พวกเขาเป็นคนสามัญผู้มีส่วนร่วม
ในการกระทำที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่มนุษยชาติเคยพบมา
อันเป็นผลจากการที่เขาไม่ตั้งคำถามกับสิ่งที่ทำ
และอ้างเหตุผลเข้าข้างตัวเอง เพื่อให้กลายเป็นผู้บริสุทธิ์
อดอล์ฟ ไอช์มันน์ (Adolf Eichmann) คือทหารนาซีระดับสูงที่ดูแลการขนย้ายชาวยิวในยุโรปไปยังค่อยกักกันที่โปแลนด์ รวมทั้งค่ายเอาชวิทซ์ (Auschwitz) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนฆ่าชาวยิวทุกชีวิตที่อาศัยอยู่บนพื้นดินภายใต้การยึดครองของเยอรมนี โดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) อย่างไรก็ตามไอช์มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับแผนการฆ่าอย่างเป็นระบบโดยตรง มันไม่ใช่ความคิดของเขา แต่เขาก็มีส่วนร่วมสำคัญในการวางโครงสร้างระบบทางรถไฟที่ทำให้การฆ่านั้นเกิดขึ้นมา
นับตั้งแต่ปี 1930 เป็นต้นมาที่นาซีได้เริ่มบัญญัติกฎหมายลิดรอนสิทธิของชาวยิว ฮิตเลอร์โยนความผิดพลาดทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเยอรมนีไปที่ชาวยิวและมีความปรารถนาบ้าคลั่งที่จะล้างแค้น ซึ่งกฎหมายเหล่านั้นห้ามมิให้ชาวยิวเข้าไปเรียนในสถานศึกษาของรัฐ บังคับให้มอบทรัพย์สินเงินทองแก่รัฐ และกำหนดให้พวกเขาต้องติดดาวสีเหลืองไว้กับตัว
ชาวยิวทุกคนจะถูกต้อนจับแล้วบังคับให้ไปอยู่ในเขตชุมชนแออัดของเมือง ซึ่งกลายเป็นสถานที่จองจำสำหรับพวกเขา อาหารขาดแคลนและชีวิตยากลำบาก จนไปสู่แผนการครั้งสุดท้าย (Final Solution) ของฮิตเลอร์ คือการสังหารชาวยิวทั้งหมด ซึ่งเป็นความเลวร้ายขั้นใหม่ที่มากกว่าเดิม การตัดสินใจฆ่าคนนับล้านของเขาเพียงเพราะเหตุผลทางเชื้อชาติ นั้นหมายความว่าพวกนาซีต้องหาหนทางต้อนชาวยิวออกจากเมือง เพื่อไปยังพื้นที่ที่พวกเขาจะสามารถฆ่าได้ในปริมาณมหาศาลได้
มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะฆ่าคนเป็นล้านได้ การระดมยิงหรือใช้ระเบิดจะนำมาซึ่งการต่อต้าน และเปลืองทรัพยากร ซึ่งจะทำให้พวกนาซีรับศึกจากหลายด้านเกินไปและสิ้นเปลือง พวกเขาจึงต้องเปลี่ยนค่ายกักกันที่มีอยู่แล้วให้กลายเป็นโรงงานรมแก๊สและเผาผู้คนนับร้อยต่อวัน เนื่องจากค่ายจำนวนมากตั้งอยู่ในโปแลนด์ ใครสักคนต้องทำหน้าที่จัดการระบบรถไฟที่จะขนส่งชาวยิวไปสู่ความตาย
ไอช์มันน์ซึ่งเป็นทหารนาซีระดับสูงนั่งจัดกองเอกสารอยู่ในสำนักงานและหมุนโทรศัพท์ติดต่อเรื่องสำคัญ ๆ นั้นเป็นสาเหตุให้คนนับล้านต้องตาย บางคนตายจากโรคไทฟรอยด์หรือขาดอาหาร คนอื่น ๆ ถูกบังคับให้ทำงานจนตายแต่ส่วนใหญ่ตายเพราะถูกรมแก๊ส งานหลักของไอซ์มันน์จัดการระบบรถไฟให้วิ่งตรงเวลา ทำให้รถบรรทุกสามารถบรรทุกชาวยิวเต็มเสมอ ซึ่งมีทั้งผู้ชาย ผู้หญิงและเด็ก พวกเขาต้องเผชิญกับการเดินทางอันยาวนานและทุกข์ทรมานไปสู่ความตาย
พวกเขาส่วนใหญ่ไร้ซึ่งอาหารและน้ำดื่ม บางครั้งต้องอยู่กลางอากาศหนาวเหน็บหรือร้อนจัด หลายคนตายระหว่างทางโดยเฉพาะคนแก่และคนป่วย ผู้ที่รอดเดินทางถึงค่ายอย่างอ่อนแอและหวาดผวา เพียงเพื่อที่จะถูกบังคับให้เข้าไปในห้องที่ถูกพรางให้ดูเป็นห้องอาบน้ำ พวกเขาถูกสั่งให้เปลื้องผ้าออกหมด ประตูลงกลอน พวกนาซีฆ่าพวกเขาในนั้นด้วยแก๊สไซคลอน (Zyklon) ร่างของพวกเขาถูกเผาและข้าวของต่าง ๆ ถูกขโมยไป
ชาวยิวที่แข็งแรงมากพอจะไม่โดนคัดเลือกให้ตายในทันที พวกเขาจะถูกบังคับให้ทำงานอย่างรันทดโดยมีอาหารให้กินเพียงเล็กน้อย ผู้คุมชาวนาซีมักทุบตีหรือกระทั่งกราดยิงพวกเขาเล่นเพื่อความบันเทิง ไอช์มันน์มีบทบาทสำคัญในอาชญากรรมดังกล่าว แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง เขากลับรอดพ้นจากกลุ่มพันธมิตร และไปอยู่ที่อาร์เจนตินา แต่สุดท้ายในปี 1960 หน่วยปฏิบัติการลับ Mossad ของอิสราเอลก็สามารถตามจับเขาได้ และถูกนำตัวบินมายังอิสราเอลเพื่อขึ้นศาล
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ผู้อ่านทุกท่านคงคิดเหมือนกับผมว่าไอช์มันน์เป็นคนที่เลวร้ายมาก เขาคงเหมือนกับพวกนาซีคนอื่นนั้นแหละ เพราะเขาเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ชาวยิวจำนวนมากต้องทุกข์ทรมานและเสียชีวิต แต่อันนาห์ อาเรนท์ (Hannah Arendt) ไม่คิดแบบนั้นหลังจากที่ได้ศึกษาและสอบสวนคดีนี้ เธอเป็นนักปรัชญาชาวเยอรมันเชื้อสายยิวที่อพยพไปอยู่สหรัฐอเมริกา
เมื่อเธอได้สัมภาษณ์กับ อดอล์ฟ ไอช์มันน์ (Adolf Eichmann) เธอพบว่าเขาผิดกับนาซีคนอื่น เขาไม่ได้เกลียดชาวยิวเข้ากระดูก มีนาซีจำนวนมหาศาลยินดีที่จะทุบตีชาวยิวให้ตายคาถนน หากชาวยิวคนนั้นไม่กล่าวทักทายด้วยวลี "ไฮล์ ฮิตเลอร์" เขาไม่ใช่หนึ่งในนั้น แต่เขาก็ทำหน้าที่ทางการของนาซีและยอมรับมัน ที่แย่ยิ่งไปกว่านั้น ไอช์มันน์ไม่ได้คิดว่าสิ่งที่ตัวเองมันผิดอะไรเลย เพราะเขาไม่ได้ฆ่าใครตาย เขาไม่ทำผิดกฎหมาย
เขาถูกสอนให้รักษากฎหมายและอบรมให้ทำตามคำสั่ง และทุกคนรอบตัวก็ทำสิ่งที่เขาทำเช่นเดียวกัน การรับคำสั่งจากคนอื่นทำให้เขาหลีกเลี่ยงที่จะรู้สึกว่าตัวเองต้องรับผิดชอบต่อผลลัพธ์จากงานประจำวันของเขาที่ดูแลการขนส่งชาวยิวไปตายอย่างทุกข์ทรมาน เขาไม่ได้ต้องพบเห็นคนถูกรวบขึ้นรถบรรทุกสัตว์ หรือต้องไปที่ค่ายกักกัน ยิ่งไปกว่านั้นเขาบอกกับศาลด้วยซ้ำว่าเขาไม่สามารถเป็นหมอได้เพราะเขากลัวเลือด
ในมุมมองของไอช์มันน์ สิ่งที่เขาทำเพียงแค่จัดตารางการขนส่งเท่านั้น ครั้งหนึ่งในศาลเขาอ้างกระทั่งว่าเขาได้ปฏิบัติตามทฤษฎีว่าด้วยหน้าที่ทางศีลธรรมของอิมานูเอล คานท์ ราวกับว่าเขาได้ทำสิ่งที่ถูกต้องโดยการทำตามคำสั่ง ทั้ง ๆ ที่คานท์เป็นนักปรัชญาที่เชื่อว่าการปฏิบัติต่อมนุษย์ด้วยความเคารพและการให้เกียรติคือหัวใจสำคัญของศีลธรรม
แน่นอนว่าสิ่งที่อดอล์ฟ ไอช์มันทำเป็นสิ่งที่เลวร้ายอย่างแน่นอน การโดนกล่าวหาว่าเขาเป็นปีศาจร้าย มันทำให้เขาต้องทำอะไรสักอย่างกับความขับข้องใจนี้ เขาจึงใช้การกล่าวอ้างด้วยเหตุผลต่าง ๆ ที่ผมกล่าวมา ซึ่งมันเป็นรูปแบบหนึ่งกลไกป้องกันตัวเอง (Defense Mechanisms) ที่เกิดจากการที่ตัวเขา (Ego) ต้องเผชิญกับความขับข้องใจ หรือความไม่สบายใจ รูปแบบกลไกป้องกันตัวดังกล่าวเรียกว่า การหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง (Rationalization)
กลไกการหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง
ก่อนอื่นขออธิบายทฤษฎีโครงสร้างบุคลิกภาพก่อน ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) นักจิตวิเคราะห์ชื่อดัง ได้แบ่งโครงสร้างของบุคลิกภาพออกเป็น 3 ส่วนประกอบไปด้วย Id คือ สัญชาตญาณดิบ Ego คึอ ตัวเรา(ที่ตัดสินใจ) Superego คือ บรรทัดฐานทางสังคมที่มีศีลธรรม
ทั้ง Id, Ego และ Superego มักจะเกิดความขัดแย้งกันอยู่ตลอด ยกตัวอย่างในกรณีของไอช์มันน์ เขาอยากจะแสดงศักยภาพของตัวเอง แม้ว่าจะต้องรับคำสั่งให้คนเป็นจำนวนล้าน ๆ ไปตายก็ตาม ซึ่งมันเป็นสัญชาตญาณดิบ (Id) ของมนุษย์ที่อยากจะเป็นคนสำคัญ ทั้ง ๆ ที่เขาก็รู้ดีว่ามีคนตายเป็นล้าน มันขัดกับบรรทัดฐานทางศีลธรรม (Superego) ที่ว่าการฆ่าคน หรือการทำให้ใครตายเป็นสิ่งที่ผิด
ด้วยแรงกดดันมหาศาลถล่มจิตใจของเขา ไอช์มันน์ (Ego) จึงต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อลดความกดดันดังกล่าว Ego จึงใช้กลไกป้องกันตัวเองในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย หนึ่งในนั้นคือ กลไกการหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง (Rationalization) กลไกนี้เป็นวิธีการลดความกดดันจาก Ego ซึ่งมีผลมาจากสถานการณ์ภายนอก โดยการเปลี่ยนแปลงการรับรู้ต่อสถานการณ์เหล่านั้น และสร้างองค์ความคิดบางอย่างขึ้นมา เพื่อให้คลายความกดดันเหล่านั้นลงไปด้วยกระบวนการหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ
1) Sour Grape (องุ่นเปรี้ยว) เป็นวิธีที่ Ego ลดความกดดันโดยการลดความสำคัญหรือคุณค่าของบางสิ่งบางอย่างหรือสิ่งที่อยากได้แต่ไม่สามารถครอบครองเอามาได้ ยกตัวอย่างเช่น "เราอยากจะได้สินค้าชิ้นหนึ่ง แต่ไม่มีเงินพอที่จะสามารถซื้อได้ จึงสร้างเหตุผลขึ้นมาเพื่อลดทอนสินค้านั้นว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น" หรือ "ผู้ขายคนหนึ่งอยากจะไปเที่ยวต่างประเทศมากแต่ไม่กล้าไป เราจึงสร้างเหตุผลขึ้นมาว่าไม่มีประเทศไหนน่าอยู่เท่าประเทศไทยอีกแล้ว จะไปต่างประเทศทำไม"
คำว่าองุ่นเปรี้ยวมีที่มาจากนิทานอีสป เรื่องมีอยู่ว่า สนัขจิ้งจอกหิวโซตัวหนึ่งกำลังพยายามเอื้อมอุ้งเท้าไปเด็ดพวงองุ่นซึ่งห้อยจากกิ่งที่เลื้อยไปเกาะกับร้านต้นไม้ แต่พวงองุ่นอยู่สูงเกินเอื้อม มันจึงเลิกพยายามแล้วปลอบใจตัวเองว่า "หยิบไม่ถึงก็ดี เพราะมันยังไม่สุกงอม" กล่าวคือสนัขจิ้งจอกตัดใจจากองุ่นที่อยู่สูงเกินเอื้อม โดยการลดความสำคัญหรือลดคุณค่ามันขององุ่น และอ้างเหตุผลว่า "องุ่นเปี้ยว" มันจะได้รู้สึกดีขึ้นที่ไม่ได้กิน
2) Sweet Lemon (มะนาวหวาน) ตรงกันข้ามกับองุ่นเปรี่ยว มะนาวหวานจะเป็นวิธีที่ Ego ลดความกดดันโดยการเพิ่มความสำคัญหรือคุณค่าให้กับบางสิ่งบางอย่างหรือสิ่งที่ตนเองครอบครอง หรือสิ่งที่ตนเองเชื่อถือ ยกตัวอย่างเช่น "ประเทศไทยที่เราอยู่นี่เป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว" หรือ "ศาสนาพุทธคือศาสนาที่ดีที่สุดในโลกนี้" หรือ "เราไม่จำเป็นต้องใช้เงินฟุ่มเฟือย เพราะเราอยู่อย่างพอเพียง" หรือ "การนอกใจภรรยาของเราไม่ใช่การทำผิด เพราะเรานอกกายแต่ไม่ได้นอกใจ"
การอ้างเหตุผลทั้งสองแบบ มีความคล้ายคลึงกับกลไกกับการปากว่าตาขยิบ (Reaction Formation) ยกตัวอย่างการวิเคราะห์กรณีดังต่อไปนี้
"ผู้ชายคนหนึ่งคิดว่าตัวเองเป็นคนดี หมั่นทำบุญ สร้างกุศล แต่วันหนึ่งเขานอกใจภารยา และใช้กำลังทุบตีลูกของตัวเอง"
กรณีนี้สามารถวิเคราะห์ ได้ว่า เขาปากว่าตาขยิบ ทั้ง ๆ ที่เขานอกใจภรรยาและทุบตีลูกตัวเอง แต่เขากลับอ้างเหตุผล (มะนาวหวาน) ว่าเขาเป็นคนดี เพราะว่าเขาทำบุญ (เป็นการเพิ่มความสำคัญหรือคุณค่าให้กับตนเอง)
สิ่งที่น่าพิจารณาก็คือ ในความคิดหรือความเชื่อของคนที่ใช้กลไกอ้างเหตุผลเข้าข้างตนเอง สามารถใช้ทั้งองุ่นเปรี้ยว และมะนาวหวานในโครงสร้างความคิดหนึ่งได้ ยกตัวอย่างเช่น
"ผู้ชายคนหนึ่งอยากจะซื้อคอมพิวเตอร์ใหม่มาก แต่ตนเองมีเงินเก็บไม่พอ และไม่อยากเป็นหนี้โดยไม่จำเป็น เขาจึงอ้างเหตุผลว่าคอมพิวเตอร์นั้นซื้อไปเดี๋ยวก็เสีย ต้องเสียค่าซ่อมแพง ต่างกับคอมพิวเตอร์ของตนเอง ที่ใช้มานานมากก็ไม่เคยเสียหรือมีปัญหาเลย"
กรณีนี้สามารถวิเคราะห์ได้ว่า ผู้ชายคนนั้นอ้างเหตุผลเพื่อลดทอนคอมพิวเตอร์ที่เขาอยากได้ (ลดความสำคัญหรือคุณค่า) เป็นลักษณะการอ้างเหตุผลแบบองุ่นเปรี้ยว และเขาเพิ่มคุณค่าของคอมพิวเตอร์ที่ตนเองครอบครอง (เพิ่มความสำคัญหรือคุณค่า) เพื่อทำให้ตนเองไม่รู้สึกอยากได้คอมพิวเตอร์เครื่องใหม่
เมื่อเราอยากได้อะไรก็ตาม มันเป็นการทำงานของสัญชาตญาณ ไม่ว่าจะเป็นการเลียนแบบ ค่านิยม หรืออาจจะใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์ว่าเราจะนำคอมพิวเตอร์ตัวใหม่มาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพก็ได้เช่นกัน แต่เมื่อมันไปขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริงทางด้านการเงินของตนเอง ทำให้ Ego รู้สึกคับข้องใจ มันจึงใช้กลไกป้องกันตนเองเพื่อลดทอนความคับข้องใจด้วยการอ้างเหตุผลเข้าข้างตนเองทั้ง 2 รูปแบบ และทำให้ตัวเองรู้สึกสบายใจมากขึ้น
จะเห็นว่าทั้งองุ่นเปรี่ยวและมะนาวหวานจะเหมือนกับภาพที่ทับซ้อนกัน กล่าวคือ การอ้างเหตุผล (Rationalization) จะเป็นการสร้าง "ความคิดบางอย่าง (ที่อาจสมเหตุสมผลหรือไม่สมเหตุสมผล)" ขึ้นมาเพื่อปกป้อง Ego จากแรงกดดัน และความตรึงเครียด แน่นอนว่าการอ้างเหตุผลสามารถอ้างเหตุผลที่ใช้จินตนาการก็ได้เช่นกัน มันขึ้นอยู่กับระดับความเข้มแข็งของ Ego ยกตัวอย่างกรณีคอมพิวเตอร์ตัวใหม่ที่อยากได้ หากเรามี Ego ที่ไม่เข้มแข็ง หรือมีปัญหาสุขภาพจิต เราอาจจะอ้างเหตุผลแบบประหลาดเช่น หากซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่เราจะดวงซวย หรือ จะทำให้เกิดเรื่องแย่ ๆ เป็นต้น
กลไกการอ้างเหตุผลจึงสามารถอ้างไปได้ไกลมาก โจนาธาน เฮดต์ (Jonathan Haidt) ผู้เขียนหนังสือ The Happiness Hypothesis ได้อธิบายในหนังสือว่า พวกผู้ก่อการร้ายจำนวนมากอยากสังหารชาวอเมริกัน ก็เพราะใช้มายาคติ หรือการอ้างเหตุผลโดยการทำให้ชาวอเมริกันเป็นซาตานตัวเอ้ เป็นวายร้ายตัวแทนของโลกตะวันตกที่คอยรังแกประเทศและผู้คนในอาหรับมาโดยตลอด พวกเขาทำสิ่งที่ทำเพื่อตอบสนองต่อการกระทำของอเมริกาที่ส่งผลกระทบต่อตะวันออกกลาง แม้เป็นเรื่องน่าหวาดกลัวที่กลุ่มก่อการร้ายเหมารวมพลเมืองเข้าไปอยู่ในกลุ่ม ศัตรู ด้วยแล้วฆ่าไม่เลือกหน้า
กล่าวคือผู้ก่อการร้าย ทำในสิ่งที่เลวร้ายอย่างเช่นการสังหารผู้บริสุทธ์ แต่เขาไม่ได้รู้สึกผิด พวกเขาลดความสำคัญหรือคุณค่าของพลเมืองชาวอเมริกัน โดยมองว่าชาวอเมริกันเป็นตัวแทนของสิ่งชั่วร้าย มันเป็นการด้อยค่า หรือมองว่าองุ่นนั้นเปรี้ยว นอกจากนั้นพวกเขายังมองว่าตัวเองเป็นนักรบของศาสนาอิสลามอันยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นการเพิ่มความสำคัญหรือคุณค่าให้กับตนเอง ไม่นับรวมมายาคติ หรือความเชื่อที่มีร่วมกันที่ผสมโรงเข้ากับกลไกป้องกันตนเองอีก ทำให้พวกเขาสามารถทำในสิ่งที่เห็นชัด ๆ ว่าผิด และคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้องได้
ก็เหมือนกับสิ่งที่ อดอล์ฟ ไอช์มันน์ (Adolf Eichmann) ทำนั้นแหละครับ แม้เขาจะเป็นกลไกที่สำคัญในการสังหารหมู่ชาวยิวนับล้านชีวิต แต่เขาก็อ้างเหตุผลว่าเขาไม่ได้ฆ่าด้วยตนเอง เขาเพียงรับคำสั่งเท่านั้น เขาเพิ่มความสำคัญหรือคุณค่าให้กับตนเอง โดยการตีความว่าตนเองเพียงแค่ทำงาน ไม่ได้ทำในสิ่งที่เลวร้าย เขาให้การต่อศาลด้วยความเชื่อที่บิดเบี้ยวในความบริสุทธิ์ เขาปกป้องตัวเองว่าสิ่งที่เขาทำมันเป็นไปตามกฎหมาย (ของนาซี)
ไอช์มันน์ก็เหมือนกับนาซีหลายคนนั้นที่ไม่สามารถมองเห็นมุมมองของผู้อื่นได้ เขาไม่กล้าหาญมากพอที่จะตั้งคำถามกับกฎเหล่านั้น พวกเขาไร้ซึ่งจินตนาการ อันนาห์ อาเรนท์ (Hannah Arendt) เรียกพวกเขาว่าคนตื้นเขินและสมองกลวง มันเป็นสิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าปีศาจเสียอีก (ถ้าปีศาจมีจริงนะ) เพราะปีศาจมันน่ากลัวด้วยตัวมันเอง แต่คนเหล่านี้รวมถึงไอช์มันน์ พวกเขาชั่งดูปกติเหลือเกิน
พวกเขาเป็นคนสามัญผู้มีส่วนร่วมในการกระทำที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่มนุษยชาติเคยพบมา อันเป็นผลจากการที่เขาไม่ตั้งคำถามกับสิ่งที่ทำ และอ้างเหตุผลต่าง ๆ นา ๆ ที่ทำให้ตัวเองเป็นผู้บริสุทธิ์ สำหรับอาเรนท์แล้ว การเชื่อฟังคำสั่งของนาซีก็มีค่าเท่ากับสนับสนุนการฆ่าสังหารหมู่ชาวยิว การไม่ตั้งคำถามกับสิ่งที่เขาถูกบอกให้ทำและการปฏิบัติตามคำสั่งทำให้เขามีส่วนในการสังหารหมู่
การอ้างเหตุผลเข้าข้างตนเอง (Rationalization) จึงเป็นได้ทั้งเรื่องปกติทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจซื้อสินค้า ไปจนถึงการอ้างเหตุผลแบบเพ้อเจ้อเพื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เหมือนกับที่นิกโกเลาะ มาเกียเวลี (Niccolò Machiavelli) นักเขียน นักปรัชญาที่มีชื่อเสียงเคยกล่าวไว้ว่า
"มนุษยชาติส่วนใหญ่พึงพอใจกับภาพลักษณ์ที่ปรากฎ
ราวกับภาพพวกนั้นเป็นความจริง
และมักตกอยู่ใต้อิทธิพลของสิ่งต่าง ๆ
ที่ดูเหมือนเป็นเช่นนั้นยิ่งกว่าที่มันเป็นจริง"
อ้างอิง
Haidt, J. (2006). The Happiness Hypothesis: Finding Modern Truth in Ancient Wisdom. NY: Basic Books.
Warburton, N. (2012). A Little History of Philosophy. CT: Yale University Press.
คาลอส บุญสุภา. (2560). กลไกการป้องกัน (Defense Mechanism). https://sircr.blogspot.com/2017/12/defense-mechanism.html
คาลอส บุญสุภา. (2560). Id Ego และ Superego ทฤษฎีโครงสร้างบุคลิกภาพ. https://sircr.blogspot.com/2017/12/id-ego-superego-sigmund-freud.html
คาลอส บุญุสุภา. (2564). อาการปากว่าตาขยิบทางศีลธรรม (Moral Hypocrisy). https://sircr.blogspot.com/2021/08/moral-hypocrisy.html
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น