สภาพแวดล้อมทางสังคมส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้า (Social environment affect depression)

เมื่อคนอยู่ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำจะรู้สึกควบคุมอะไรไม่ได้ 
รู้สึกว่าตนเองด้อยกว่า ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่พอใจในตัวเอง 
 ทำให้สุขภาพจิตแย่ลง และอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้

            อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ที่ปลดปล่อยทาสนับล้าน เคยกล่าวในช่วงอายุ 32 ว่า "เวลานี้ผมคือคนที่เป็นทุกข์ที่สุดที่ยังหายใจอยู่" เขาเผชิญกับวิกฤติสุขภาพจิตจากโรคซึมเศร้า เนื่องด้วยหลายสาเหตุมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการที่สูญเสียแม่ของตัวเองตั้งแต่ยังเด็ก และสูญเสียคนรักคนแรกจากไข้ไทฟอยด์ในช่วงที่เขายังเป็นวัยหนุ่ม และการที่ต้องเห็นการทารุณกรรมทาสมากมายที่เกิดขึ้นมากมายในประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงกลางศตวรรษที่ 19

            ลินคอล์นเคยกล่าวว่า "หากแบ่งสิ่งที่ผมรู้สึกให้ทุกคนบนโลก จะไม่มีใครมีใบหน้าเปื้อนยิ้มอยู่เลย ผมบอกไม่ได้ว่าจะดีขึ้นไหม ผมแน่ใจว่าจะไม่ดีขึ้น ผมเป็นตัวเองไม่ได้อีกแล้ว ผมต้องตายหรือไม่ก็ดีขึ้นเท่านั้น" ในช่วงเวลาแห่งความเศร้าขอการเสียคนรักไป เพื่อน ๆ เขาลินคอล์นต้องนำของมีคมออกจากที่พักของเขา เพื่อไม่ให้เขาใช้มันจบชีวิตตัวเอง 

            ในหนังสือ Reason To Stay Alive แมตต์ เฮก (Matt Haig) ได้ยกบทความจากนิตยสาร The Atlantic เขียนโดย โจชัว วูล์ฟ เชงก์ (Joshua Woff Shenk) ซึ่งอธิบายว่าโรคซึมเศร้ากระตุ้นให้ลินคอร์นเข้าใจชีวิตมากขึ้นได้อย่างไร โดยเขาอธิบายว่า "เขา (ลินคอล์น) ดึงดันจะยอมรับความกลัวที่มี ช่วงอายุ 20 ปลาย ๆ ถึง 30 ต้น ๆ เขาดำดิ่งลึกลงไปในความกลัว ร่อนอยู่เหนือคำถามที่ อัลแบร์ กามู กล่าวว่า เป็นคำถามข้อเดียวที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ เขาถามว่าฉันจะอยู่ได้หรือไม่ จะรับมือกับความลำบากในชีวิตได้หรือเปล่า 

นั่นคือความน่ากลัวของโรคซึมเศร้าที่เกาะกินเข้าไปในจิตใจผู้คน

            โรคซึมเศร้า (Depression) เป็นโรคที่ส่งผลทางอารมณ์และความรู้สึก โดยจะมีความคิดต่อตนเองในทางลบ ทำให้รู้สึกหม่นหมอง หดหู่ เศร้า ท้อแท้ หมดหวัง มองโลกในแง่ร้าย ขาดความสนใจในสิ่งต่าง ๆ  และตำหนิตนเอง รู้สึกว่าทุก ๆ อย่างช้าลงไม่ว่าการเดิน พูด หรือคิด นอกจากนั้นยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกของตนเองได้ ส่งผลให้พยายามหลีกหนีจากสถานการณ์ต่าง ๆ หลบเลี่ยงการเผชิญหน้า  

            World Health Organization (WHO) ได้นำเสนอข้อมูลสถิติผู้ป้วยโรคซึมเศร้าในปี 2560 ทั้งโลก มีจำนวน 322 ล้านคน และในประเทศไทย กรมสุขภาพจิตได้ประมาณการผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสูงถึง 1.5 ล้านคน (ในปี 2564 เพียงปีเดียวสูงถึง 1 ล้านคนที่เข้าถึงการบริการ) นอกจากนั้นข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า ในปี พ.ศ. 2561 มีผู้เข้ารับการรักษา 61.21% และกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าให้มีผู้รักษา สูงกว่า 71% ในปี 2564 จากข้อมูลดังกล่าวถึงให้เห็นที่จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ 

            ด้วยสาเหตุของพันธุกรรม จิตใจ และสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ทำให้คนเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในบทความนี้จะหยิบยกปัจจัยสภาพแวดล้อมทางสังคมขึ้นมานำเสนอ โดยจะเจาะลึกลงไปในสาเหตุนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำหรือการทำงาน ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเรา และมันกำลังก่อตัวดำเนินไปพร้อม ๆ กับจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เพิ่มมากขึ้น 

สภาพแวดล้อมทางสังคมส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้า

            ตั้งแต่การเริ่มต้นของระบอบทุนนิยม การปฏิวัติอุตสาหกรรม โลกาภิวัตน์ไปจนถึงการแทรกแซงทางเทคโนโลยี (Technology Disruption) ทำให้เกิดการขยายตัวของความไม่เท่าเทียมทั้งระหว่างสังคมและภายในสังคมต่าง ๆ คนบางกลุ่มเพิ่มการผูกขาดผลพวงของการแทรกแซงดังกล่าวในขณะที่คนอีกนับพัน ๆ ล้านคนยังคงถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง ยกตัวอย่างเช่น คนที่ความร่ำรวยหน่อยก็สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและทรัพยากรที่จะทำพวกเขาร่ำรายอย่างมหาศาล ในขณะที่คนยากจนไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีหรือทรัพยากรแบบคนร่ำรวยได้ ทำให้ปัจจุบันคนรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นเป็นเจ้าของความมั่งคั่งครึ่งหนึ่งของทั้งโลก ที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือคนรวยที่สุด 100 คน เป็นเจ้าของสินทรัพย์มากคนจนที่สุด 4 พันล้านคนรวมกัน ซึ่งทำให้สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำอย่างมาก

            เด็กที่เกิดมาในครอบครัวของคนที่มีรายได้ต่ำก็จะมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรที่น้อยกว่า คนที่เกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวย ภาพนี้เห็นได้ชัดมากขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ครอบครัวที่มีรายได้สูงหน่อยก็จะสามารถจัดหาอุปกรณ์เอาไว้ให้ลูกของตัวเองเรียนออนไลน์ได้ ในขณะครอบครัวที่ยากจนยากที่จะสามารถหาอุปกรณ์มาให้ลูกเรียนออนไลน์ได้ หรือต่อให้หามาได้ก็อาจจะเรียนได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าไหร่นัก ไม่เพียงแต่แค่เรื่องเรียนออนไลน์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยอื่นที่รัฐบาลในปัจจุบันจัดหาให้ก็ย่ำแย่

            นักจิตวิทยาวิวัฒนาการได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า เราวิวัฒนาการมาไกลเกินไป สิ่งที่เราต้องชดใช้ในการเป็นเผ่าพันธุ์แรกที่ถือครองสติปัญญามากเพียงพอจะเข้าใจจักรวาล นั้นทำให้เราสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ยิ่งใหญ่ ล้ำสมัย แต่กลับค่อยทำลายพวกเราเองไปทีละเล็กละน้อย เนื่องจากทุกวันนี้จิตใจของเราดำรงอยู่ด้วยสัญชาตญาณ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการเป็นคนสำคัญ การอยากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ความต้องการขั้นพื้นฐาน มันบีบให้เราต้องแข่งขัน เปรียบเทียบ เอาชนะ แสดงความพิเศษออกมา และถ้าเราไม่สามารถบรรลุตามความต้องการเหล่านั้นได้ มันก็จะทำให้เราเป็นโรคซึมเศร้าในท้ายที่สุด

            สัญชาตญาณหรือความต้องการนั่นตามทฤษฎีที่โด่งดังของ แดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) เขาได้นำเสนอในหนังสือ Thinking Fast and Slow โดยอธิบายเกี่ยวกับระบบการคิดที่แบ่งออกเป็น 2 ระบบ ประกอบไปด้วยระบบ 1 และ ระบบ 2 เรามีระบบ 1 ซึ่งเป็นสิ่งที่หล่อหลอมมาจากพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม สัญชาตญาณ เป็นระบบความคิดที่รวดเร็ว ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้ ในขณะที่ความคิดระบบ 2 เป็นการคิดวิเคราะห์ ด้วยจิตสำนึก และมีสติ เป็นระบบที่ช้า และมีอิทธิพลน้อยกว่าระบบ 1 อย่างมหาศาล ยิ่งไปกว่านั้นมันยังขี้เกียจด้วย 

            กล่าวคือเราขี้เกียจคิดหรือพิจารณาโดยใช้สติ เราเลยมักจะปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามสัญชาตญาณ นั่นจึงเป็นเหตุผลให้สภาพแวดล้อมมีอิทธิพลกับเราอย่างสูง และทำให้เราเกิดการแข่งขัน การเปรียบเทียบซึ่งในระบอบทุนนิยมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมากอย่างในประเทศไทยจะยิ่งทำให้คนส่วนมากค่อย ๆ เกิดความทุกข์ ซึ่งจะสามารถพัฒนาไปเป็นโรคซึมเศร้าได้ ดังนั้นความเหลื่อมล้ำจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญและยิ่งปล่อยไว้นานเข้าก็จะยิ่งมีผลกระทบอันเลวร้ายเกินกว่าที่จะคาดเดาได้

ความเหลื่อมล้ำส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้า

            อย่างที่กล่าวมาข้างต้นความเหลื่อมล้ำเป็นผลมาจากระบอบทุนนิยม ที่ไม่ได้แค่สร้างแค่เพียงชนชั้นสูงและชนชั้นล่าง แต่มันยังได้ฉีกให้ทั้งสองชนชั้นห่างไปเรื่อย ๆ นอกจากเรื่องปัจจัยทางเศรษฐกิจแล้วยังปัจจัยทางอารมณ์ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย กล่าวคือ ชนชั้นสูงจะเป็นพวกน่ายกย่อง น่านับถือ ในขณะที่ชนชั้นล่างจะดูเป็นพวกไม่เอาถ่าน บกพร่อง บางประเทศเหมือนแยกออกเป็นเชื้อชาติเลยเสียด้วยซ้ำ มันจะลากเส้นแบ่ง กัดกัน จำแนกชนชั้นออกจากกันไปเรื่อย ผมจะขอเรียกว่า "ชนชั้นที่ฉีดขาดออกจากกัน" 

            องค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) ได้เน้นย้ำว่าสังคมสามารถทำให้คนเจ็บป่วยทางจิตได้ในรายงานฉบับปี 2009 ซึ่ง WHO ได้ระบุว่าความเจ็บป่วยทางจิตเกิดขึ้นจากสาเหตุทางสังคม ยิ่งไปกว่านั้นในปี 2019 ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิด้านสุขภาพ ได้อธิบายว่าปัจจัยที่จะทำให้เกิดสุขภาวะที่สมบูรณ์ทางจิต คือการแก้ไขความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมสุขภาวะที่สมบูรณ์ทางสังคม

            หากพูดถึงความเหลื่อมล้ำ จะต้องพูดถึงการศึกษาวิจัยของ ริชาร์ด วิลกินสัน (Richard Wilkinson) และ เคท พิคเก็ตต์ (Kate Pickett) เพราะทั้งสองได้วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประชาชนในประเทศต่าง ๆ มากมาย พวกเขาเขียนหนังสือชื่อ The Spirit Level: Why Greater Equality Makes Societies Stronger ซึ่งได้อธิบายข้อมูลที่สอดคล้องกับ WHO และสหประชาชาติที่ผมกล่าวมาข้างต้น นอกจากนั้นพวกเขายังสรุปสั้น ๆ แต่จัดเจนเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำเอาไว้ว่า "ความเหลื่อมล้ำสามารถฆ่าคนให้ตายได้"

            เหตุผลที่ความเหลื่อมล้ำสามารถฆ่าคนได้ เพราะว่าความเหลื่อมล้ำสามารถทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอและสุขภาพย่ำแย่ลง มันทำให้คนที่อยู่อาศัยในสังคมที่มีความยากจนมีอายุสั้นกว่าและมีอัตราการใช้สารเสพติด การเสียชีวิตของเด็ก โรคอ้วน รวมไปถึงความเจ็บป่วยทางจิต ฯลฯ  อีกทั้ง ริชาร์ด วิลกินสัน และ เคท พิคเก็ตต์ ยังเน้นย้ำด้วยว่า 

"แม้ปัญหาดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับทุกคนในสังคม แต่ส่วนใหญ่แล้วจะกระจุกตัวอยู่ในสังคมระดับล่างมากกว่า"

            ริชาร์ด วิลกินสัน (Richard Wilkinson) และ เคท พิคเก็ตต์ (Kate Pickett) ยังได้ศึกษาเจาะลึกลงมาที่ตัวผู้คน (ระดับปัจเจก) พบว่าคนที่มีความเครียดเมื่ออยู่ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำจะรู้สึกควบคุมอะไรไม่ได้ รู้สึกว่าตนเองด้อยกว่า อีกทั้งยังเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นเสมอว่าใครเหนือกว่าหรือด้อยกว่า ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่พอใจในตัวเองทำให้เสี่ยงต่อการใช้เหล้าและสารเสพติดที่สูงขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้สุขภาพจิตค่อย ๆ แย่ลงไปเรื่อย ๆ จนหลายคนเป็นโรคซึมเศร้า 

            นอกจากนั้นคนบางกลุ่มที่อยู่ในชนชั้นล่างหรือกลุ่มใหญ่ในสังคมยังสามารถมีภาวะหลงตัวเองและมีการบริโภคนิยมที่สูงอีกด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะคนที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยมีคุณค่า (มีคุณค่าในตนเองต่ำ) จะมีความต้องการอยากจะเป็นคนสำคัญมากกว่าคนทั่วไป พวกเขาจะพยายามสร้างภาพลักษณ์ที่ดี (จนเวอร์) เพื่อที่จะเอาชนะ หรือข่มกันและกัน ในกรณที่รู้สึกว่าพ่ายแพ้ก็จะแยกตัวออกจากสังคม

            อย่างที่ชาร์ด วิลกินสัน และ เคท พิคเก็ตต์ ได้สรุปแล้วว่าความเหลื่อมล้ำสามารถทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งมันไปคนละทางกับทฤษฎีที่ว่าด้วยสาเหตุโรคซึมเศร้า เพราะบางทฤษฎีจะมองว่า สาเหตุของโรคซึมเศร้าเกิดจากกระบวนการทางชีววิทยาเป็นส่วนใหญ่ สังคมเพียงแค่ช่วยให้อาการแสดงออกมา ซึ่งทุกท่านอาจจะคุ้นเคยกันดีเกี่ยวกับสารสื่อประสาทที่ไม่สมดุล จึงทำให้เกิดความผิดปกติทางความคิดและพฤติกรรม 

            ในประเด็นนี้อาจารย์สรวิศ ชัยนามได้อธิบายข้อเสนอของวิลกินสันและพิคเก็ตต์ เกี่ยวกับสาเหตุของโรคซึมเศร้าเอาไว้ว่า "ถึงแม้ระดับเคมีบางตัวในสมองผู้ป่วยทางจิตบางรายจะเปลี่ยนแปลงไปก็จริง แต่ก็ไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่านี้คือสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า เช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าความเปราะบางทางพันธุกรรมอาจเป็นต้นเหตุของความเจ็บป่วยทางจิต แต่มันก็ไม่ได้อธิบายว่า เพราะอะไรผู้ป่วยโรคซึมเศร้าถึงได้พุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมากในแค่ไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา เพราะยีนของเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วขนาดนั้น"

            แน่นอนว่าเราแทบจะไม่สามารถสรุปได้เลยว่าสภาพแวดล้อมเป็นสาเหตุหลักของโรคซึมเศร้าได้อย่างชัดเจน แต่สภาพแวดล้อมหรือความเหลื่อมล้ำเป็นสาเหตุสำคัญอย่างแน่นอนจากการศึกษาที่ผมได้ยกขึ้นมา และไม่เพียงแค่นั้น หากพูดถึงสภาพแวดล้อมที่นอกเหนือจากเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมแล้ว สังคมที่ทำงานก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญอย่างมากต่อการเกิดโรคซึมเศร้าด้วย เพราะเป็นสถานที่ที่ผู้คนจำนวนมากใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันจนเป็นสังคม ดังนั้นหากสภาพแวดล้อมการทำงานแย่ มันก็สามารถเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคซึมเศร้าได้อย่างแน่นอน

สภาพแวดล้อมการทำงานทำให้เกิดโรคซึมเศร้า

            อาจารย์สรวิศ ชัยนาม ผู้เขียนหนังสือเมื่อโลกซึมเศร้า ได้ยกตัวอย่างปัญหาสุขภาพของประชาชนในสหราชอาณาจักร ช่วงปี 2017-2018 โดยพบว่าสุขภาพมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องงานถึง 1.4 ล้านกรณีด้วยกัน ซึ่ง 600,000 กรณีเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเครียด ความวิตกกังวลและโรคซึมเศร้า จึงไม่แปลกเลยปัญหาสุขภาพจิตจำนวนมากจึงเกี่ยวข้องกับหน้าที่การงาน

            คนส่วนใหญ่มีคนหลายคนที่กำลังประสบกับความอับอาย รู้สึกถูกกัดกร่อนทางจิตใจ เครียด และหมดแรงจากการทำงาน จนเข้าสู่ภาวะหมดไฟ (Burn out) ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของคนทำงานในปัจจุบัน (ไม่นับรวมออฟฟิศซินโดรม) อาการหมดไฟไม่เพียงแต่เกิดมาจากการทำงานหนัก แต่เกิดมาจากการรู้สึกไม่มีค่า รู้สึกหมดกำลังใจในการทำงาน นอกจากนั้นยังเกิดมาจากความสัมพันธ์ที่เป็นพิษในที่ทำงาน (Toxic Relationship) ด้วย

            ไม่เพียงแค่ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษในที่ทำงานจะกัดกร่อนจิตใจเราให้หมดไฟ แต่การหมดไฟ ความทุกข์ และซึมเศร้า ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากการพยายามค้นหาความหลงใหล (Passion) ซึ่งเป็นค่านิยมของคนทำงานที่มีส่วนในการปลูกฝังวัฒนธรรมที่ส่งเสริมการทำงานหนักจนเกินไป โดยอ้างว่าทุกอย่างที่ทำไปก็เพื่อค้นหาตัวเอง เติมเต็มตัวเอง พัฒนาตัวเอง แข่งขันกับตัวเองและอื่น ๆ อีกมากมายที่สร้างความกดดันมหาศาลและสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ให้กับตัวเอง

            ลองนึกภาพดูนะครับ คนที่บอกว่าตัวเองมีความหลงใหลแล้วมุ่งมั่นที่จะทำตามสิ่งนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีความพร้อมพอสมควร มีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการค้นหาตนเอง แน่นอนผมไม่ได้บอกว่าคนจนหรือคนที่มีโอกาสน้อยจะไม่สามารถค้นหาตนเองได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันยากกว่าแน่นอน ลองนึกสภาพครอบครัวที่ยากจนถึงขนาดที่จะต้องอดมื้อกินมื้อดู พวกเขาต้องอยู่แบบวันต่อไปวัน การที่ต้องเผชิญสภาพแวดล้อมดังกล่าวก็ทำให้เด็กหรือวัยรุ่นไม่ได้คิดถึงเรื่องอนาคตหรือไม่ได้วางแผนของตัวเอง แต่พวกเขาต่างต้องดิ้นรนเอาตัวให้รอดก่อนให้ได้เสียก่อน

            ยิ่งในปัจจุบันเข้าสู่ยุคสมัยปัจจุบันเป็นยุคที่ทุกอย่างเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น องค์กรต่าง ๆ จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี (Digital Transformation) ซึ่งหมายถึงการนำเทคโนโลยีและกลยุทธ์ทางดิจิทัลเข้ามาใช้ในการวางรากฐาน เป้าหมาย การดำเนินธุรกิจ การบริหารบุคคลและหล่อหลอมวัฒนธรรมองค์กร ทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องการให้พนักงานพัฒนาทักษะที่มีอยู่เดิม (Up-skill) และเพิ่มทักษะใหม่ (Re-skill) ซึ่งการปรับตัวนั้นทำให้พนักงานแต่ละคนต้องอยู่ในสภาวะที่ไม่มั่นคงแบบสุด ๆ 

            นั้นทำให้พนักงานหลายคนในปัจจุบันคิดเรื่องงานอยู่ในหัวแทบจะตลอดเวลา ทำให้มีเวลาในการพักผ่อนน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นการที่ต้องค้นหาตัวเอง ไปพร้อมกับการพัฒนาทักษะ และเพิ่มทักษะที่ตัวเองก็ยังไม่มั่นใจเลยว่าเป็นทักษะที่เหมาะสมกับตัวเองหรือไม่ บริษัทต่าง ๆ ก็ไม่ได้สนใจข้อนี้มากนัก จึงพยายามยัดเยียดความเปลี่ยนแปลง การพัฒนาตัวเอง ซึ่งพวกเขาต่างบอกว่า "เราจำเป็นต้องปรับตัว" หรือ "ต้องทำงานหนักขึ้น" จึงทำให้เกิดวิธีการทำงานที่หลอมรวมระหว่างชีวิตส่วนตัว กับชีวิตการทำงานเข้าด้วยกัน เรียกกันว่า Work-Life Integration เพราะบริษัทส่วนใหญ่จะขาดผลประโยชน์ทันทีหากพนักงานมีสัดส่วนในการพักผ่อนและการทำงานที่สมดุลแบบดั่งเดิมที่เรียกว่า Work-Life Balance 

            เราแทบทุกคนต้องติดตามข้อมูลตาม Social Media การสัมมนาต่าง ๆ ฟัง Podcasts หรือ ดู Youtube ต่าง ๆ เพื่อไม่ให้พลาดสิ่งที่จะเป็นทรัพยากรในการพัฒนาตัวเองได้ แต่สิ่งที่แย่ที่สุดก็คือ "ต่อให้พัฒนาไปเท่าไหร่มันก็ไม่เคยพอ" กลายเป็นว่าเรายิ่งมีเวลาพักผ่อนน้อยลงกว่าเดิม ซึ่งผลจากการพักผ่อนน้อยลงและทำงานมากขึ้น ได้รับความกดดันมากขึ้น ยิ่งทำให้สุขภาพจิตค่อย ๆ แย่ลงไปเรื่อย ๆ นอกจากนั้นสิ่งที่ย้อนแย้งก็คือหลายองค์กรมีการอบรมดูแลสุขภาพจิต หรือมีบริการด้านสุขภาพจิตต่าง ๆ มากมาย แต่พวกเขากลับทำให้องค์กรหรือบริษัทของตัวเองแข่งขันกันมากขึ้น

            ระบบทุกอย่างบีบให้เราคิดว่าถ้าเราไม่ได้พยายามให้มากพอ ไม่รู้จักเรียนรู้ข้อผิดพลาดในอดีต ไม่พัฒนาตัวเอง ไม่ทำตามคนที่ประสบความสำเร็จ ไม่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ เราก็จะต้องตกเป็นผู้แพ้หรือต้องเผชิญกับความล้มเหลว ทั้งหมดนี้มันชั่งไม่ยุติธรรมเสียจริง ๆ เรามักจะยกย่องผู้ชนะ แทนที่จะสนับสนุนผู้แพ้ให้ลุกขึ้นมามีความสุขในสังคมได้ เพราะเมื่อเราอยู่ในระบอบทุนนิยมมันเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะชนะเท่ากันทั้งหมด 

มันจำเป็นต้องมีผู้ชนะกลุ่มหนึ่งพร้อมกับมีผู้แพ้จำนวนมากอยู่เสมอ นั้นคือความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

สรุป

            โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่ร้ายแรงอันดับต้น ๆ ของสังคมในปัจจุบัน และยิ่งเวลาผ่านไปนานมากเท่าไหร่ จำนวนผู้ป่วยก็ยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น จากการประเมินของทั้งกรมสุขภาพจิตในประเทศไทย World Health Organization (WHO) การเป็นโรคซึมเศร้าจะมีผลต่อกระบวนการคิดในสมอง ทำให้รู้สึกหมดหวัง หมดแรง คิดอะไรไม่สมเหตุสมผล และยากที่จะควบคุมตัวเองเนื่องจากสารสื่อประสาททำงานผิดปกติ อย่างไรก็ตามสาเหตุของโรคซึมเศร้าก็ไม่ได้มาจากสารสื่อประสาทดังกล่าวโดยตรง แต่ความไม่สมดุลที่เกิดขึ้นทางชีววิทยานี้เป็นสิ่งที่เกิดจากปัจจัยอื่น

            ในบทความนี้ผมให้ความสำคัญไปที่สาเหตุทางสังคมที่มาจากสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเรา สังคมที่แย่ลงมันวิ่งไปในทิศทางเดียวกันกับจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยระบอบทุนนิยมในปัจจุบันที่ฉีกให้คนที่มีฐานะร่ำรายและคนที่มีฐานะยากจนให้ขาดออกจากกันไปเรื่อย ๆ เรียกได้ว่าวิถีชีวิตแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง หากพูดให้เห็นภาพ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 คนชั้นบนสามารถนำเทคโนโลยีมากมายมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกของตัวเองได้อย่างเต็มที่ในการเรียนออนไลน์ 

            ขณะที่คนยากจนแทบจะไม่มีอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับเรียนออนไลน์ ซึ่งเราเห็นเรื่องราวเหล่านี้มากมายในข่าว ซ้ำร้ายกว่านั้นรัฐบาลยังให้ความช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าวน้อยมาก ๆ ทั้งหมดนี้มันทำให้เราเห็นภาพอนาคตอย่างชัดเจนว่าสถานภาพทางเศรษฐกิจในอนาคตจะยิ่งฉีกขาดออกไปมากกว่าในปัจจุบันเสียด้วยซ้ำ คนรวยจะยิ่งรวยมากขึ้น คนจนจะยิ่งจนลง ทั้งหมดนี้มันเกิดมาจากระบอบทุนนิยมที่จำเป็นต้องมีผู้แพ้และผู้ชนะ เรามักจะได้ยินคำว่า "รวยกระจุก จนกระจาย"

            ด้วยปัจจัยทั้งหมดนี้มันก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงในสังคม บวกกับสัญชาตญาณของมนุษย์ที่อยากมีคุณค่า อยากเป็นคนสำคัญ มันกระตุ้นให้เราเปรียบเทียบ แข่งขัน ซึ่งกลายเป็นวงจรที่วิ่งวนไปอย่างไม่รู้จบ ซ้ำร้ายกว่านั้นก็คือ "เราไม่มีวันพอใจกับสิ่งที่ตัวเองมี" มันทำให้เราใช้กลไกการป้องกันตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิเสธความจริง โทษคนอื่น หรือฝันกลางวัน ทั้งหมดนี้มันทำให้สุขภาพจิตของเราถอยหลังลงไปเรื่อย ๆ จนเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า 

            ไม่เพียงแค่ความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ทำให้เราเป็นโรคซึมเศร้าได้ แต่สภาพแวดล้อมในที่ทำงานยังมีอิทธิพลอย่างคาดไม่ถึง เพราะไม่เพียงแต่เราที่แข่งขันกันเอง แต่บริษัทต่าง ๆ ก็แข่งขันกันด้วย อันเนื่องมาจากการแทรกแซงทางเทคโนโลยี ซึ่งเปิดโอกาสให้บริษัทมากมายเจริญเติบโตขึ้นมาแทนบริษัทใหญ่ ๆ ทำให้การบริหารแบบเดิมเป็นไปได้ยากที่จะประสบความสำเร็จดังเก่า จึงทำให้บริษัทเร่งการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี ที่จะต้องนำเทคโนโลยี หรือกระบวนการทำงานใหม่ ๆ มาใช้สร้างความเปลี่ยนแปลงโดยมีเป้าหมายให้บริษัทอยู่รอดและมีผลกำไรมากขึ้น

            การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกระทบพนักงานอย่างรุนแรง พวกเขาต้องเร่งพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง แข่งขันกันเองอย่างเลือดตาแทบกระเด็น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทักษะเดิม การเพิ่มทักษะใหม่ การค้นหาความหลงใหล ทั้งหมดนี้ทำให้เราแทบจะไม่มีเวลาพักผ่อน ทำให้การทำงานโดยรักษาความสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตและการทำงานเป็นไปได้ยากในปัจจุบัน พนักงานส่วนใหญ่จำเป็นตัองประสานเวลาทั้งสองเข้าด้วยกัน ทั้งหมดนี้ทำให้รู้สึกถูกกัดกร่อนทางจิตใจ เครียด และหมดแรงจากการทำงาน จนอาจเข้าสู่ภาวะหมดไฟได้

            ด้วยการแข่งขัน การวิ่งวนไปวนมากันอย่างบ้าคลั่งในสังคมมันทำให้เราทุกคนเสี่ยงต่อการมีภาวะซึมเศร้าไปจนถึงโรคซึมเศร้า เราจำเป็นต้องหาเป้าหมายชีวิตเพื่อที่จะเดินไปข้างหน้าอย่างมีความหมาย เหมือนกับ อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ที่ผมเกริ่นไว้ข้างตน เขาต้องเผชิญกับอาการซึมเศร้าที่กัดกร่อนหัวใจของเขาอย่างรุนแรง และการใช้ยาต้านเศร้าสมัยนั้นก็ยิ่งทำร้ายสุขภาพและอารมณ์ของเขามากขึ้นไปอีก เขาจึงต้องหยุดใช้มัน และใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย ต่อสู้กับระบบทาสและบริหารประเทศในช่วงความขัดแย้งเหนือ ใต้ที่รุนแรงจนกลายเป็นสงครามอันยากจะลืมเลือน เขาปลงใจว่าต้องเผชิญหน้ากับมัน เขามีความทะยานอยากอันยากจะหักห้าม ที่จะบรรลุเป้าหมายบางประการขณะที่มีอยู่ชีวิต

            ผมไม่สามารถให้คำแนะนำได้ว่าเราจะแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำได้แค่เผชิญหน้ากับชีวิตแบบนี้ต่อไป สิ่งที่เราพอจะทำได้คือการตระหนักถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น อารมณ์ สัญชาตญาณ ความทะเยอทะยาน ความอยาก รวมไปถึงสภาพความเป็นของสังคม ความเห็นแก่ตัว ความน่ารำคาญของมนุษย์ เราควรจะเข้าใจและยอมรับถึงความจริงเหล่านี้ แต่สิ่งที่เราต้องไม่ลืมก็คือการเรียกร้องให้ผู้บริหารประเทศใช้เงินภาษีของประชาชนอย่างชาญฉลาด เพราะความเหลื่อมล้ำ ความเอารัดเอาเปรียบในที่ทำงาน จะยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งรัฐสามารถแทรกแซงให้ปัจจัยเหล่านี้เบาลงหรือทำให้ดีขึ้นได้ 

สุดท้ายสิ่งที่เราจะต้องไม่ลืมก็คือความเห็นอกเห็นใจต่อตนเองและผู้อื่น 
เพราะมันเป็นปัจจัยที่สำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมเล็ก ๆ 
ที่จะเป็นกำลังใจให้กันและกันได้อย่างคาดไม่ถึง

อ้างอิง

Haig, M. (2016). Reasons to Stay Alive. NY: Penguin Life.

Kahneman, D. (2013). Thinking Fast and Slow. NY: Farrar, Straus and Giroux.

Wilkinson, R. & Pickett, K. (2011). The Spirit Level: Why Greater Equality Makes Societies Stronger. London: Bloomsbury Publishing.

Wilkinson, R. & Pickett, K. (2017). The enemy between us: The psychological and social costs of inequality. European Journal of Social Psychology. 47(1): 11-24.  https://doi.org/10.1002/ejsp.2275

สรวิศ ชัยนาม. (2562). เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์. กรุงเทพฯ: อิลลูมิเนชั่นส์.

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. (2561). โรคซึมเศร้า. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพ: อมรินทร์.

คาลอส บุญสุภา. (2564). โรคซึมเศร้า (Depression) เงามืดที่คืบคลาน. https://sircr.blogspot.com/2021/04/depression.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). การเติบโต เรียนรู้ เพื่อก้าวผ่านความทุกข์. https://sircr.blogspot.com/2021/08/blog-post.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). การทำงาน สามารถบีบให้เราเป็นทุกข์และซึมเศร้า ได้มากกว่าที่เราคิด. https://sircr.blogspot.com/2021/12/blog-post_15.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). สังคมกำลังบีบให้เราเป็นทุกข์และซึมเศร้าโดยอัตโนมัติ. https://sircr.blogspot.com/2021/11/blog-post_28.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทำร้ายสุขภาพจิตของเราอย่างคาดไม่ถึง.https://sircr.blogspot.com/2021/12/blog-post.html

ความคิดเห็น