ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ภาค 1 กำเนิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์

จิตไร้สำนึกพยายามจะซ่อนเร้นหรือปิดบัง 
ความรู้สึกและความทรงจำที่เจ็บปวดในอดีตเอาไว้

            มีหลายทฤษฎีบนโลกใบนี้ที่มีอิทธิพลจนถึงขั้นสามารถเปลี่ยนแปลงโลกให้ก้าวหน้ามากขึ้นได้ ไม่ว่าการปฏิวัติของโคเปอร์นิคัส (Copernican Revolution) ที่มีแนวคิดว่าโลกของเราไม่ได้อยู่ใจกลางระบบสุริยะ หรือทฤษฎีวิวัฒนาการโดยการคัดสรรทางธรรมชาติ ของชาร์ลส์ ดาร์วิน ที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์มีบรรพบุรุษร่วมกับลิง ทั้งที่ผ่านมามนุษย์เชื่อมาตลอดว่าพระเจ้าคือผู้ที่ออกแบบมนุษย์ นอกจากนั้นยังมีหลายทฤษฎีทั้งทางวิทยาศาสตร์ และจิตวิทยาที่ทำให้มุมมองความคิดของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ก็เป็นหนึ่งในนั้น

            ซิกมันด์ ฟรอยด์ เป็นจิตแพทย์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในช่วงศตวรรษที่ 19 - 20 เป็นผู้คิดค้นทฤษฎีจิตวิเคราะห์ อันมีจุดเริ่มต้นมาจากความพยายามของเขาที่จะคิดค้นวิธีการบำบัดอาการป่วยทางจิต ไม่เพียงแค่การบำบัดเท่านั้น ฟรอยด์ยังศึกษาจนถึงเบื้องลึกของมนุษย์เพื่อทำความเข้าใจความเป็นมาของพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ข้อสันนิฐานของเขาสร้างแรงสั่นสะเทือนทั้งในด้านบวกและด้านลบ จนเกิดการต่อต้านไปจนถึงขั้นเผาทำลายผลงานทางวิชาการของเขา

            แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ผลงานการสร้างสรรค์และความกล้าหาญทางวิชาการเขาฟรอยด์ เป็นแรงผลักดันอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้เกิดทฤษฎีทางจิตวิทยาหลายสำนักตามหลังมา รวมไปถึงการวิจัยทางสังคมและวัฒนธรรม รวมไปถึงศาสตร์อื่น ๆ อีกมากมายที่นำทฤษฎีจิตวิเคราะห์ไปประยุกต์ใช้ ฟรอยด์จึงเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในทศวรรษที่ 20 แนวคิดของเขาถูกถ่ายทอดผ่านศาสนา ศิลปะ วรรณกรรม ตลอดจนภาพยนตร์ 

            ผมได้เขียนประวัติของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ โดยแบ่งบทความออกเป็น 2 ภาคเพื่อไม่ให้ยาวจนเกินไป ซึ่งในบทความนี้จะเป็นประวัติศาสตร์ของฟรอยด์ตั้งแต่เกิดจนถึงช่วงเวลาที่เขาให้กำเนิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์ที่สร้างแรงกระเพื่อมมหาศาลต่อสังคมในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดยผมจะแนบลิ้งทฤษฎีของฟรอยด์เอาไว้ท้ายบทความ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าไปศึกษาความรู้ประกอบเพิ่มเติม เพื่อให้เข้าใจทฤษฎีของฟรอยด์ได้ดียิ่งขึ้น

จุดเริ่มต้นของ ซิกมันด์ ฟรอยด์  

            ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1856 เมืองฟรายเบิร์ก แคว้นโมราเวีย ซึ่งในเวลานั้นเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสโตร-ฮังกาเรียน แต่ในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเชโกสโลวะเกีย ฟรอยด์มีพ่อชื่อ จาคอบ ฟรอยด์ (Jacob Freud) เป็นพ่อค้าขนสัตว์ซึ่งเป็นอาชีพที่สืบทอดกันมาจากเชื้อสายชาวยิว ฟรอยด์มีแม่เป็นภรรยาคนที่สองของจาคอบชื่อ อมาเลีย นาธานสัน (Amalia Nathanson) ซึ่งอายุน้อยกว่าพ่อถึง 20 ปี ฟรอยด์มีเป็นพี่คนโตและมีน้อง 7 คน (รวมตัวเขาเป็น 8)

            เช่นเดียวกับครอบครัวยิวในยุโรปอีกหลายล้านครอบครัวที่ต้องประสบภัยพิบัติและการทำลายล้างจากลัทธิเหยียดผิวที่มีมาก่อนนาซี หลายครั้งที่บรรพบุรุษของฟรอยด์ต้องอพยพโยกย้ายที่อยู่อาศัยเพื่อหนีลัทธิดังกล่าว สุดท้ายช่วงอายุประมาณ 3 ขวบพวกเขาก็ย้ายไปกรุงเวียนนา ฟรอยด์ไม่ได้พูดถึงวัยเด็กมากนักแต่เขาก็ได้เขียนถึงความรักที่มีต่อผู้เป็นแม่ อมาเลีย และรู้สึกถูกแยกชิงความรักเมื่อฟรอยด์มีน้องสาวคนแรก จูเลียส แต่ไม่นานเธอก็เสียชีวิต ซึ่งความรู้สึกอิจฉาในตอนแรกกลับกลายเป็นความเสียใจและความรู้สึกผิดในตอนหลัง ซึ่งฟรอยด์เชื่อว่าความรู้สึกดังกล่าวถูกฝังลงจิตไร้สำนึกและส่งผลถึงอาการหน้ามืด เป็นลม ในช่วงวัย 56 ของเขา

            ฟรอยด์สนใจวิทยาศาสตร์และชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก ทำให้เขาฉลาดและสอบได้อันดับต้น ๆ เสมอ ซึ่งเขามอบเครดิตนี้ให้กับการเป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัวและเป็นลูกรักของพ่อแม่ อีกทั้งตามประเพณีของยิว ลูกชายผู้สืบทอดวงศ์ตระกูล จะต้องได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด พ่อของเขา จาคอบ ซึ่งเป็นคนที่รักการอ่านอยู่แล้วและปรารถนาจะให้ลูก ๆ ของเขาทุกคนได้รับการศึกษาที่ดี จาคอบให้เสรีภาพในการอ่านงานต่าง ๆ มากมายแก่ฟรอยด์ ทำให้เขาคุ้นเคยกับประวัติศาสตร์ ภาษา และวรรณกรรมของเยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาเลียน สเปน ตลอดจนฮีบรู 

            แม้ฐานะทางบ้านของฟรอยด์ก็ไม่ได้ดีมากนัก เพราะพวกเขาอาศัยในเขตชุมชนแออัดหรือสลัมในกรุงเวียนนา ซึ่งสมาชิกทั้ง 9 คน ต้องอยู่อย่างเบียดเสียดแออัดกันในห้องแคบ ๆ ซึ่งมีห้องอยู่เพียงไม่กี่ห้อง แต่กระนั้นฟรอยด์ก็ได้รับอภิสิทธิ์ให้มีห้องส่วนตัวของตนเองเพื่อใช้อ่านหนังสือโดยปราศจากเสียงรบกวน ถึงขนาดที่เขาสามารถใช้ตะเกียงน้ำมันเพื่ออ่านหนังสือในตอนกลางคืน ขณะที่สมาชิกที่เหลือได้ใช้เพียงแค่เทียนไขเท่านั้น นี้จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เขาเรียนเก่งเป็นอันดับต้น ๆ อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น จนสามารถเข้าศึกษาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งกรุงเวียนนาได้สำเร็จในปี ค.ศ.1873 

            อย่างไรก็ตามฟรอยด์ไม่ค่อยสนใจวิชาแพทย์อย่างจริงจังมากนัก แต่เหตุผลที่เขาเลือกเรียนแพทย์เพราะเขาได้ฟังบทกลอนหนึ่งของเกอเธ่เรื่อง Nature ที่บรรยายเกี่ยวกับธรรมชาติอย่างงดงาม ฟรอยด์จึงมีความปรารถนาที่จะเข้าใจความเร้นลับของธรรมชาติที่มนุษย์อาศัยอยู่ นอกจากนั้นเขายังมีความสนใจในวิชาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกายวิภาค เวชศาสตร์ด้านประสาท และเนื้อเยื่อวิทยา ทำให้เขาใช้เวลาศึกษาเป็นเวลานานถึง 8 ปี (รวมช่วงที่ไปเกณฑ์ทหาร 1 ปี) กว่าจะได้เป็นนายแพทย์ในปี ค.ศ. 1881 

            ตลอดเวลาระยะเวลาที่ฟรอยด์เรียนแพทย์ เขามีความสนใจเกี่ยวกับงานวิจัย การค้นคว้าทดลองมากกว่าการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ เขาได้บันทึกความรู้สึกของตนเองเอาไว้ว่า "สิ่งที่ฉันแสวงหาในวิทยาศาสตร์ คือ ความพึงพอใจในงานค้นคว้า และสิ่งที่ฉันค้นพบจากการทำงานวิจัย แต่ฉันไม่เคยต้องการสร้างชื่อเสียงและไม่เคยวิตกว่าตนเองจะตายไปโดยไม่มีชื่อสลักบนแผ่นหิน" แต่ด้วยฐานะทางบ้านที่เริ่มจะตกต่ำลง บวกกับฟรอยด์ได้พบรักกับ มาร์ธา เบอร์เนย์ส สุภาพสตรีเชื้อชาติยาวและตกลงที่จะแต่งงานกัน ทำให้ฟรอยด์จำเป็นต้องเลิกล้มความตั้งใจที่จะค้นคว้าทดลอง เพื่อไปเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลตามคำแนะนำของ เอิร์นส์ บรึก อาจารย์ผู้เป็นที่นับถือของฟรอยด์

            ไม่นานฟรอยด์ก็ได้รับการแต่งตั้งเข้ารับการทำงานในคลินิกจิตเวชของโรงบาลภายใต้การดูแลควบคุมโดยแพทย์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดทางด้านระบบประสาท ในปี ค.ศ. 1883 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ฟรอยด์มีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อย ๆ จากผลงานเกี่ยวกับศักยภาพของการใช้โคเคน จนได้รับการแต่งตั้งเป็นอาจารย์สอนวิชาประสาทพยาธิวิทยา หรือเวชศาสตร์ด้านประสาท ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง จนกระทั่ง ค.ศ. 1885 ฟรอยด์ก็ได้รับทุนก้อนเล็กให้เดินทางไปศึกษาที่ปารีสกับแพทย์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดท่านหนึ่งภายใต้การสนับสนุนของ เอิร์นส์ บรึก 

            ช่วงเวลาที่เขาอยู่ปารีสเป็นช่วงเวลาที่ฟรอยด์หันมาศึกษาเรื่องจิตเวช และการรักษาผู้ป่วยด้วยเทคนิคอื่น ๆ ที่ไม่ได้ใช้ยา เนื่องจาก จัง มาร์แตง ชาโกต์ (Jean Martin Charcot) เป็นบุคคลที่ฟรอยด์เดินทางไปศึกษาด้วย มีความเชี่ยวชาญด้านการสะกดจิต (Hypnotism) ซึ่งทำให้ฟรอยด์ได้ตระหนึกถึงเบื่องลึกแห่งจิตใจมนุษย์ที่มีกระบวนการทำงานหลายระดับและมีอิทธิพลอย่างมากต่อพฤติกรรมและอาการป่วยทางจิต นั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ฟรอยด์ได้ทำการศึกษาค้นคว้าเรื่อง "จิตไร้สำนึก" และ "การเก็บกด" 

            หลังจากที่ฟรอยด์กลับมาจากปารีส เขาก็เข้าพิธีแต่งงานกับมาร์ธา ในปี ค.ศ. 1886 และมีลูกด้วยกันทั้งหมด 6 คน ลูกชายคนหนึ่งของฟรอยด์ชื่อ มาร์แตง ได้เล่าถึงพ่อเขาเอาไว้ว่า ฟรอยด์เป็นพ่อที่นุ่มนวลและใจดี เปิดโอกาสให้ครอบครัวมีเสรีภาพในการใช้ความคิดและการถกเถียงแบบผู้ใหญ่ เขาเลือกที่จะไม่ใช้อำนาจควบคุมหรือบังคับใด ๆ ซึ่งต่างจากครอบครัวในยุควิกตอเรียนสมัยนั้น และฟรอยด์ยังสนับสนุนให้ลูก ๆ ได้เรียนสิ่งที่สนใจ อย่างไรก็ตามฟรอยด์ไม่ค่อยมีเวลาที่จะอยู่กับครอบครัวมากนัก ภรรยาของเขามาร์ธาจึงมีบทบาทสำคัญมากกว่าในการดูแลครอบครัว

กำเนิดจิตวิเคราะห์

            ในระหว่างที่ฟรอยด์กำลังเริ่มสร้างครอบครัวเขาก็ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับโจเซฟ บริวเออร์ (Josef Breuer) ซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์ของบรึกและมีเชื้อสายยิวเช่นเดียวกับฟรอยด์ นอกจากนั้นบริวเออร์ยังเป็นแพทย์ที่สนใจเทคนิคด้านสะกดเหมือนกับฟรอยด์และชาโกต์ เพียงแต่บริวเออร์ล้ำไปกว่านั้น เขาสนับสนุนให้คนไข้ที่ถูกสะกดจิตเล่าอาการของตนอย่างอิสระพร้อมทั้งสนับสนุนให้คนไข้วิเคราะห์หาสาเหตุของอาการเจ็บป่วยด้วยตนเอง ซึ่งแตกต่างจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านสะกดคนอื่น ๆ ที่ฟรอยด์มีโอกาสเดินทางไปศึกษา 

            จนะกระทั่งในปี ค.ศ. 1895 ฟรอยด์และบริวเออร์ก็ได้ร่วมกันตีพิมพ์ผลงานชื่อ Studies of Hysteria ซึ่งเป็นหนังสือที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากวงการแพทย์ในกรุงเวียนนา เช่นเดียวกับหนังสือของฟรอยด์ที่ตีพิมพ์ก่อนหน้านี้คือ Cerebral Diplegia in Children (1893) และ On Aphasia (1891) ซึ่งแม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์บ้างแต่ก็ยังไม่ได้รับความสนใจเป็นวงกว้างเท่าที่ควร อย่างไรก็ตามช่วงเวลาประมาณ ค.ศ. 1892 - 1896 ก็ยังเป็นช่วงที่ฟรอยด์ได้พัฒนาเทคนิคในการรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีอื่น ๆ และเริ่มที่จะถอยห่างออกจากเทคนิคสะกดจิตของบริวเออร์ทีละเล็กทีละน้อย

            ด้วยการศึกษาเทคนิคต่าง ๆ ในการรักษาทำให้ฟรอยด์เริ่มที่จะมั่นใจว่าการที่ผู้ป่วยมีเสรีภาพในการพูดคุยหรือเล่าเรื่องราวชีวิตตลอดจนเหตุการณ์และความทรงจำต่าง ๆ ที่อยู่ภายในจิตใจของผู้ป่วยในช่วงเวลาที่รักษา เป็นวิธีที่ดีมากกว่าการอยู่ภายใต้การสะกดจิต ซึ่งฟรอยด์ตั้งชื่อเทคนิคนี้ว่า "การเชื่อมโยงเสรี (Free Association)" ซึ่งเป็นเทคนิคที่ถูกใช้มาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนั้นฟรอยด์ยังได้ค้นพบถึงความยากลำบากที่คนไข้จะต้องประสบกับการระบายความในใจเกี่ยวกับเหตุการณ์หรือประสบการณ์ในอดีตของตนเอง เนื่องจากเกิดกระบวนการ "ต่อต้าน" ภายในจิตใจ และจากการต่อต้านนี้เองทำให้เขาค้นพบกระบวนการ "เก็บกด" ที่เกิดขึ้นเมื่อจิตไร้สำนึกพยายามจะซ่อนเร้นหรือปิดบังความรู้สึกและความทรงจำที่เจ็บปวดในอดีตเอาไว้

            ประสบการณ์รักษาคนไข้ด้วยวิธีแบบใหม่นี้เอง ทำให้ฟรอยด์ค้นพบว่าความทรงจำที่คนไข้เก็บกดเอาไว้ในจิตไร้สำนึกส่วนใหญ่จะเป็นประสบการณ์เกี่ยวกับความต้องการทางเพศในวัยเด็ก หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเซ็กส์ในวัยเด็ก ทำให้ในปี ค.ศ. 1896 ฟรอยด์ก็ได้ระทิ้งเทคนิคการสดกดจิตอย่างสิ้นเชิงและเริ่มต้นพัฒนาเทคนิคการท่ายเท (Transference) ซึ่งเป็นเทคนิครักษาผู้ป่วยที่สะท้อนความรู้สึกที่เก็บกดเอาไว้ตั้งแต่วัยเด็กไปสู่จิตแพทย์ผู้ทำการรักษา เพื่อให้เขาสบายใจและลดความวิตกกังวล ฟรอยด์เรียกเทคนิคนี้ว่า การรักษาคนไข้ด้วยความรัก (A cure through love) เพราะการจะที่จะรักษาอาการทางจิตให้หายได้จำเป็นที่จะต้องทำให้ผู้ป่วย

กล้าที่จะเผชิญหน้าและยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในอดีตพร้อมกับระบายประสบการณ์และความรู้สึกที่ถูกเก็บกดเอาไว้ในจิตไร้สำนึกออกมา 

            โดยเฉพาะอาการป่วยฮิสทีเรียที่เขาหลงใหลอย่างมาก อาการป่วยนี้ส่วนใหญ่จะเพศหญิง มักจะแสดงอาการแตกต่างกันไปไม่ว่าจะเป็น เดินละเมอ เห็นภาพหลอน ไปจนถึงเป็นอัมพาต ซึ่งไม่มีใครในสมัยนั้นที่รู้สาเหตุเลย แต่ด้วยการใส่ใจกับคำอธิบายของคนไข้ถึงปัญหาที่ประสบและความรู้เกี่ยวกับประวัติส่วนตัวของพวกเขา ทำให้ฟรอยด์สันนิฐานว่าบ่อเกิดของปัญหาที่แท้จริงของคนไข้ก็คือความทรงจำหรือความปรารถนาที่รบกวนจิตใจของพวกเขา ซึ่งพวกเขาไม่เคยรู้เลยว่ามันมีอยู่ 

            ทำให้ฟรอยด์ได้พัฒนากระบวนการทั้งหมดนี้เพื่ออธิบายการทำงานของจิตใจมนุษย์และตั้งชื่อทฤษฎีนี้ว่า "จิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis)" โดยในวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1896 ฟรอยด์นำเสนอบทความเรื่อง "The Aetiology of Hysteria" ต่อที่ประชุมของวงการแพทย์แห่งเวียนนา ในบทความนี้ฟรอยด์ได้เสนอผลการวิเคราะห์คนไข้ 14 รายที่ป่วยด้วยโรคฮิสทีเรีย ซึ่งฟรอยด์ได้รักษาด้วยเทคนิคการถ่ายเทและการเชื่อมโยงเสรี

            กรณีศึกษาทั้งหมดที่ฟรอยด์ทำการวิจัยล้วนแล้วแต่เคยเผชิญความรุนแรงในวัยเด็กแทบทั้งสิ้น ตั้งแต่การถูกข่มขืน ปลูกปล้ำ ลูบคลำ ล่อลวง ตลอดจนพฤติกรรมทางเซ็กส์ในรูปแบบรักร่วมเพศ ที่ผู้คนสมัยนั้นมองว่าวิปริต ฟรอยด์เชื่อว่าข้อมูลต่าง ๆ ที่เขาได้จากคนไข้เป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงในช่วงวัยเด็ก แต่พวกเขาเก็บกดความทรงจำเลวร้ายเหล่านี้เอาไว้ในจิตไร้สำนึกจนก่อให้เกิดอาการทางประสาทขึ้นมา กล่าวคือ ฟรอยด์นำเสนอว่าอาการอิสทีเรียในคนไข้เกิดจากประสบการณ์เลวร้ายเกี่ยวกับเรื่องเพศในวัยเด็กที่กระทบกระเทือนจิตใจของคนไข้และถูกเก็บกดเอาไว้ในจิตไร้สำนึก

            สิ่งนี้ท้าทายระบบศีลธรรมของของสังคมยุโรปอย่างมาก เพราะยุคสมัยของฟรอยด์เป็นยุคสมัยวิคตอเรีย เป็นสังคมที่เน้นศีลธรรมซึ่งซ่อนความดำมืดเอาไว้มากมาย เป็นยุคสมัยที่เต็มไปด้วยการปากว่าตาขยิบที่เต็มไปด้วยการกระทำเลวร้ายที่อ้างศีลธรรมอันดี จึงไม่แปลกที่ฟรอยด์จะโดนต่อต้านอย่างรุนแรง รวมไปถึงวิกฤตชีวิตที่เขาต้องสูญเสียพ่อไป เหตุการณ์ทั้งหมดจะเป็นความท้าทายอันยิ่งใหญ่ในชีวิตของฟรอยด์  ซึ่งบทความต่อไปจะเป็นตอนจบของประวัติเขา 

สามารถอ่าน ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ภาค 2 การต่อต้านและความรุ่งโรจน์ (จบ) ได้ในลิ้งนี้ครับ

ทฤษฎีของฟรอยด์ที่เกี่ยวข้องกับบทความนี้

ความลับของจิตไร้สำนึก หรือ จิตใต้สำนึก (Unconsciouns)

กลไกการเก็บกด (Repression) เพื่อปกป้องตนเอง

บาดแผลทางจิตใจ (Trauma) สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน

สามารถอ่านบทความอื่นเพิ่มเติมจากลิ้ง สารบัญ 

อ้างอิง

Warburton, N. (2012). A Little History of Philosophy. CT: Yale University Press.

ยศ สันตสมบัติ. (2559). ฟรอยด์และพัฒนาการของจิตวิเคราะห์ จากความฝัน สู่ทฤษฎีสังคม. พิมพ์ครั้งที่ 5.  กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ความคิดเห็น