นน้ำตาพ่อเลย นั้นก็คือการจับคู่เชื่อมโยง ถ้าหากว่าการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องของการเชื่อมโยงจับคู่ มันย่อมไม่ใช่แค่สิ่งที่คนหดหู่ซึมเศร้าจะทำ 

แต่ว่าเป็นสิ่งที่คนเหล่านั้นจะทำในบางห้วงเวลาซึ่งจิตใจอ่อนแอสุดขีด บวกกับวิธีการเฉพาะที่เอื้ออำนวยให้ปลิดชีวิตตัวเอง"

            หลักฐานอย่างหนึ่งที่สอดรับกับสิ่งที่แกลดเวลล์ก็คือข้อมูลของ ริชาร์ด เซเดน (Richard Seiden) ที่ศึกษาบุคคล 515 คน ที่พยายามจะกระโดดสะพานโกลเด้นเกตแต่ถูกขัดขวาง ซึ่งมีเพียงแค่ 25 คนจาก 515 หรือ ประมาณ 1 ใน 20 คนเท่านั้นที่เลือกวิธีฆ่าตัวตายอื่น ๆ หลังจากที่กระโดดไม่สำเร็จ นั้นเท่ากับว่าคน 19 ใน 20 คนหรือราว 95.1% ที่ตัดสินใจไม่ปลิดชีวิตตัวเองด้วยวิธีอื่น ดังนั้นบุคคลจำนวนดังกล่าวอาจจะจับคู่เชื่อมโยงระหว่างการปลิดชีวิตตัวเองกับสะพานโกลเด้นเกตไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่งก็ตาม

            คนบางคนโกรธอย่างมากเมื่อเห็นเด็กโดนไม้ตีทั้ง ๆ ที่ปกติไม่ใช่คนที่โกรธง่ายอะไรขนาดนั้น อาจจะเพราะเขาเคยโดนกระทำในแบบเดียวกันเมื่อครั้งอดีต ซึ่งเป็นการจับคู่เชื่อมโยงระหว่างโดนไม้ตีกับประสบการณ์เจ็บปวดในวัยเยาว์ หรือเขาอาจจะเชื่อมโยงด้วยเหตุผลอื่น ๆ เช่นเดียวกับบุคคลที่เลือกปลิดชีวิตที่สะพานโกลเด้นเกตเขาอาจเชื่อมโยงกับสะพานนี้โดยที่ไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นความสูง สวยงาม ยิ่งใหญ่ เรื่องราวที่มีคนเลือกฆ่าตัวตายจำนวนมาก หรือเขาอาจจะมีความทรงจำบางอย่างกับสะพานนี้ ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลใดก็ได้ทั้งนั้น 

            ดังนั้นบางกรณีเราก็ไม่สามารถระบุเหตุผลได้ ว่าทำไมคนเราถึงจับคู่เชื่อมโยงกับบางสิ่งบางอย่าง ยกตัวอย่างเรื่องที่ มัลคอล์ม แกลดเวลล์ เล่าเกี่ยวกับพฤติกรรมการร้องไห้ของพ่อเขาที่จับคู่เชื่อมโยงระหว่างการที่ลูก ๆ นั่งฟังเขาอ่านหนังสืออยู่บนโซฟากับการอ่านวรรณกรรม A Tale of Two Cities ของชาร์ลส์ ดิคเกนส์ ผมเชื่อว่าแกลดเวลล์ก็อาจจะอธิบายไม่ได้ว่าทำไมถึงต้องเป็น 2 อย่างนี้บวกกันเท่านั้นพ่อถึงร้องไห้

            แต่ในบางกรณีเราก็สามารถอธิบายการเชื่อมโยงได้หากหลักฐานมันชัดเจนมากพอ เช่น คนที่เป็นโรคกลัวที่แคบ (Phobia) ซึ่งเป็นผลมาจากการจับคู่เชื่อมโยงระหว่างความกลัวสุดขีดกับที่แคบ อันเนื่องมาจากเหตุการณ์สมัยเด็กที่เขาอยู่ในที่แคบพร้อมกับความรู้สึกกลัวแบบสุดขีด เป็นต้น

การจับคู่สภาพแวดล้อมกับพฤติกรรมการค้าประเวณี

            แกลดเวลล์ยังได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาของ เดวิด ไวส์เบิร์ด (David Weisburd) นักอาชญาวิทยามืออาชีพ ไว้ในหนังสือ Talking to Strangers โดยเล่าเกี่ยวกับการจับคู่พื้นที่กับการค้าประเวณี โดยเขาได้ทำการศึกษาเชิงลึกจนค้นพบว่า การค้าประเวณีในเมืองเจอร์ซีย์ซิตี ที่อยู่อีกฝากของแม่น้ำฮัดสันตรงข้ามแมนฮัตตัน บนถนนแกรนด์สตรีท และถนนแฟร์เมานต์ เป็นบริเวณที่มีการค้าประเวณีชุกชุม การทดลองของไวส์เบิร์ดคือการเพิ่มสายตำรวจให้มากขึ้น และคอยตระเวนตรวจตาพื้นที่ไม่กี่ช่วงถนน เขาพบว่าการค้าประเวณีลดลงถึงสองในสาม

            สิ่งนี้คล้ายกับกรณีของสะพานโกลเด้นเกต กล่าวคือผู้คนทั่วไปมักจะคิดว่าถ้าตรวจตราในพื้นที่ค้าประเวณี พวกเธอก็น่าจะย้ายไปช่วงถนนอื่น "หนีไปขายอีกที่หนึ่ง" ก็เหมือนกับคนทั่วไปที่คิดกันว่าหากคนอยากปลิดชีวิตตัวเองแล้วไม่สามารถกระโดดสะพานโกลเด้นเกตลงไปได้ (อาจจะมีคนเห็นหรือช่วยเอาไว้ทัน) เขาก็จะต้องไปปลิดชีวิตตัวเองด้วยวิธีอื่นอยู่ดี 

แต่ผลที่ออกมาตรงกันข้ามทั้งสองกรณี

            ไวส์เบิร์ดให้ทีมงานที่ผ่านการฝึกอย่างดีแล้วมาสังเกตการณ์เป็นประจำอยู่แถวนั้น คอยพูดคุยสอบถามผู้ขายบริการทางเพศว่ามีการย้ายไปที่อื่นแทนหรือไม่ พวกเขาพบว่าส่วนใหญ่พวกเธอจะหันไปทำอย่างอื่นแทน เช่น เลิกงานนี้ไปเลย หรือเปลี่ยนพฤติกรรม มากกว่าจะย้ายทำเลทำมาหากิน พวกเธอไม่เพียงเชื่อมโยงจับคู่กับสถานที่ แต่ถึงขั้นเกาะเกี่ยวกับตัวสถานที่แน่นเลยเสียด้วยซ้ำ 

            จากการศึกษาด้วยการสัมภาษณ์พวกเธอบอกกับนักวิจัยว่า "ฉันอยู่แถวนี้ ฉันไม่อยากย้ายไปเพราะมันจะทำให้ลูกค้าฉันลำบาก" หรือ "ไม่หรอก ฉันต้องไปตั้งหลักใหม่อีก" พวกเธอมีเหตุผลแย้งในทำนองนี้สารพัดว่าทำไมจึงไม่ย้ายที่หากิน อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ "ถ้าฉันย้ายไปที่อื่นแล้วมันเป็นย่านที่ค้ายากัน มันก็มีเจ้าถิ่นทำอยู่แล้ว ขืนฉันไปทำก็โดนฆ่าทิ้งสิ" 

            มัลคอล์ม แกลดเวลล์ (Malcolm Gladwell) ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า วิธีจะเข้าใจหญิงขายบริการทางเพศสักคนได้ง่ายที่สุดคือบอกว่าเธอถูกบีบบังคับให้ขายตัว เหมือนเป็นนักโทษของสภาพเศรษฐกิจและสังคม เธอผิดแผกไปจากเรา ๆ แต่อย่างแรกที่พวกเธอเอ่ยถึงเมื่อถูกขอให้อธิบายกลับไม่ได้เป็นสิ่งที่พวกเรามักจะคิดกันเลย แต่เป็นการเปิดใจว่าการย้ายที่ทำมาหากินเป็นเรื่องชวนเครียดจริง ๆ ซึ่งมันก็เหมือนเวลาที่พวกเราพูดถึงการย้ายที่อยู่ หรือย้ายที่ทำงานนั้นเอง

            อีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจก็คือเมื่อคนสัมภาษณ์ถามเธอว่า "เออ แล้วทำไมคุณไม่ย้ายไปอีกแค่สี่ช่วงถนนล่ะ นั้นก็เป็นย่านค้าประเวณีอีกแห่งนี่" เธอตอบว่า "พวกนั้นไม่ใช่แบบเดียวกับฉันหรอก ฉันไม่รู้สึกสบายใจกับที่นั่น" ประโยคนี้โดนไวส์เบิร์ดอย่างมาก เพราะแม้แต่กลุ่มคนที่มีปัญหาเยอะขนาดนี้ ชีวิตลำบากมากขนาดนี้ ก็ตอบสนองกับหลายสิ่งหลายอย่างแบบเดียวกันกับคุณหรือผมนั้นแหละ

            พวกเธอบางคนอาจมีลูกเรียนที่โรงเรียนแถวนั้น มีร้านค้าที่ชอบไปซื้อข้าวของ มีเพื่อนฝูงที่อยากอยู่ใกล้ ๆ มีพ่อแม่ที่ต้องไปเยี่ยมเยียน จึงทำให้พวกเธอมีเหตุผลสารพัดที่จะไม่ย้ายไปแหล่งทำมาหากินอื่น งานที่พวกเธอทำขณะนั้นคือการขายบริการทางเพศ แต่แรกสุดพวกเธอก็เป็นแม่ เป็นลูก เป็นเพื่อน และเป็นพลเมืองเหมือนกับทั่วไปนั้นแหละ

การจับคู่เชื่อมโยงผลักดันให้เรามองเห็นความซับซ้อนคลุมเครือของคนที่เราไม่รู้จักได้รอบด้านอย่างมาก

สรุป

            จะเห็นว่าทั้งกรณีการปลิดชีวิตโดยการกระโดดจากสะพานโกลเด้นเกตลงมามีความสอดคล้องกับกรณีของการค้าประเวณีในเมืองเจอร์ซีย์ซิตี กล่าวคือ คนที่กระโดดสะพานไม่สำเร็จมีจำนวน 19 ใน 20 ที่ตัดสินใจไม่ปลิดชีวิตด้วยวิธีอื่น เช่นเดียวกับเมื่อเพิ่มตำรวจลาดตะเวนบนถนนที่มีการค้าประเวณีชุม ผู้หญิงเหล่านั้นก็ไม่ได้ไปทำอาชีพค้าประเวณีบนถนนอื่นที่อยู่ไม่ไกลจากกัน ทั้ง ๆ ที่เป็นแหล่งค้าประเวณีเช่นเดียวกัน

            ทั้ง 2 กรณียึดโยงกันด้วยการจับคู่เชื่อมโยงที่เชื่อมระหว่างบริบทหรือสภาพแวดล้อมต่าง ๆ กับพฤติกรรม เหมือนกับการจับคู่เชื่อมโยงระหว่างพฤติกรรมการร้องไห้ของพ่อ มัลคอล์ม แกลดเวลล์ (Malcolm Gladwell) กับการที่ลูก ๆ นั่งฟังเขาอ่านหนังสืออยู่บนโซฟาและการอ่านวรรณกรรม A Tale of Two Cities ของชาร์ลส์ ดิคเกนส์ กล่าวคือ ต้องเป็นสภาพแวดล้อมแบบนี้เท่านั้น พ่อของเขาถึงจะร้องไห้ออกมา

            ดังนั้นจึงไม่ใช่เพียงแค่การเลือกวิธีการปลิดชีวิตตัวเองเท่านั้น แต่ยังมีพฤติกรรมอีกมากมายที่เชื่อมโยงกับบริบทหรือสภาพแวดล้อมบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคนที่เป็นโรคกลัวที่แคบ (Phobia) ซึ่งเป็นผลมาจากการจับคู่เชื่อมโยงระหว่างความกลัวสุดขีดกับที่แคบ ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์การอยู่ในที่แคบในวัยเด็ก หรือความกลัวอย่างรุนแรงอื่น ๆ ก็เป็นเพราะการจับคู่เชื่อมโยงเช่นเดียวกัน 

            นอกจากนี้แล้วยังมีการเชื่อมโยงอย่างอื่นอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการที่เราอ่านหนังสือได้ดีเมื่อฟังเสียงธรรมชาติ ซึ่งอาจจะมาจากยีนที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษหรืออาจมาจากเหตุผลอื่น ๆ ซึ่งหลายครั้งเราไม่สามารถค้นหาได้เลยว่าการเชื่อมโยงนี้มีที่มาอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะไม่ชอบพฤติกรรมของคนที่มาสายอย่างรุนแรง แต่ไม่รู้ว่าความรู้สึกแบบนี้มันมีที่มาอย่างไร หรือเราอาจจะหัวเราะเมื่อดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง แต่แทบไม่เคยหัวเราะเมื่อดูเรื่องอื่นเลย

            การจับคู่เชื่อมโยงระหว่างสภาพแวดล้อมกับพฤติกรรมจึงเป็นสิ่งที่เรียบง่าย สามารถเกิดขึ้นได้ในหลากหลายบริบท หลายพฤติกรรม อาจกล่าวได้ว่าแทบทุกพฤติกรรมของเรามีการจับคู่เชื่อมโยงแทบทั้งนั้นเลย คำถามก็คือเราได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องนี้บ้าง อย่างแรกเลยเราได้รู้ที่มาของพฤติกรรม เพราะพฤติกรรมบางอย่างเราสามารถค้นหาที่มาของมันได้จากความรู้นี้ 

            ส่วนอีกข้อดีหนึ่งก็คือในกรณีที่เป็นพฤติกรรมที่มีความอันตราย เราสามารถป้องกันได้ เช่น หากคนใกล้ตัวมีความพยายามฆ่าตัวตายด้วยวิธีหรืออุปกรณ์ใดก็ตาม ให้พยายามเอาสิ่ง ๆ นั้นออกไปจากบ้านร่วมกับการพาไปหาจิตแพทย์ ก็อาจจะสามารถช่วยเขาได้ เพราะน้อยคนมากที่หากฆ่าตัวตายด้วยอุปกรณ์นึงไม่สำเร็จ จะไปใช้อีกอุปกรณ์หนึ่ง 

            ซึ่งการที่เราสามารถนำเอาอุปกรณ์ที่เชื่อมโยงกับพฤติกรรมการฆ่าตัวตายออกไปได้ ก็อาจจะสามารถวางใจได้มากขึ้น เมื่อเวลาที่เขาต้องกลับมาจากการบำบัดแล้วอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเดิม ดังนั้นนอกจากเราจะสามารถช่วยเหลือคนได้แล้ว การที่เราสามารถค้นหาสาเหตุของพฤติกรรมบางอย่างได้ หรือเข้าใจพฤติกรรมที่เชื่อมโยงกับบริบท เช่น เราอาจจะอ่านหนังสือได้ดี หรือทำงานได้ดีขึ้น หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงพูดคุยเบา ๆ หรือเราจะมีความสุขขึ้นถ้าเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่รู้สึกปลอดภัย

หากเราสามารถล่วงรู้ความลับของการเชื่อมโยง 
ก็อาจจะสามารถผลักดันให้ตัวเรา 
พัฒนาตัวเองและมีความสุขมากขึ้นได้

อ้างอิง 

Gladwell, M. (2019). Talking to Strangers: What We Should Know about the People We Don't Know. UK: Confer Books.

Seiden, R. (1978). Where Are They Now? A Follow-Up Study of Suicide Attempters from the Golden Gate Bridge. Suicide and Life-Threatening Behavior. 8(4): 203-216.

Weisburd, D., Telep, C., Hinkle, J & Eck, J. (2010). Is Problem-Oriented Policing Effective in Reducing Crime and Disorder? Findings from a Campbell Systematic Review. Criminology & Public Policy 9(1) 139-172. https://doi.org/10.1111/j.1745-9133.2010.00617.x

คาลอส บุญสุภา. (2564). การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม. https://sircr.blogspot.com/2021/11/blog-post.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). โรคซึมเศร้า (Depression) เงามืดที่คืบคลาน. https://sircr.blogspot.com/2021/04/depression.html

ความคิดเห็น