เราไม่สามารถแยก "เรื่องงาน" ออกจาก" เรื่องส่วนตัว" ได้อย่างแท้จริง

ทีมที่ขาดความเชื่อใจ ความเห็นอกเห็นใจ 
และการเคารพซึ่งกันและกัน 
ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาความสัมพันธ์ในทีมที่เลวร้ายไปเรื่อย ๆ

            ในยุคสมัยปัจจุบันเป็นยุคที่ทุกอย่างเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น องค์กรต่าง ๆ จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี (Digital Transformation) ซึ่งหมายถึงการนำเทคโนโลยีและกลยุทธ์ทางดิจิทัลเข้ามาใช้ในการวางรากฐาน เป้าหมาย การดำเนินธุรกิจ การบริหารบุคคลและหล่อหลอมวัฒนธรรมองค์กร และแม้ว่าการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีจะก้าวล้ำมากแค่ไหน แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปเลยก็คือคนจำเป็นต้องทำงานเป็นทีมอยู่เสมอ เพราะปัจจัยที่สำคัญในการเจริญก้าวหน้าขององค์กรก็คือความสามารถที่จะทำงานเป็นทีมได้

            การทำงานเป็นทีมจะต้องเน้นภาพรวมมากกว่าส่วนบุคคล และจะต้องทำงานกันอย่างเป็นระบบ จึงไม่แปลกที่หลายคนจะคิดว่าเพียงแค่ทีมมีเป้าหมาย และมีการแบ่งงาน ทำงานกันอย่างเป็นระบบจะสามารทำให้ทีมทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพแม้ว่าจะสมาชิกในทีมจะมีความขุ่นมัวมากแค่ไหนก็ตาม แต่จริง ๆ แล้วทีมแม้ว่าจะมีระบบการทำงานที่เข้มแข็งมากแค่ไหนก็ตาม แต่ทีมก็ยังประกอบไปด้วยมนุษย์ธรรมดา ๆ ที่ใช้สัญชาตญาณในการดำเนินชีวิตเป็นส่วนใหญ่ด้วยกันทั้งนั้น จึงไม่แปลกที่แต่ละคนจะมีความขัดแย้ง ทะเลาะ ต่อว่า หรือมีปัญหาอื่น ๆ ต่อกัน

            เคยมีคนมักจะพูดกับผมว่า "ให้แยกเรื่องงานออกจากเรื่องส่วนตัว" ซึ่งผมก็เชื่อมาตลอดว่าควรจะต้องทำแบบนั้น คนที่ทำแบบนั้นได้คือคนที่เก่ง มีความสามารถ มีจิตใจที่เข้มแข็ง แต่จากประสบการณ์ทั้งกับตัวเองและคนรอบ ๆ ตัว ผมก็พบว่า "มนุษย์เราไม่สามารถแยกเรื่องงานออกจากเรื่องส่วนตัวได้จริง ๆ หรอก" ลองนึกภาพดูนะครับว่าเราต้องทำงานร่วมกับคนคนหนึ่ง ซึ่งเคยปฏิบัติกับเราอย่างแย่มาก มีความสัมพันธ์ในชีวิตที่ไม่ดีกับเราเลย แล้วเราต้องมาทำงานร่วมกับคนผู้นั้น  แน่นอนว่าเรายังสามารถทำงานร่วมกันได้ แต่อย่างที่ผมได้กล่าวมาข้างต้นถึงความจำเป็นที่งานในปัจจุบันไปจนถึงอนาคตจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม และจะต้องทำงานเป็นทีมได้อย่างดีด้วย

            แต่หากพนักงานแต่ละคนมีปัญหาส่วนตัวกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไรก็ตาม จะทำให้ทีมทำงานได้ไม่เต็มศักยภาพเนื่องจากสัมพันธภาพในทีมมีปัญหา บางคนถึงกับมีภาวะซึมเศร้าหรือเป็นโรคซึมเศร้าได้เลย เนื่องจากมนุษย์มีความแตกต่างกัน มีประสบการณ์วัยเด็กแตกต่างกัน เคยเผชิญเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน ทำให้ "ภูมิต้านทานต่อปัญหา" มีระดับที่แตกต่างกันออกไป 

            หากผู้ที่มีความเปราะบางทางจิตใจ แม้ว่าจะมีความสามารถมากแค่ไหนก็ตาม เมื่อโดนกระทำแบบไม่ยุติธรรมหรือโดนดุด่าว่ากล่าวแบบแรง ๆ ก็อาจจะทำให้รู้สึกแย่กว่าที่เราจะจินตนาการได้ หลายทีมมีความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (Toxic Relationship) ซึ่งจะก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดี เบื่องาน หมดไฟ (Burnout) ซึ่งจะเป็นปัญหาในระยะยาว ซึ่งผู้ที่มักจะก่อบรรยากาศการทำงานที่เป็นพิษ หรือบรรยากาศที่แย่ ๆ 

ปัญหาเมื่อทีมมีความสัมพันธ์ที่แย่

            สัมพันธภาพในทีมจะแย่ อันเนื่องมาจากขาดความเชื่อใจซึ่งกันและกัน เพราะการทำงานเป็นทีมจำเป็นต้องมีการแบ่งงานกัน แม้ในปัจจุบันคนเพียงไม่กี่คนสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ แต่ก็มีความจำเป็นต้องทำงานเป็นระบบทีมและมีการแบ่งงานกันอยู่ดี บางทีมมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันเพื่อส่งเสริมกันและกัน ดังนั้นการจะสามารถทำให้ทีมดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความเชื่อใจจึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะทำให้แต่ละคนสามารถทำหน้าที่ของตัวเองโดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง

            อันดับต่อมาคือการขาดความเห็นอกเห็นใจ พราะการทำงานมักจะเต็มไปด้วยปัญหาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากงานหรือจากคน รวมไปถึงปัญหาในชีวิตประจำวันอื่น ๆ ด้วย ยิ่งในปัจจุบันปัญหาต่าง ๆ มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ความเห็นอกเห็นใจกลายเป็นปัจจัยที่ทุกบริบทไม่ว่าจะเป็นครอบครัว การทำงาน การศึกษา รวมไปถึงประเทศชาติ หากพนักงานรู้สึกว่าไม่มีความปลอดภัยทางจิตใจ ก็เป็นเรื่องยากที่พนักงานจะพัฒนานวัตกรรมที่ก้าวหน้าขึ้นมาได้ อีกทั้งนอกจากการรับฟังแล้วการยอมรับนับถือกันก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน

            สุดท้ายพวกเขาจะขาดความเคารพซึ่งกันและกัน การที่สมาชิกในทีมให้ความเคารพความแตกต่าง ก็จะทำให้ความสัมพันธ์ในทีมเป็นไปอย่างดีมากขึ้น ส่งผลให้ทีมผลิตผลงานออกมาได้ดียิ่งขึ้น เพราะสามารถดึงศักยภาพของความแตกต่างออกมาได้ สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะว่าคนที่แตกต่างกันย่อมจะสามารถอยู่ร่วมกันและเสริมจุดเด่นกันได้อย่างดี 

            หากต้องการให้ทีมงานทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่เพียงแต่ทักษะเท่านั้นที่จะต้องได้รับการพัฒนา แต่จะต้องส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีไม่ว่าจะเป็นบริบทความสัมพันธ์เจ้านายของลูกน้อง หัวหน้ากับลูกน้อง หรือเพื่อนร่วมงานกันก็ตาม ดังนั้นสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่เปราะบางมากกว่าที่เราคิด เพราะเพียงแค่ปัญหาเพียงเล็กน้อยก็สามารถก่อตัวให้เกิดเป็นบรรยากาศในการทำงานที่เป็นพิษได้ ซึ่งจะทำให้พนักงานขาดความเชื่อใจ ขาดความเห็นอกเห็นใจ และขาดความเคารพซึ่งกันและกัน

ผลดีของการมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่รู้สึกปลอดภัย

            ความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety) หมายถึงความรู้สึกปลอดภัยในที่ทำงาน เป็นความเชื่อที่มีร่วมกันว่าคนในทีมจะสามารถทำงานได่อย่างปลอดภัย สามารถที่จะแสดงความคิดเห็น กล้าทำสิ่งใหม่ ๆ บนรากฐานของความเชื่อใจ เคารพซึ่งกันและกัน รู้สึกสบายใจที่จะเป็นตัวของตัวเอง รู้สึกปลอดภัยที่จะยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและตอบสนองต่อความผิดพลาดอย่างสร้างสรรค์ได้

            หากองค์กรมีสภาพแวดล้อมที่พนักงานรู้สึกปลอดภัยทางจิตใจเขาจะกล้าเสี่ยง กล้าที่จะฝัน กล้าแสดงความคิดเห็น กล่าวคือ เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้พนักงานได้แสดงศักยภาพของตนเองออกมาซึ่ง เอมี เอ็ดมอนด์สัน (Amy Edmondson) ศาสตราจารย์จาก Harvard Business School ผู้เขียนหนังสือ Fearless Organization กล่าวว่า การทำงานเป็นทีมจะประสบความสำเร็จได้จะมาจากการที่คนในทีม มีความเต็มใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ยอมรับกันและกัน สามารถที่จะเสี่ยงและความล้มเหลวได้ เพราะความผิดพลาดเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ และสามารถพูดคุยเปิดอกกันได้ 

          เอ็ดมอนด์สันยังได้อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า "คนในทีมจะต้องรู้จักให้โอกาส ช่วยเหลือกันอย่างเข้าอกเข้าใจ พวกเขาจะประสบความสำเร็จในการทำงาน" สอดคล้องกับการศีกษาหนึ่งที่พบว่าวิศวกรที่แบ่งปันแนวคิดของตนเองโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนมีแนวโน้มสูงกว่าวิศวกรคนอื่น ๆ (ที่ไม่แบ่งปันแนวคิดของตัวเองเลย) ที่จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ เพราะพวกเขาทำให้ผู้อื่นรู้สึกปลอดภัยที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วย 

            จะเห็นได้ว่าสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัยเป็นผลดีอย่างมากต่อการพัฒนาทีมไปจนถึงองค์กร แต่เงื่อนไขที่สำคัญก็คือการมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันและกัน ซึ่งมันจะไม่เกิดขึ้นเลยหากสมาชิกคนในทีมมีปัญหาส่วนตัวต่อกัน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่บรรยากาศดี ๆ ในทีมจะเกิดขึ้นเมื่อสมาชิกทีมมีความขุ่นมัวต่อกัน แม้พวกเขาจะพยายามมีความเป็นมืออาชีพในการทำงานก็ตาม แต่สุดท้ายด้วยธรรมชาติมนุษย์ก็มักจะตกม้าตายอยู่ดี

            อย่างที่ผมกล่าวไปข้างต้นแล้วว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ขับเคลื่อนด้วยสัญชาตญาณ เพราะเรามีระบบ 1 ซึ่งเป็นสิ่งที่หล่อหลอมมาจากพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม สัญชาตญาณ เป็นระบบความคิดที่รวดเร็ว ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้ ในขณะที่ความคิดระบบ 2 เป็นการคิดวิเคราะห์ ด้วยจิตสำนึก และมีสติ เป็นระบบที่ช้า และมีอิทธิพลน้อยกว่าระบบ 1 อย่างมหาศาล ยิ่งไปกว่านั้นมันยังขี้เกียจด้วย กล่าวคือเราขี้เกียจคิดหรือพิจารณาโดยใช้สติ เราเลยมักจะปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามสัญชาตญาณ

            ดังนั้นด้วยธรรมชาติของมนุษย์ที่เราควบคุมได้อย่างยากลำบาก ก็มักจะทำให้เราไม่สามารถควบคุมความเป็นมืออาชีพเอาไว้ได้ สุดท้ายก็จะเกิดระยะห่าง หรือทำให้ทำงานร่วมกันไม่เต็มศักยภาพ (ไม่เต็มที่) ซึ่งจะส่งผลให้ทีมไม่มีประสิทธิภาพตามไปด้วย หรือไม่ก็อาจจะเลวร้ายไปถึงความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ หรือจนถึงขั้นมีปัญหาทางสุขภาพจิตไปเลยก็ได้เช่นกัน

จำเป็นที่ต้องสร้างสัมพันธภาพส่วนตัวภายในทีมให้ดี

            จากที่กล่าวทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี (Digital Transformation) อันเป็นเพราะการแทรกแซงทางเทคโนโลยี (Technology Disruption) ที่สร้างผลกระทบมากมายในปัจจุบันมากมายทำให้เราต้องปรับตัว หนึ่งในการปรับตัวนั้นก็คือการพัฒนาศักยภาพในการทำงานเป็นทีมอันเนื่องมาจากงานในอนาคตจะยาก ซับซ้อน และจำเป็นต้องพึ่งความสามารถที่หลากหลาย การทำงานเป็นทีมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

            แต่ด้วยความเป็นมนุษย์มักจะทำให้เรามีปัญหาต่อกันไม่ว่าจะเป็น ความขัดแย้ง การทะเลาะ การต่อว่า หรือมีปัญหาอื่น ๆ ต่อกัน ซึ่งกลายเป็นปัญหาส่วนขึ้นมา อย่างไรก็ตามผู้คนก็มักจะคิดว่าเราสามารถแยกเรื่องงานออกจากเรื่องส่วนตัวได้ "ต้องเป็นมืออาชีพ" นั้นคือสิ่งที่คนส่วนใหญ่คิด แต่จริง ๆ แล้วเราไม่สามารถแยกมันออกจากกันได้อย่างแท้จริง ด้วยธรรมชาติแห่งความเป็นมนุษย์ทำให้เราไม่สามารถควบคุมตัวเองได้อย่างเต็มที่ เพราะเราดำเนินชีวิตด้วยสัญชาตญาณ เรียกว่าระบบ 1 ที่รวดเร็ว มากกว่าการคิดวิเคราะห์ ไตร่ตรอง เรียกว่าระบบ 2 ซึ่งขี้เกียจและช้าอย่างมาก

            นั้นจึงเป็นเหตุผลที่เราไม่สามารถควบคุมความเป็นมืออาชีพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ สุดท้ายแล้วก็จะส่งผลให้ทีมไม่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างเต็มศักยภาพ หรือไม่สามารถดึงประสิทธิภาพออกมาได้เต็มที่ กล่าวคือ ทีมที่ขาดความเชื่อใจ ความเห็นอกเห็นใจ และการเคารพซึ่งกันและกัน จะนำไปสู่ปัญหาความสัมพันธ์ในทีมที่เลวร้ายไปเรื่อย ๆ หรือไม่ก็อาจจะเลวร้ายไปถึงสัมพันธ์ที่เป็นพิษ หรือจนถึงขั้นมีปัญหาทางสุขภาพจิตไปเลยก็ได้เช่นกัน 

            ดังนั้นการจะทำงานเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นจะต้องมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน มีความเชื่อใจ เห็นอกเห็นใจ และเคารพซึ่งกันและกัน ทั้ง 3 ปัจจัยนี้เป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้ เป็นตัวแปรทองคำที่ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ไหนก็สามารถนำเอามาใช้ได้เสมอ ซึ่งกันจะสร้างตัวแปรดังกล่าวได้จะต้องเปิดอกพูดปัญหาต่อกันอย่างตรงไปตรงมา ด้วยความเห็นอกเห็นใจหรือที่เรียกว่า Empathy ที่หมายถึง "การนึกถึงใจเขาใจเรา" โดยเราสามารถพิจารณาได้ว่า "ถ้าเป็นเราไปอยู่ในจุดแบบเขาเราจะรู้สึกอย่างไร"

            เมื่อเราคิดถึงมุมของผู้อื่นมากขึ้น จะทำให้เราถ่อมตัวมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความเคารพในตัวผู้อื่น สุดท้ายแล้วเมื่อความสัมพันธ์ในทีมเริ่มที่จะดีขึ้น ไม่มีปัญหาส่วนตัวให้ต้องวุ่นวาย ก็จะเกิดความเชื่อใจต่อกันและกัน ทำให้การทำงานเป็นทีมมีประสิทธิภาพสูงสุดและหากในองค์กรประกอบไปด้วยทีมที่มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ไม่มีเรื่องส่วนตัวของสมาชิกทีมมากวนใจ

ก็จะทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปอย่างก้าวกระโดด 
และสามารถอยู่รอดได้บนยุคแห่งความไม่แน่นอนนี้ 
ที่เรียกกันว่า VUCA World ได้อย่างมีคุณภาพ

อ้างอิง

Edmondson A. (2018). The Fearless Organization: Creating Psychological Safety in the Workplace for Learning, Innovation, and Growth. NJ: Wiley.

คาลอส บุญสุภา. (2564). ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทำร้ายสุขภาพจิตของเราอย่างคาดไม่ถึง. https://sircr.blogspot.com/2021/12/blog-post.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). การเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีเพื่อการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ. https://sircr.blogspot.com/2021/10/blog-post.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). แนวทางการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพในยุค New Normal. https://sircr.blogspot.com/2021/10/new-normal.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). การสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัยทางจิตใจ เพื่อการทำงานเป็นทีม (Psychological Safety for Teams). https://sircr.blogspot.com/2021/10/psychological-safety-for-teams.html

ความคิดเห็น