ถึงเวลาแล้วที่ต้องกลับมารักตัวเองอีกครั้งหนึ่ง (Love Yourself Again)

เราต้องหัดใจดีกับตัวเอง หัดยึดตัวเองเป็นศูนย์ 
แต่ต้องอยู่บนรากฐานความเป็นจริง 
โดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อนบ้าง

            ลองนึกถึงในช่วงเวลาที่เรายังเป็นเด็ก ในตอนนั้นเราแทบจะไม่คิดอะไรมากเลย เราอยากจะเล่นตลอดเวลา เราไม่ได้คำนึงถึงอนาคตอะไรเลยทั้งสิ้น เราไม่ได้คิดว่าจะต้องทำงานอาชีพอะไรถึงมั่นคง เราไม่ได้คิดว่าการที่เราอยากจะเป็นนักสืบมันจะส่งผลอะไรบ้างในอนาคต "ก็ฉันแค่อยากเป็นนักสืบแบบโคนันหนิ" และเราไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งเราจะเติบโตขึ้นแล้วต้องไปแข่งขันกับคนอื่นแบบสู้ยิบตาอย่างว่างเปล่าขนาดนี้ แถมในบางกรณีคู่แข่งของเราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเราแข่งขันด้วย ช่างน่าตลกยิ่งนัก

            ผมแน่ใจว่าผู้อ่านทุกคนคงจะรู้จักคำว่า "รักตัวเอง" ดี อาจจะเคยได้ยินจากคนอื่นบ้าง หรือดูจากซีรี่ อ่านจากสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ แต่เราแทบจะไม่เคยพูดคำนี้กับตัวเองเลย จริง ๆ แล้วคำว่ารักตัวเองควรจะเป็นคำที่เรานึกถึงหรือพูดบ่อยมากกว่าคำว่า "รักเธอ" หรือ "รักคุณ" เสียด้วยซ้ำ เพราะเราอยู่กับตัวเองตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่เราคิด เรากิน เราเดิน เรานอน หรือแม้แต่ตอนที่เราใช้เวลากับคนอื่น มันก็เป็นการที่เราใช้เวลาอยู่กับตัวเองด้วยเหมือนกัน

            หลายคนอาจจะพูดว่าหัดใช้เวลาอยู่กับตัวเองบ้าง แต่จริง ๆ แล้วเราก็อยู่กับตัวเองตลอดเวลานั้นแหละ เพียงแต่ว่าเราไม่ได้พูดคุยกับตัวเองเท่านั้นเอง การพูดคุยกับตัวเอง คิดไตร่ตรอง คิดวิเคราะห์ หรือเรียกว่าการใช้ระบบ 2 จะทำให้เรามีสติมากขึ้น เพราะปกติแล้วเราจะใช้สัญชาตญาณในการดำเนินชีวิต หรือเรียกว่าระบบ 1 ดังนั้นเราจะแทบไม่ได้คิดอะไรมาก แต่ดำเนินชีวิตโดยการตอบสนองสิ่งเร้าที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวเป็นส่วนใหญ่ เช่น ร้านอาหารน่ากิน ก็เดินเข้าไปกินทั้ง ๆ ที่ไม่ได้หิว สินค้านั้นราคาถูกมาก เลยเข้าไปซื้อทั้ง ๆ ที่ไม่ได้อยากได้เลย หรืออยากไปเที่ยวกับเพื่อนเพราะเหงา แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้อยากไปเที่ยวเลย

            ดังนั้นการที่เราใช้ชีวิตโดยใช้การคิดวิเคราะห์น้อยกว่าสัญชาตญาณจึงไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้อยู่กับตัวเอง การรักตัวเองไม่ได้หมายความว่าจะต้องใช้เวลาว่างอยู่อย่างสันโดดเพื่ออยู่กับตัวเอง แต่มันเป็นการที่เราตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง มันคือความต้องการที่จะมีความสุข หรือมีชีวิตที่มีความสุข เหมือนกับช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตที่เราเคยมี นั้นคือช่วงเวลาวัยเด็ก ดังที่ผมกล่าวไว้ข้างต้นนั้นแหละครับ

            ลองพิจารณาวัยเด็กของตัวเองดูนะครับ สักช่วงอายุประมาณ 4 - 5 ขวบ เราแทบจะไม่กังวลกับอะไรมากเท่าไหร่นัก ไม่ต้องกังวลว่าจะมีเงินจ่ายค่าไฟ้ ค่าเช่าบ้าน หรือค่าบัตรเครดิตมหาศาล เราเพียงแต่มีสิ่งที่เราอยากได้ และพยายามที่จะได้มาโดยแสดงพฤติกรรมที่เอาแต่ใจบ้าง น่ารำคาญบ้าง เราไม่ได้คาดคิดว่าการทำสิ่งนี้จะเป็นเรื่องน่าอาย หรือไปรบกวนใครบ้าง หลายคนอธิบายว่าเด็กในวัยนี้เป็นช่วงเวลาที่สร้างสรรค์อย่างมาก เป็นช่วงที่สามารถคิดอย่างหลากหลาย (Divergent Thinking) มากที่สุด

พัฒนาการของเด็กห้าขวบ

            ก่อนอื่นผมต้องอธิบายพฤติกรรมของเด็กวัย 5 ขวบเสียก่อน ซึ่งผมจะอธิบายในมุมของทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคมของ อีริค อีริคสัน (Erik Erikson) ทฤษฎีนี้จะอธิบายถึงพัฒนาการตั้งแต่ทารกจนถึงวัยชรา ซึ่งในแต่ละช่วงอายุ มนุษย์จะมีค่านิยมและหน้าที่แตกต่างกัน หากเขาหรือคนรอบตัวสามารถตอบสนองได้ตรงความตรงกับค่านิยมของบุคคลในขั้นนั้น เขาก็จะได้รับประสบการณ์เชิงบวก

            สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 3 - 5 ขวบจะอยู่ขั้นที่ 3 (จาก 8 ขั้น) เรียกว่า Initiative vs Guilt (การเป็นผู้คิดริเริ่ม หรือ ความรู้สึกผิด) เด็กในวัยนี้มีหน้าที่วิ่งเล่น กระโดด จับ บีบ ปา เพื่อพัฒนากล้าวเนื้อมัดใหญ่ คือ ต้นแขน ต้นขา ให้แข็งแรง ทำให้ยืนทรงตัวได้ เดินไม่ล้ม จากนั้นจึงพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก คือนิ้วมือเพื่อให้ได้เนื้อสมองที่ดี เด็กในช่วงวัยนี้จะเหมือนกับในระยะที่ 2 คืออยากทำอะไรด้วยตนเอง แต่ด้วยสมองและกล้ามเนื้อที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดทำให้เริ่มมีความคิดมากขึ้น มีการตั้งคำถาม จินตนาการ ทดลองทำสิ่งต่าง ๆ การเล่นจึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเด็กในวัยนี้ เพราะเป็นการที่ทำให้เด็กได้ฝึกใช้จินตนาการ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการเล่นด้วยกล้ามเนื้อทั้งมัดเล็กและมัดใหญ่ 

            พฤติกรรมที่กล่าวมามีส่วนในการพัฒนาสมองสั่งการ (Executive Function) ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จิตแพทย์เด็กมักจะแนะนำให้อ่านหนังสือนิทานให้เด็กในวัยนี้ฟังเยอะ ๆ และให้เขาได้เล่นให้มากที่สุด ในความจริงแล้วเด็กในวัยนี้ยังไม่จำเป็นต้องเรียนด้วยซ้ำ แต่ให้เขาได้เล่นเยอะ ๆ มันจะเป็นการพัฒนาสมองของเขาตามพัฒนาการได้อย่างดี แม้ว่าเด็กจะไม่ได้เกิดมาเป็นผ้าขาวเพราะมีสัญชาตญาณ และพันธุกรรมที่ทำให้เข้าแสดงพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป แต่ในวัยนี้จะเป็นช่วงที่ซึมซับสิ่งต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

            ในวัยนี้จะเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขอย่างมาก เพราะในช่วงนี้เด็กจะคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกใบนี้หมุนรอบตัวเขา เขาจะมองทุกอย่างในมุมมองของตัวเอง ในทฤษฎีพัฒนาการจะเรียกสิ่งนี้ว่า ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Egocentric) สิ่งนี้ทำให้เด็กคิดว่ามุมมองของตัวเองถูกที่สุด การยึดตัวเองเป็ยศูนย์กลางต่างจากการเห็นแก่ตัว มันเป็นเพียงแค่ความคิดที่ว่าตนเองเป็นต้นเรื่องของเรื่องราวที่เป็นไปรอบตัว ซึ่งบางครั้งอาจจะแสดงออกคล้ายเห็นแก่ตัวบ้างก็ตาม

            เพียเจต์ (Jean Piaget) เป็นนักจิตวิทยาชาวสวิสเซอร์แลนด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทฤษฎีพัฒนาการทางด้านสติปัญญา ได้อธิบายการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเด็กอายุประมาณ 2 - 4 ควบ โดยเขาจะโยงความสัมพันธ์ของแต่ละเหตุการณ์มาเชื่อมถึงกัน ซึ่งอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เขาจะมีความเข้าใจต่อสิ่งต่าง ๆ ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น เช่นน้ำแดงที่ฉันกินคือน้ำแดงที่อร่อยและดีที่สุด 

            มีการทดลองเรียกว่าภูเขา 3 ลูก ผู้ทดลองได้นำภูเขาจำลองมาตั้งไว้บนโต๊ะ แล้วนำตุ๊กตามาตั้งไว้ด้านหน้า จากนั้นให้เด็กเดินวนรอบภูเขา จากนั้นพากลับมานั่งด้านหน้าตุ๊กตา แล้วถามเด็กว่า "ด้านหลังตุ๊กตาเหมือนกับภาพไหน" พร้อมกับให้เด็กดูภาพถ่าย 10 ภาพ เด็กต้องเลือกว่าภาพถ่ายใดจาก 10 ภาพ เป็นมุมมองด้านหลังตุ๊กตา แต่สุดท้ายก็พบว่าเด็กในช่วงวัยนี้จะเลือกภาพที่ตัวเองเห็นเป็นด้านหน้าของตัวเองอยู่ดี (หน้าตุ๊กตา) การทดลองนี้สะท้อนการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางได้อย่างดี

            เหตุผลที่ผมอธิบายการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางก็เพราะว่า ตลอดชีวิตของเรามันมีช่วงเวลานี้อยู่ ซึ่งคงอยู่เพียงไม่กี่ปี ดังนั้นเมื่อเราเผชิญหน้ากับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ความรู้สึกโหยหาช่วงเวลานี้ก็จะเกิดขึ้นไม่มากก็น้อย เช่นแสดงออกในรูปแบบการใช้กลไกป้องกันตัวเอง การอ้างเหตุผลต่าง ๆ เพื่อเข้าข้างตัวเอง (Rationalization) หรือแม้แต่การโทษคนอื่น (Projection) เวลาที่เราใช้กลไกดังกล่าวจะทำให้ตัวเองรู้สึกมีความสุขมากขึ้น แต่มันก็สร้างความเสียหายให้กับตัวเอง ทำให้เราเสพติดและกลายเป็นคนที่มีตรรกะวิบัติในกรณีที่ใช้มากจนเกินไป

            แต่อย่างไรก็ตามมันก็ทำให้เราให้มีความสุขขึ้น เรื่องนี้มันจึงสอนให้เรารู้ว่าการที่เราพยายามดิ้นรนเพื่อให้ตัวเองเป็นฝ่ายถูกไปเสียหมด มันทำให้มีความสุข ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า "หากเราต้องการจะมีความสุขเราต้องหัดเอาอกเอาใจตัวเองบ้าง" เราไม่จำเป็นต้องคิดว่าตัวเองถูกไปเสมอไปหรอก แต่เราต้องหัดชื่นชมในความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ของตัวเองบ้าง หัดขอบคุณตัวเอง หัดมองเห็นด้านดี ๆ ของตัวเองบ้าง เราต้องหัดใจดีกับตัวเอง หัดยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่ต้องอยู่บนรากฐานความเป็นจริง โดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อนบ้าง

ตีความหมายใหม่ในทางบวกเป็นหนทางไปสู่ความรักที่มีต่อตนเอง

            ในเมื่อการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางเหมือนสมัยที่เรายังเป็นเด็กทำให้เรามีอำนาจ มีความสุขมากขึ้น ดังนั้นเราก็ควรจะส่งเสริมการยีดตัวเองเป็นศูนย์กลางอย่างสร้างสรรค์ เพราะหากลองพิจารณาถึงสาเหตุแห่งทุกข์ในทัศนะของศาสนาพุทธแล้วความทุกข์ไม่ได้เกิดมาจากโชคร้าย หรือจากความอยุติธรรมในสังคม หรือจากอำนาจศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ ในทางกลับกัน ความทุกข์มีต้นเหตุมาจากรูปแบบของความนึกคิดของแต่ละคนนั้นเอง ไม่ว่าจิตจะประสบพบกับสิ่งใดก็ตาม มันจะตอบสนองด้วยกิเลสอย่างใดอย่างหนึ่ง และกิเลสนั้นก็นำไปสู่ความทุกข์ยากไม่พอใจอยู่เสมอ 

            หากจิตประสบกับบางอย่างที่ไม่พึงใจ มันก็อยากจะกำจัดสิ่งนั้นทิ้งไป แต่หากจิตประสบกับบางอย่างที่พึงใจ มันก็อยากให้สิ่งนั้นคงอยู่และอยากได้เพิ่มอีก ทั้งหมดนี้เป็นสามัญสำนึกพื้นฐานของมนุษย์ การตัดสินใจเลือกตัวเลือกจำนวนมาก ก็นำมาซึ่งความทุกข์เหมือนกันเพียงแต่ความทุกข์นั้นไม่ได้เกิดจากทางเลือกด้วยตัวของมันเอง แต่เกิดมาจากตัวเราเองที่จัดการกับจิตใจของตัวเองไม่ได้ เราขับข้องใจ ไม่พึงพอใจ เสียดาย ไม่แน่ใจ วิตกกังวล อารมณ์ทั้งหมดนั้นทำให้เกิดความทุกข์

            นั้นจึงเป็นสาเหตุที่คนบางคนพบเจอเหตุการณ์ที่เหมือนกัน แต่รู้สึกไม่เหมือนกัน เพราะมันขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่าจะรับมือกับมันอย่างไร ความสุขก็ไม่แตกต่างกัน "ช็อกโกแลตที่เคยหวานในวันนี้อาจจะไม่ได้หวานเหมือนเดิมแล้ว" กล่าวคือความสุขก็ไม่ใช่สิ่งที่อยู่คงทนถาวร
สิ่งที่เคยให้ความสุขกับเราในเมื่อวานนี้ อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ชินชาในวันนี้ก็ได้ 
            ทั้งหมดมันขึ้นอยู่กับตัวเราเองที่กระทำกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการปล่อยให้จิตใจได้ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางบ้างจึงอาจทำให้เรามีความสุขมากยิ่งขึ้นก็ได้

            ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เราไถหน้าจอไอโฟนแล้วพบว่าเพื่อนของเราไปเที่ยวต่างประเทศ หรือมีคนถูกหวย แล้วเรารู้สึกอิจฉา เราสามารถบอกกับตัวเองได้ว่าความอิจฉาเป็นเรื่องธรรมดา ไม่จำเป็นต้องรู้สึกเป็นทุกข์แม้ว่าในใจเราจะรู้สึกแบบนั้นจริง ๆ ก็ตาม หรือการที่ได้รับประทานขนมที่อร่อย ก็อาจจะบอกกับตัวเองว่าเป็นขนมที่อร่อยมาก ๆ รู้สึกดีจริง ๆ กล่าวคือ หัดชื่นชมกับช่วงเวลาที่เกิดขึ้นในชีวิตของตัวเองบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่เราทำอะไรเล็กน้อยสำเร็จ เช่น การวาดภาพ การโพสต์ข้อความลงเครือข่ายสังคมต่าง ๆ การถ่ายภาพตัวเองบ้าง วิวทิวทัศน์บ้าง ทำอาหาร หรือเวลาที่เรารับผิดชอบงานประจำวันได้สำเร็จ

            การยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางอย่างสร้างสรรค์ไม่ได้เป็นการคิดว่าตัวเองถูกต้องเสมอไป หรือดีไปเสียทุกอย่าง แต่เป็นการให้ความสำคัญกับตัวเอง โดยปรับมุมมองให้มองว่าตัวเองทำสิ่งต่าง ๆ ที่มีความสำคัญ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันคือการตีความหมายใหม่ในทางบวก (Reframing) เพราะการที่เราจะรักตัวเองได้นั้น เราจะต้องตีความสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวให้ใจของเราไม่ต้องรับภาระหนักเกินไป เช่น การฝนตกตอนกลับบ้านแล้วเราไม่มีร่ม ไม่ต้องโทษตัวเองว่าทำไมถึงไม่รีบกลับ แต่ให้มองว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติ และจริง ๆ แล้วมันก็เย็นดี 

ผมไม่ได้แนะนำให้หลอกตัวเอง แม้ว่าการตีความหมายใหม่ในทางบวกในหลายครั้งมันอาจจะเป็นการหลอกตัวเอง แต่นั้นคือสิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ และคิดอย่างไตร่ตรองด้วยระบบ 2 (คิดวิเคราะห์) ไม่ใช่ปล่อยตัวเองไปตามความคิดหลอกหลวงที่จะสร้างปัญหาทางจิตในระยะยาวได้ การตีความหมายในทางบวกจะเป็นหนทางที่เราจะรักตัวเองได้ เพราะคนที่ไม่รักตัวเองคือคนที่โทษตัวเองมากจนเกินไป โหดกับตัวเองเกินไป "ทำไมถึงไม่ไปอ่านหนังสือ" "ทำไมถึงไม่ยอมเล่นหวยเลขนั้นแต่แรก" หรือ "ทำไมถึงลืมเอาร่มมา เรื่องแค่นี้เอง โง่จริง ๆ เลย"

ในหนังสือ Elastic: Flexible Thinking in a Time of Change นักเขียน นักวิทยาศาสตร์ เลเนิร์ด มโลดินอฟ (​Leonard Mlodinow) ได้อธิบายว่ากิจกรรมที่นักจิตวิทยาเชิงบวกมักแนะนำในการเสริมสร้างความรู้สึกเชิงบวก นั้นคือแบบฝักหัดรู้จักมีน้ำใจ เพียงแค่เราจะต้องบันทึกเหตุการณ์ที่เราทำสิ่งดี ๆ ให้กับคนอื่น อาจจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ ก็ได้ เช่น "วันนี้ช่วยเหลือเพื่อนติวหนังสือ" "วันนี้ช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน" "วันนี้ช่วยพ่อแม่ทำกับข้าว" หรือ "วันนี้ช่วยเปลี่ยนผ้าอ้อมให้กับลูก" จะเห็นว่าไม่จำเป็นจะต้องเป็นสิ่งพิเศษ แค่เป็นสิ่งที่เราคิดว่ามันเป็นหน้าที่ก็ได้ เพราะถ้ามันส่งผลที่ดีต่อคนอื่นมากน้อยแค่ไหน มันก็คือการมีน้ำใจนั้นเอง ให้เราทำการบันทึกวันละ 3 อย่างเป็นอย่างน้อย   

            อีกกิจกรรมหนึ่งที่เป็นประโยชน์มหาศาลก็คือ "แบบฝึกหัดรู้จักขอบคุณ" ซึ่งเราจะต้องเขียนสิ่งที่รู้สึกขอบคุณ 3 ประการ เป็นประจำ เรื่องที่ขอบคุณอาจมีตั้งแต่วันนี้อากาศดี ข่าวดีเกี่ยวกับสุขภาพตนเอง เช่น "ขอบคุณสำหรับอาหารที่อร่อย" "ขอบคุณสำหรับเครื่องดื่มที่เย็นสดชื่น" "ขอบคุณเพื่อนร่วมงานที่ช่วยเรา" หรือ "ขอบคุณพ่อแม่หรือคนรักที่คอยเป็นห่วง" ซึ่งการรู้จักขอบคุณจะเป็นการค่อย ๆ สร้างความรู้สึกแง่บวกให้เกิดขึ้น

            เหตุผลที่ผมใช้คำว่ารักตัวเองอีกครั้งในชื่อบทความ เพราะในสมัยที่เรายังเป็นเด็กเรารักตัวเองมาก ๆ เรามองตัวเองในแง่ดี ในช่วงที่เรากำลังเรียนรู้ และสนใจโลกใบนี้ เราชื่นชมทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งตัวเอง ต่อเลโก้ง่าย ๆ ได้ก็ดีใจ ระบายสีหรือทำการบ้านเสร็จก็ดีใจ รายการทีวีโปรดมายิ่งดีใจเข้าไปใหญ่ เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขออย่างมาก ชั่งเป็นเวลาที่มองโลกในแง่ดีเหลือเกิน ยิ่งไปกว่านั้นเรายังยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางแบบสุด ๆ อีกด้วย

            แม้เราจะไม่สามารถกลับไปรู้สึกแบบนั้นได้อีกครั้งแบบเต็มร้อย แต่สักนิดสักหน่อยก็ยังดี จึงไม่แปลกที่เราจะรู้สึกว่าอยากกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ไม่น่าโตขึ้นมาเลยเพราะรู้สึกทุกข์มาก นั้นเป็นเพราะเรามีทัศนคติต่อโลกผิด ๆ ซึ่งก็ไม่ใช่ความผิดของเรา "แต่เป็นเพราะวัฒนธรรมที่แปรเปลี่ยนหรือหล่อหลอมเราให้กลายเป็นผู้ใหญ่ จนเราหลงลืมวัยเด็กของตัวเอง" จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะต้องเผชิญกับความทุกข์ เพราะหากลองมองดี ๆ มุมมองของผู้ใหญ่เป็นมุมมองที่ไม่ฉลาด ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขัน การกดดัน จนสุดท้ายเราต้องไปทำร้ายจิตใจคนอื่นมากมายด้วยคำพูดหรือการกระทำ

            นักจิตวิทยาวิวัฒนาการอาจกล่าวได้ถูกต้อง เราวิวัฒนาการมาไกลเกินไป สิ่งที่เราต้องชดใช้ในการเป็นเผ่าพันธุ์แรกที่ถือครองสติปัญญามากเพียงพอจะเข้าใจจักรวาล ก็คือความสามารถในการสัมผัสถึงความมืดทั้งมวลในจักรวาลนั้นเอง มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่เราจะเกิดความทุกข์ ความไม่สบายใจ เพราะทุกวันจิตใจของเราดำรงอยู่ด้วยสัญชาตญาณ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการเป็นคนสำคัญ การอยากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ความต้องการขั้นพื้นฐาน มันบีบให้เราต้องแข่งขัน เปรียบเทียบ เอาชนะ แสดงความพิเศษออกมา และถ้าเราไม่สามารถบรรลุตามความต้องการเหล่านั้นได้ เราก็จะเกิดความทุกข์หรือความเศร้าขึ้นมา

        ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องรักตัวเองอีกครั้งโดยกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งหนึ่ง มีความสุขกับชีวิตโดยการมองทุกอย่างในแง่ดี ชื่นชมและขอบคุณตัวเอง พ่อ แม่ เพื่อน ลูก คนรอบข้าง มองทุกสิ่งทุกอย่างในแง่ดี แต่พยายามอย่าให้หลุดโลกเกินไป ผิดพลาดบ้าง อับอายบ้าง อย่าไปทำโทษตัวเองเพราะความผิดพลาด เนื่องจากมนุษย์เรียนรู้จากความผิดพลาดเสมอ ไม่มีใครไม่เคยทำผิดพลาด สุดท้ายเมื่อผ่านไปสักระยะเวลาหนึ่งเราจะเริ่มมีความสุขมากขึ้น และมองสิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลง 

แต่อย่าคาดหวังว่าจะไม่ทุกข์เลย มันเป็นไปไม่ได้ 

เพราะโลกใบนี้มันไม่ได้ดีขนาดนั้น และเราก็เป็นเพียงมนุษย์เท่านั้น 

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องไม่มีความสุขเลยจริงมั้ยครับ

อ้างอิ

Mlodinow, L. (2018).  Elastic: Flexible Thinking in a Time of Change. NY: Pantheon Books.      

คาลอส บุญสุภา. (2564). การเติบโต เรียนรู้ เพื่อก้าวผ่านความทุกข์. https://sircr.blogspot.com/2021/08/blog-post.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). การ "ปล่อยวาง (Let go)" หลักการคิดที่จำเป็นแห่งอนาคต. https://sircr.blogspot.com/2021/09/let-go.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). จิตวิทยาของการขอบคุณ (Psychology of Gratitude). https://sircr.blogspot.com/2021/07/psychology-of-gratitude.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). ทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคมของอีริคสัน (Psychosocial Development). https://sircr.blogspot.com/2021/06/psychosocial-development.html

ความคิดเห็น