การเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีเพื่อการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ


"การทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ 
ไม่ได้หมายความจะต้องเก่งเพียงอย่างเดียวแต่สมาชิกในทีม 
จะต้องเชื่อใจ เห็นอกเห็น และเคารพซึ่งกันและกันด้วย"

            ในปัจจุบันด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดผลกระทบต่อการทำงานอย่างมาก ในลำดับแรกสถานการณ์นี้ส่งผลกระทบทำให้การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องขยับไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตการทำงาน ทำให้แทบทุกองค์กรจำเป็นต้องให้พนักงานทำงานออนไลน์ หลายองค์จึงต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพราะไม่ใช่แค่การมีคอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือสื่อสารสำหรับการทำงานออนไลน์เท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญก็คือวิธีการทำงานร่วมกันในขณะที่ทำงานออนไลน์ด้วย

            เนื่องจากโดยปกติแล้วบริษัทต่าง ๆ จะทำงานที่สำนักงานเป็นส่วนใหญ่พนักงานทุกคนต่างก็เห็นหน้ากันแทบทั้งสิ้น จึงสามารถสื่อสารกันอย่างง่ายดาย บางองค์กรหัวหน้าเดินมาแอบดูลูกน้องว่าตั้งใจทำงานหรือไม่ก็มี บางบริษัทเจ้าของกิจการต้องไปออกไปทำงานข้างนอก ยังดูกล้องวงจรปิดเพื่อดูว่าพนักงานบริษัทตนเองทำงานกันอยู่ก็มีเช่นเดียวกัน แต่ก็ยังมีบางบริษัทที่มีความเชื่อใจพนักงานของตัวเอง ผมจึงไม่กล้าฟันธงว่าโดยส่วนใหญ่เป็นอย่างไร แต่ผมเชื่อว่ามีหลายบริษัทที่ไม่ได้เชื่อใจพนักงานเท่าที่ควร

            แต่ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่เชื่อใจหรือไม่เชื่อใจพนักงานก็ต้องปรับกระบวนการทำงานให้สอดคล้องกับการทำงานออนไลน์ ช่วงแรก ๆ เราจึงมักจะพบเห็นปัญหาของการทำงานออนไลน์มากมายไม่ว่าจะเป็นการประชุมที่มากมายจนแทบไม่ได้ทำงาน พนักงานหลายคนไม่ได้กินข้าวเมื่อถึงเวลาเสียด้วยซ้ำ นอกจากนั้นยังมีปัญหาทางด้านการสื่อสาร เพราะปกติหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานสามารถเดินมาคุยหรือสั่งงานได้ แต่เมื่อจะต้องทำงานออนไลน์ทำให้การสื่อสารแต่ละครั้งมีความหมายอย่างมาก เพราะมีโอกาสสื่อสารต่อกันและกันได้น้อยลง

            ดังนั้นไม่ว่าสภาพแวดล้อมในการทำงานจะเป็นอย่างไร แต่สุดท้าย "ความสัมพันธ์" ภายในทีมก็เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก และเป็นสิ่งที่ต้องปัดฝุ่นกลับมาพูดคุยกันอยู่เสมอ เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแม้องค์กรจะก้าวหน้าหรือมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากเพียงใด แต่ถ้าความสัมพันธ์ภายในทีมล้มเหลวก็จะส่งผลถึงประสิทธิภาพในการทำงานร่วมที่กันลดลงตามด้วย ซึ่งคำว่าความสัมพันธ์ที่ล้มเหลวในที่นี้อาจจะมาจากความขัดแย้ง การนินทา คลื่นใต้น้ำ หรือความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (Toxin Relationships) ก็ได้เช่นกัน

            ในบทความนี้ผมจึงอยากนำเสนอแนวปัจจัยที่จะช่วยให้เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในการทำงาน เพราะในความสัมพันธ์ที่ดีนั้นจะดำรงไปด้วยปัจจัยที่สำคัญเพียงไม่กี่ตัว ซึ่งผู้อ่านสามารถประยุกต์บทความนี้ไปใช้กับบริบทต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นครูที่สอนนักเรียน พ่อแม่ที่ดูแลครอบครัว หัวหน้ากับลูกน้อง หรือเพื่อนร่วมงานกับเพื่อนร่วมงาน เพราะทุกบริบทที่กล่าวมาต่างก็จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีเพื่อหล่อหลอมให้เกิดบรรยากาศที่งดงามอันจะส่งผลให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในบริบทนั้น ๆ ตามมาได้

ความสัมพันธ์กับการทำงานร่วมกันเป็นทีม

            ทีมหมายถึงกลุ่มที่มีสมาชิกที่ใช้ทักษะต่าง ๆ ที่มีอยู่ทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่รับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งการทำงานเป็นทีมจะต้องมีความเต็มใจที่จะทำงานร่วมกัน ให้โอกาสซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในบริบทของเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้างานกับลูกน้อง หรือบริหารกับพนักงานก็ตาม

            สิ่งที่เป็นปัญหาของการทำงานร่วมกันเป็นทีมในปัจจบันก็คือปัญหาทางด้านวัฒนธรรมการทำงาน ซึ่งแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกัน ในประเทศไทยมักจะไม่พูดกันตรงไปตรงมา แต่จะใช้วิธีการนินทากันลับหลังเป็นส่วนใหญ่ (เท่าที่ผมอ่าน รับฟัง หรือประสบมา) หลายทีมมีความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (Toxic Relationship) ซึ่งจะก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดี เบื่องาน หมดไฟ (Burnout) ซึ่งจะเป็นปัญหาในระยะยาว ซึ่งผู้ที่มักจะก่อบรรยากาศการทำงานที่เป็นพิษ หรือบรรยากาศที่แย่ ๆ จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับสิ่งที่ โรเบิร์ต ซัตตัน (Robert Sutton) ผู้เขียนหนังสือชื่อ The Asshole Survival Guide 

            โดยซัตตันได้อธิบาย "คนเฮงซวย" เอาไว้ว่า เป็นคนที่หยาบคาย ช่างเย้ยหยัน และดูถูกคนอื่น ทำให้รู้สึกคับแค้น ต่ำต้อย ไร้เกียรติ หรือหมดพลัง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ยังทำให้สิทธิภาพในการทำงานลดลง ไม่ว่าจะเป็นทักษะการตัดสินใจ การสร้างงาน ความคิดสร้างสรรค์ และความกระตือรือร้น ยิ่งไปกว่านั้น การปฏิบัติกับคนอื่น ๆ เหมือนกับว่าพวกเขาไร้ค่า น่ารังเกียจยังติดต่อถึงกันและกันได้อีกด้วย กล่าวคือถ้าเราทำงานกับคนเฮงซวย มีแนวโน้มที่เราจะกลายเป็นคนแบบนั้นด้วยเช่นกัน 

            บางทีมงานไม่ได้มีคนเฮงซวยที่มีพฤติกรรมหยาบคาย เย้ยหยัน หรือดูถูกคนอื่น แต่อาจจะมีพนักงานที่รู้สึกว่าตนเองมีอำนาจน้อย  ซึ่งซัตตันเรียกพวกนี้ว่า "เผด็จการชั้นผู้น้อย" พวกเขาจะมีพฤติกรรมกลั่นแกล้งสร้างความทุกข์ระทมกับเหยื่อของตนในแบบที่จุกจิก หยุมหยิม เย็นชา และไม่ให้เกียรติ โดยซัตตันได้อธิบายถึงที่มาของพฤติกรรมนี้ว่า เป็นพวกเก็บกดและหงุดหงิดที่ไม่มีใครนับถือตนเอง กล่าวคือ การมีสถานะทางสังคมที่ต่ำต้อยทำให้คนเหล่านี้อัดอั้นและเกลียดชังผู้อื่น  

            ผมเน้นในเรื่องความสัมพันธ์เป็นพิเศษเพราะไม่ว่าทีมจะมีกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากแค่ไหน หรือพนักงานจะเก่งมากแค่ไหนก็ตาม แต่สุดท้ายก็มักจะตกม้าตายกันเรื่องความสัมพันธ์อยู่เสมอ บางคนถึงกับมีภาวะซึมเศร้าหรือเป็นโรคซึมเศร้าได้เลย เนื่องจากมนุษย์มีความแตกต่างกัน มีประสบการณ์วัยเด็กแตกต่างกัน เคยเผชิญเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน ทำให้ "ภูมิต้านทานต่อปัญหา" มีระดับที่แตกต่างกันออกไป หากผู้ที่มีความเปราะบางทางจิตใจ แม้ว่าจะมีความสามารถมากแค่ไหนก็ตาม เมื่อโดนกระทำแบบไม่ยุติธรรมหรือโดนดุด่าว่ากล่าวแบบแรง ๆ ก็อาจจะทำให้รู้สึกแย่กว่าที่เราจะจินตนาการได้

            ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด ความสัมพันธ์จึงสำคัญอย่างมากต่อการทำงานเป็นทีม ดังนั้นหากต้องการให้ทีมงานทำงานกันอย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีไม่ว่าจะเป็นบริบทความสัมพันธ์ไหนก็ตาม เพราะคำว่าทีมไม่ได้หมายถึงทีมเล็ก ๆ เสมอไปแต่อาจะเป็นทีมขนาดใหญ่ที่เป็นทั้งองค์กรด้วยก็ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเราสามารถส่งเสริมการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพด้วยปัจจัยดังต่อไปนี้

ความเชื่อใจ

            1) ความเชื่อใจ (Trust) ผู้นำทีมหรือแม้แต่ผู้นำองค์กรจะต้องสร้างความเชื่อใจให้กับลูกน้อง เพราะความเชื่อใจป็นพลังที่สำคัญในการขับเคลื่อนพฤติกรรม ไม่นานมานี้ SCB ได้เปลี่ยนแปลงจากบริษัทด้านธนาคารเก่าแก่ เป็นบริษัททางด้านเทคโนโลยีโดยเปลี่ยนเป็น SCBX ผู้บริหารจะต้องแสดงวิสัยทัศน์ ให้นักลงทุนและพนักงานเกิดความเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ซึ่งคุณอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ก็สามารถทำได้อย่างดีจนหุ้น SCB บวกขึ้นไปถึง 20% ในตอนเช้า

            อีกตัวอย่างหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารของเครือไทย โฮลดิ้งส์ โดยเจ้าสัวเจริญ ดึงคุณฐากร ปิยะพันธ์ นั่ง CEO ใหญ่ในเครือ เพื่อเผชิญกับยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสิ่งแรก ๆ ที่คุณฐากรทำก็คือการสร้างความเชื่อใจหรือเชื่อมั่นให้กับพนักงานในเครือ แม้ว่าบริษัทต่าง ๆ ในเครือจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง แต่พวกเขาจะมีโอกาสในการพัฒนาตัวเองและแสดงศักยภาพออกมามากยิ่งขึ้น เพราะอย่าลืมว่าเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงพนักงานจะเกิดความกลัว หากผู้นำสามารถสร้างความเชื่อใจหรือเชื่อมั่นต่อองกรค์หรือตัวเขาเองก็จะทำให้ดึงศักยภาพของพนักงานออกมาได้เต็มที่

            ไม่ใช่เพียงแค่ตัวองค์กร หรือกัปตันเรือที่จะสร้างความเชื่อใจ แต่พนักงานภายในทีมยังต้องอาศัยความเชื่อใจซึ่งกันและกันด้วย เพราะการทำงานเป็นทีมจำเป็นต้องมีการแบ่งงานกัน แม้ในปัจจุบันคนเพียงไม่กี่คนสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ แต่ก็มีความจำเป็นต้องทำงานเป็นระบบทีมและมีการแบ่งงานกันอยู่ดี บางทีมมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันเพื่อส่งเสริมกันและกัน ดังนั้นการจะสามารถทำให้ทีมดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความเชื่อใจจึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะทำให้แต่ละคนสามารถทำหน้าที่ของตัวเองโดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง

ความเห็นอกเห็นใจ 

            2) ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) เป็นปัจจัยที่พูดถึงกันทุกบริบทความสัมพันธ์เช่นเดียวกับความเชื่อใจ ยิ่งเป็นการทำงานร่วมกันก็ยิ่งจำเป็นต้องมีความเห็นอกเห็นใจต่อกัน เพราะการทำงานมักจะเต็มไปด้วยปัญหาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากงานหรือจากคน รวมไปถึงปัญหาในชีวิตประจำวันอื่น ๆ ด้วย ยิ่งในปัจจุบันปัญหาต่าง ๆ มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ความเห็นอกเห็นใจกลายเป็นปัจจัยที่ทุกบริบทไม่ว่าจะเป็นครอบครัว การทำงาน การศึกษา รวมไปถึงประเทศชาติขาดไม่ได้อย่างที่กล่าวมา

            ความเห็นอกเห็นใจสามารถแสดงออกได้ในรูปแบบของการรับฟัง สมาชิกในทีมที่ทำงานร่วมกันควรจะรับฟังปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะหัวหน้าหรือผู้บริหารควรจะต้องพัฒนาความเห็นอกเห็นใจอย่างยิ่ง ในหนังสือ Hit Refresh ที่เขียนโดย สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) CEO ของ Microsoft แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการมีความเห็นอกเห็นใจ เขาให้ความสำคัญกับการรับฟังผู้คนและเชื่อในเรื่องของการได้นำเสนอความคิด และความรู้สึก 

            เขาจะรับฟังไอเดียใหม่ ๆ เข้ามาก่อนโดยไม่รีบด่วนตัดสินใจ นอกจากนั้นนาเดลลา ยังให้ความสำคัญกับการเป็น "ผู้ให้" ก่อน โดยเขามองว่าการให้เปรียบดั่งการฝากเงินในธนาคาร หากคุณไม่เคยฝากเงิน เป็นไปไม่ได้ที่คุณจะถอนเงินออกมาได้ ดังนั้นเวลาคุณไปร่วมมือกับใคร (พาร์ทเนอร์) คุณควรเข้าไปด้วยความคิดที่ว่า "เราจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง" มากกว่าที่จะคิดว่า "เราจะได้อะไรจากเขา" สิ่งนี้กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรของ Microsoft ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ทุกคนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

            สิ่งนี้ทำให้ Microsoft ก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะการที่นาเดลลายังฝังทัศนคติของการเป็นพาร์ทเนอร์ที่ดีเข้าไป ทำให้นวัตกรรมต่าง ๆ ของ Microsoft มีการพัฒนาก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็น Surface, Azure หรือ OneDrive โดยเฉพาะไอเดียเกี่ยวกับระบบคลาวด์อย่าง Azure ที่หลายองค์การใช้กันอยู่ทุกวัน ก็มาจากวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) บริษัทนี้จึงเป็นตัวอย่างที่ดีขององค์กรที่มีความปลอดภัยทางจิตใจ เพราะหากพนักงานรู้สึกว่าไม่มีความปลอดภัยทางจิตใจ ก็เป็นเรื่องยากที่พนักงานจะพัฒนานวัตกรรมที่ก้าวหน้าขึ้นมาได้ อีกทั้งนอกจากการรับฟังแล้วการยอมรับนับถือกันก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน

เคารพและยอมรับซึ่งกันและกัน

            3) การเคารพและยอมรับซึ่งกันและกัน (Respect) ก็สำคัญไม่แพ้ปัจจัยอื่นที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ เพราะการทำงานร่วมกันจำเป็นต้องเคารพกัน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเคารพเฉพาะทักษะในการทำงานอย่างเดียว แต่ต้องเคารพสิทธิและตัวตนของเพื่อนร่วมงานด้วย เนื่องจากแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกันออกไปทั้งทัศนคติ ความคิด และพฤติกรรม หรือแม้แต่ช่วงวัย หรือ Generation ที่แตกต่างกันที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า Gen นั้นแหละครับ โดยแต่ละช่วงวัยจะมีบุลิกภาพที่ต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น เด็กรุ่นใหม่อาจจะพูดจาแบบเป็นกันเองกับผู้ใหญ่ เน้นความรวดเร็วในการทำงานมากกว่าคนที่เคยมีประสบการณ์ทำงานมานาน หรือมีความคิดใหม่ ๆ มากมาย

            ความแตกต่างดังกล่าวอาจจะห่างหรือฉีกขาดกันอย่างรุนแรง เรียกว่า Generation Crash โดยเฉพาะทัศนคติด้านการเมืองที่แตกต่างกัน ลองนึกภาพสมาชิกในทีมคนหนึ่งอายุเยอะหน่อยอาจจะชอบนายกคนปัจจุบันและเลือกพรรคพลังประชารัฐ ในขณะที่สมาชิกในทีมบางคนอาจจะเลือกพรรคก้าวไกล (คงจะนึกภาพออกนะครับ) ความแตกต่างดังกล่าวอาจจะทำให้ความสัมพันธ์ภายในทีมแย่ลงก็เป็นได้ อีกทั้งยังไม่เพียงแค่ทัศนคติด้านการเมืองเท่านั้น แต่ยังเป็นด้านสังคมห การมองโลก หรือกระบวนการทำงานด้วยที่อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งต่อกันและกันระหว่างช่วงวัยได้

            ดังนั้นการที่สมาชิกในทีมให้ความเคารพความแตกต่าง ก็จะทำให้ความสัมพันธ์ในทีมเป็นไปอย่างดีมากขึ้น ส่งผลให้ทีมผลิตผลงานออกมาได้ดียิ่งขึ้น เพราะสามารถดึงศักยภาพของความแตกต่างออกมาได้ สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะว่าคนที่แตกต่างกันย่อมจะสามารถอยู่ร่วมกันและเสริมจุดเด่นกันอย่างดี  ยิ่งมีมุมมองที่แตกต่างกันเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น เรย์ ดาลิโอ (Ray Dalio) มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัทบริดจ์วอเตอร์ แอสโซซิเอตส์ เขาได้รับขนานนามว่าเป็นสตีฟ จ็อบส์ แห่งวงการการลงทุน 

            ดาลิโอเชื่อในเรื่องความแตกต่างอย่างมาก นั้นจึงทำให้บริษัทบริดจ์วอเตอร์ แอสโซซิเอตส์ประสบความสำเร็จอย่างมาก พนักงานของพวกเขาขัดแย้งต่อกันและกัน วิพากษ์วิจารณ์กันและกันอย่างเปิดเผย แต่บริษัทก็ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ดาลิโอเชื่อว่ามนุษย์เรามีอคติมากมาย โดยเฉพาะอคติจากการเลือกรับข้อมูล (Confrimation Bias) กล่าวคือ เมื่อคุณพึงพอใจกับบางสิ่งบางอย่างคุณจะแสวงหาข้อมูลที่สนับสนุนความพึงพอใจของตัวเอง และในขณะเดียวกันก็มองข้ามข้อมูลที่คัดค้านมัน 

            ดังนั้นการยอมตามและเชื่อมั่นในตัวคนคนหนึ่งไปตลอดรอดฝั่งมันจะเป็นหนทางที่เลวร้ายอย่างมาก องค์กรที่สามารถไปรอดหรือไปได้ไกลจะต้องมีความเห็นที่ไม่ตรงกันบ้าง มีการตรวจสอบ มีความขัดแย้งกัน เพื่อให้ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นมาได้ "โศกนาฏกรรมที่ใหญ่ที่สุดของมนุษย์" ดาลิโอกล่าว "มาจากการที่คนเราไม่สามารถถกเถียงกันอย่างมีเหตุผลเพื่อสำรวจว่าสิ่งไหนกันแน่ที่ถูกต้อง" เมื่อเรามีความเห็นไม่ตรงกัน ขัดแย้งกันบ้าง เราจึงจำเป็นต้องตามหาหนทางที่ดีที่สุดเรื่อย ๆ จนกว่าจะเจอหนทางที่ชนะใจของทุกฝ่ายได้ ซึ่งมันจะต้องใช้วิธีคิดอย่างสร้างสรรค์ 

การที่พนักงานแต่ละคนจะยอมรับความคิดดี ๆ ที่สร้างสรรค์อันเกิดจากความขัดแย้งหรือการถกเถียง พนักงานเหล่านั้นจะต้องเคารพและยอมรับกันและกันด้วย

สรุป

            การทำงานเป็นทีมจะต้องมีความเต็มใจที่จะทำงานร่วมกัน ให้โอกาสซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพราะหากต้องการให้ทีมงานทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่เพียงแต่ทักษะเท่านั้นที่จะต้องได้รับการพัฒนา แต่จะต้องส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีไม่ว่าจะเป็นบริบทความสัมพันธ์ไหนก็ตาม เพราะคำว่าทีมไม่ได้หมายถึงทีมเล็ก ๆ เสมอไป แต่อาจะเป็นทีมขนาดใหญ่ที่เป็นทั้งองค์กรด้วยก็ได้เช่นเดียวกัน โดยเราจะสามารถส่งเสริมการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพด้วยปัจจัยดังต่อไปนี้

            1) เชื่อใจ (Trust)

            2) ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy)

            3) การเคารพและยอมรับซึ่งกันและกัน (Respect)

            หากคนในทีมมีความเชื่อใจ พวกเขาก็จะทำงานอย่างมีอิสระมากขึ้น และสิ่งที่จะตามมาก็คือการที่สมาชิกทีมจะทำงานกันอย่างมีความสุขและมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเป็นกำไรให้กับองค์กร ดังนั้นในปัจจุบันหรืออนาคต เราไม่สามารถมองเพียงแค่ทำอย่างไรให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยการ Up Skill หรือ Re Skill อย่างที่เป็นเทรนในปัจจุบัน แน่นอนว่าการเพิ่มพูนทักษะเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือความสัมพันธ์ที่ดี เพราะต่อให้เราเก่งมากแค่ไหนก็ตาม

แต่สมาชิกในทีมที่ทำงานร่วมกันไม่มีความเชื่อใจ ไม่เห็นอกเห็นใจ 
และไม่มีความเคารพในความแตกต่างทั้งอายุ ความคิด และทัศนคติ 
ก็จะเป็นเรื่องยากอย่างมากที่สมาชิกในทีมจะบรรลุเป้าหมายร่วมกันได้ 

อ้างอิง

Grant, A. (2017). Originals: How Non-Conformists Move the World. NY: Penguin.

Sutton, R. (2017). The Asshole Survical Guide: How to Deal with People Who Treat Yout Like Dirt. MS: Houghton Mifflin Harcourt.

คาลอส บุญสุภา. (2564). ประโยชน์ของการมี Empathy. https://sircr.blogspot.com/2021/04/empathy.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). ทำไมเราถึงต้อง ถ่อมตน (Humility). https://sircr.blogspot.com/2021/04/humility.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). ความขัดแย้งทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์. https://sircr.blogspot.com/2021/08/blog-post_10.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). ความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety) ตอนที่ 1. https://sircr.blogspot.com/2021/05/psychological-safety-1.html


ความคิดเห็น