ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ภาค 2 การต่อต้านและความรุ่งโรจน์ (จบ)

ราวกับว่าการพูดคุยช่วยปลดปล่อยแรงกดดันที่เกิดขึ้น 
จากความคิดที่พวกเขาไม่อยากเผชิญหน้ากับมัน    

            ในบทความภาคที่ 1 (อ่านได้จากลิ้งนี้ครับ) ผมได้เล่าเกี่ยวกับประวัติของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ช่วงชีวิตตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงช่วงเวลาที่ให้กำเนิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ซึ่งเป็นตำนานแห่งวงการจิตวิทยามาจนถึงทุกวันนี้ ในบทความนี้ผมจะเล่าถึงการต่อต้านทฤษฎีจิตวิเคราะห์จากวงการต่าง ๆ และความรุ่งโรจน์ที่พัฒนาวงการจิตวิทยาให้ก้าวหน้ามากขึ้น จนทำให้เกิดสำนักทางจิตวิทยาอื่น ๆ ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ขึ้นมามากมาย

            อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในบทความก่อน ฟรอยด์พัฒนาทฤษฎีของเขาจากการศึกษาเทคนิคต่าง ๆ ในการรักษา ทำให้เขามั่นใจว่าการที่ผู้ป่วยมีเสรีภาพในการพูดคุยหรือเล่าเรื่องราวชีวิตตลอดจนเหตุการณ์และความทรงจำต่าง ๆ ที่อยู่ภายในจิตใจของผู้ป่วยในช่วงเวลาที่รักษา เป็นวิธีที่ดีที่สุด เขาเรียกว่า "การเชื่อมโยงเสรี (Free Association) อีกทั้งเขายังค้นพบถึงความยากลำบากที่คนไข้จะต้องประสบกับการระบายความในใจเกี่ยวกับประสบการณ์ในอดีตของตนเอง เนื่องจากเกิดการต่อต้านภายในจิตใจ ทำให้คนไข้เลือกใช้การเก็บกดลงไปในจิตไร้สำนึก เพื่อปิดบังความรู้สึกและความทรงจำที่เจ็บปวดในอดีตเอาไว้

            โดยเฉพาะอาการป่วยฮิสทีเรียที่เป็นกรณีศึกษาของฟรอยด์ พวกเขาแสดงอาการแตกต่างกันไปไม่ว่าจะเป็น เดินละเมอ เห็นภาพหลอน ไปจนถึงเป็นอัมพาต ซึ่งไม่มีใครในสมัยนั้นที่รู้สาเหตุเลย แต่ด้วยการใส่ใจกับคำอธิบายของคนไข้ถึงปัญหาที่ประสบและความรู้เกี่ยวกับประวัติส่วนตัวของพวกเขา ทำให้ฟรอยด์สันนิฐานว่าบ่อเกิดของปัญหาที่แท้จริงของคนไข้ก็คือความทรงจำหรือความปรารถนาที่รบกวนจิตใจของพวกเขา 

ทำให้ฟรอยด์ได้พัฒนากระบวนการเพื่ออธิบายการทำงานของจิตใจมนุษย์และตั้งชื่อทฤษฎีนี้ว่า "จิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis)" 

วิกฤตชีวิตและการต่อต้าน

            ในวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1896 ฟรอยด์นำเสนอบทความเรื่อง "The Aetiology of Hysteria" ต่อที่ประชุมของวงการแพทย์แห่งเวียนนา ในบทความนี้ฟรอยด์ได้เสนอผลการวิเคราะห์คนไข้ 14 รายที่ป่วยด้วยโรคฮิสทีเรีย ซึ่งฟรอยด์ได้รักษาด้วยเทคนิคการถ่ายเทและการเชื่อมโยงเสรี ซึ่งกรณีศึกษาทั้งหมดที่ฟรอยด์ทำการวิจัยล้วนแล้วแต่เคยเผชิญความรุนแรงในวัยเด็กแทบทั้งสิ้น ตั้งแต่การถูกข่มขืน ปลูกปล้ำ ลูบคลำ ล่อลวง และรักร่วมเพศ ที่ผู้คนสมัยนั้นมองว่าวิปริต ฟรอยด์เชื่อว่าข้อมูลต่าง ๆ ที่เขาได้จากคนไข้เป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงในช่วงวัยเด็ก แต่พวกเขาเก็บกดความทรงจำเลวร้ายเหล่านี้เอาไว้ในจิตไร้สำนึกจนก่อให้เกิดอาการทางประสาทขึ้นมา 

            ฟรอยด์วิเคราะห์คนไข้จากการรักษาโดยให้คนไข้นอนลงที่โซฟาและพูดคุยถึงสิ่งใดก็ตามที่ปรากฎขึ้นมาในหัวของพวกเขา บ่อยครั้งมันทำให้พวกเขารู้สึกดีขึ้นและได้ปลดปล่อยความคิดให้หลุดรอดออกมา เนื่องจากการบำบัดจิตด้วยการเชื่อมโยงเสรีเป็นการปล่อยให้ความคิดหลั่งไหล ซึ่งก่อให้เกิดผลลัพธ์อันน่าประหลาดใจ และทำให้สิ่งที่เคยอยู่ในจิตไร้สำนึกออกมาอยู่ในจิตสำนึกของคนไข้ ซึ่งการรักษาดังกล่าวยังได้ไขกุญแจสู่ความคิดที่ทำให้พวกเขาเป็นทุกข์และขจัดอาการบางส่วนไปได้ในระดับหนึ่ง ราวกับว่าการพูดคุยช่วยปลดปล่อยแรงกดดันที่เกิดขึ้นจากความคิดที่พวกเขาไม่อยากเผชิญหน้ากับมัน

            อย่างไรก็ตามบรรดาแพทย์และจิตแพทย์กลับไม่เชื่อว่าเหตุการณ์เลวร้ายต่าง ๆ ของกรณีศึกษาทั้งหมด 14 คนเกิดขึ้นจากการกระทำของพ่อแม่ พี่เลี้ยงหรือญาติผู้ใหญ่ของตัวเด็ก เพราะสิ่งที่ฟรอยด์ค้นพบเป็นความท้าทายต่อระบบศีลธรรมของสังคมยุโรปในสมัยนั้นมากจนเกินไป ถึงขนาดที่จิตแพทย์ชื่อดังอย่าง คราฟท์ เอบิง (Krafft Ebing) ได้วิจารณ์บทความของฟรอยด์ว่าเป็น "นิยายวิทยาศาสตร์ที่ไร้สาระและปราศจากความจริง" ซึ่งเหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของฟรอยด์อย่างมาก

            เพียงไม่กี่วันหลังจากนั้นฟรอยด์ก็ถูกปฏิเสธอย่างไม่เหลือเยื่อใยจากวงการแพทย์แห่งกรุงเวียนนา และไม่เพียงแค่นั้นฟรอยด์ยังเผชิญกับวิกฤตสำคัญที่สุดในชีวิตเมื่อ จาคอบ ฟรอยด์ พ่อของเขาเสียชีวิตลงด้วยวัย 81 ปี แม้ว่าขณะนั้นฟรอยด์จะอายุ 40 ปีและแต่งงานมีครอบครัวแล้วก็ตาม แต่การตายของพ่อก็มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อจิตใจของฟรอยด์ ถึงขนาดที่เขาเขียนจดหมายถึงเพื่อนสนิท วิลเฮล์ม ฟริสส์ (Wilhelm Fleiss) ว่า "ความรู้สึกของเขาตอนนี้เหมือนไม้ที่ถูกฉีดถอนออกไปทั้งราก" (Torn up by the roots)

            เพื่อนสนิทของเขา วิลเฮล์ม ฟริสส์ คือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านคอและจมูกชาวเยอรมัน ที่คอยเป็นที่ระบายของฟรอยด์ผ่านจดหมาย ตั้งแต่การถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากวงการแพทย์ในกรุงเวียนนา ตอลดจนการสูญเสียพ่อ ฟลิสส์จึงเป็นเหมือนบุคคลที่รองรับการถ่ายเทความรู้สึกอึดอัดและความเจ็บปวดที่ฟรอยด์กำลังเผชิญอยู่ ทำให้ฟลิสส์กลายมาเป็นเพื่อนคนเดียวที่ฟรอยด์สนิทสนมและไว้วางใจมากที่สุด 

            แม้ในอดีตฟรอยด์จะสนิทกับ โจเซฟ บริวเออร์ จิตแพทย์รุ่นพี่ที่เคยร่วมพัฒนากระบวนการรักษาคนไข้ร่วมกัน แต่ความสัมพันธ์ของทั้งสองก็ต้องจบลงจากความคิดเห็นและวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามฟรอยด์พูดอยู่เสมอว่าเขาเป็นหนี้บุญคุณในความรู้ที่ได้จากบริวเออร์ และเขาก็ยกย่องว่าบริวเออร์ควรจะได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์ที่แท้จริง เพราะในสมัยนั้นไม่มีใครเลยที่จะรับฟัง ใส่ใจเรื่องราวของคนไข้อาการทางจิตแม้ว่าจะอยู่ภายใต้การสะกดจิตก็ตาม เพราะแพทย์คนอื่นมัวแต่มุ่งใช้ ยา การสะกดจิต และวิธีการรักษาอื่น ๆ แตกต่างกับบริวเออร์

            อย่างไรก็ตามแม้จะเผชิญกับความเจ็บปวดทั้งการโดนปฏิเสธทฤษฎีของตัวเองจากวงการแพทย์ และสูญเสียพ่อไป แต่ฟรอยด์ก็ยังคงศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยเขาเริ่มทำการวิเคราะห์ตนเองมากขึ้น และเก็บบันทึกความฝันของตนเองเอาไว้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ฟรอยด์ทำความเข้าใจกับตัวเองอย่างเด่นชัดมากที่สุด เขามองเห็นความรู้สึกของตัวเองที่ถูกซ่อนเร้นเอาไว้ในจิตไร้สำนึกได้ชัดมากขึ้น และในช่วงเวลานี้เองที่เขาค้นพบ "ปมเมดิปัส" (Oedipus Complex) 

            ฟรอยด์เขียนในจดหมายถึงฟลิสส์ในปี ค.ศ. 1897 ว่า "ฉันได้พบความรักที่มีต่อแม่และความริษยาที่มีต่อพ่อ ในกรณีของตัวฉันเองด้วยเช่นกัน และในเวลานี้ฉันเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นปรากฎการณ์สากลที่เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ ทุกคน" นอกจากนั้นเขายังค้นพบเกี่ยวกับความรู้สึกทางเพศในเด็กทารกที่มีต่อแม่ของตัวเอง ผ่านการวิเคราะห์ความฝันของตนเองที่เห็นแม่เปลื้องผ้าเพื่อจะแต่งตัวบนรถไฟ อีกทั้งเขายังระลึกถึงความอิจฉาริษยาและเครียดแค้นชิงชังที่เขามีต่อจูเลียสน้องสาวคนรอง รวมไปถึงความรู้สึกผิดและความโศกเศร้าเสียใจต่อการตายของน้อง

            กระบวนการนี้ทำให้ฟรอยด์พัฒนาข้อสันนิฐานของตัวเองที่เคยนำเสนอ ในวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1896 เขาเริ่มมองเห็นว่า สิ่งที่คนไข้ระบายออกมาเกี่ยวกับความทรงจำอันเจ็บปวดอันเกิดจากประสบการณ์ทางเพศในช่วงวัยเด็กนั้น อาจไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่เป็น "ความเพ้อฝัน" (Fantasy) ในวัยเด็กที่คนไข้เหล่านั้นเชื่อว่าเกิดขึ้นจริงและถูกเก็บกดไว้ในจิตไร้สำนึก และจากการวิเคราะห์ความฝันของตัวเองฟรอยด์ก็เขียนหนังสือ Interpretation of Dreams จบลงในปี ค.ศ. 1899 แต่ตัดสินใจรอตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1900 เพื่อเป็นการเปิดศตวรรษใหม่

นับเป็นการเริ่มต้นศตวรรษใหม่และเป็นจุดเริ่มต้นสู่ยุคแห่งความรุ่งโรจน์ของทฤษฎีจิตวิเคราะห์

ยุคแห่งความรุ่งโรจน์

            ฟรอยด์เริ่มต้นเขียนผลงานต่าง ๆ ออกไปสู่สังคมวงกว้างมากขึ้น และปลีกตัวออกจากแวดวงวิชาการแพทย์และจิตวิทยาในกรุงเวียน เขาเขียนหนังสือออกมาโดยใช้ภาษาที่เงียบง่าย ยกตัวอย่างเช่น หนังสือ Interpretation of Dreams ที่ฟรอยด์อธิบายว่า ความฝันเป็นเสมือนดั่งหนทางที่นำเราเข้าสู่ความเข้าใจในจิตไร้สำนึกและความทรงจำที่เราเก็บกดเอาไว้ตั้งแต่เด็ก ความฝันจึงเป็นเหมือนการระบายความเก็บกดในใจ ลดความวิตกกังวลและตอบสนองความต้องการของมนุษย์เพื่อทดแทนความผิดหวังที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง

            ในปี ค.ศ. 1904 เขาตีพิมพ์หนังสือ Psychopathology of Everyday Life ซึ่งเป็นผลงานที่รวบรวมบทความของตนเองตั้งแต่ปี ค.ศ. 1901-1903 เป็นหนังสือที่อธิบายลักษณะความผิดปกติ หรืออาการพลั้งเผลอที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น การพลั้งปาก พลั้งมือ อาการหลงลืม ซึ่งฟรอยด์ได้โยงสิ่งเหล่านี้เข้ากับกระบวนการเก็บกดในจิตไร้สำนึก หลังจากนั้นฟรอยก็ได้ตีพิมพ์หนังสือออกมาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหนังสือ Three Essays on the Theory of Sexuality (1905) ที่เป็นการอธิบายพัฒนาการบุคลิกภาพที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ (Psycho-sexual Development)

            ในปี ค.ศ. 1907 สมาคมจิตวิเคราะห์เวียนนา (Vienna Psychoanalytic Sociey) ก็เกิดขึ้นจากสมาชิกผู้ก่อตั้งทั้งหมด 22 คน ซึ่งสมาคมนี้ถูกเปลี่ยนชื่อจากสมาคมจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic Society) ที่ตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1902 โดย ฟรอยด์และวิลเฮล์ม สเตเกล (Wilhelm Stekel) ซึ่งสมาคมจิตวิเคราะห์เวียนนามีสมาชิกที่เป็นนักจิตวิทยาชื่อดังหลายคน รวมทั้ง อัลเฟรด แอดเลอร์ (Alfred Adler) และ คาร์ล กุสตาฟ จุง (Carl Gustav Jung) ทำให้เป็นสมาคมที่มีชื่อเสียงอย่างมากและได้รับความสนใจจากจิตแพทย์ในประเทศต่าง ๆ จนเกิดการประชุมสภาจิตวิเคราะห์นานาชาติ ในปี ค.ศ. 1909 

            หลังจากนั้นฟรอยด์ยังได้รับเชิญจาก จี สแตนเลย์ ฮอลล์ (G. Stanley Hall) นักจิตวิทยาอเมริกันที่มีชื่อเสียงอย่างมากในเวลานั้น ให้ไปบรรยายที่มหาวิทยาคลาร์ก ที่รัฐแมสซาซูเซตส์ ซึ่งการบรรยายของฟรอยด์ในครั้งนั้นเรียกกันในเวลาต่อมาว่า "Five Lectures on the Origin and Development of Psychoanalysis" เป็นการบรรยายที่ประสบความสำเร็จอย่างดงาม และทำให้แนวคิดของเขาได้รับความสนใจจากวงการจิตวิทยาอเมริกันเพิ่มมากยิ่งขึ้น

            ทฤษฎีจิตวิเคราะห์เริ่มเป็นที่สนใจในวงการจิตแพทย์นานาชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ตามมาด้วยการวิพากษ์วิจารณ์โจมตีที่รุนแรงบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นคำกล่าว "การแพร่ระบาดของลัทธิฟรอยด์ในประเทศอเมริกา" หรือ "สิ่งไร้สาระและเน่าเหม็น" อีกทั้ง เออร์เนส โจนส์  (Ernest Jones) ที่ในขณะนั้นยังเป็นแพทย์หนุ่ม ได้ถูกไล่ออกจากตำแหน่งเพราะเขาเผยแพร่ความคิดของฟรอยด์ในประเทศอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1908 และในปีเดียวกัน สาธุคุณ โดนัล เฟรเชอร์ บาทหลวงนิกายเพรสไบทีเรียนก็ถูกไล่ออกจากตำแหน่งเพราะเขามีความสนใจทฤษฎีจิตวิเคราะห์เช่นเดียวกับในประเทศต่าง ๆ ที่เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงในรูปแบบเดียวกัน

            ไม่เพียงการต่อต้านภายนอกสมาคมจิตวิเคราะห์เท่านั้น ยังมีการต่อต้านและความขัดแย้งเกิดขึ้นในสมาคมจิตวิเคราะห์เวียนนาด้วยแม้ฟรอยด์จะพยายามทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ย แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งความขัดแย้งนี้เองเป็นเหตุผลให้ทั้งจุง (ที่ฟรอยสนับสนุนให้เข้ารับตำแหน่งประธานสภาจิตวิเคราะห์นานาชาติ) และแอดเลอร์ (ที่ฟรอยด์สนับสนุนให้เป็นผู้นำสมาคมจิตวิเคราะห์เวียนนา) แยกตัวออกจากกลุ่มฟรอยด์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1912 ทำให้เหลือเพียงจิตแพทย์กลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น รวมไปถึง เออร์เนส โจนส์ ที่แม้ฟรอยด์จะถึงแก่กรรมไปแล้ว แต่เขาก็ยังร่วมงานกับ แอนนา ฟรอยด์ (Anna Freud) ลูกสาวของฟรอยด์ต่อ

            แม้ว่าฟรอยด์เผชิญกับความขัดแย้งและความผิดหวังดังที่กล่าวมา แต่เขาก็ยังคงเดินทางไปบรรยายในสถานที่ต่าง ๆ พร้อมกันนั้นเขาก็ยังทำหน้าที่รักษาคนไข้อย่างสม่ำเสมอ และยังคงผลิตผลงานเขียนที่มีคุณภาพออกมาอย่างต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีทางจิตวิเคราะห์ ซึ่งสามารถใช้อธิบายกระบวนการคิด พัฒนาการ และโรคประสาท รวมไปถึงการอธิบายสังคมและวัฒนธรรม ตามที่ฟรอยด์เคยกล่าวไว้ว่า "หลังจากที่ฉันได้ใช้เวลาอันยาวนาน อ้อมผ่านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ แพทยศาสตร์ และจิตบำบัด ความสนใจของฉันก็หวนกลับไปสู่ปัญหาทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งได้ประทับตรึงอยู่ในใจฉันมาเนิ่นนานตั้งแต่เด็กยังไม่โตพอที่จะคิดเป็น" 

            เขาไม่เพียงนำทฤษฎีของตนเองไปใช้กับบุคคลที่มีอาการทางประสาทเท่านั้น แต่ยังใช้กับตวามเชื่อทางวัฒนธรรมอีกด้วย โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องความเชื่ออย่างเช่น ศาสนา เขามีความคิดเห็นว่า การที่บุคคลเชื่อในพระเจ้าว่ามีตัวตนจริง ๆ มาจากความต้องการที่จะถูกคุ้มครองแบบที่เราทุกคนเคยรู้สึกเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ในทัศนะของฟรอยด์ อารยธรรมทั้งหมดตั้งอยู่บนภาพลวงตานี้ ซึ่งเป็นภาพลวงตาที่ว่ามีตัวแทนของความเป็นพ่อ (Father-figure) อยู่ที่ไหนสักแห่ง ที่จะเติมเต็มความต้องการที่หวังให้มีใครคอยคุ้มครอง กล่าวคือ พระเจ้าหรือความเชื่อต่าง ๆ ที่เราคิดว่าสามารถปกป้องและคุ้มครองเราได้เป็นสิ่งที่คอยปลอบโยนจิตใจสำหรับผู้ใหญ่ที่ยังคงมีความรู้สึกนี้หลงเหลือจากวัยเด็ก

            ฟรอยด์ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914-1918) ทำให้ภายหลังจากสงครามยุโรปก็เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ทำให้ทรัพย์สินที่ฟรอยด์สะสมไว้ถูกใช้ไปจนหมดภายในระยะเวลาไม่นาน ยิ่งไปกว่านั้นในปี ค.ศ. 1920 ฟรอยด์ต้องพบกับการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อโซฟี ลูกสาวคนที่ 2 ของเขาเสียชีวิตลงด้วยไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดหนักในช่วงเวลานั้น อีกทั้งในปี ค.ศ. 1923 ฟรอยด์ก็ต้องสูญเสีย ไฮน์ รูดอล์ฟ หลานชายที่เขารักที่สุดไปอีกหนึ่งคน และช่วงเวลาเดียวกันเขาก็ต้องเข้ารับการผ่าตัดเนื้อร้ายที่กรามและช่องปาก 

            อย่างไรก็ตามแม้ว่าฟรอยด์จะเผชิญกับวิกฤตต่าง ๆ ที่เข้ามาทั้งการสูญเสียทรัพย์สิน บุคคลอันเป็นที่รัก และสุขภาพ แต่เขาก็ยังคงทำงานรักษาคนไข้ทุกวันอย่างไม่เคยขาด นอกจากนั้นเขายังทำการค้นคว้าเพื่อพัฒนาทฤษฎีและเขียนหนังสืออย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะงานเขียนอย่าง The Ego and the Id (1923) อันเป็นที่มาของทฤษฎีโครงสร้างบุคลิกภาพ Id, Ego และ Superego อันโด่งดังของเขา รวมไปถึงผลงานอื่น ๆ มากมาย

            จะเห็นว่าฟรอยด์รักษาคนไข้ไม่เคยขาด แม้เขาจะมีชื่อเสียงดังไปทั่วยุโรปและอเมริกา แต่เขาก็ยังรักษาหน้าที่ของตัวเองอย่างดีที่สุด ในหนังสือ How to Win Friends and Influence เดล คาร์เนกี้ (Dale Carnegie) เล่าถึงชายคนหนึ่งที่ได้พบกับฟรอยด์และอธิบายถึงลักษณะการฟังของฟรอยด์เอาไว้ว่า "การฟังของเขา ทำให้ผมถึงกับอึ้ง จนไม่อาจลืมเขาได้ เขามีคุณสมบัติที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อนเลยในคนอื่น ผมไม่เคยเห็นการให้ความสนใจที่จดจ่อได้ถึงขนาดนั้น ไม่มีการใช้สายตาที่เสียดแทง สายตาของเขาอ่อนโยนและมีชีวิตชีวา เสียงของเขาเบาและใจดี อากัปกิริยาที่แสดงออกมีไม่มาก แต่ความใส่ใจที่เขาให้ผม การชื่นชมในสิ่งที่ผมพูด แม้ว่าจะเป็นตอนที่ผมพูดได้ไม่ดีก็ตาม มันช่างเป็นสิ่งที่พิเศษจริง ๆ คุณไม่รู้หรอกว่าการมีคนฟังคุณเช่นนี้มีความหมายมาสักเพียงใด"

            จนกระทั้งในปี ค.ศ. 1933 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำลัทธินาซีได้ครองอำนาจประเทศเยอรมนีได้สมบูรณ์ และเกิดการต่อต้านชาวยิวในยุโรปอย่างรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ฟรอยด์ถึงกลับส่งจดหมายไปให้เพื่อนของเขาโดยมีใจความว่า "โลกมนุษย์กำลังจะกลายเป็นเรือนจำหลังใหญ่ และเยอรมนีเป็นห้องขังที่เลวร้ายที่สุด" เมื่อสถานการณ์เริ่มเลวร้ายขึ้นเรื่อย ๆ ฟรอยด์และครอบครัวจึงได้เดินทางออกจากกรุงเวียนนา เมื่องที่เขาใช้ชีวิตอยู่นานถึง 78 ปี เพื่อลี้ภัยไปประเทศอังกฤษ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นเพราะหลังจากที่เขามาถึงลอนดอนไม่นานเขาก็ต้องเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ และอาการหลังจากผ่าตัดก็ไม่ได้ดีขึ้นเท่าไหร่นัก 

            แม้จะอยู่ที่ลอนดอนฟรอยด์ก็ยังคงทำหน้าที่รักษาคนไข้และเขียนหนังสือต่อไป หนังสือเล่มท้าย ๆ ของเขาชื่อ Moses and Monotheism ที่เขาเริ่มเขียนตั้งแต่ ค.ศ. 1934 จนเสร็จสมบูรณ์และได้รับการตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1939 นอกจากนั้นในปีเดียวกันฟรอยด์ก็ยังเริ่มต้นเขียนหนังสือ Outline of Psychoanalysis ซึ่งเขาหวังว่าจะเป็นหนังสือเล่มสุดท้ายแต่ความปรารถนานั้นก็ไม่ส่งผล เขาเสียชีวิตกลางดึกของคืนวันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1939 เมื่ออายุ 83 ปี

            ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ค่อย ๆ เสื่อมความนิยมลงไม่นานหลังจากที่เขาเสียชีวิต เพราะเมื่อเวลาผ่านไปแรงปรารถนาที่ซ้อนเอาไว้ในใจไม่ใช่มีเพียงแค่ความต้องการทางเพศเท่านั้น แต่ยังมีความปรารถนาอีกหลายอย่างที่เป็นแรงจูงใจให้บุคคลแสดงพฤติกรรมออกมาเพื่อตอบสนองความปรารถนานั้น ๆ นอกจากนั้น  อย่างไรก็ตามฟรอยด์ยังเป็นบุคคลแรก ๆ ที่หยิบยื่นกุญแจที่นำเราไปสู่ความเข้าใจจิตใจของตัวเราเองมากยิ่งขึ้นกระตุ้นให้เราตระหนึกถึงขุมพลังที่คอยควบคุมอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมที่ดูไม่มีเหตุผลและพฤติกรรมที่ผิดปกติ

            เขายังแสดงให้เห็นถึงธรรมชาติที่ซับซ้อนของมนุษย์ รวมไปถึงสิ่งภายนอกที่มนุษย์สร้างขึ้นก็มีที่มาที่ไปจากเบื้องลึกของจิตใจมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของประเทศสหรัฐอเมริกา อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ผู้ปลดปล่อยทาสได้สำเร็จ ในปี ค.ศ. 1865 ครั้งหนึ่งเขาเคยพบเห็นความโหดร้ายทารุณของนายทาสที่กระทำต่อผู้เป็นทาส ทำให้ความรู้สึกเจ็บปวดนั้นประทับเข้าไปในความทรงจำของลินคอล์น และทำให้เขาชิงชังความเป็นทาสตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา กล่าวคือ ประสบการณ์ในอดีตของมนุษย์ มีผลอย่างยิ่งเมื่อเขาเติบโตขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ จะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยแทรกซ้อนอื่น ๆ 

            ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) จึงเป็นบุคคลที่ส่องแสงไฟดวงเล็ก ๆ และทำให้เราเห็นบางสิ่งบางอย่างท่ามกลางความมืดมิดของจิตใจที่เป็นนามธรรม ซึ่งแม้จะเป็นยุคสมัยปัจจุบันก็ยังคงมีปริศนาอีกมากมายเกี่ยวกับจิตใจที่รอคอยการคลี่คลายอยู่ และหวังว่าวงการวิทยาศาสตร์ จิตวิทยา พฤติกรรมศาสตร์ รวมไปถึงศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจะสามารถสร้างไฟดวงที่ใหญ่ขึ้นไปเรื่อย ๆ มาส่องแสงให้เราทำความรู้จักกับจิตใจของเราให้มากที่สุด 

เพื่อที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกับเงามืด 
แห่งปริศนาที่เรียกว่าจิตไร้สำนึกได้อย่างมีความสุข

ทฤษฎีของฟรอยด์ที่เกี่ยวข้องกับบทความนี้

ความลับของจิตไร้สำนึก หรือ จิตใต้สำนึก (Unconsciouns)

กลไกการเก็บกด (Repression) เพื่อปกป้องตนเอง

บาดแผลทางจิตใจ (Trauma) สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน

ทฤษฎีโครงสร้างบุคลิกภาพ Id, Ego และ Superego

พัฒนาการบุคลิกภาพที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ

สามารถอ่านบทความอื่นเพิ่มเติมจากลิ้ง สารบัญ 

อ้างอิง

Carnegie, D. (1998).  How to Win Friends & Influence People. NY: Pocket Books.

Warburton, N. (2012). A Little History of Philosophy. CT: Yale University Press.

ยศ สันตสมบัติ. (2559). ฟรอยด์และพัฒนาการของจิตวิเคราะห์ จากความฝัน สู่ทฤษฎีสังคม. พิมพ์ครั้งที่ 5.  กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

คาลอส บุญสุภา. (2565). ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ภาค 1 กำเนิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์. https://sircr.blogspot.com/2022/03/sigmund-freud-1.html

ความคิดเห็น