เราทุกคนควรมี กลุ่มที่คอยสนับสนุน ซึ่งกันและกัน (Group Support)

"อากัปกิริยาที่แสดงออกมีไม่มาก แต่ความใส่ใจที่เขาให้ผม 
การชื่นชมในสิ่งที่ผมพูด แม้ว่าจะเป็นตอนที่ผมพูดได้ไม่ดีก็ตาม 
มันช่างเป็นสิ่งที่พิเศษจริง ๆ"

            ในปึ 2019 ลิซา หลิง (Lisa Ling) เป็นผู้ดำเนินรายการ This is Life ทางช่อง CNN ซึ่งเป็นรายการสดและไม่มีการตัดต่อ หลิงมักจะสัมภาษณ์บุคคลที่กำลังต่อสู้กับความเจ็บปวดทางอารมณ์จำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งเธอเคยสัมภาษณ์เด็กสาวอายุ 17 ปี ที่ถูกขายเข้าสู่กระบวนการค้าประเวณีตั้งแต่อายุ 11 ปี ระหว่างการสัมภาษณ์ เด็กคนนั้นเล่าให้ฟังว่าตอนอายุเท่านั้นเธอมักจะโทรหาตำรวจและขอร้องให้พวกเขามาจับเธอเสีย เธอจะได้มีที่นอนที่ปลอดภัย

            เรื่องราวนี้เป็นแค่หนึ่งในบทสนทนาที่เจ็บปวดจำนวนนับไม่ถ้วนที่หลิงสัมภาษณ์เด็กอายุ 17 ปีคนนี้ ในระหว่างการสัมภาษณ์หลิงและทีมงานเล็ก ๆ ของเธอนั่งร้องไห้ด้วยกันเพราะถูกถาโถมไปด้วยความจริงจากการสัมภาษณ์และเรื่องราวที่ได้ฟังจากเด็กคนนี้ หลิงเล่าว่า "เด็กคนนั้นต้องมาปลอบฉันแทนความความเศร้าที่ถาโถมเข้ามาใส่ฉัน และหลังจากสัมภาษณ์ ลูกทีมกับฉันเรานั่งร้องไห้ด้วยกัน นี่คือทีมที่ประกอบไปด้วยชายห้าคนกับตัวฉัน"

            "เราต้องปลดปล่อยอารมณ์ที่มีออกมา หัวใจฉันแตกสลาย" เธอเล่าต่อ "การมีทีมที่อยู่กับคุณมาตลอดเป็นทางรอดของฉันจริง ๆ เพราะถ้าต้องเผชิญกับเรื่องเหล่านี้ด้วยตัวคนเดียว ฉันคงไม่รู้ว่าจะเอาชีวิตรอดมาได้ตลอดหลายปีที่ผ่านมานี้หรือเปล่า เพราะมันกัดกินความรู้สึกเหลือเกิน แต่การที่มีพวกเขาอยู่เคียงข้าง ซึ่งเอาจริง ๆ ทีมของฉันมีทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่อ่อนไหวและน่าทึ่งที่สุด พวกเขาทำให้ฉันผ่านทุกอย่างมาได้"

            นี้เป็นเพียงเรื่องราวของเด็กผู้เผชิญกับความเลวร้ายเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ทีมงานและตัวลิซา หลิงเองต้องเผชิญกับเรื่องราวที่น่าเศร้ามากมาย เธอทำงานที่ทรงพลังอันเต็มไปด้วยความรู้สึก เธอฉลาดที่รู้ว่าตัวเองไม่สามารถทำสิ่งที่ทำอยู่ด้วยตัวคนเดียวได้ เธอจึงมีกลุ่มคนที่คอยรับฟังและคอยช่วยสนับสนุนให้เธอผ่านทุกอย่างไปได้ สิ่งนี้เป็นเคล็ดลับที่ทำให้หลิงปฏิบัติงานที่มีคุณภาพและมีความสำคัญแบบนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม

            ไม่เพียงแต่งานของหลิงเท่านั้นที่จำเป็นต้องมีกลุ่มคอยสนับสนุนและให้กำลังใจ แต่ทุกคนไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตาม ล้วนจำเป็นต้องมีกลุ่มที่คอยสนับสนุนซึ่งกันและกันทั้งนั้น มนุษย์เราอยู่รอดได้ด้วยการทำงานเป็นทีมที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน งานวิจัยอันยาวนานที่มีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแสดงให้เห็นแล้วว่าคนที่มีความสุขคือคนที่มีความสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งในความสัมพันธ์ที่ดีนั้นก็คือการที่แต่ละคนสนับสนุน รับฟัง ระบาย และช่วยเหลือกัน

เราทุกคนควรมีกลุ่มที่คอยสนับสนุนซึ่งกันและกัน

            ในหนังสือ Personality isn't permanent ผู้เขียน เบนจามิน ฮาร์ดี้ (Benjamin Hardy) ได้พูดถึงความสำคัญของการมีกลุ่มที่คอยสันสนุนเอาไว้ว่า "ถ้าคุณจริงจังกับการตามหาการเติบโตในชีวิต คุณจำเป็นต้องมีทีมผู้คอยรับฟังอยู่รอบตัว" ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องทำงานที่ใช้อารมณ์ในระดับเดียวกันกับ ลิซา หลิง (Lisa Ling) เพราะการเติบโตไปสู่เป้าหมายใหญ่ ๆ และงานสำคัญต่างก็เปลืองอารมณ์ด้วยกันทั้งนั้น ฮาร์ดี้ยังแนะนำเพิ่มเติมอีกว่า "หาทีมที่คุณสามารถนั่งลงกอดคอคุยด้วยได้เมื่อคุณเหนื่อยล้า หมดแรง หมดไฟ ใจสลายหรือหวาดกลัว"

            ชีวิตของเราทุกวันนี้ต่างก็ต้องสัมผัสประสบการณ์ของความล้มเหลว เจ็บปวดใจ อยู่เสมอ ยิ่งเติบโตมากขึ้น ความรับผิดชอบยิ่งเพิ่มมากขึ้น ตามมาด้วยความสับสน การแข่งขัน ความขัดแย้ง ซึ่งนำมาซึ่งความทุกข์ เราจึงต้องการกลุ่มหรือทีมที่จะคอยสนับสนุน คอยให้กำลังใจเพื่อให้เราก้าวเดินต่อไปได้ในแต่ละวัน ไม่ว่าจะให้กำลังใจเมื่อเราต้องเผชิญกับวันที่เจ็บปวด หรือสนับสนุนให้เราได้ทำตามความฝันและทำงานของตัวเองขณะที่คนอื่น ๆ อาจจะไม่เข้าใจในสิ่งที่เราทำ

            เดวิด ออสบอร์น ประสบความสำเร็จอย่างมากในฐานะนักธุรกิจและนักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ เขามีทรัพย์สินมูลค่ากว่าร้อยล้านดอลลาร์ เขาเชื่อว่าเขาประสบความสำเร็จได้เพราะหุ้นส่วนกลุ่มเล็ก ๆ โดยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา หุ้นส่วนทั้งสี่คนเจอกันบ่อยครั้งเพื่อสนับสนุนและรับผิดชอบซึ่งกันและกัน หนึ่งในสิ่งที่พวกเขาทำระหว่างที่เจอกันก็คือการอ่าน One Sheet ของตัวเองให้เพื่อน ๆ ฟัง 

            One Sheet เป็นข้อมูลต่าง ๆ ที่สำคัญและเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับชีวิตของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการเงิน ทรัพย์สิน รายได้ จำนวนเงินที่มอบให้องค์กรการกุศล รายได้แฝงและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและการออกกำลังกายรวมทั้งผลเลือด หรือจะเป็นตัวชี้วัดเกี่ยวกับชีวิต เช่น ระดับของความสุขส่วนตัว ระดับความสัมพันธ์ที่มีกับคู่รักของตัวเอง นอกจากนั้นยังเป็นความคาดหวังในอนาคตว่าพวกเขาอยากให้ตัวเลขหรือตัวชี้วัดต่าง ๆ เปลี่ยนไปอย่างไรบ้างในปีต่อไป 

            ออสบอร์นเรียกสิ่งนี้ว่า "การเปือยตัวเองกับคนอื่น" ทั้งออสบอร์นและหุ้นส่วนของเขามองว่า ความรับผิดชอบเป็นสิ่งที่ทรงพลังที่สุดในโลก พวกเขาเป็นคนที่คอยรับฟัง เป็นโค้ชและเป็นหุ้นส่วนที่รับผิดชอบซึ่งกันและกัน พวกเขายังเชื่อว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้ เพราะกลุ่มหุ้นส่วนผู้รับผิดชอบและกิจกรรมที่พวกเขาทำร่วมกัน ซึ่งทั้งสี่คนในกลุ่มต่างก็ประสบความสำเร็จกันทุกคน 

            จากตัวอย่างของออสบอร์นแสดงให้เห็นว่า ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องเผชิญกับความเศร้า ความทุกข์ ความเลวร้ายต่าง ๆ เราถึงต้องการคนที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน แต่การที่เรามีกลุ่มที่คอยสนับสนุนก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ ยกตัวอย่างกิจกรรม One Sheet ที่เปลือยข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลสุขภาพ การเงิน ระดับความสุข และระดับความสัมพันธ์ที่มีกับคู่ชีวิต ซึ่งการสนับสนุนด้วยข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้ทำให้ออสบอร์นคิดว่าสิ่งนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เขาและกลุ่มประสบความสำเร็จ

การสนับสนุนมีผลอย่างมากต่อสุขภาพจิต

            ในเว็บไซต์ becommon.co วิชิตา คะแนนสิน ได้เขียนบทความเกี่ยวกับ Support System โดยเธอเล่าถึงงานวิจัยของ ทาฮีเบฮ์ ฮารอนดิ (Tayebeh Harandi) นักวิจัยปริญญาเอกที่ศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มสนับสนุน เธอพบว่ากลุ่มสนับสนุนที่แข็งแรงจะส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของเรา ซึ่งเห็นผลชัดเกือบทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย คนทำงาน และนักเรียน ซึ่งในการศึกษานี้เธอได้กำหนดระดับความเครียดตั้งแต่ 1-10 จากน้อยไปมาก แล้วพบว่าผู้ที่มีกลุ่มสนับสนุนที่แข็งแรงจะมีความเครียดเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 5 ในทางกลับกันกลุ่มที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจะมีระดับความเครียดอยู่ที่ 6.3 

            ผู้อ่านอาจจะคิดว่าตัวเลขดูขยับเล็กน้อย แต่การสนับสนุนซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนโดยการให้กำลังใจ หรือรับฟังเป็นวิธีการที่ไม่มีต้นทุนและไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะเฉพาะด้านอะไรทั้งนั้น ทุกคนสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทางด้านจิตใจโดยสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้สามารถเล่าเรื่องอะไรก็ได้ หรือจะบ่นอะไรก็ได้ทั้งนั้น โดยผู้สนับสนุนเพียงแค่รับฟังเท่านั้น อีกทั้งการฟังยังเป็นหัวใจสำคัญของจิตวิทยาการให้คำปรึกษา ซึ่งเป็นทักษะแรกที่นักจิตวิทยาการให้คำปรึกษาจะต้องฝึกฝน เพราะในการให้คำปรึกษาหากนักจิตวิทยาเป็นผู้ฟังที่ดี ก็สามารถทำให้กระบวนการให้คำปรึกษาสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง

            ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ผู้บุกเบิกจิตวิเคราะห์ เป็นผู้เปิดประตูให้จิตวิทยาโด่งดังในยุคเริ่มต้น การศึกษาและผลงานของเขาทำให้เกิดจิตวิทยาในสายต่าง ๆ ที่ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับเขาตามเรื่อย ๆ ในหนังสือ How to Win Friends and Influence เดล คาร์เนกี้ (Dale Carnegie) เล่าถึงชายคนหนึ่งที่ได้พบกับฟรอยด์และอธิบายถึงลักษณะการฟังของฟรอยด์เอาไว้ว่า 

            "การฟังของเขา ทำให้ผมถึงกับอึ้ง จนไม่อาจลืมเขาได้ เขามีคุณสมบัติที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อนเลยในคนอื่น ผมไม่เคยเห็นการให้ความสนใจที่จดจ่อได้ถึงขนาดนั้น ไม่มีการใช้สายตาที่เสียดแทง สายตาของเขาอ่อนโยนและมีชีวิตชีวา เสียงของเขาเบาและใจดี อากัปกิริยาที่แสดงออกมีไม่มาก แต่ความใส่ใจที่เขาให้ผม การชื่นชมในสิ่งที่ผมพูด แม้ว่าจะเป็นตอนที่ผมพูดได้ไม่ดีก็ตาม มันช่างเป็นสิ่งที่พิเศษจริง ๆ คุณไม่รู้หรอกว่าการมีคนฟังคุณเช่นนี้มีความหมายมาสักเพียงใด"

            จะเห็นว่ากิริยาที่ฟรอยด์แสดงออกคือ การมองตาอย่างอ่อนโยน ตั้งใจฟัง น้ำเสียงใจดี และมีการชื่นชม (เสริมแรง) เป็นระยะ ๆ เพื่อกระตุ้นให้ผู้พูดได้แสดงออกมากขึ้น ไม่นับรวมความอัจฉริยะในการวิเคราะห์พฤติกรรมหรือกระบวนการคิด เพียงแค่สิ่งที่เขาแสดงออกก็ทำให้เห็นว่าเขาเป็นผู้ฟังที่ยอดเยี่ยมมากเพียงใด เราไม่จำเป็นต้องมีทักษะการฟังเชิงรุกขนาดฟรอยด์หรือนักจิตวิทยาที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี 

แต่เพียงแค่เราให้กำลังใจ และเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับคนอื่น ๆ เท่านั้นเราก็สามารถสร้างการสนับสนุนที่ทรงคุณค่าให้เกิดขึ้นกับผู้อื่นได้แล้ว

สรุป

            การสนับสนุนคือการทำให้เกิดพื้นที่ปลอดภัย ที่ประกอบไปด้วยการรับฟัง และการให้กำลังใจ นอกจากนั้นการรวมตัวกันเป็นกลุ่มแล้วสนับสนุนร่วมกันยังสามารถช่วยเหลือกันให้ผ่านเรื่องเลวร้ายไปได้ เหมือนกับ ลิซา หลิง เป็นผู้ดำเนินรายการ This is Life ทางช่อง โดยเธอจะต้องสัมภาษณ์บุคคลที่กำลังต่อสู้กับความเจ็บปวดทางอารมณ์จำนวนมาก การมีทีมงานที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย ร้องไห้ด้วยกัน ให้กำลังใจกัน รับฟังกันก็สามารถทำงานของหลิงและทีมประสบความสำเร็จและสร้างผลกระทบที่ดีมากมายให้เกิดขึ้นได้

            อีกทั้งการมีกลุ่มสนับสนุนยังทำให้ประสบความสำเร็จด้วย เดวิด ออสบอร์น กับกลุ่มสนับสนุนของเขานำเสนอ One Sheet ที่เปลือยข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลสุขภาพ การเงิน ระดับความสุข และระดับความสัมพันธ์ที่มีกับคู่ชีวิต ซึ่งพวกเขาเห็นว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จทุกคน

            นอกจากนั้นการมีกลุ่มสนับสนุนยังช่วยเหลือทางจิตใจมากกว่าที่คิดไว้ เพราะจากการศึกษาพบวิจัยพบว่าแทบทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย คนทำงาน และนักเรียน ถ้ามีกลุ่มสนับสนุนจะมีระดับเครียดที่น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการสนับสนุน ดังนั้นการสนับสนุนจึงเป็นอะไรที่มีประสิทธิภาพมาก เนื่องจากไม่ต้องใช้ทรัพยากร หรือทักษะอะไรเลยก็สามารถแสดงประสิทธิผลออกมาได้อย่างดี

            ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ต่างก็ต้องการการสนับสนุน ไม่จำเป็นต้องเป็นกลุ่มที่กำลังเผชิญกับความเครียด หรือรู้สึกซึมเศร้า เพราะมนุษย์เราอยู่รอดได้ด้วยการทำงานเป็นทีมที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ซึ่งในความสัมพันธ์ที่ดีนั้นก็คือการที่แต่ละคนสนับสนุน รับฟัง ระบาย และช่วยเหลือกันอย่างที่ ลิซา หลิง (Lisa Ling) เป็นผู้ดำเนินรายการ This is Life ทางช่อง CNN ได้แนะนำเอาไว้ว่า

"หาทีมที่คุณสามารถนั่งลงกอดคอคุยด้วยได้ 
เมื่อคุณเหนื่อยล้า หมดแรง หมดไฟ ใจสลายหรือหวาดกลัว"

อ้างอิง

Carnegie, D. (1998).  How to Win Friends & Influence People. NY: Pocket Books.

Hardy, B. (2020). Personality Isn't Permanent: Break Free from Self-Limiting Beliefs and Rewrite Your Story. NY: portfolio.

คาลอส บุญสุภา. (2564). การให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา (Counseling Psychology). https://sircr.blogspot.com/2021/01/blog-post_21.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). ประโยชน์ของการเป็นผู้ฟังที่ดี (Good Listener). https://sircr.blogspot.com/2021/07/good-listener.html

วิชิตา คะแนนสิน และณัฐมน สุนทรมีเสถียร. (2564). เหตุผลที่เราควรมี ‘Support System’ ใครสักคนที่เป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้ซบไหล่ในวันเหนื่อยล้า. https://becommon.co/life/heart-support-system/

ความคิดเห็น